(27) ไม่มีอาหารกลางวันฟรีสำหรับปัญญาชนแดง (16/6/53)

(27) ไม่มีอาหารกลางวันฟรีสำหรับปัญญาชนแดง (16/6/53)

ไม่มีอาหารกลางวันฟรีสำหรับปัญญาชนแดง
 

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ในทางเศรษฐศาสตร์มีสำนวนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแก่นแท้ของแนวคิด นั่นคือสำนวนที่ว่า There’s no such a thing as a free lunch ซึ่งหมายความถึงในโลกนี้ ไม่มีของฟรีที่ไม่เสียเงินหรือไม่มีต้นทุนดั่งเช่นอาหารกลางวันฟรี

เพราะหากบางคนได้สิ่งใดมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็หมายความว่าจะต้องมีคนบางคนในสังคมที่เป็นคนจ่ายสิ่งนั้นแทนเสมอ

การเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้ที่มาชุมนุมในระหว่างที่มีการออก พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินช่วง เม.ษ.-พ.ค.53ในข้อหาที่มีโทษต่ำกว่า 2 ปีนั้น ดูเผินๆ ก็เป็นแนวทางที่ดีในการทำให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์เพราะเป็นการยกเว้นโทษโดยฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ไม่เอาความผิดเล็กน้อยกับผู้ที่มาร่วมชุมนุมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผิดที่เป็นข้อหาฉกรรจ์ เช่น ผู้ก่อการร้าย เผาสถานที่ราชการและเอกชน หรือทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน

แต่จะมีใครคิดให้รอบคอบหรือไม่ว่าผู้ที่มาชุมนุมโดยบริสุทธิ์ในครั้งนี้นั้นมีด้วยหรือ?

การชุมนุมโดยที่มีแกนนำคือ นปช.ในช่วงตั้งแต่ 12 มี.ค. 53 จนกระทั่งสิ้นสุดเมื่อ 20 พ.ค. 53 มีการตระเตรียมการมาเป็นอย่างดี จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมที่มีการจัดตั้งที่สมบูรณ์ที่สุดครั้งหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งโรงเรียนคนเสื้อแดงในหลายๆจังหวัดเป็นการโหมโรงก่อนหน้าการชุมนุมเพื่อเผยแพร่แนวคิดและยังเป็นการซักซ้อมไว้ล่วงหน้า

ผู้ที่มาชุมนุมจึงเป็นคล้ายดั่งผู้ลงทุน (investor) ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าจากข้อมูลที่มีอยู่หรือรับรู้โดยแจ้งชัดแล้วว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าใดหากเข้ามาร่วมชุมนุมภายใต้ความเสี่ยงที่มีอยู่ เพราะมิใช่เป็นการชุมนุมโดย นปช.เป็นครั้งแรก มีตัวอย่างมาก่อนแล้วเมื่อปีที่ผ่านมาว่า นปช.ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมมีเป้าประสงค์จะก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่

ผู้ที่มาชุมนุมจึงเล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่ตนเองจะได้รับจากการเข้ามาร่วมชุมนุมว่ามีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่จ่ายให้หรือไม่ และผู้จัดการชุมนุมก็ฉลาดพอที่จะออกนโยบายบรรเทาความเสี่ยงที่คาดว่าจะได้รับด้วยการให้ผู้มาชุมนุมลงทะเบียนและออกบัตรคนเสื้อแดงเพื่อคุ้มครองหากบาดเจ็บหรือเสียชีวิตว่าจะให้เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ยังเพิ่มค่าคาดหวังในผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคตอีกด้วยว่าหากชนะนำทักษิณกลับบ้านได้จะได้รับการปลดหนี้หรือได้รับผลตอบแทนอย่างอื่นๆ เช่น ได้เงินกู้เป็นจำนวนเท่าใดจากการลงทะเบียนดังกล่าว ดังนั้นจึง “ไม่มีอาหารกลางวันฟรี” ในการชุมนุมครั้งนี้เพราะต่างฝ่ายต่างก็อาศัยประโยชน์ซึ่งกันและกัน

