12. พันธมิตรฯ รำลึก หลักการนักรบของพันธมิตรฯ (ต่อ) 30/6/52

12. พันธมิตรฯ รำลึก หลักการนักรบของพันธมิตรฯ (ต่อ) 30/6/52

12. พันธมิตรฯ รำลึก หลักการนักรบของพันธมิตรฯ (ต่อ)


ผมได้กล่าวไปแล้วว่า นักรบ (แห่งธรรม) คือผู้ที่มุ่งหน้าไปหาพลัง และมณฑลแห่งพลัง เมื่อใดก็ตามที่ นักรบแห่งธรรม ล่าพลังได้สำเร็จ ตัวเขาก็จะกลายเป็น ผู้กระจ่าง ก่อนที่ผมจะกล่าวถึงสภาวะจิตของ ผู้กระจ่าง ผมขออธิบายแนวทางในการล่าพลัง และเข้าถึงมณฑลแห่งพลังของ นักรบแห่งธรรม ก่อนว่า เขาทำได้อย่างไร เพราะเมื่อพี่น้องมาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นั่นก็เท่ากับว่า พี่น้องได้ตัดสินใจเลือก วิถีของนักรบแห่งธรรม แล้ว

มณฑลแห่งพลัง คือ สภาวะหรือสถานะแห่งพลังปราณ ซึ่งเป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่งที่ทำให้ นักรบแห่งธรรม สามารถเชื่อมโยงพลังนั้นเข้ากับตัวเขาเองได้ แล้วจึงเชื่อมโยงพลังของนักรบผู้นั้นเข้ากับพลังของนักรบคนอื่น รวมทั้งเชื่อมโยงกับพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในเชิงสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้เอง ขุมพลังของเหล่านักรบแห่งธรรม จึงเป็นขุมพลังที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วใน พ.ศ. 2551

นักรบแห่งธรรมที่เชื่อมตนเองเข้ากับพลังของมณฑลแห่งพลังได้ เขาจะค้นพบว่า ชีวิตมิใช่เรื่องของการต่อสู้ดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อตัวเองไปวันๆ อีกต่อไป แต่ชีวิตได้กลายเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจที่มีพลังให้ใช้ออกมาราวไม่มีวันหมดสิ้น และอย่างมีความหมายเพื่อส่วนรวมและหมู่คณะ ซึ่งนักรบแห่งธรรมสามารถใช้พลังอนันต์นั้น ในเชิงสร้างสรรค์เพื่อปั้นโลกอย่างที่เขาต้องการ เพื่อดำเนินชีวิตอย่างที่เขาต้องการ เพื่อสร้าง “สังคมใหม่” และ “การเมืองใหม่” อย่างที่เขาต้องการ โดยที่ นักรบแห่งธรรม สามารถใช้ชีวิตอย่างวางใจ และปราศจากความกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ตราบใดที่ตัวเขายังอยู่ในมณฑลแห่งพลังนี้ หรือสามารถเชื่อมโยงกับมณฑลแห่งพลังได้อย่างเลื่อนไหลไม่ติดขัด

นักรบแห่งธรรม สามารถเชื่อมโยงกับมณฑลแห่งพลังได้ ก็ด้วยปณิธานความมุ่งมั่นเพียงหนึ่งเดียวของเขาในการล่าพลัง หรือการเดินบนวิถีแห่งนักรบของตัวเขา ที่ตัวเขาเป็นผู้เลือกเองอย่างจริงใจและบริสุทธิ์ใจ นักรบคือผู้ที่กระหายในพลังแล้วใช้ความกระหายนี้เป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนที่รุนแรงที่สุดของตัวเขาในการเดินบนวิถีของเขา แต่นักรบแห่งธรรมก็มีทักษะในการรู้จักกำกับควบคุมความกระหายในพลังของเขาอย่างมีสติ กล่าวคือ นักรบแห่งธรรม ต้องมีศิลปะวิธีในการชักจูงความกระหายในพลังของตนมาใช้เพื่อบ่มเพาะพัฒนาตนเอง เพื่อยกระดับจิตใจของตนเอง และเพื่อทำงานให้แก่ส่วนรวมอย่างสร้างสรรค์ต่อเนื่อง

