รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีศาจตนหนึ่ง ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังวนเวียนอยู่ในยุโรป อิทธิพลทั้งปวงของยุโรปเก่าทั้งสันตปาปาและพระเจ้าซาร์ทั้งเมตเตร์นิชและกีโซต์ ทั้งชาวพรรคหัวรุนแรงของฝรั่งเศสและสายลับตำรวจของเยอรมนี ได้รวมกันเข้าเป็นพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อกำจัดปีศาจตนนี้
แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)
โดย มาร์กซ์ และ เองเกลส์ (1848)
พคท.ในที่นี้คือคำย่อที่เรียกขานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ไม่เคยจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองกับผู้ใดก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 จนถึงปัจจุบัน แม้จะไม่มีการประกาศยุบพรรคแต่ก็มิได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาแล้วกว่า 20 ปี
ในทางปฏิบัติ พคท.กลับมีบทบาทเป็นพรรคการเมืองของจริงเนื่องจากมีอุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจนมาตั้งแต่ก่อตั้ง คือแนวทางตามลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน และแนวความคิดของเหมาเจ๋อตง ทำให้มีความเป็นพรรคการเมืองมากกว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันหากพิจารณาให้ถ่องแท้ เพราะพรรคการเมืองของไทยส่วนใหญ่ขาดซึ่งอุดมการณ์ ทำให้ขาดซึ่งประชาชนที่เห็นด้วยหรือแนวร่วมที่จะมาเป็นสมาชิกพรรค มีแต่อุดมกินและอุดมทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นแอ่งที่เมื่อฝนตก ...ก็ไหลมารวมกัน
พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกในปัจจุบันอาจแบ่งออกเป็น 2 ระบบคือ (1)ระบบเผด็จการพรรคเดี่ยว ซึ่งในปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ประเทศในโลก เช่น เกาหลีเหนือ จีน หรือ คิวบา เป็นต้น และ (2) ระบบการเมืองหลายพรรค เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น อิตาลี เป็นต้น แต่ในปัจจุบันหากต้องเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองโดยการเลือกตั้งแข่งกับพรรคอื่นๆ ส่วนใหญ่อับแสงตกกระป๋องไม่สามารถเข้ามามีอำนาจได้เพราะพ่ายแพ้กับการเลือกตั้ง เนื่องจากมีพรรคที่มีอุดมการณ์ซ้ายไม่มากที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ เช่น พรรคแรงงาน หรือพรรคสังคมนิยมที่อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า จึงอาจกล่าวได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งล้าหลังทางการเมืองในโลกปัจจุบันไปเสียแล้ว
การที่พรรคคอมมิวนิสต์สามารถเข้ามามีอำนาจทางการเมืองได้ ส่วนใหญ่ได้มาจากการลุกขึ้นมาปฏิวัติโดยประชาชน หรือที่มักเรียกโดยทั่วไปว่า การ “ปฏิวัติประชาชน” ดังเช่นที่ รัสเซีย และจีน เป็นต้นแบบ และส่วนใหญ่ก็ได้อำนาจมาแบบ “นองเลือด” ประชาชนส่วนใหญ่ในโลกจึงเลือกระบอบประชาธิปไตยหรือพรรคที่มีอุดมการณ์นอกเหนือไปจากพรรคคอมมิวนิสต์เพราะการเปลี่ยนถ่ายอำนาจส่วนใหญ่เป็นไปโดยสันติวิธีมากกว่า
พคท.ในช่วงปี พ.ศ. 2521-22 อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดก็ว่าได้ เพราะหลังจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 19 มีนักศึกษา ผู้นำคนงาน หรือปัญญาชน เข้าป่าไปร่วมเป็นจำนวนมากและได้แนวร่วมจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายทหารที่เข้ามายึดอำนาจที่ไม่ได้เข้าป่าอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
แม้ว่าพคท.ในช่วงเวลาดังกล่าวจะ มีเงื่อนไขครบถ้วนที่จะดำเนินการ “ปฏิวัติประชาชน” เพราะมีพรรค มีแนวร่วม และมีกองกำลัง อันเป็น “แก้ว 3 ประการ” ที่พึงมีที่ถูกร้อยรัดไว้ด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ทางการเมืองต่อแนวทางการเมืองนำการทหารในปี พ.ศ. 2523 ที่ขจัดเงื่อนไขการ “ปฏิวัติประชาชน” ออกไปได้ ผนวกกับการเปิดประเทศของจีนที่เริ่มมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ทำให้รัฐบาลไทยสามารถส่งคนไปเจรจาให้จีนถอนการสนับสนุน พคท.ได้เป็นผลสำเร็จโดยแลกกับการสนับสนุนบทบาทของจีนในกัมพูชา