การนำเอาเด็กและคนสูงอายุเข้าร่วมชุมนุมด้วยจึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะผู้จัดชุมนุมมีเป้าประสงค์อยู่แล้วที่จะอาศัยคนกลุ่มนี้เป็นโล่มนุษย์ ยิ่งมีกลุ่มคนที่สังคมเมื่อเห็นแล้วจะอ่อนไหวได้ง่าย เช่น เด็กและคนแก่ ก็จะทำให้การเข้าปราบปรามของฝ่ายรัฐทำได้ยากเป็นทวีคูณ ดังจะเห็นได้จากการชูเด็กเหนือกองยางเพื่อให้ฝ่ายรัฐได้เห็นในช่วงที่มีการปะทะกัน อย่าลืมว่าเด็กหรือคนชราจะมาร่วมได้อย่างไรหากไม่มีคนให้การสนับสนุนพามา ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพ่อแม่หรือญาติที่มาชุมนุมอยู่แล้ว การจ่ายพิเศษเพื่อให้ได้คนกลุ่มนี้มาร่วมจึงเอื้อประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้มาชุมนุม ได้กลายมาเป็นมวลชน เป็นกองกำลัง ที่แกนนำเอาไว้อ้างและใช้จำนวนเพื่อให้เกิดความฮึกเหิม หากไม่มีผู้มาชุมนุมเป็นฐานมวลชนแล้วจะเกิดฝูงชนที่บ้าคลั่งที่เข้าทำร้ายทหารเพื่อนร่วมชาติผู้ที่บาดเจ็บได้อย่างไร

การส่งสัญญาณที่ถูกต้อง เช่น การบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกัน หรือการไม่การนิรโทษกรรม จะเป็นมาตรการที่ช่วยยับยั้งมิให้เหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นซ้ำอีกได้ในอนาคต เพราะหากไม่ทำให้ผู้ที่มาชุมนุมมีต้นทุนเกิดขึ้นกับตนเองในการมาชุมนุมไม่เฉพาะแต่เพียงต้นทุนทางการเงิน หากแต่เป็นต้นทุนทางอาญาด้วยจึงจะเป็นมาตรการที่ดีที่ในการป้องปราม ทำให้ผู้มาชุมนุมต้องคำนวณความเสี่ยงที่คาดว่าจะได้รับเพิ่มเสียใหม่

มิเช่นนั้นนอกจากผู้ที่มาชุมนุมในฐานะส่วนตัวจะ ได้เงิน ได้ของที่ขโมยมา แล้วยังจะสามารถเดินลอยชายกลับบ้านไปแถมค่ารถให้อีกต่างหาก ในขณะที่คนในสังคมทั้งหมดเป็นผู้แบกรับต้นทุนที่พวกเขาทำให้เกิดขึ้นทั้งหมด คิดหรือไม่ว่าสงกรานต์ปีหน้าหากมีใครชวนให้มาชุมนุมทำไมจะไม่มาเพราะมีแต่ได้กับได้

สำหรับ ปัญญาชนแดง เช่น ใจ อึ๊งภากรณ์ จักรภพ เพ็ญแข โคทม อารียา หรือ วรพล พรหมิกบุตร การชุมนุมในครั้งนี้ “ไม่มีอาหารกลางวันฟรี” ด้วยเช่นกัน

การเข้ามอบตัวหลังจากถูกออกหมายจับของวรพล พรหมิกบุตร โดยอ้างว่าไม่ได้หนีแต่เนื่องจากคออักเสบ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีเช่นกันสำหรับเรื่องของฟรีที่ไม่มีในโลก

