21. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 2/9/52

21. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 2/9/52

21. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)

การใช้เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธสงครามและกลุ่มมวลชนขวาจัดที่ถูกจัดตั้งโดยกลไกรัฐบุกเข้าไปปราบปรามขบวนการนักศึกษาที่ชุมนุมอย่างสันติจนเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และยังติดตามจับกุมภายหลังเหตุการณ์อีก ได้ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า นักศึกษาประชาชนจำนวนมากที่ได้ “เข้าป่าจับอาวุธ” เพื่อเป็น “นักปฏิวัติ” นั้น มีเจตนาอันบริสุทธิ์ และมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะ “เปลี่ยนแปลงสังคม” นี้จริงๆ โดยที่พวกเขาไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า ขบวนการปฏิวัติไทยที่พวกเขาได้กระโจนเข้าไปร่วมนั้น มี “ปัจจัยแห่งการทำลายตนเอง” ดำรงอยู่ภายใน และกำลังทำงานของมันอยู่ตามหลักอิทัปปัจจยตา

อะไรคือ ปัจจัยแห่งการทำลายตนเองของขบวนการปฏิวัติไทย รวมทั้งขบวนการสังคมนิยมสากล?

คำตอบที่ชัดเจนและกระชับที่สุดก็คือ “วิกฤตศรัทธา” ซึ่งขยายความได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่นักปฏิวัติตระหนักได้ว่า ตัวเองไม่มีเหตุผลที่จะต้องต่อสู้ทำสงครามปฏิวัติอีกต่อไป เมื่อนั้นขบวนการปฏิวัติจะล่มสลายไปเอง

แล้วอะไรคือสาเหตุและเหตุผลที่ทำให้นักปฏิวัติไม่คิดที่จะต่อสู้ทำสงครามปฏิวัติต่อไปได้อีก? คำตอบก็คือ เมื่อนักปฏิวัติผู้นั้นได้ “ตาสว่าง” หรือ “รู้แจ้งเห็นจริง” ขึ้นมาเองได้ว่า สังคมนิยมหรือสังคมอุดมคติที่นักปฏิวัติใฝ่ฝันว่าจะสร้างให้เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติได้สำเร็จนั้น มันไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริงหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า สภาพที่เป็นจริง ของ “ประเทศสังคมนิยมปัจจุบัน” (ในขณะนั้น) กับ สภาพที่ควรจะเป็น ของสังคมนิยมในแง่แนวคิดหรือแง่อุดมคติมันช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะขบวนการปฏิวัติเป็นขบวนการที่ยากจะถูกทำลายได้ด้วยอำนาจรัฐจากฝ่ายปฏิปักษ์ที่ใช้ความรุนแรง แต่มันจะกลายเป็นว่า ยิ่งถูกกดขี่ปราบปรามจากฝ่ายตรงข้ามมากเท่าไหร่ กลับจะยิ่งปลุกความเคียดแค้นชิงชังให้แก่ฝ่ายปฏิวัติจนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนอันแรงกล้าให้แก่ขบวนการปฏิวัติ

แต่การทำให้ตระหนักถึง “มายาคติ” ของขบวนการปฏิวัติ หรือขบวนการสังคมนิยมโดยพวกปฏิวัติด้วยกันเองต่างหากที่ “รู้ตัว” แล้วว่า ตัวเองได้หลงผิดไปเพราะถูกหลอกให้หลงไปกับ ความจอมปลอมของอุดมการณ์ทางการเมืองที่พวกตนเคยหลงเชื่ออย่างฝังหัว นี้ต่างหากเล่าที่ทำให้ขบวนการปฏิวัตินั้นล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว เพราะเหตุที่ว่า “ปัจจัยแห่งการทำลายตนเอง” ของขบวนการปฏิวัตินั้น มันดำรงอยู่ในความแปลกแยกระหว่างสังคมนิยมในอุดมคติกับสังคมนิยมในความเป็นจริงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เมื่อนักศึกษาประชาชนจำนวนมากที่ได้เข้าป่าจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 จะเริ่ม “ตาสว่าง” และตระหนักถึง “มายาคติ” ของขบวนการปฏิวัติไทย แล้วทยอยกันออกจากป่าภายในเวลาเพียง 4 ปีหลังจากนั้น จนกระทั่งนำมาสู่การล่มสลายของขบวนการปฏิวัติไทยอย่างสิ้นเชิงในปี 2524
* * *
ในศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศโลกที่ 3 ที่ผิดหวังต่อระบบทุนนิยมมักจะหันไปหลงใหลกับระบบความคิดความเชื่อแบบ “สังคมนิยม” แทน เพราะคำว่า “สังคมนิยม” ในสมัยนั้นมีความหมายเท่ากับ “สังคมใหม่” ที่ดีกว่าเก่า และมีความคาดหวังว่า มันจะสามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้กำลังประสบอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรม ปัญหาความแตกต่างทางรายได้ ปัญหาการยกระดับการครองชีพ ปัญหาการศึกษา ปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรม ฯลฯ หรือกล่าวโดยรวมได้ว่า มันเป็นปัญหาการทำให้ทันสมัย (modernization) นั่นเอง

