25. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 29/9/52

25. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 29/9/52

25. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)

นับตั้งแต่ย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533) เป็นต้นมา ผลกระทบของ โลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ “ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์” มิใช่เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ในระดับโลกที่มีการขับเคลื่อนเข้าหากันของผู้คนจากนานาประเทศอย่างปราศจากพรมแดน โดยผ่านการปฏิวัติทางเทคโนโลยีการสื่อสารเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว พัฒนาการล่าสุดของ ระบบทุนนิยมโลก คือ พลังขับเคลื่อนที่ใหญ่โตและทรงพลังที่สุด ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์นี้ โลกาภิวัตน์ จึงมิได้เกี่ยวข้องเฉพาะการเคลื่อนย้ายทุน เทคโนโลยี แรงงาน และข่าวสารเท่านั้น แต่ยังกินความไปถึงการขยายอิทธิพลของสถาบันข้ามชาติที่คอยบงการ และกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของตลาดเสรี สถาบันเหล่านี้แม้จะเริ่มต้นจากการเป็นองค์กรร่วมมือระหว่างประเทศ แต่นับวันก็ยิ่งมีอำนาจเป็นอิสระโดยสัมพันธ์จากการควบคุมของรัฐบาลต่างๆ สถาบันข้ามชาติเหล่านี้ได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นต้น

อุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์คือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็น นโยบายเศรษฐกิจที่พึงปรารถนาสำหรับสถาบันข้ามชาติ โดยเฉพาะซึ่งเรียกกันว่า ฉันทมติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus) และมีใจความสำคัญอยู่ที่

(1) การเรียกร้องให้รัฐ เปิดเสรีทางการเงิน

(2) การเรียกร้องให้รัฐดำเนินนโยบาย แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ให้กิจการของรัฐกลับสู่ความเป็นเจ้าของโดยเอกชน

(3) การเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกข้อกีดกันทุกชนิดที่ขวางทางบริษัทต่างชาติ และต้องส่งเสริมให้มีฐานะเท่าเทียมกันทุกประการกับบริษัทท้องถิ่นภายในชาตินั้นๆ

(4) การเรียกร้องให้รัฐปฏิรูปการเก็บภาษี โดยสร้างแรงจูงใจในการผลิตภาคเอกชนมากกว่าจะปฏิรูปภาษีเพื่อกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

จะเห็นได้ว่า แก่นหลักทางความคิดของ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ คือ การไม่เชื่อในการกำกับดูแลเศรษฐกิจโดยรัฐ และเห็นว่าพรมแดนของประเทศคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการค้า และการลงทุนที่ควรขจัดออกไป ด้วยเหตุนี้ กระบวนการโลกาภิวัตน์ จึงมิใช่สิ่งใดอื่นนอกไปจากกระบวนการเคลื่อนย้ายอำนาจในการควบคุมกำกับสังคม จากรัฐไปสู่กลไกตลาดเสรีซึ่งบรรษัทข้ามชาติมีบทบาทในฐานะที่เป็น “ทุนหลัก” (dominant capital) นั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์จึงแยกไม่ออกจากการถูกลดทอนบทบาทรัฐชาติของทุกประเทศ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเมือง และฐานะทางสังคม-เศรษฐกิจของประชาชนในแต่ละประเทศด้วย

กล่าวสำหรับประเทศไทยในทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533) กระบวนการเปิดเสรีทางการเงินของทุนนิยมโลกโดยผ่านโลกาภิวัตน์ทางการเงิน เมื่อถูกผนวกเข้าเชื่อมร้อยกับ โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสามานย์ ของประเทศไทย จึงก่อให้เกิด มายาภาพทางเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจฟองสบู่” อีกด้วย

* * *

การเลือกตั้งใหม่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 มีขึ้นในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ก่อนหน้านี้ พรรคสามัคคีธรรมซึ่งเป็นพรรคเฉพาะกิจที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช.ได้สลายตัวไปกลายเป็นกลุ่มก๊วนที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคชาติไทย ซึ่งพล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคไปแล้วจึงต้องเชิญ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร มาเป็นหัวหน้าพรรคแทน เพราะพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่ยอมกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคอีก แต่หันมาตั้งพรรคการเมืองพรรคใหม่ชื่อ พรรคชาติพัฒนา แทน ส่วนพรรคพลังธรรมนั้น บุญชู โรจนเสถียร ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็จริง แต่พล.อ.จำลอง ศรีเมือง ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญที่สุดในพรรคพลังธรรมอยู่ดี