การก้าวขึ้นมาสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยอันเป็นบรรพบุรุษของพรรคพลังประชาชนในอดีตที่ผ่านมานั้น เป็นไปด้วยความเคลือบแคลงที่น่าสงสัยว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นปรปักษ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ดังปรากฏจากพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่มีกับนายเหยียน ปิง การเป็นที่รวบรวมพลของบรรดาผู้ที่เคยเข้าป่าที่เคยเป็นแกนนำ พคท.ในอดีต หรือความพยายามที่จะใชัระบบเผด็จการพรรคเดียวของพรรคไทยรักไทยในลักษณะของเผด็จการทุนนิยมที่อาศัยการซื้อเสียงในระบบเลือกตั้งมาเป็นความชอบธรรมเพียงประการเดียวหรือการควบรวมพรรคในการเข้ามาสู่อำนาจ และในที่สุดข้อสงสัยก็เป็นจริงเมื่อมีคำพิพากษาของศาลที่สั่งให้ยุบพรรคทั้ง 2 ในที่สุด
จำแลง เป็นคำกริยา หมายถึง การแปลงกายจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่ง
ดังนั้นพรรคเพื่อไทยในเวลาปัจจุบันที่ได้รับโอนสมาชิกพรรคพลังประชาชน การสนับสนุนทางการเงิน และการบริหารจากแหล่งเดิม จึงเป็นการจำแลงแปลงกายจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่ง ภายนอกอาจเปลี่ยนแต่เนื้อในคงเดิม
ในขณะเดียวกัน หลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 49 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีชื่อเดิมว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก็ได้ก่อกำเนิดขึ้นมาโดยทักษิณ ชินวัตรภายใต้ข้ออ้างของการเป็นแนวร่วมทางการเมืองของกลุ่มผู้รักษาประชาธิปไตยและต่อต้านการรัฐประหาร พ.ศ. 2549
แต่เมื่อการรัฐประหารสิ้นสุดลงและมีการคืนอำนาจไปสู่ประชาชนในปลายปีพ.ศ. 2550 โดยมีการเลือกตั้งอีกครั้ง แม้พรรคพลังประชาชนที่เป็นแนวร่วมทางการเมืองของ นปช.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นปช.ก็มิได้สิ้นสุดภารกิจ แต่กลับดำเนินการชุมนุมอย่างต่อเนื่องโดยสร้างประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นเงื่อนไขในการชุมนุมอยู่ตลอดเวลา โดยประเด็นที่ชูขึ้นมาในภายหลังก็คือ การล้มทุน ล้มปืน เพื่อที่จะล้มเจ้าในที่สุดโดยอาศัยยุทธวิธี “ตีวัวกระทบคราด” โดยแสร้งว่าต่อต้านอำมาตย์ และกำหนดเป้าหมายของการต่อต้านที่องคมนตรีเป็นหลักเพื่อหวังผลที่สูงกว่านั้น
เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบและรัฐบาลหุ่นเชิดของทักษิณหมดอำนาจ ความพยายามในการก่อความไม่สงบตลอดปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมาของทักษิณ ชินวัตรและพวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนเมษายน 2552 ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของการเริ่มต้นจุดประกายการ “ปฏิวัติประชาชน” ตามที่แกนนำ นปช. เช่น จักรภพ เพ็ญแขเป็นผู้กล่าวว่า “ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่ประชาชนจำนวนมากออกมาบอกว่าไม่ต้องการการ “อุปถัมภ์” ของท่านอีกต่อไปแล้ว ผมต้องการสงครามประชาชน”
แต่การก่อความไม่สงบก็เป็นชัยชนะแบบเทียมๆ และกลับกลายเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่สำคัญ เพราะนอกจากจะไม่สามารถเอาชนะโดยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอำนาจรัฐใดๆ ได้แล้วยังสูญเสียแนวร่วมมวลชนไปอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการ “ปฏิวัติประชาชน” ของ นปช.อาศัยความรุนแรงเป็นแนวทางในการดำเนินการแทบทั้งสิ้นซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่ต้องการ ดังที่ วีระ มุสิกพงศ์ กล่าวประกาศแนวคิดเกี่ยวกับ การตั้งรัฐไทยใหม่และการปฏิวัติที่ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อเดือนเมษายนว่า