หากยังจำกันได้เรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของจักรภพ เพ็ญแขที่เกิดขึ้นเมื่อเขาไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อ 29 ส.ค. 50 สิ่งที่น่าสนใจก็คือในวันนั้นมิได้มีผู้ไปพูดแต่เพียงจักรภพเพียงลำพัง หากแต่ยังมีวรพล พรหมิกบุตรผู้นี้เป็นผู้อภิปรายร่วมด้วยอีกคนหนึ่ง แม้วรพลจะมิได้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นฯดังเช่นจักรภพ แต่การเป็นข้าราชการไปอยู่ร่วมในเวที ร่วมฟังการก้าวล่วงผู้ที่ตนเองทั้งโดยประเพณีและกฎ เป็น “ข้า” รับใช้อยู่โดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ (ดูจากวิดีโอจักรภพพูดก่อน) จะให้สังคมตีความว่า วรพลไม่เห็นด้วยกับที่จักรภพพูดก็ยากที่จะให้เข้าใจเช่นนั้น อย่าลืมข้อเท็จจริงอีกประการที่สำคัญว่าผู้ที่ไปแจ้งความดำเนินคดีนี้เป็นนายตำรวจผู้ที่ได้รับฟังการอภิปรายมาเช่นกัน ทำไมนายตำรวจท่านนั้นทำในสิ่งที่วรพล พรหมิกบุตรไม่ทำทั้งที่เป็นข้าราชการเหมือนกัน การรับรู้แต่นิ่งเฉยเสียโดยไม่คัดค้านก็หมายถึงเห็นด้วยใช่หรือไม่

การเข้าไปร่วมดำเนินการกับแกนนำ นปช.ในต่างกรรม ต่างวาระ เช่น การไปเป็นวิทยากรในโรงเรียน นปช.จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยในแนวคิดของ นปช.และผู้ที่เข้าไปร่วมด้วย เช่น วรพล พรหมิกบุตร ปัญญาชนแดงผู้นี้ว่าคิดต่างไปจากที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีอยู่หรือไม่ เป็นดังเช่นจักรภพ หรือ ใจ หรือไม่

วรพล กล่าวเมื่อวันไปมอบตัวว่า อยากชี้แจงสิ่งที่ได้ดำเนินการไปนั้นเป็นการติดตามข้อมูลวิเคราะห์นำเสนอ คาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งให้ข้อแนะนำทั้งสองฝ่าย เช่น แนะนำประชาชนว่าให้ใช้สันติวิธี ส่วนรัฐบาลก็แนะนำว่าไม่ควรใช้อำนาจเกินเลยจากที่มีอยู่ ซึ่งเป็นเจตนาทางวิชาการอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาที่จะละเมิดกฎหมายฉบับใดและในหมาย (จับ) นั้นก็ระบุว่าตนเป็นผู้ต้องสงสัย ไม่ได้บอกว่ากระทำผิด

“ผมเขียนบทความเตือนลักษณะนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนเริ่มชุมนุม อีกชิ้นหนึ่งเป็นบทความที่เผยแพร่ปีที่แล้วเช่นกัน ชื่อ “ปลายทางความรุนแรง หายนะคนเสื้อแดง และประชาธิปไตยไทย” เขียนชัดเจนว่ามีโอกาสเกิดความรุนแรง แต่ต้องหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดสภาพสถานการณ์อย่างเช่น ภาคใต้ที่จะขยายมาในที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นเนื้อหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่นำมาพูดซ้ำบทเวทีเพื่อเตือนซ้ำ แต่ว่าเกิดบานปลายไปจากปัจจัยต่างๆ ที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้ก็พามาสู่จุดนี้ ซึ่งขณะนี้สภาพในประเทศก็ยังไม่สามารถไว้วางใจกันได้ว่าประชาชนโดยส่วนรวมจะสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขได้เหมือนก่อน จึงเป็นเรื่องที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่” นายวรพล กล่าว

บทความที่อ้างดังกล่าวเผยแพร่ครั้งแรกในชื่อเรื่อง “สันติวิธีกับการปฏิวัติการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย” เป็นเอกสารประกอบการบรรยายในการสัมมนาที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ไทยเรดนิวส์ เมื่อ 30 ตุลาคม 2552 กับแกนนำ นปช.ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลฯ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ และได้ปรับปรุงเผยแพร่อีกครั้งในชื่อใหม่ดังกล่าว เมื่อ 8 ก.พ.53 (liberalthai.com )