นักรบแห่งธรรม คือ ผู้ที่สามารถใช้เจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของตัวเขาอย่างได้ผล ในการรวบรวมพลังทั้งหมด และความสามารถทั้งหลายที่ตัวเขามีในการสร้าง “ตัวตนใหม่” ที่เป็น ตัวตนเชิงบูรณาการ (integral self) ที่ตัวเขาคิดจะเป็นขึ้นในแต่ละปัจจุบันขณะ หรือในทุกขณะจิตของตัวเขา และทำให้มันก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกในทุกๆ มิติแห่งชีวิตของเขาอย่างไม่หวั่นไหว อย่างไม่วอกแวกเบี่ยงเบนไปจาก วิถีของนักรบแห่งธรรม ที่ตัวเขากำลังเดินอยู่

นักรบแห่งธรรม จะต้องสะท้อนความเป็นตัวตนที่เขาเป็น หรือปรารถนาจะเป็นอย่างแท้จริงจากก้นบึ้งส่วนลึกสุดของจิตวิญญาณของเขาออกมาในทุกๆ ความคิด ทุกๆ คำพูด ทุกๆ คำเขียน ทุกๆ การกระทำ และทุกๆ เหตุการณ์รอบตัวเขา ตัวเขาต้องเป็นในสิ่งที่ตัวเขาเชื่อว่า เขาเป็นและทำให้โลกตอบสนองตามนั้น ความเป็นนักรบแห่งธรรม จึงต้องเป็นความรู้สึกที่แน่วแน่ที่สุดของพลังจากมณฑลแห่งพลังในทุกๆ สถานการณ์ที่ตัวเขาเข้าไปเกี่ยวข้อง

นักรบแห่งธรรม จะไม่ยอมจำนนให้แก่ใคร แต่ นักรบแห่งธรรม จะต้องยอมจำนนต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นภายในตัวนักรบเอง ขณะที่ตัวเขากำลังอยู่ภายในมณฑลแห่งพลัง นักรบแห่งธรรม จะต้องปล่อยวางสิ่งต่างๆ รวมทั้งความคิด ความเชื่อที่เป็น “ตัวตนเก่า” ที่เขาเคยยึดถือยึดมั่นเอาไว้มานานปีลงเสีย และยินยอมให้พลังอันศักดิ์สิทธิ์จากมณฑลแห่งพลังนำพานักรบผู้นั้น ฟันฝ่าห้วงยามแห่งความปวดร้าว ความยากลำบากอันเนื่องมาจากการแปลงสภาพ และความทรมานของการก่อเกิด “ตัวตนใหม่”

ขณะที่ นักรบแห่งธรรม อยู่ในมณฑลแห่งพลัง ตัวเขาจะไม่มีปรปักษ์ใดเลย จะมีก็แต่สิ่งที่ตัวเขาต้องรับมือด้วยพลังที่แตกต่างหลากหลาย หลากชนิดอย่างมีกลยุทธ์หรืออย่างมีชั้นเชิงเท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่ตัวนักรบแห่งธรรมได้กลายเป็นตัวมณฑลแห่งพลังโดยสมบูรณ์ และกลายเป็นพลังแห่งแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่นๆ ที่พยายามเข้าถึงมณฑลแห่งพลังของตนเอง

เมื่อใดก็ตามที่นักรบแห่งธรรมตระหนักรู้ และเข้าถึงความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ของพลังในตัวเขา จนความกระหายในพลังมิได้เป็นแรงผลักดันในตัวเขาอีกต่อไป เมื่อนั้น นักรบแห่งธรรมย่อมย่างเข้าสู่วิถีของผู้กระจ่าง และ มหาอติ คือสภาวะจิตของเขาผู้นั้น ผู้กลายมาเป็น ผู้กระจ่าง ผู้ซึ่งเป็น เทียนแห่งธรรม ที่มิได้สูญเสียเปลวไฟของมันเลยในการให้แสงสว่างแก่เทียนเล่มอื่นๆ จำนวนนับไม่ถ้วน ยิ่งผู้นั้นแบ่งปันแสงสว่างจากเทียนแห่งธรรมของเขาในมณฑลแห่งพลังอันศักดิ์สิทธิ์ออกไปมากเพียงใด โลกก็จะยิ่งสว่างไสวกว่าเดิม และแสงสว่างแห่งธรรมนี้จะยิ่งยืดขยายกว้างออกไปมากยิ่งขึ้นทุกที

สภาวะจิตของ ผู้กระจ่าง มีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการ คือ

(1) การเปิดกว้างอย่างสมบูรณ์แบบ (complete openness)