แต่จะว่าไปแล้ว ความสำเร็จในการทำให้ทันสมัยที่ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ใฝ่ฝันถึงนั้น มันเป็นแค่เงื่อนไขเบื้องต้นของการไปสู่ “สังคมนิยมที่แท้จริง” ในทฤษฎีสังคมนิยมของลัทธิมาร์กซ์เท่านั้น มันยังไม่ใช่อนาคตที่ควรจะเป็นของสังคมนิยมแต่อย่างใดเลย เพียงแค่ประเด็นนี้ก็จะเห็นได้ถึงความแปลกแยกทางความคิด หรือความไม่ลงรอยกันระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริง เมื่อประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรับเอาการปฏิวัติสังคมนิยมแบบลัทธิมาร์กซ์มาเป็นธงนำในการปฏิวัติได้แล้ว

กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง ประเทศกำลังพัฒนาได้มุ่งหวังใช้การปฏิวัติสังคมนิยมมาแก้ไขปัญหาการทำให้ทันสมัย ทั้งๆ ที่ภารกิจทางประวัติศาสตร์นี้ควรตกเป็นของระบอบทุนนิยมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ภายหลังการปฏิวัติสังคมนิยมประสบความสำเร็จในประเทศกำลังพัฒนา ระบอบที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติจึงต่างไปจากอุดมคติที่ควรจะเป็นของสังคมนิยมตามทฤษฎี แต่กลับกลายเป็น ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ชนิดหนึ่งขึ้นมาแทน ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่าระบบทุนนิยมที่ลัทธิมาร์กซ์ชิงชังรังเกียจเสียอีก เพราะภายใต้ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จใน “ประเทศสังคมนิยมในความเป็นจริง” นี้ ได้มีการกำจัดฝ่ายค้านจำนวนมากอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน มีการกดขี่ความเป็นประชาธิปไตยในทุกๆ ด้าน เกิดระบบราชการที่ให้อภิสิทธิ์แก่สมาชิกพรรคปฏิวัติและเครือญาติจนกลายเป็น “ชนชั้นปกครองใหม่” ที่เอารัดเอาเปรียบประชาชนไม่ต่างไปจากชนชั้นปกครองเก่าก่อนการปฏิวัติ รวมทั้งมีการไปทำสงครามรุกรานประเทศอื่นเหล่านี้ เป็นต้น

“ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จในประเทศสังคมนิยมในความเป็นจริง” นี้ ถูกเรียกเป็นครั้งแรกว่า ระบอบสตาลิน ซึ่งเริ่มก่อตัวในประเทศรัสเซียหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1917 โดยเริ่มก่อตัวตั้งแต่ ค.ศ. 1920 ก่อนการเสียชีวิตของเลนิน ผู้นำการปฏิวัติใน ค.ศ. 1924 เสียอีก ระบอบสตาลินได้สถาปนาตนเองจนกลายเป็นระบอบที่แข็งแกร่งในช่วงทศวรรษที่ 1930 โดยได้ส่งผลกระทบอย่างมหันต์ต่อขบวนการสังคมนิยมทั่วโลก หลังจากนั้นทั้งในด้านทฤษฎี อุดมการณ์ การเมือง และเศรษฐกิจ ต้นตอของ ระบอบสตาลิน อันเป็นแม่แบบ (model) ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ประสบชัยชนะในการปฏิวัติสังคมนิยมนี้มีที่มาจากโครงสร้างสังคมของประเทศนั้นที่เป็นส่วนผสมระหว่างลักษณะที่ล้าหลังกับลักษณะที่ทันสมัยปะปนคละเคล้ากันไป โดยไม่เกิด “การก้าวข้าม” หรือ “การผ่านพ้น” แต่กลับเป็น การกลายพันธุ์แบบอำนาจนิยมของระบบราชการ กองทัพ กลไกรัฐ และพรรคปฏิวัติที่กลายเป็น “ชนชั้นปกครองใหม่” ขึ้นมาแทนที่