เนื้อหากล่าวโดยสรุปได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 49 ยังคงมีอยู่ระหว่าง (1) กลุ่มอำนาจเบื้องหลังการรัฐประหารร่วมกับพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบัน กับ (2) กลุ่มพลังการเมืองภาคประชาชนในเครือข่าย นปช. และพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มอำนาจดังกล่าว ซึ่งกลุ่มหลังมีพลังอำนาจมากจนไม่สามารถจะมีกลุ่มใดมายับยั้ง “พลวัตประชาธิปไตยนั้นได้”

แต่หากจะมีการถ่วงรั้ง ยั่วยุ ขบวนการ นปช.ให้เลือกวิธีความรุนแรงก็จะมีฉากจบอยู่ 2 แบบคือ จบแบบรุนแรง นองเลือด และเฉียบพลันแบบกรณี 6 ต.ค.19 หรือแบบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้แต่ขยายตัวไปทั่วประเทศเป็นความรุนแรงแบบเล็กแต่ยืดเยื้อ ทางออกจึงอยู่ที่การใช้การปฏิวัติประชาชนโดยสันติวิธีที่เสนอโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โดยการสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นจึงยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้

ในเนื้อหาจะถูกผิดอย่างไรจะไม่ขอวิจารณ์ในที่นี้ แต่บอกได้คำเดียวว่า “ขาลอย” แต่หาก วรพลจะบอกว่าได้เตือนล่วงหน้ามาก่อนแล้วผ่านข้อเขียนดังกล่าวก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เมื่อเกิดความรุนแรงและอ้างว่าไม่มีใครสามารถควบคุมได้เมื่อ 10 เม.ษ. 53 ทั้งๆ ที่ตนเองอ้างว่าคาดคะเนเอาไว้ก่อนแล้ว ทำไมวรพลผู้มีเจตนาทางวิชาการอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาที่จะละเมิดกฎหมายฉบับใด ไฉนจึงไม่ห้ามปราม ไม่ประณามแกนนำ นปช.ที่เอาชีวิตผู้ชุมนุมมาเสี่ยงโดยไม่ยุติการชุมนุมเมื่อเกิดความรุนแรงและมีคนตาย

แม้จะอ้างว่าเกิดจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย แต่ก็ควรจะต้องหยุดการชุมนุมเพราะการชุมนุมมีส่วนทำให้กองกำลังมาทราบฝ่ายมาอาศัยเป็นเกราะกำบังกายเข้าโจมตีฆ่าคนโดยไม่เลือกฝ่าย และที่สำคัญหลัง 10 เม.ษ. 53 วรพลยังมาร่วมชุมนุมอีกหรือไม่ หากมามาเพื่อเตือนตามที่กล่าวอ้างหรือมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่น

ทำไมวรพลจึงไม่ทำในสิ่งที่ควรทำอยู่เสมอๆ แปลกจริงๆ หากจะเป็นนักคิด นักวิชาการ ก็ไม่ควรเข้ามาเคลื่อนไหวร่วมกระทำกับกลุ่มคนที่ถูกสังคมประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะถ้า “คิด แต่ไม่ปลุกระดม” แบบสมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ประภาส ปิ่นตบแต่ง หรือแม้แต่สมชาย ศิลปปรีชากุล ไม่ว่าจะคิดถูกหรือผิดก็คงไม่ถูกออกหมายจับเป็นแน่

ดังนั้น ความรับผิดชอบทางจริยธรรมต่อสังคมที่อยู่เหนือกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมายของปัญญาชนแดงเหล่านี้จึงบกพร่อง เช่นเดียวกับตัวอย่างของ จักรภพ เพ็ญแข ใจ อึ๊งภากรณ์ หรือ โคทม อารียา ที่ล้วนแล้วแต่ไม่กล้าออกมารับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองได้ทำไปแล้ว เพราะการได้รับการยกย่องว่าเป็นปัญญาชนมิได้หมายความว่าจะไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งชี้นำให้สังคมไปทำแต่อย่างใด

สังคม “ไม่มีอาหารกลางวันฟรี” ให้พวกคุณดอกไม่ว่าจะเป็น เสื้อแดงเล็ก หรือปัญญาชนแดงผู้ยิ่งใหญ่ โปรดเข้าใจเสียใหม่



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้