13. พันธมิตรฯ รำลึก พวกเราเป็นบุตรธิดาแห่งดวงดาว 7/7/52

13. พันธมิตรฯ รำลึก พวกเราเป็นบุตรธิดาแห่งดวงดาว 7/7/52

13. พันธมิตรฯ รำลึก พวกเราเป็นบุตรธิดาแห่งดวงดาว


ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ทั้งงานเขียนและตัวตนของ “พี่เสก” หรืออาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไม่แต่เท่านั้น ผมยังถือว่า “พี่เสก” เป็น พี่ชายทางจิตวิญญาณ ของผมอีกด้วย หนังสือ 2 เล่มที่ตัวผมทุ่มเทเขียนให้แก่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น “ยามเฝ้าแผ่นดิน” (พ.ศ. 2551) และ “เทียนแห่งธรรม” (พ.ศ. 2552) ตัวผมได้เขียนเรื่องราวแห่งการสลายตัวตน และประสบการณ์ทางวิญญาณของอาจารย์เสกสรรแทรกไว้ด้วยทั้งสองเล่ม

ทำไมตัวผมจึงให้ความสนใจกับเรื่องราว และงานเขียนของอาจารย์เสกสรรค์มากถึงเพียงนี้ และทำไมตัวผมจึงเห็นว่า พี่น้องพันธมิตรฯ ของผมควรหันมาสนใจและศึกษา บทสรุปทางความคิดที่ตกผลึกแล้ว ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล?

เหตุผลที่รวบรัดที่สุดก็คือ เพราะพวกเราเป็นบุตรธิดาแห่งดวงดาว เรื่องนี้ผมคงต้องขยายความ...ในความเห็นของผม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แทบจะเป็นปัญญาชนสาธารณะเพียงไม่กี่คนในสังคมนี้ที่ได้พัฒนา “ตัวตน” ของเขาจนถึงขั้น “สลายตัวตน” มิหนำซ้ำตัวเขายังได้บันทึกเส้นทางการเติบโตทางจิตวิญญาณของเขาไว้อย่างสมบูรณ์ตลอดเส้นทางชีวิตของเขาในรูปของ วรรณกรรมบาดแผล ซึ่งผมหมายถึง งานเขียนของเขาที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สามัญชนทุกเล่ม ตั้งแต่ “ฤดูกาล” จนมาถึง “เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์” ก่อนที่จะกลายมาเป็น วรรณกรรมแห่งการสลายตัวตน ซึ่งเริ่มจาก “ผ่านพบไม่ผูกผัน” “วันที่ถอดหมวก” “ผ่านพ้นจึงค้นพบ” “อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ” และล่าสุดคือ “บุตรธิดาแห่งดวงดาว”

ความทุกข์อย่างท่วมท้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเสกสรรค์ คือ ทุกข์แห่งตัวตน และการยึดติดในตัวตน เนื่องจากตัวตนในอดีตของเสกสรรค์ผูกติดกับภาพลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของตัวเขาที่เป็นอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และเป็นอดีตนักรบนักปฏิวัติที่เคยเข้าป่าจับปืนทำสงครามประชาชนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นเวลากว่า 5 ปี ก่อนจะออกจากป่าวางปืนด้วยความพ่ายแพ้ และบอบช้ำทางจิตใจที่ร้าวลึก

เสกสรรค์เจ็บปวดกับความพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองที่ตัวเขาต้องยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ สิ่งนี้มันกระทบกระเทือน “ตัวตน” ซึ่งเต็มไปด้วยความทระนง และความหยิ่งในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นนักเลงโบราณและความเป็นลูกผู้ชายของตัวเขา จนทำให้แม้ตัวเขาจะออกจากป่ามาหลายปีแล้ว แต่ “สงครามในจิตใจ” ของเขาไม่เคยยุติเลย

เสกสรรค์ได้ใช้เวลาเป็นสิบปี หลังจากนั้นหมดไปกับการเดินป่า ออกทะเลเพื่อค้นหาและกอบกู้ศักดิ์ศรีแห่งตัวตนที่สูญหาย แหว่งวิ่นไปกลับคืนมา ในช่วงระหว่างนั้น เขาทั้งตกปลา ปีนเขา ล่องแก่งเพียงเพื่อจะกู่ร้องให้ก้องโลกว่า “ข้าแน่” เท่านั้น เสกสรรค์ขัดแย้งกับโลก ขัดแย้งกับผู้อื่น และขัดแย้งกับตนเองจนอ่อนล้าสิ้นแรงดิ้นรนแทบไม่อาจอยู่เป็นผู้เป็นคน กระทั่งนำไปสู่ชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว

