26. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 6/10/52

26. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 6/10/52

26. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)

ในทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533) สำหรับประเทศไทยแล้ว เศรษฐกิจฟองสบู่ ถือเป็น ปรากฏการณ์ใหม่ของทุนนิยมไทย ในขณะนั้นที่มีผลสะเทือนต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เศรษฐกิจฟองสบู่ คือ ภาวะบูมทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก มายาภาพของคนส่วนใหญ่ ที่มี ความหลงเชื่อร่วมกัน ว่าราคาของสินค้าในเศรษฐกิจสต็อก (Stock Economy) จำพวกอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หุ้น รูปภาพ สมาชิกสนามกอล์ฟ ฯลฯ จะมีมูลค่าหรือราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกคนจึงแห่กันเข้ามาเล่น “เกมเงินตรา” นี้จนทำให้เกิดอุปสงค์หรือดีมานด์เทียม ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการเป่าลูกโป่ง

จะเห็นได้ว่า ต้นตอของเศรษฐกิจฟองสบู่นี้มาจากความคลั่งไคล้อย่างผิดปกติจนสิ้นคิดของปุถุชนที่มีรากเหง้ามาจากความโลภ ความไม่รู้จักพอของคนเรานั่นเอง มันเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดหลายยุคหลายสมัยแล้ว สิ่งที่ต่างกันแค่ภายนอกก็คือ ขนาดของฟองสบู่กับนวัตกรรมทางการเงินที่ทำให้ “เกมเงินตรา” มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น

ประเทศไทยเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่มา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกในปี 2531-2533 ในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ยังเป็นลูกเล็กๆ ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี 2536-2538 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งก่อให้เกิด “เศรษฐีใหม่” ขึ้นมาจำนวนมากจากเศรษฐกิจฟองสบู่ทั้งสองครั้ง โดยความร่ำรวยนี้ล้วนมาจากการเข้าไปเล่มเกมเงินตรา และการเก็งกำไรทั้งสิ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเป็นเศรษฐีอย่างง่ายดายชั่วข้ามคืนในช่วงฟองสบู่นี้ ในขณะเดียวกัน มันก็ได้กลายเป็นเบ้าหลอมที่สร้าง “จิตวิญญาณแบบฟองสบู่” ขึ้นมาในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก และยังคงมีอิทธิพลร้ายแรงมาจนถึงทุกวันนี้

จิตวิญญาณแบบฟองสบู่ที่ว่านี้ คือ การมีค่านิยมที่บูชาเงินมากกว่าคุณธรรม รังเกียจการทำงานหนักแบบอาบเหงื่อต่างน้ำ นิยมชมชอบการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ อีกทั้งยังก่อให้เกิด “โจรสวมเสื้อนอก” ที่มาจากนักธุรกิจ และนักการเมืองซึ่งได้ใช้ความได้เปรียบในการล่วงรู้ข้อมูลล่วงหน้ามา ปล้นชาติ ปล้นเงินของประชาชน และของประเทศมาสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองอย่างไม่อายฟ้าอายดิน

* * *

หลังจากรัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ประกาศยุบสภาในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 การเลือกตั้งครั้งใหม่ได้มีขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พรรคพลังธรรมได้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่บรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย และได้ระดม “ดูด” เอาอดีต ส.ส.กลุ่มต่างๆ มาเข้าพรรคชาติไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นที่คาดกันว่า พรรคชาติไทยจะชนะการเลือกตั้ง แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อผลเลือกตั้งออกมาปรากฏว่า พรรคชาติไทยได้คะแนนเสียงมากที่สุด จึงทำให้บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสม 7 พรรค ซึ่งได้แก่ ชาติไทย ความหวังใหม่ กิจสังคม พลังธรรม นำไทย ประชากรไทย และมวลชน

ปัญหาของรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา คือ ตัวบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหลายคนถูกชนชั้นกลางวิจารณ์อย่างมากโดยผ่านสื่อต่างๆ ว่าเป็นพวก “ยี้” คือ มีคุณสมบัติไม่ถึง และไม่น่าไว้วางใจในเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่โกงกิน ขณะที่ภายในพรรคชาติไทยเองก็มีการแบ่งแยกเป็นหลายกลุ่ม และทะเลาะกันเองเพราะแก่งแย่งกันเรื่องผลประโยชน์ และการจัดสรรอำนาจที่ไม่ลงตัว ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลบรรหารตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาลบรรหาร น่าจะมาจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคความหวังใหม่ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรคซึ่งได้ร่วมมือกับเสนาะ เทียนทอง แห่งกลุ่มวังน้ำเย็นของพรรคชาติไทย ทำการบีบกดดันให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ลาออกเพื่อนำเสนอให้ พล.อ.ชวลิต เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่นายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่ยินยอมกลับเลือกที่จะประกาศยุบสภาแทนในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539

