(23) กบฏ “ความคิด” ของนักวิชาการแดง (19/5/53)

(23) กบฏ “ความคิด” ของนักวิชาการแดง (19/5/53)

กบฏ “ความคิด” ของนักวิชาการแดง


รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่คล้ายดั่งเพลงกระบี่ที่ 15 ของอี้จับซาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดุจดังผู้ที่ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้

สิ่งที่คนเสื้อแดงเสพติดอยู่ในขณะนี้เป็นเพลงกระบี่ที่ 15 หรือไม่ แล้วใครกันนะที่เป็นผู้สร้าง “ความลวง” ให้กับเขาเหล่านั้น

ผู้ที่เคยอ่านเรื่อง “ซาเซียวเอี้ย” ของโกวเล้ง ก็จะทราบว่า อี้จับซา มีเพลงกระบี่ขั้นสุดยอดเพียง 13 เพลงเท่านั้น เพื่อต้องการเอาชนะเป็นหนึ่งในแผ่นดินทำให้อี้จับซาได้คิดค้นเพลงกระบี่ที่ 14 แต่เพลงกระบี่ที่ 15 กลับเกิดขึ้นมาโดยไม่คาดคิด แม้จะมีอานุภาพมากกว่าเพลงกระบี่ที่มีอยู่ทั้งหมดแต่ก็กลับกลายเป็นเพลงกระบี่ที่ควบคุมไม่ได้จนผู้ที่คิดค้นขึ้นมาใช้ต้องฆ่าตัวตายในที่สุดเพราะเกรงกลัวอันตรายจากอานุภาพของเพลงกระบี่ที่ 15 ที่ไม่สามารถควบคุมได้

แกนนำคนเสื้อแดงก็คงไม่แตกต่างไปจากอี้จับซากับเพลงกระบี่ที่ควบคุมไม่ได้เพลงที่ 15 ด้วยการปลุกระดมมวลชนทั้งที่มาชุมนุมและไม่ได้มาชุมนุมด้วย “ความลวง” ไม่ว่าจะเป็น การต่อสู้ที่ทำอยู่เป็นสงครามครั้งสุดท้าย ชัยชนะของมวลชนนั้นอยู่แค่เอื้อม กลายเป็นสิ่งเสพติดเป็นความลวงที่แกนนำคนเสื้อแดงป้อนให้มวลชนของตนเองเสพอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากอี้จับซาก็คือแกนนำคนเสื้อแดงไม่แสดงความรับผิดชอบ

ปัจจุบัน “ความจริง” ที่เกิดขึ้นกลายเป็น “นาย” ของคำพูดตนเองที่ได้กล่าวไปโดยขาดความรับผิดชอบต่อมวลชนที่พวกตนไปปลุกระดมมา เพราะเงื่อนไขยุบสภาในทันทีก่อน 10 เมษายนได้กลายเป็นการยุบสภาพร้อมด้วยอภิสิทธิ์ต้องออกนอกประเทศเมื่อหลังเกิดการบาดเจ็บล้มตายครั้งใหญ่เมื่อ 10 เมษายน และกลายมาเป็นเพียงแค่ให้อภิสิทธิ์หรือสุเทพไปมอบตัวที่กองปราบฯ ก็เพียงพอและพร้อมที่จะเลิกการชุมนุม

แกนนำทั้งที่ยังอยู่และที่หลบหนีออกไปจากการชุมนุม หากยังมีสำนึกของความเป็น “คน” อยู่ก็ต้องรับผิดชอบต่อ “ความลวง” ที่ตนเองได้ปลุกระดมหลอกลวงต่อมวลชนคนเสื้อแดง เพราะ “ความจริง”กำลังไล่ล่าพวกคุณอยู่ ชัยชนะหรือสงครามครั้งสุดท้ายที่กล่าวอ้างถึงนั้นดูจะอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นเฉกเช่นเดียวกับหมอกควัน ที่เลือนลางและจับต้องมิได้

เพราะ นปช.กำลังจะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายหรือกบฏ ไม่มีใครจะมาเป็นแนวร่วมกับคนเสื้อแดง ไม่มีแดงทั้งแผ่นดิน ไม่ได้มีส่วนใดที่ใกล้เคียงกับประชาธิปไตยแม้แต่น้อย และที่สำคัญไม่ใช่แนวร่วมเพื่อคนในชาติไทยแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้จึงเป็น “ความจริง” ที่กำลังไล่ล่าแหล่าแกนนำและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกบฏ “ความคิด” ของเหล่านักวิชาการแดงทั้งหลาย

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้เขียนบทความเรื่อง “สงครามเย็น” กรุงเทพธุรกิจ 28 เมษายน 53 ที่บรรยายความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย “ความลวง” ว่าไม่แตกต่างไปจาก “สงครามเย็น” โดยประภาสได้เขียนในตอนหนึ่งว่า

