22. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 8/9/52

22. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 8/9/52

22. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)

หลังจากประสบกับวิกฤตทางการเมืองจนสังคมไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ออกเป็น 2 ขั้ว ระหว่างขั้วฝ่ายซ้ายกับขั้วฝ่ายขวา จนกระทั่งลุกลามกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” ภายหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้น ระบบการเมืองจึงต้องปรับตัวโดยที่ในช่วงระหว่างที่ระบบการเมืองไทยยังปรับตัวไม่ได้ มันย่อมเกิดความตึงเครียดทางการเมืองดำรงอยู่ในสังคมนั้น ทำให้ทุกอย่างแทบชะงักงันไปหมดจนกว่าระบบการเมืองจะค่อยๆ สามารถปรับตัวได้ เพื่อรองรับลักษณะใหม่ทางสังคม และเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นและได้เกิดขึ้นในสังคมนั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับตัวของระบบการเมืองเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ มักเป็นผลมาจากการคลี่คลายของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ของตัวสังคมนั้นจนกว่ากระบวนการนั้นมันจะลงตัวของมันได้เอง ซึ่งในด้านหนึ่งย่อมหมายความว่า จนกว่ากลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมจะยอมรับในความลงตัวของการปรับตัวของระบบการเมืองนั้นได้ ซึ่งโดยปกติมักจะใช้เวลาค่อนข้างนานทีเดียวกว่าจะลงตัว และมีเสถียรภาพทางการเมืองโดยสัมพัทธ์ได้ ด้วยเหตุนี้ การปรับตัวของระบบการเมืองไทยหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จึงต้องใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะลงตัวกลายเป็น ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523-2531)

* * *

หลังจากที่นักศึกษาประชาชนจำนวนมากได้เข้าป่าจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำ “สงครามประชาชน” กับรัฐบาลขวาจัดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในตอนเย็นของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

การที่รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นรัฐบาลที่หวาดกลัวพลังประชาชน และหวาดกลัวประชาธิปไตย จึงทำให้ในช่วงนั้นเกิดการลิดรอนสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ยิ่งทำเช่นนี้ กลับยิ่งทำให้สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาล และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขยายขอบเขตอย่างกว้างขวางในชนบททั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลธานินทร์ไม่เป็นที่น่านิยม จึงถูกรัฐประหารอีกครั้ง โดยกลุ่มทหารที่อ้างตนว่าเป็นคณะปฏิวัติ นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520

ในความเป็นจริง กลุ่มนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนกำลังยึดอำนาจในครั้งนี้ คือ กลุ่มทหารหนุ่มหรือยังเติร์ก ซึ่งเป็นนายทหารรุ่น 7 จบการศึกษา พ.ศ. 2503 โดยมี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นผู้ประสานงานให้เกิดการรัฐประหารโค่นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ด้วยเหตุนี้เอง หลังการรัฐประหารประสบความสำเร็จ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การหนุนหลังของกลุ่มยังเติร์ก ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520

จุดเด่นของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มปรับตัวของระบบการเมือง ก็คือ มีการเลิกใช้นโยบายขวาจัดแบบรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร และหันมาใช้นโยบายผ่อนปรนให้ประชาชนมีสิทธิทางการเมืองเพิ่มขึ้น การผ่อนปรนต่อขบวนการประชาชนเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากบุคลิกของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เองที่เป็นคนประนีประนอมและชอบทำตัวตามสบาย แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากการผลักดันของกลุ่มนายทหารสายพิราบหรือ กลุ่มทหารประชาธิปไตย โดยที่กลุ่มนี้มีความเห็นว่า แนวทางการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์โดยใช้การปราบปรามด้วยวิธีการทางการทหารอย่างเดียวนั้น ไม่มีทางจะแก้ปัญหาได้ จะต้องใช้วิธีการที่เป็นประชาธิปไตย และต้องใช้การเมืองนำการทหาร นายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ยอมรับความคิดของกลุ่มนี้ที่นำโดย พล.อ.สายหยุด เกิดผล และเห็นด้วยกับแนวทางที่จะฟื้นคืนประชาธิปไตย และผ่อนคลายสงครามประชาชน