ความเปิดกว้างอย่างสมบูรณ์แบบของ ผู้กระจ่าง เป็นผลมาจากการบ่มเพาะพัฒนาความสามารถในการยอมรับอย่างสมบูรณ์สิ้นเชิงในทุกๆ สถานการณ์ ในทุกๆ สภาวะอารมณ์ และในทุกๆ คนของคนผู้นั้น ในขณะที่ยังเป็นนักรบแห่งธรรม จนกระทั่งคนผู้นั้นสามารถที่จะมีประสบการณ์กับทุกๆ สิ่งได้อย่างทั้งหมดทั้งสิ้น อย่างไม่มีข้อแม้เงื่อนไขใดๆ และอย่างปราศจากความคับข้องใจใดๆ

เพราะทำได้เช่นนี้ คนผู้นั้นจึงมีพลังงานที่สร้างสรรค์จำนวนมหาศาลราวกับไม่มีวันหมดสิ้น เนื่องจากพลังงานของเขาไม่เคยรั่วไหลไปกับกระบวนการคิด และอารมณ์ที่สูญเปล่าไร้สาระ รวมทั้งตัวเขาไม่จำเป็นต้องสูญเสียพลังงานอันมีค่าของตัวเขาไปกับการพยายามหลบหนีความจริงของชีวิตในรูปแบบต่างๆ

ความยากลำบากในการเปิดกว้างอย่างสมบูรณ์แบบ อยู่ที่อัตตาของคนเราที่มักจะกลัวความเจ็บปวดหรือกลัวที่จะ “เปลือย” ตัวตนของตนเองออกมาอย่างหมดเปลือก ผู้กระจ่าง คือผู้ที่สามารถก้าวข้ามด่านแห่งการป้องกันตัวเองเหล่านี้ไปได้ และสามารถ “เปิด” ตนเองต่อฟ้าดินหรือต่อจักรวาฬ (Kosmos) ได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยความเรียบง่ายอย่างที่สุด และด้วยใจที่เปลือยเปล่าอย่างที่สุด การที่เขาสามารถกระทำเช่นนี้ได้ก็เพราะตัวเขาสามารถวางใจ และ “มอบตัวตน” ของเขาให้แก่ฟ้าดินได้อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

(2) ความสมบูรณ์พร้อมอย่างเป็นธรรมชาติ (natural perfection)

สำหรับ ผู้กระจ่าง แล้ว การปฏิบัติในแต่ละวันของเขาคือ การใช้ชีวิตอันแสนธรรมดาอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องเพราะสรรพสิ่งล้วนสมบูรณ์พร้อมอย่างที่มันเป็นอยู่แล้ว ปรากฏการณ์ทั้งหลายล้วนเป็นลีลาแห่งความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายอยู่ในตัว แต่ทุกๆ สิ่งก็เป็นแค่สัญลักษณ์เท่านั้น ในสภาวะจิตของ ผู้กระจ่าง จะปราศจากความพยายาม ความมุ่งมั่นใดๆ เพื่อการหลุดพ้นหรือการรู้แจ้งอีกต่อไป เพราะตัวเขาสามารถตระหนักได้ว่า พุทธภาวะเป็นสิ่งที่สมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องทำให้พุทธภาวะพัฒนามากไปกว่านี้ จึงไม่จำเป็นต้องพยายามเพื่อบรรลุอะไรอีก ความพยายามใดๆ เพื่อการบรรลุธรรมล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างเงื่อนไข และผิดธรรมชาติทำให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการไหลลื่นอย่างเป็นอิสระของจิต

การเจริญภาวนาของ ผู้กระจ่าง นั้น เขาทำมันในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเขาเท่านั้น ไม่ต่างไปจากการกินข้าว การออกกำลังกายหรือการหายใจแต่อย่างใด การเจริญภาวนาจึงมิได้เป็นสิ่งพิเศษจำเพาะสำหรับ ผู้กระจ่าง เพราะ ผู้กระจ่าง ย่อมรู้ดีว่า เขาเจริญภาวนาเพื่อ “ข้ามพ้น” ความพยายาม เพื่อ “ข้ามพ้น” การปฏิบัติธรรม และเพื่อ “ข้ามพ้น” เป้าหมายแห่งการหลุดพ้นหรือนิพพาน