“ฝ่ายรัฐได้ผลักให้คนเสื้อแดงกลายเป็น “ผู้ก่อการร้าย” เหมือนดังขบวนการสังคมนิยมภายใต้การขับเคลื่อนของพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต โดยสร้างอุดมการณ์ให้ฝ่ายตนว่าเป็นผู้พิทักษ์ชาติ-ราชบัลลังก์ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลายเป็นขบวนการล้มเจ้า”

“สงครามเย็น” ของประภาสจึงมิใช่การสู้รบทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐฯ เป็นประเทศนำกับสหภาพโซเวียตรัสเซียที่เป็นประเทศผู้นำของโลกคอมมิวนิตส์ในอดีตดังที่คนทั่วไปเข้าใจ หากแต่กล่าวว่าเป็นการต่อสู้รบแบบของจริงกันแล้วระหว่างผู้ก่อการร้ายกับรัฐไทย เพราะ “การเปลี่ยนจากเสื้อแดงมาเป็นเสื้อไม่มีสี (ของคนไม่มีเส้นตามตรรกะของแกนนำ) คงไม่ใช่แค่เพียงเพื่อหลบด่านทหารตำรวจในการเข้ามาสู่ที่ชุมนุม แต่สะท้อนว่าการต่อสู้โดยอาศัยสัญลักษณ์ได้จบสิ้นลงและก้าวมาสู่สมรภูมิรบอย่างเต็มตัว พวกเขาได้สลัดสัญลักษณ์มาสู่การรบแบบของจริงกันแล้ว”

ดังนั้นระหว่าง “ความเชื่อ “ กับ “ความจริง” และ “ความชอบ” นั้นประภาสคงจะแยกแยะไม่ออกเพราะยังได้เขียนอีกว่า “ท่านโฆษก ศอฉ.ได้ออกมาแถลงการณ์พร้อมทั้งเอกสารเครือข่ายล้มเจ้า พร้อมมีแผนผังแสดงการเชื่อมโยงผู้คนต่างๆ โดยมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนหลัก ช่วงที่ท่านแถลงข่าวหากใครไม่มองหน้าท่านโฆษกในทีวีก็อาจหลงไปว่า เป็นการแถลงของพันธมิตรฯ เพราะเรื่องราวเหล่านี้ได้ยินมาจากบรรดาองค์ศาสดานักรบหน้าไมค์บนเวทีจนแทบอาเจียน”

ในเรื่อง “ความเชื่อ “ สมชาย ศิลปปรีชากุล ได้เขียนบทความเรื่อง “เมื่อเรานับถือพระเจ้าคนละองค์”ในเวลาใกล้กันในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 29 เมษายน 53 ว่า ในอดีตเคยมีบทเรียนจากการสูญเสียเกิดขึ้นจากความเห็นที่แตกต่างในการนับถือพระเจ้าคนละองค์ และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะบังคับให้คนอื่นๆ หันมาศรัทธาต่อสิ่งที่ตนนับถือ ดังนั้น

“ภายใต้สภาวการณ์เยี่ยงนี้จะทำอย่างไรกัน จะสร้างกฎเกณฑ์กติกาอันพอจะเป็นที่ยอมรับกันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องหันมาเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกัน ไม่จำเป็นต้องหันมารักกัน ไม่จำเป็นต้องสามัคคีกัน ไม่จำเป็นต้องสมานฉันท์ แค่มองเห็นอีกฝ่ายเป็นมนุษย์ไม่ใช่ผู้โง่งมที่ตกเป็นทาสของบางสิ่ง และยอมรับในความแตกต่าง ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียอะไรบางอย่างที่เคยเป็นมาบ้าง เพื่อให้อยู่ร่วมกันต่อไปได้ หรือจะปฏิเสธการดำรงอยู่ของผู้ที่มีความคิด ความเห็น ความเชื่อ ซึ่งแตกต่างกัน แล้วใช้อำนาจของฝ่ายตนเท่าที่มีอยู่บังคับให้อีกฝ่ายต้องมีความเห็นเฉกเช่นเดียวกับตน ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยชีวิต เลือดเนื้อ ความเจ็บปวด ความโกรธแค้นมากมายเพียงใดก็ตาม”

ในฐานะนักวิชาการด้วยกัน “ความคิดนั้นกล้าคมกว่าศาสตรวุธใดยิ่งนัก” แต่ในระหว่าง “ความเชื่อ” กับ “ความชอบ” นั้นดูท่าจะมิได้มีความแตกต่างกันสักเท่าใดสำหรับทั้ง 2 ท่าน เพราะการจะมี “ความเชื่อ”ในสิ่งใดนั้น ผู้มีความรู้ที่ใช้ความคิดที่แสดงออกเป็นอาวุธต้องสามารถแจกแจงกรอบแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานของ “ความจริง” ได้ว่าสิ่งที่ตนเอง “เชื่อ” นั้นมีกระบวนคิดและที่มาจากที่ใด มิเช่นนั้น “ความเชื่อ” ที่มีก็จะกลายเป็นแต่เพียง “ความชอบ” และเป็น “อคติ” ไปในที่สุด หาได้ตั้งอยู่บนกระบวนคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ไม่