ขณะนั้นเสกสรรค์เริ่มเข้าสู่วัยห้าสิบกว่าๆ แล้ว เขาทุกข์ทรมานกับ “ตัวตน” ของเขา และความยึดติดใน “ตัวตน” ของเขาอย่างแสนสาหัส จนเขาต้องเฝ้าถามตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า มีหนทางใดบ้างที่จะทำให้ตัวเขาไม่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้ โดยที่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องสยบจำนนยอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ตัวเขาไม่เห็นด้วย เสกสรรค์ดิ่งลึกเข้าไปสำรวจด้านในของชีวิต และวิจารณ์ตนเองอย่างเอาเป็นเอาตาย จนกระทั่งตัวเขาได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงแล้ว ตัวเขาได้ตกเป็นเหยื่อของอุปาทานบางอย่างที่ “ตัวตน” ของเขาได้จินตนาการสร้างขึ้นมาเอง

เสกสรรค์ได้ค้นพบว่า ที่ผ่านมาเขาได้นิยาม “ตัวตน” ของเขา ด้วยศัพท์แสงสารพัด ไม่ว่าจะเป็นนักรบ นักเลง ลูกผู้ชาย นักปฏิวัติ ฯลฯ แล้วก็พยายามตัดแต่งชีวิตให้เป็นไปตามคำจำกัดความที่ตัวเขายึดมั่นถือมั่น เสกสรรค์ต้องยอมสู้ทนกับทัณฑ์ทรมาน ยอมกระทั่งยินดีทะเลาะกับโลกทั้งโลกเพียงเพื่อรักษา “ตัวตน” ของเขาให้เป็นไปตามที่ตัวเขาได้จินตนาการหรือนิยามเอาไว้ พูดง่ายๆ ก็คือ เสกสรรค์ได้สร้าง “นรกในใจ” ขึ้นมาหลายขุมด้วยการหมุนวนอยู่ในโลกแห่งความคิดแห่งการนิยาม “ตัวตน” แบบนี้

ผลที่ออกมาก็คือ เสกสรรค์แทบจะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นผู้เป็นคนไม่ได้ อีกทั้งยังรู้สึกหดหู่รันทดเมื่อเห็นรอยเลือด และคราบน้ำตาทั้งของตัวเอง และผู้อื่นที่ตัวเขาทิ้งไว้ตามรายทาง

สภาพเช่นนี้ ทำให้เสกสรรค์ต้องหันมาทบทวนเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมาในชีวิตของเขา และ หาทางเยียวยาจิตวิญญาณที่บอบช้ำของเขาอย่างจริงจัง ด้วยการเฝ้า “ดูจิต” ของตัวเองแทบจะตลอดเวลาให้มีสติรู้ตัว เลิกคิดว่าตัวเองเป็นใคร เพราะความมีตัวตนของเขามันผูกติดอยู่กับข้อมูลในอดีตที่เป็นบาดแผลของชีวิต เขาจึงไม่เพียงหยุดคิดเรื่องอดีตเท่านั้น แม้แต่อนาคตเขาก็ไม่คิดถึง เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยคิดว่าเป็นชีวิตของเขามันพังพินาศไปหมดแล้ว

เสกสรรค์พลัดเข้าสู่ภาวะอนัตตาโดยไม่ได้ตั้งใจ เขากลายเป็นคนที่อยู่กับปัจจุบันขณะ ทีละห้วงขณะโดยไม่รู้ตัว การเลิกคิดว่าตัวเองเป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เลิกอยู่กับอดีต และไม่คิดถึงอนาคต อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น มันทำให้เสกสรรค์ได้สมาธิอย่างเป็นธรรมชาติ จนเขาไม่เดือดร้อนอีกต่อไปแล้วว่า สังคมหรือคนอื่นจะมองตัวเขาอย่างไร เขาไม่มีความเห็นอีกต่อไปว่า โลกและชีวิตสมควรจะเป็นอย่างไร ตัวเขาจึงไม่มีข้อเรียกร้องต่อตัวเองและผู้อื่น เขาจึงไม่มีสิ่งที่ผิดหวัง และไม่มีสิ่งที่เสียใจอีกต่อไป