ติดที่ว่า ไอ้เด็กระยำ หัวหน้ารัฐบาลโจร ที่ปล้นเขามา ยังพอมีบุญจึงยังไม่ตายโหง ทั้งที่ความจริง อภิสิทธิ์ คือคนที่ตายไปแล้ว และโดนยึดอำนาจไปตั้งแต่สงกรานต์นั้นแล้ว เพราะเมื่ออภิสิทธิ์ตาย รัฐไทยจะกลายเป็นสุญญากาศ สอดคล้องกับการที่ทักษิณมาอยู่ที่ชายแดนเขมร เขาจะเดินเข้ามาทางอีสาน โดยมีกองกำลังส่วนตัวกับคนเสื้อแดงนับแสน ทั้งจากอุดรธานี และทั่วภูมิภาคอีสาน ภาคเหนือ เข้าทำการประกาศคณะปฏิวัติโดยประชาชน ทหารส่วนหนึ่งจะหนุนหลังคลื่นคนเหล่านี้ ตำรวจเกือบทั้งสำนักงานก็สนับสนุนขบวนการเหล่านี้ ระบบราชการถูกยึดโดยคนเสื้อแดง สังคมโลกรับรู้ว่าคือ การ “ปฏิวัติโดยประชาชน” หาใช่ “ปฏิวัติโดยทหาร”
ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้ในข้อเท็จจริงว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวทับซ้อนหรือเป็นผลประโยชน์โดยตรงของทักษิณ ชินวัตรและครอบครัวแต่เพียงอย่างเดียว มิใช่ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมตามที่แอบอ้างแต่อย่างใด
หรือคำให้สัมภาษณ์ ตอนเปิดสถานีโทรทัศน์ DTV เมื่อเร็วๆ นี้ “ที่ต้องทำสถานีนี้ เพราะเห็นว่าประเทศไทยไม่ไหวแล้ว รัฐไทยของเรามันตายไปแล้ว และที่เรามาที่นี่คือมาคิดการใหญ่ ไม่ใช่แค่มาเปิดรายการทีวีออกอากาศ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน เราคิดสร้างรัฐไทยขึ้นมาใหม่ รัฐไทยที่จะสร้างต้องสร้างด้วยมือคนเสื้อแดง มีสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน สื่อ มีสิทธิเสรีภาพ และการใช้กฎหมายต้องเสมอภาค แน่นอนรัฐนี้ต้องไม่ใช่รัฐที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี”
การออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สมาชิกพรรคเพื่อไทยหลังจากการเดินทางไปพบทักษิณ ชินวัตรที่ประเทศดูไบเมื่อต้นเดือน ก.พ. เกี่ยวกับการจัดตั้ง กองทัพประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กปช.) โดยระบุว่าจะแต่งตั้งพล.อ.ชวลิต เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฯ ดังกล่าว ก็เป็นตัวต่อตัวสุดท้ายที่ปรากฏให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ พคท. เกี่ยวกับการ “ปฏิวัติประชาชน” ของพวกเขาได้องค์ประกอบทั้ง 3 ประการครบถ้วนแล้ว คือ มีพรรค มีแนวร่วม และมีกองกำลัง
เป็นระดับความพร้อมเพื่อการ “ปฏิวัติประชาชน” ที่แม้แต่ พคท.ในยุครุ่งโรจน์เมื่อเกือบ 30 ปีก่อนก็ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีเช่นวันนี้ได้
แม้จะมีการออกมาปฏิเสธไม่รับตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฯ ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และจากผู้ที่ให้ข่าวเองในภายหลัง
แต่ก็อาจเป็นลักษณะของการ “ทำปืนลั่น” เสียก่อนเข้าปล้น เพราะแม้กระทั่งชื่อย่อยังมีการระบุอย่างชัดเจน แล้วจะว่าเป็นการพูดผิดพูดเล่นไปได้อย่างไร เรื่องอย่างนี้มีใครเขาพูดเล่นกันบ้าง
ความผิดบางประการแค่คิดหรือวางแผน เตรียมการ ก็ผิดแล้ว ไม่ต้องรอให้มีการกระทำเกิดขึ้นเสียก่อน อย่างความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ เช่น การเป็นกบฏในราชอาณาจักร
พล.อ.พัลลภ ก็เป็นทหารมาทั้งชีวิตก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้วมิใช่หรือว่า กองทัพในประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นมีได้เพียงอันเดียวที่ถูกกฎหมาย หากจะมีสองกองทัพก็จะต้องมีอันหนึ่งที่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน
(ตอนหน้า วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ พคท.จำแลง ของ “สหาย” ทั้งหลายที่ “กระหาย” การ “ปฏิวัติประชาชน” จะสำเร็จหรือไม่ ประเทศไทยกำลังจะเป็นรัฐไทยใหม่ด้วยการ“ปฏิวัติประชาชน” เหมือนที่ วีระพูดหรือไม่ โปรดติดตาม)