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงเริ่มผ่อนปรนต่อกิจกรรมนักศึกษา และการเคลื่อนไหวของกรรมกร รวมทั้งแสดงท่าทีผ่อนปรนต่อผู้นำนักศึกษาและปัญญาชนที่เริ่มออกจากป่า เพราะมีความเห็นไม่ลงรอยกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2521 รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ประกาศนิรโทษผู้กระทำผิดในกรณี 6 ตุลา ทำให้จำเลย 19 คนที่กำลังถูกดำเนินคดีได้รับการปล่อยตัว

ในอีกด้านหนึ่ง เริ่มเกิดการฟื้นตัวขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่มีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่ต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคม นอกจากนี้ รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ยังได้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศโดยเลิกตั้งป้อมเป็นปรปักษ์กับประเทศสังคมนิยม และหันไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์ฉันมิตรต่อกัน ที่สำคัญ คือ ฝ่ายรัฐบาลไทยได้เดินทางไปจีน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 เพื่อขอให้จีนเลิกการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลไทยจะร่วมมือกับจีนในการต่อต้านเวียดนาม หลังจากเกิดกรณีที่เวียดนามได้ยกกองทัพบุกกัมพูชา และโค่นรัฐบาลเขมรแดง ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2522

รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ บริหารประเทศมาได้ถึงต้นปี 2523 เนื่องจากในช่วงนั้นเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน เพราะกลุ่มประเทศโอเปกซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกขึ้นราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลไทยต้องขึ้นราคาน้ำมันตามไปด้วย และผลจากการขึ้นราคาน้ำมัน มันทำให้รัฐบาลไทยต้องขึ้นค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้าจนเป็นที่มาของการประท้วงอย่างกว้างขวางของนักศึกษาประชาชน มีการจัดชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาลที่สนามหลวงกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจจนกดดันให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องลาออก แล้วรัฐสภาได้เลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

เป็นที่น่าสังเกตว่า เสียงสนับสนุนพล.อ.เปรม ส่วนใหญ่มาจากวุฒิสมาชิกซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้ง และส่วนมากมาจากนายทหารและตำรวจ โดยเฉพาะมาจากทหารบกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่า การสนับสนุนจากกองทัพได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญมากในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ระบอบการเมืองนี้ถูกเรียกว่า เป็นระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งหมายถึงยังคงเผด็จการอีกครึ่งใบเอาไว้

* * *

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นบุคคลที่เป็นผู้นำกองทัพและผู้นำประเทศ ที่เปี่ยมบารมีที่ได้รับความเคารพ เชื่อถือ ศรัทธามากที่สุดคนหนึ่งของประเทศนี้ บุคลิกอันโดดเด่นของ พล.อ.เปรม ที่เป็นคนนิ่ง เงียบ สุขุม รอบคอบ ใจเย็นและนุ่มนวล ซึ่งต่างไปจากภาพลักษณ์ของนายทหารทั่วไปที่มักเป็นคนโผงผาง ตรงไปตรงมา ทำให้อำนาจของ พล.อ.เปรม เป็นอำนาจที่หนักแน่นมั่นคงอย่างยากที่จะคลอนแคลนได้โดยง่าย

เมื่อพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นเขาออกตัวว่ายังไม่พร้อม และไม่อยากเป็น แต่ปรากฏว่า ตัวเขาเองในขณะนั้นกลับเป็นผู้ที่ได้คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ด้วยการควบทั้งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรีไปพร้อมๆ กัน

ด้วยเหตุนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นผู้นำทหารที่กลายมาเป็นผู้นำประเทศที่มีกองทัพเป็นฐานค้ำบัลลังก์ และสามารถยืนยงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน ซึ่งต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานมากสำหรับการเมืองไทย จนทำให้ระบบการเมืองสามารถปรับตัวจนลงตัวได้ แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ครองอำนาจรัฐอยู่นั้น จะถูกท้าทายอำนาจจากความพยายามในการรัฐประหารหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

กระแสต่อต้าน พล.อ.เปรม นั้นเริ่มขึ้นจากกรณีที่สภากลาโหมได้เสนอต่ออายุราชการ พล.อ.เปรมอีก 1 ปี เพื่อได้ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อไป อันเป็นการทำไปเพื่อความมั่นคงแห่งอำนาจ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2523 ทำให้เกิดกระแสต่อต้านการต่ออายุราชการของ พล.อ.เปรมอย่างมากมาย ทั้งจากขบวนการนักศึกษา ขบวนการแรงงาน หนังสือพิมพ์ พรรคร่วมรัฐบาล แม้กระทั่งจากฝ่ายทหารบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มยังเติร์ก แต่พล.อ.เปรมก็สามารถต่ออายุการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้อีก 1 ปี โดยที่ตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องการต่ออายุราชการ พล.อ.เปรมได้ใช้หลักการสงบวางเฉยสยบกระแสต่อต้านเอาไว้ได้ ทำให้การครองอำนาจรัฐอย่างยาวนานถึง 8 ปีของ พล.อ.เปรม หลังจากนั้น กลายเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และเป็นการปูพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปสู่ “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” (NIC) อย่างมีนัยสำคัญ

ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สามารถทำให้ “สงครามกลางเมือง” กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุติลงได้โดยการประกาศใช้นโยบาย 66/23 ซึ่งก็คือ มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายผ่อนปรนที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน และมีผลในทางปฏิบัติ หลักการของนโยบาย 66/23 นี้คือการใช้การแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในบ้านเมืองด้วยวิธีการใช้การเมืองนำการทหาร กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม คือ ยอมอภัยโทษให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ส่งเสริมการต่อสู้ทางการเมืองแบบสันติวิธี และทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นกว่าเดิม

จะว่าไปแล้ว นโยบาย 66/23 นี้ นับว่าออกมาได้ถูกจังหวะเวลาพอดี เพราะขณะนั้นเป็นช่วงที่กำลังเกิด “วิกฤตศรัทธา” ในขบวนการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงมีผลทำให้บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองผ่อนคลายลงเป็นอย่างมาก แต่แนวคิดที่จะผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อป้องกันการรัฐประหารนั้น กลับไม่ค่อยได้รับการตอบสนองจากฝ่ายผู้นำกองทัพที่คุมกำลังเท่าไหร่นัก เพราะการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของฝ่ายทหารก็ยังเกิดขึ้นอีก

เมื่อกลุ่มยังเติร์กของ จปร. รุ่น 7 ได้พยายามก่อการรัฐประหารในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลพล.อ.เปรมสามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้ โดยที่ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2 ในขณะนั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นในการต่อต้านคณะรัฐประหาร จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งและเลื่อนยศเป็นพลโทและแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 โดยที่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว ก็ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก พร้อมกับได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก กลายเป็นบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดในกองทัพ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2525

แต่แล้วการขยายบทบาทอำนาจอิทธิพลอย่างรวดเร็วของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กลับทำให้ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเวลาต่อมา และกลายมาเป็นปัญหาที่คุกคามรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนได้วิกฤตการณ์แห่งความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.เปรมกับพล.อ.อาทิตย์ ได้ทวีความรุนแรงถึงขีดสุด เมื่อเกิดกรณีลดค่าเงินบาทในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 โดยที่รัฐบาล พล.อ.เปรม ได้ตัดสินใจประกาศลดค่าเงินบาทจาก 23 บาทต่อดอลลาร์มาเป็น 27 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อพยุงสถานะทางเศรษฐกิจ ขณะที่ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกได้ออกมาคัดค้านไม่ยอมรับนโยบายลดค่าเงินบาท โดยอ้างว่า นโยบายนี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และทำให้กองทัพต้องซื้ออาวุธด้วยราคาที่แพงกว่าเดิม แต่ที่จริงแล้ว นี่เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อจะทำรัฐประหารนั่นเอง

แต่เนื่องจาก พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก คุมกำลังทหารได้ไม่เด็ดขาด เพราะพล.อ.เปรม ยังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหารอีกส่วนหนึ่ง เช่น พล.ท.ชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก พล.ท.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ พล.ต.สุจินดา คราประยูร เจ้ากรมยุทธการทหารบก ฯลฯ จึงทำให้ฝ่ายพล.อ.อาทิตย์ จำต้องยอมถอยไม่กล้าทำรัฐประหาร

แต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ก็ยังดำรงอยู่ ทำให้สถานการณ์มีความอึมครึมมาโดยตลอดหลังจากนั้น และมีข่าวลือรัฐประหารอยู่เสมอ จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พล.อ.เปรม จึงตัดสินใจปลด พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เหลือเพียงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว สถานการณ์จึงผ่อนคลายลงจนอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการปรับตัวของระบบการเมืองไทยได้คืบหน้าไปมากในยุคของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นี่เอง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของระบบการเมืองจาก ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ทหารมีบทบาทสูง มาสู่ระบบประชาธิปไตยเต็มใบที่พรรคการเมืองมีบทบาทมากขึ้น


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้