พอเขาทำเช่นนี้หรืออยู่ในภาวะอนัตตา (ไร้ตัวตน) เช่นนี้ได้นานวัน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจขึ้นกับตัวเขาราวกับปาฏิหาริย์ เพราะจู่ๆ ในเช้าวันหนึ่งเสกสรรค์ตื่นขึ้นมาราวกับได้เกิดใหม่ทางจิตวิญญาณ เขารู้สึกมีความสุขสงบภายในอย่างไม่มีเหตุผล เขารู้แต่เพียงว่า ความสุขสงบนี้มันผุดขึ้นมาจากข้างใน มันอยู่ในตัวของเขา มันเป็นความปลื้มปีติบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกเลย เรื่องราวทุกข์โศกของเขาที่เคยมีดูเหมือนจะหายไปสิ้น เขาเปลี่ยนไปแล้ว และไม่สามารถกลับไปมองโลกและชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไปแล้ว

ในอดีต วิถีของเสกสรรค์ เป็นการแสวงหา ตัวตนขั้นสูง เหมือนกับชาวพันธมิตรฯ แต่มันก็ยังเป็นตัวตน เป็นอัตตาที่ยังยึดตัวตนเป็นศูนย์กลางในการประกาศความคิดของตน และมุ่งกระทำตามความคิดของตน แม้จะเป็นความคิดเชิงอุดมคติที่ถูกต้อง สูงส่งและเพื่อส่วนรวมก็ตาม แต่มันก็ยังผูกติดอยู่กับการดำรงอยู่แบบมี “ตัวกู-ของกู” อยู่ดี มาบัดนี้ เสกสรรค์ได้ก้าวข้ามหรือข้ามพ้นความยึดติดในเรื่องวีรกรรมไปแล้ว เพดานความคิดของเขาจึงสูงล้ำไปอีกขั้นหนึ่ง และลึกล้ำยิ่งขึ้นกว่าเดิม ระดับจิตที่ถูกยกขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งของเขานี้ ทำให้จิตใจของเสกสรรต่างไปจากเดิมมาก

บัดนี้ เขาไม่สนใจไปประกาศนาม ทำคุณงามความดีตามข้อเรียกร้องของใครทั้งสิ้น เขาพอใจที่จะอยู่กับความสงบนิ่งภายใน แล้วทำสิ่งดีๆ ออกมาตามธรรมชาติของความสงบนิ่งนั้น เขาทำดีเพราะรู้สึกดีที่จะทำ เขาไม่ได้ทำเพื่อผู้อื่น เพราะตัวเขาไม่ได้แยกสภาวะออกเป็นตัวเองและผู้อื่นอีกต่อไป

เสกสรรค์รู้แจ้งแล้วว่า ทุกข์นั้นไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้ และทิ้งให้คนผู้นั้นจมดิ่งอยู่ในความมืดมิดเสมอไป เพราะทุกข์นั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของแสงสว่างก็ได้เหมือนอย่างในกรณีของเขา ที่ทุกข์นั้นเป็นจุดเลี้ยวกลับที่พาตัวเขามาเข้าใจสัจธรรมของชีวิต ทุกข์นั้นแท้จริงแล้วคือบทเรียนที่ฟ้าดินมอบให้แก่ผู้นั้น

หาก “ผ่านพบไม่ผูกพัน” เป็นการบำเพ็ญภาวนาด้วยงานเขียนของเสกสรรค์งานอย่าง “วันที่ถอดหมวก” ก็คงเป็นบทบันทึกแห่งการเจริญสติในชีวิตประจำวันของตัวเขา ส่วน “ผ่านพ้นจึงค้นพบ” ก็เป็นบทสำรวจตัวเองของเขา ขณะที่งานเขียนล่าสุดของเขาอย่าง “บุตรธิดาแห่งดวงดาว” คือ บันทึกการสนทนาเกี่ยวกับด้านในของชีวิตของตัวเขา หนังสือ “บุตรธิดาแห่งดวงดาว” ของเสกสรรค์เล่มนี้เป็นงานเขียนที่ผิดแผกจากหนังสือเล่มอื่นของเขา เล่มที่ใกล้เคียงที่สุดกับงานเขียนเล่มนี้ของเขา น่าจะเป็น “ผ่านพบไม่ผูกพัน” แต่งานเขียนเล่มนี้ของเขามีความเป็นบทกวีมากกว่า หรือมีความเป็นร้อยแก้วที่มีร่องรอยของสัมผัสมากกว่า