ดังนั้น การจะนับถือพระเจ้าคนละองค์เพราะความเชื่อแต่ละคนที่มีแตกต่างกันไปก็ไม่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดอันเนื่องมาจาก “ความชอบ” นั้นเป็นเรื่องส่วนตัว แต่การเผยแพร่ “ความเชื่อ”ของตนบนพื้นฐานของ “ความชอบ” โดยปราศจากกรอบแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ความจริง” จึงเป็นการใช้ “ความคิด” ไปในทางที่ผิด เป็นอนันตริยกรรมที่นักวิชาการพึงหลีกเลี่ยงเป็นที่สุด เพราะไม่มีอะไรจะผิดร้ายแรงไปกว่าการเผยแพร่ “ความลวง” ที่ทำให้คนหลงเชื่อไปในทางที่ผิด

กรอบแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญในสิ่งที่ตนเอง “เชื่อ” ที่เป็นที่มาของ “ความเชื่อ” ในที่สุด กาลิเลโอจึงมิได้ใช้ “ความเชื่อ” ว่าโลกนี้แบนของศาสนาจักรมาอยู่เหนือ “ความจริง” ที่ว่าโลกนี้กลม หรือศาสนาพุทธที่ใช้ความมีเหตุและผลมากกว่าศรัทธาที่จะทำให้คนมี “ความเชื่อ” ยอมรับนับถือ ทำให้ศาสนาพุทธมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนาอื่นใดเพราะพิสูจน์ได้

ประภาส ปิ่นตบแต่งจะพิสูจน์โดยหลักวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ว่าแกนนำคนเสื้อแดงมิใช่ผู้ก่อการร้ายที่เอาผู้บริสุทธิ์ เช่น เด็ก ผู้หญิง คนสูงอายุ มาเป็นโล่มนุษย์เพื่อผลประโยชน์ของทักษิณแต่เพียงผู้เดียว จะยอมรับ “ความจริง”หรือไม่ว่าคนเสื้อแดงที่เอาเด็กมาชูอยู่เหนือหัวล่อเป้าเพื่อคุ้มครองตนเองและพวกในขณะที่ตนเองหลบอยู่ต่ำกว่าในกองยางเป็นพฤติกรรมการก่อการร้าย หรือสมชาย ศิลปปรีชากุลจะนับถือพระเจ้าคนละองค์ที่แตกต่างกับผู้อื่นในสังคมก็ไม่มีใครว่า แต่มีอะไรพิสูจน์ว่า “พระเจ้าองค์ที่สมชายไม่นับถือ” นั้นมีความดีน้อยกว่าหัวหน้าผู้ก่อการร้ายทักษิณที่สมชายเชิดชูที่ กำลังทำร้ายประเทศไทยอย่างโหดเหี้ยมและอำมหิตยิ่งนัก

ประภาสและสมชายจึงเป็นแค่ตัวอย่างของ ผู้ก่อการร้ายหรือกบฏ “ความคิด”ของนักวิชาการที่มี “อคติ” อีกหลายๆ คนที่ปรากฏอยู่ในอีกหลายๆ รูปแบบทั้งในคราบของนักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชน หรือนักวิชาการทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศที่มิได้ใช้ “ความจริง” มาสร้างเป็นกรอบแนวคิดเพื่อนำเสนอนโยบายที่ถูกต้องชอบธรรมออกมาให้สังคม เพื่อให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ความขัดแย้งที่ปรากฏขึ้นมาในปัจจุบันโดย “ความจริง” จึงเป็นความขัดแย้งของคนเพียงคนเดียวที่ไม่ยอมรับกติกาของคนอีกหลายๆ คนที่รวมกัน เป็นสังคม เป็นรัฐ ที่หากใครจะอยู่ร่วมกันก็ต้องปฏิบัติตามกติกา มิใช่เรื่องของอำมาตย์กับไพร่ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ความขัดแย้งดังกล่าวจึงมิสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรองดองหรือยอมถอยกันคนละก้าวดังเช่นการเสนอให้มีการเจรจา ที่คนเสนอจะได้ภาพที่ดูดีแต่มิได้แก้ไขปัญหาอย่างผู้มีความรู้ความรับผิดชอบแต่อย่างใดเพราะไม่ว่าท่านจะเป็นนักวิชาการมีความเชื่อต่างกันอย่างไรก็ตามแต่ แต่จะให้สังคมยอมแพ้ต่อความไม่ถูกต้องได้อย่างไร

ประภาสและสมชายจึงเป็น ผู้ก่อการร้ายหรือกบฏ “ความคิด” ของนักวิชาการที่มี “อคติ” เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คนที่แม้กฎหมายอาจเอื้อมไปไม่ถึง แต่บุคคลเหล่านี้ก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตายของมวลชนเสื้อแดงไม่น้อยกว่าแกนนำของเขาเพราะการเผยแพร่สิ่งที่เป็น “ความลวง” ก็สมควรที่จะถูกสังคมประณามว่า “มือท่านก็เปื้อนเลือด” เช่นเดียวกับแกนนำของเขาเช่นกัน




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้