แน่นอนว่า ความล้าหลังของสังคมรัสเซียก่อนการปฏิวัติย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิด ระบอบสตาลิน แต่มันไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด นอกจากนี้ การถูกโดดเดี่ยวทางสากลหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1917 รวมทั้งความเสียหายทางทรัพย์สินและจิตใจอันเนื่องมาจากสภาพที่ต้องเผชิญกับภาวะสงครามตลอด 7 ปี นับตั้งแต่สงครามโลกใน ค.ศ. 1914 จนถึงสงครามกลางเมืองที่สิ้นสุดใน ค.ศ. 1921 ในช่วงเวลาดังกล่าว ชนชั้นกรรมกรที่เป็นกลุ่มพลังหลักในการสนับสนุนพรรคบอลเชวิค และการปฏิวัติได้ถูกทำลายและสลายไปเกือบหมด

บุคคลดังกล่าวเคยเป็นกลุ่มพลังหลักที่สนับสนุนการปฏิวัติเป็นพวกที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ถ้าไม่เสียชีวิตในสงคราม ก็ต้องกระจัดกระจายแยกย้ายกันกลับชนบท เพราะโรงงานปิด และอุตสาหกรรมเป็นอัมพาต ขณะที่ชนชั้นกรรมกรที่ก่อตัวขึ้นใหม่หลังสงครามกลับมีคุณภาพในด้านจิตสำนึกทางการเมืองด้อยกว่าสมัยปฏิวัติ เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่เพิ่งมาเป็นกรรมกรในเมือง จึงขาดความตื่นตัวทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้ การดำเนินนโยบายและการวางแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างประเทศ จึงจำกัดการแลกเปลี่ยนถกเถียงทางความคิดในหมู่ระดับนำของพรรคปฏิวัติที่มีจำนวนไม่ถึงพันคนเท่านั้น โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และสมาชิกพรรคทั่วไป ซึ่งแม้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลังสงคราม แต่ส่วนใหญ่ยังขาดคุณภาพ ขาดความเข้าใจทางทฤษฎี และขาดความเข้าใจต่อปัญหาบ้านเมืองอย่างเป็นองค์รวม

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โครงสร้างสังคมรัสเซียในช่วงหลังปฏิวัติยังมีลักษณะผสมผสานระหว่างลักษณะทันสมัยปะปนอยู่กับลักษณะล้าหลัง อันเป็นผลมาจากความต่อเนื่องจากอดีตของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพรรคปฏิวัติในขณะนั้น จึงต้องมี 2 ด้านที่ต้องทำควบคู่กันไป กล่าวคือ ในด้านหนึ่งจะต้องสร้าง รัฐ (ชาติ) ใหม่ที่ทันสมัยขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการสร้างเงื่อนไขที่จำเป็นในการยกระดับรัฐนั้นไปพร้อมๆ กัน เพื่อมุ่งไปสู่สภาพสังคมที่ประชาชนสามารถปกครองตนเองได้ โดยรัฐมีบทบาทน้อยลงตามลำดับเหลือแต่บทบาทเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

กล่าวโดยรูปธรรมก็คือ พรรคปฏิวัติมีภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่จะต้องทำประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (การสร้างรัฐใหม่ที่ทันสมัย) พร้อมๆ ไปกับการขยายประชาธิปไตยในภาคประชาชนอย่างเข้มข้น (การยกระดับรัฐไปสู่การปกครองตนเองของภาคประชาชน)