ประเด็นหลักๆ ของ “บุตรธิดาแห่งดวงดาว” เล่มนี้ คือ การถ่ายทอดภูมิปัญญาแบบรหัสนัยธรรมชาติ (Nature mysticism) ที่ได้จากการรับรู้หรือสัมผัสโลกธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีทัศนะหรือกรอบความคิดทั้งหลายมากั้นขวาง เสกสรรค์บอกว่า ความเป็นจริง (Reality) โดยตัวมันเองไม่มีชื่อเรียกขาน และมักอยู่เหนือคำนิยามที่เราบัญญัติขึ้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว ไม่เคยรู้ว่าตัวเองถูกเรียกว่าอะไร แต่สิ่งเหล่านี้มีอยู่และเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์อันยากที่จะเข้าถึง และยากที่จะอธิบายได้ครบถ้วน

เช่นเดียวกับแผ่นฟ้า ท้องทะเล สายน้ำ และความรู้สึกของผู้คน ความจริงก็ไม่มีชื่อเรียกขานมาก่อน ขอให้ลองนึกภาพตัวเองที่กำลังเดินคนเดียวบนหาดทรายใกล้ค่ำ ขณะฟองคลื่นโลมไล้เปลือยขาและลมชื้นลูบแก้ม ยามนั้นตะวันที่ลับขอบฟ้าไปแล้วยังทิ้งแสงสุดท้ายป้ายขอบเมฆจากสุกแสดใสสว่างเป็นม่วงครามหรี่เลือน ไม่นานผู้นั้นจะพบตัวเองอยู่ในความมืด ท่ามกลางเสียงน้ำซัดทราย และเสียงนกทะเลเรียกหามิตรสหาย

เสกสรรค์บอกว่า ในห้วงยามนั้น ผู้นั้นจำเป็นต้องบอกตัวเองด้วยถ้อยคำวาจาหรือเปล่าว่า นั่นคือคลื่น นี่คือหาดทราย สิ่งนั้นคือ แสงอาทิตย์ สิ่งนี้คือสายลม เราได้ยินเสียงนกที่กำลังกลับรัง และมีความรู้สึกเย็นสบายสุขใจ ฯลฯ คำตอบของเสกสรรค์ก็คือ ไม่เลย! ผู้นั้นไม่จำเป็นต้องบอกตัวเองด้วยถ้อยคำใดๆ เลย เพราะตราบใดที่ห้วงยามนั้นไม่มีการคิดเข้ามาเจือปน สัมผัสที่เกิดขึ้นและผู้นั้นได้รับ ย่อมแผ่ซ่านเข้าสู่จิตใจของผู้นั้นอย่างไร้กำแพงกั้นขวาง

เสกสรรค์ยังบอกอีกว่า ในห้วงยามดังกล่าว ไม่ว่ายาวหรือสั้น ผู้นั้นไม่มีทั้งความเป็นมา และความเป็นไปที่จะต้องห่วงกังวล ไม่มีการคิดว่า ตัวเองเป็นใคร และจะต้องทำอะไร ขณะนั้น ผู้นั้นกำลังอยู่กับปัจจุบันขณะ และอยู่กับสรรพสิ่งรอบๆ จนแทบจะแยกกันไม่ออก ผู้นั้นกำลังเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและว่างโล่งจากตัวตน

นี่คือ ความแตกต่างระหว่างชีวิตจริงๆ กับชีวิตในโลกแห่งความคิด ความเชื่อ ความปรุงแต่ง ตลอดจนกรอบภาษา และคุณค่าต่างๆ ที่สมมติกันขึ้นมา กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การรับรู้โลกหรือความเป็นจริงนั้น มีอยู่ 3 แบบด้วยกัน แบบแรก คือ การรับรู้โดยตรงอันเป็น โลกแห่งตถตา หรือความเป็นเช่นนี้เอง แบบที่สอง คือ การรับรู้ในเชิงนิยามภาษา อันเป็น โลกแห่งตัวแทน แบบที่สาม คือ การรับรู้ในเชิงภาพลักษณ์ อันเป็น โลกแห่งอุปาทาน หรือการปรุงแต่ง ทุกข์ส่วนใหญ่ของคนเรานั้นเกิดจากการถูกจองจำให้รับรู้โลกได้ในแบบที่สอง หรือแบบที่สามเท่านั้น โดยไม่เคยมีประสบการณ์โดยตรงในการรับรู้โลกในแบบแรกเลย จะว่าไปแล้ว ดูเหมือนชีวิตจะลวงตาพวกเรามาตั้งแต่เกิด



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้