ในระหว่างการรณรงค์เลือกตั้งได้มีการจำแนกพรรคการเมืองออกเป็น 2 ฝ่ายคือ พรรค “ฝ่ายเทพ” ได้แก่ 4 พรรคที่ร่วมต้านพล.อ.สุจินดา คราประยูร และคณะ รสช.คือ พลังธรรม ประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่ และเอกภาพ ส่วนพรรค “ฝ่ายมาร” คือ พรรคที่เข้าร่วมกับรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้แก่ ชาติไทย กิจสังคม ราษฎร และประชากรไทย

ในระหว่างการหาเสียง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ถูกโจมตีจากฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงเหลื่อมทับกับของพรรคพลังธรรมว่า “พาคนไปตาย” ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้พยายามสร้างภาพและโปรโมตตนเองว่า “เราเคารพในระบอบรัฐสภา” โดยได้นำรูปของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาขึ้นป้ายหาเสียงให้แก่พรรคของตน ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากที่สุด จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลรวมกับพรรค “ฝ่ายเทพ” พรรคอื่นๆ โดยนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ระหว่างที่เป็นรัฐบาล รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ถูกโจมตีเป็นอย่างมากในเรื่องวิธีการบริหารประเทศที่เชื่องช้า ยึดถือวิธีการตามระบบและขั้นตอนของราชการราวกับทำตนเป็นแค่รัฐบาลรักษาการเท่านั้น โดยยอมให้ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายอยู่ข้างเดียว นอกจากนี้รัฐบาลชวน หลีกภัย ยังมีภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียในแง่ที่ปฏิบัติต่อชาวนาที่มาชุมนุมประท้วง เนื่องจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำด้วยการใช้กำลังตำรวจเข้าสลายจนมีชาวนาเสียชีวิตหนึ่งคน

ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องเขื่อนและทรัพยากรก็ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นโครงการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาเขื่อนปากมูลที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้สร้างเสร็จในปี 2537 แต่กลับทำให้ประชาชนชาวปากมูลสูญเสียอาชีพประมงเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

แต่ปัญหาที่ทำให้รัฐบาลชวน หลีกภัย ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนอยู่ไม่ได้คือ กรณี ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งมาจากนโยบายจัดสรรที่ดินเสื่อมโทรมให้แก่คนยากจน โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินสำรวจที่ดินเสื่อมโทรมทั่วประเทศมาจัดสรรให้ราษฎรมีที่ทำกิน แต่ปัญหาเกิดจากในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 เมื่อ ส.ป.ก.จังหวัดภูเก็ต ดันไปมอบที่ดินจำนวนหนึ่งให้แก่นายทุนเศรษฐี 10 ตระกูล รวมทั้งตระกูลสามีของอัญชลี เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ตของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นการผิดกฎหมายปฏิรูปที่ดิน และขัดกับหลักการที่จะช่วยเหลือคนจนอย่างร้ายแรง จนนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ต้องประกาศยุบสภาในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 หลังจากที่พรรคพลังธรรมได้ตัดสินใจถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล

* * *

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงหลังพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ดังที่กล่าวมาข้างต้นถือว่า มีไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับ การเปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้น พร้อมๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างค่อนข้างต่อเนื่อง ทำให้สังคมไทยกลายเป็น สังคมบริโภคนิยม อย่างเต็มตัวโดยมีชนชั้นกลางไทยเป็นลูกค้าหลัก ขณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี คือ ทหารกองหนุนของชนชั้นกลางไทย

ครั้นเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ได้สำแดงอิทธิพลโดยผ่านการเคลื่อนย้ายอย่างค่อนข้างเสรีของข่าวสาร คน เงิน สิ่งของที่ถาโถมเข้าซัดใส่สังคมไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ได้ก่อให้เกิดธุรกิจแขนงใหม่ๆ ซึ่งเป็น “ระบบที่สร้างความมั่งคั่งแบบใหม่” และเป็นฐานเศรษฐกิจหรือฐานอาชีพให้แก่ชนชั้นกลางไทย ธุรกิจแบบใหม่ๆ เหล่านี้ได้แก่ ธุรกิจสื่อมวลชน ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจบริการ ธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ ลักษณะพิเศษของธุรกิจเหล่านี้ที่ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ คือ มีการแข่งขันสูง จึงมีด้านที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยเรียกร้องธรรมาภิบาลในจิตสำนึกของชนชั้นกลางไทย ซึ่งได้สำแดงออกมาแล้วในช่วงพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535