แนวทางแบบสตาลินที่นำไปสู่ ระบอบสตาลิน คือ การมุ่งเน้นด้านแรกด้านเดียวของการมุ่งสร้างรัฐใหม่ของพรรคปฏิวัติให้เป็น รัฐทหาร โดยใช้วิธีการอันรุนแรง กดขี่ โหดเหี้ยม และเป็นเผด็จการในการกดขี่ขูดรีดชาวนาเพื่อสะสมทุนในการเร่งขยายอุตสาหกรรมหนัก ขณะเดียวกัน ก็ใช้วิธีกดขี่ปิดปากความไม่พอใจของประชาชน โดยใช้ ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการใช้ตำรวจลับ สร้างค่ายกักกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยโดยตีตราว่าเป็น “ศัตรูประชาชน” หรือเป็น “ลัทธิแก้” โดยผูกขาดและอ้างความชอบธรรมแต่ผู้เดียวในการตีความลัทธิมาร์กซ์ของฝ่ายตน และทำให้มันกลายเป็น “คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” ที่มิอาจละเมิดได้

จะเห็นได้ว่า ความเป็นไปได้ของการก่อเกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบระบอบสตาลินนี้ มันสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ดังที่ได้เกิดขึ้นกับประเทศจีน จนกลายเป็น ระบอบเหมาเจ๋อตุง หรือ ระบอบสตาลินแบบจีน ที่ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อขบวนการปฏิวัติไทยในเวลาต่อมา

ลักษณะพิเศษและผลร้ายของ ระบอบสตาลิน มีดังต่อไปนี้

(1) ในระบอบการเมืองการปกครองเป็น ระบอบพรรคเดียว และพรรคก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ เนื่องจากเป็นระบอบพรรคเดียว จึงเกิด ลัทธิตัวแทน ที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกลดบทบาทลงให้เป็นเพียงผู้ตามแนวทางพรรค กลไกพรรคกลายเป็นตัวแทนของพรรค ฝ่ายนำกลายเป็นตัวแทนของสมาชิกพรรค ในที่สุด ผู้นำพรรคจึงกลายเป็นผู้แทนของทั้งหมด และกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งนำไปสู่ “ลัทธิบูชาบุคคล” ในที่สุด การบูชาบุคคล จึงเป็นผลที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ในระบอบที่ ลัทธิตัวแทน มีอิทธิพลครอบงำอยู่

(2) ในระบอบเศรษฐกิจ มีความล้มเหลวทางนโยบายการเกษตรและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ก็ละเลยการขยายบทบาทที่สร้างสรรค์ในการผลิตของผู้ใช้แรงงาน เพราะขาดความเข้าใจในหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยแรงจูงใจ และประสิทธิภาพในการผลิต จึงทำให้ระดับการครองชีพของชนชั้นผู้ใช้แรงงานไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

(3) ในทางอุดมการณ์ความคิด มีการผูกขาดกลไกโฆษณาชวนเชื่อและสื่อสารมวลชน มีการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวดโดยรัฐ ทำให้สามารถบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ ขณะเดียวกัน เสรีภาพทางความคิดในการ “คิดต่าง” ไปจากพรรคหรือผู้นำพรรคคนปัจจุบันก็ถูกจำกัด

(4) ในด้านต่างประเทศ มาตรฐานในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ล้วนถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ของระบบราชการที่อยู่ในกำมือของผู้นำพรรคที่กุมกลไกอำนาจรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อพิทักษ์ระบอบที่พวกตนได้รับผลประโยชน์อยู่

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเปิดโปงและการวิพากษ์ ระบอบสตาลิน จากปัญญาชนหัวก้าวหน้าทั่วโลก ย่อมนำมาซึ่ง “วิกฤตศรัทธา” ต่อขบวนการสังคมนิยมสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การเปิดโปงและวิพากษ์ความคิดเหมาเจ๋อตุง และการปฏิวัติวัฒนธรรม รวมทั้ง ระบอบสตาลินแบบจีน ก็ย่อมนำมาซึ่ง “วิกฤตศรัทธา” ต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีสถานภาพแทบไม่ต่างจาก “พรรคสาขา” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน
* * *
วิกฤตศรัทธา ในขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เกิดขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางสากล หลังจากที่เวียดนามได้ส่งกองทหารเข้ายึดครองและโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2522 ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศต่างก็เป็นประเทศคอมมิวนิสต์เหมือนกัน จึงเป็นการทำลายภาพสังคมอุดมการณ์ในระบอบสังคมนิยมในความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง จากกรณีนี้เองได้ทำให้อดีตนักศึกษาและประชาชนที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เริ่มเดินทางออกจากป่า และการต่อสู้ในเขตชนบทเริ่มลดกระแสลง และหมดไปภายในปี 2525




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้