สรุปสั้นๆ ก็คือ ผู้กระจ่างเจริญภาวนาเพื่อข้ามพ้นความเป็นคู่ระหว่างโลกียะกับโลกุตระ การเจริญภาวนาของ ผู้กระจ่าง จึงไม่เกี่ยวข้องกับการคาดหวังผลลัพธ์ใดๆ จากการเจริญภาวนานั้น เพราะตัวเขารู้ดีว่า ทุกๆ สิ่งที่ปรากฏขึ้นในสมาธิเป็นแค่ลีลาของใจเท่านั้น เขาจึงแค่ทำสมาธิโดยไม่มีการเพ่งว่าตนเอง “กำลังทำสมาธิอยู่” ไม่มีการบังคับหรือความพยายามในการควบคุมใจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในสายตาของ ผู้กระจ่าง การเจริญภาวนาเป็นสิ่งที่สมบูรณ์พร้อม บริบูรณ์พร้อมเสมออยู่แล้วโดยตัวของมันเอง จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปปรับปรุงแก้ไขดัดแปลงใดๆ ทั้งสิ้น

(3) ความเป็นไปเองอย่างสิ้นเชิง (absolute spontaneity)

ผู้กระจ่าง ย่อมสามารถแลเห็นได้ว่า ชีวิตในแต่ละวันของเขา คือมณฑลแห่งพลังอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีตัวเขาอยู่ ณ ใจกลางแห่งมณฑลนั้น การที่ตัวเขาได้กลายเป็นมณฑลแห่งพลังโดยสมบูรณ์แล้ว ทำให้ตัวเขาเป็นอิสระจากอคติทางความคิดใดๆ ผู้กระจ่าง เป็นอิสระจากอคติใดๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับอดีตเป็นอิสระจากความปรารถนาต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจุบัน และเป็นอิสระจากความคาดหวังต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับอนาคต ผู้กระจ่าง จึงเป็นเสรีชนตามความหมายที่แท้จริง ตัวเขาจึงสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างเป็นไปเอง โดยยอมรับและเรียนรู้จากทุกๆ สิ่ง ทุกๆ เรื่อง ผู้กระจ่าง คือผู้ที่ “มองทะลุ” ถึงมายาคติของสิ่งที่เรียกว่า “อดีต” “ปัจจุบัน” และ “อนาคต”

เพราะเขาย่อมรู้ทันว่า “อดีต” เป็นแค่ความทรงจำของ “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ก็เป็นแค่ความคาดหวังจาก “ปัจจุบัน” โดยที่ “ปัจจุบัน” เองก็มลายไปทุกทีก่อนที่คนเราจะคว้าจับมันได้ทัน ผู้กระจ่าง ย่อมรู้ทันว่า ความร่านราคะของกายเนื้อก็ดี ความฟุ้งซ่านด้วยไอเดียอันหลากหลายของใจก็ดี และความสว่างโพลงของโพธิจิตในสมาธิที่ดิ่งลึกก็ดี ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงออกอย่างสมบูรณ์แบบของด้านต่างๆ ของธรรมจิต (Spirit) หรือจักรวาฬ (Kosmos) ทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดที่ควรปฏิเสธ หรือตั้งข้อรังเกียจแม้แต่สิ่งเดียว

กว่าที่ ผู้กระจ่าง จะค้นพบและเข้าใจความจริงอันปรมัตถ์ข้อนี้ได้ เขาก็ต้องผ่านห้วงยามแห่งความเจ็บปวดที่ยาวนานดุจตายทั้งเป็นมาแล้วเสียก่อน ในขณะที่ยังเป็นนักรบแห่งธรรม เพราะการจะเป็นนักรบนั้นก็ต้องผ่านการบาดเจ็บ ผ่านการมีบาดแผลบ้าง เพียงแต่การบาดเจ็บทุกแผลของเขาคือร่องรอยของการเติบโตทางจิตวิญญาณของนักรบเยี่ยงเขาเท่านั้น...

* * *

หลักการนักรบของนักรบแห่งธรรมที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมเชื่อมั่นว่ามีความสำคัญมาก สำหรับการเป็น ผู้นำเชิงบูรณาการ ในยุคที่โลกใบนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างรอบด้านและหลากมิติ เพราะมีแต่หลักการนักรบแบบนี้เท่านั้น พวกเราถึงจะสามารถแปรเปลี่ยนผู้ระแวงสงสัยให้กลายเป็นผู้เห็นด้วย แปรเปลี่ยนคู่แข่งให้กลายเป็นมิตรที่จริงใจต่อกัน และแปรเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นพันธมิตรได้ในที่สุด





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้