แต่ในอีกด้านหนึ่ง จิตสำนึกของชนชั้นกลางไทย ก็ถูกหล่อหลอมภายใต้ “เศรษฐกิจฟองสบู่” ที่กำลังก่อตัวขึ้น ทำให้พวกเขามี จิตวิญญาณแบบฟองสบู่ ที่ชอบเก็งกำไร มุ่งแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าและระยะสั้น ยึดติดอยู่กับเปลือกภายนอกมากกว่าแก่นสารสาระภายใน อยากเป็น “ดารา” มากกว่าการเป็น “ผู้กล้า” ฯลฯ ดำรงอยู่ด้วยกัน

จิตสำนึกแบบ “ทวิลักษณะ” ของชนชั้นกลางไทย ที่ด้านหนึ่งส่งเสริมความโปร่งใส และการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับหลงติดไปกับมายาภาพ ขาดความอดทนมุ่งมั่นเพื่อหวังความสำเร็จระยะยาว ไม่สนใจในการพัฒนาแก่นสารสาระให้แก่ชีวิตตนเท่ากับการแสวงหาความมั่งคั่ง และความสำเร็จทางวัตถุภายนอก จึงมีผลทำให้สภาวะจิตของชนชั้นกลางไทยในช่วงนั้น ขาดความหนักแน่นและไขว้เขว และพลอยทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยพลอยหมิ่นเหม่ตามไปด้วย

การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของไทย และต่างประเทศสามารถเปิดให้บริการวิเทศธนกิจ (BIBF) ได้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นบริการให้กู้เงิน และรับฝากเงินตราต่างประเทศโดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีแหล่งเงินทุนใหม่ ดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินในประเทศมากระตุ้นขยาย “ฟองสบู่” ที่เคยเกิดในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และแฟบไปในช่วงเกิดวิกฤตการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียปลายปี 2533 ให้กลับมาพองโต และกลายเป็นฟองสบู่ลูกใหม่ที่ใหญ่กว่าเก่าได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ดันไปอนุญาตให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้สามารถออกตราสารใหม่ๆ ได้ ทำให้บริษัทเหล่านี้มีแหล่งระดมทุนเพิ่มขึ้นเป็นทางเลือกมากขึ้น เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงหันกลับมาทุ่มเทลงทุนในโครงการใหม่ๆ อย่างคึกคักยิ่งกว่าเก่า เพราะพวกเขายังไม่ลืม “รสหอมหวาน” ของการบูมทางเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ทำให้เกิดเศรษฐีใหม่กว่า 2 แสนคนในชั่วเวลาอันสั้น อันเนื่องมาจากความร่ำรวยชั่วพริบตาที่ได้มาจากการค้าที่ดิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งการนำบริษัทของตนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิด ภาวการณ์แห่ซื้อที่ดินเพื่อกักตุนไว้เป็นแลนด์แบงก์ ตามข้อกำหนดของ ก.ล.ต.ที่ไปส่งเสริมการขยายตัวของฟองสบู่ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ยิ่งเมื่อรัฐบาลชวน หลีกภัย ประกาศหลักเกณฑ์มาตรฐาน การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2536 ที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีที่ดินหรือทรัพย์สินค้ำประกันถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงแค่ 50% จากแต่เดิมที่คิดเป็นความเสี่ยง 100% ก็เลยยิ่งทำให้สถาบันการเงินพากันแห่ปล่อยสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

จึงกล่าวได้ว่า เป็นความผิดพลาด และบกพร่องของทางการในตอนนั้นที่มีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำเอง ที่ดำเนินนโยบายสนับสนุนฟองสบู่แทนที่จะปราบปรามยับยั้งป้องกันฟองสบู่ ผลจึงเป็นความหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในอีก 4 ปีหลังจากนั้น เมื่อฟองสบู่ลูกที่สองแตกอย่างถาวรในปี 2540 กลายเป็น “วิกฤตต้มยำกุ้ง”



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้