อย่างไรก็ดี คุณูปการเพียงหนึ่งเดียวที่รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ได้ทำไว้ในช่วงที่ได้บริหารประเทศ คือ การให้การรับรองผ่านมาตรา 211 ที่จะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อันเป็นการเปิดทางให้มี “การปฏิรูปการเมือง” ซึ่งถูกผลักดันจากภาคประชาชนหรือกลุ่มพลังประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย สาเหตุที่ต้องมี “การปฏิรูปการเมือง” นั้น ส่วนใหญ่มาจากความไม่พอใจของชนชั้นกลางไทยที่มีต่อนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ได้ใช้การซื้อเสียงเข้ามานั่งในสภา ซึ่งทำให้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการหาเสียง

เพราะฉะนั้น เมื่อนักการเมืองเหล่านี้ได้เป็น ส.ส.แล้ว จึงต้องใช้วิธีการต่างๆ นานาในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อถอนทุนคืนจนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยยุคนี้ คือทำให้กลายเป็น “ความเป็นจริงที่อัปลักษณ์ของการเลือกตั้ง” ในประเทศไทยที่การหาเสียงในต่างจังหวัดต้องใช้เงินจำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง จนนักการเมืองท้องถิ่นถูกมองว่าเป็น “นักเลือกตั้ง” ที่ไม่มีคุณภาพและเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจในสายตาของชนชั้นกลาง

มิหนำซ้ำลักษณะของการเลือกตั้งเช่นนี้ ไม่เคยทำให้พรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด จึงทำให้ระบบการเมืองไทยมีพรรคการเมืองจำนวนมากเสมอ และทำให้การจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องเป็นรัฐบาลผสมทุกครั้ง ไม่สามารถเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีความพยายามผลักดัน การปฏิรูปการเมือง จากภาคประชาชนให้แก้ปัญหาข้างต้นนี้ ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในปี 2540

การก่อเกิดของรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือเป็น ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังปี 2475 เป็นต้นมา เป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างกลุ่มพลัง 3 กลุ่ม อันประกอบด้วย

กลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตย (กองทัพกับเทคโนแครต) กลุ่มนักการเมืองอาชีพ (นักเลือกตั้ง) และกลุ่มพลังประชาธิปไตย (ภาคประชาชน) ซึ่งได้สะท้อนออกมาเป็นวัฏจักรรัฐธรรมนูญ ซึ่งแทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวัฏจักรการเมืองไทย เพราะฉะนั้น จะว่าไปแล้ว พัฒนาการของการเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2475 ก็คือ ประวัติศาสตร์แห่งการเสื่อมถอยทางอำนาจลงตามลำดับของกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตย ที่ได้ใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือในการสถาปนาระบอบเผด็จการแบบคณาธิปไตยของพวกตนมาโดยตลอดนั่นเอง

แต่แล้วกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยที่ถูกต่อต้านจากกลุ่มพลังประชาธิปไตยเป็นระยะๆ โดยเฉพาะตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา จนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ก็ต้องสูญเสียพื้นที่แห่งอำนาจในโครงสร้างอำนาจให้แก่กลุ่มนักเลือกตั้ง หรือกลุ่มนักการเมืองอาชีพมาตามลำดับ ซึ่งมันมิได้หมายความถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอำนาจเท่านั้น แต่มันยังหมายความว่า อำนาจในการจัดสรรส่วนเกินทางเศรษฐกิจของประเทศโดยผ่านกระบวนการกำหนด และบริหารนโยบายของรัฐ ซึ่งแต่เดิมเคยกระจุกอยู่ในระบบราชการ และแบ่งปันกันภายในกลุ่มอำมาตยาธิปไตยด้วยกันเอง มาบัดนี้ มันได้ค่อยๆ ถูกผ่องถ่ายมาอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มนักการเมืองที่ยึดกุมอำนาจรัฐได้ โดยผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าพวกเขาจะใช้วิธีการที่ “สกปรก” ด้วยการซื้อเสียงจากชาวบ้านในต่างจังหวัดเข้ามาก็ตาม

ในสมัยของรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2531-2534) กลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยแทบจะไม่มีพื้นที่ในโครงสร้างอำนาจให้สำแดงพลังออกมาเลย การรัฐประหารของคณะ รสช.ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 จึงเป็นความพยายามในการดิ้นรนเพื่อที่จะฟื้นคืนระบอบอำมาตยาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้ง แต่กลับต้องเผชิญการต่อต้านจากกลุ่มพลังประชาธิปไตยภาคประชาชนอย่างถึงที่สุดจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ทำให้สังคมการเมืองไทยสามารถหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร และหวนกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง จนกระทั่งได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เกิดขึ้นจากการผลักดัน และการขับเคลื่อนอย่างเอาการเอางานของกลุ่มพลังประชาธิปไตยภาคประชาชนเป็นหลัก

แต่ ปัญหาการเมืองไทยที่แท้จริงนั้น มิได้อยู่ที่กองทัพหรือฝ่ายกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยหรอก หากอยู่ที่กลุ่มนักเลือกตั้ง (นักการเมืองอาชีพ) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ได้ในระบอบการเมืองทุกระบอบ และอยู่ได้เป็นอย่างดีเสียด้วยราวกับเป็น “กาฝาก” ของบ้านเมืองเลยทีเดียว เพราะภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร กลุ่มนักเลือกตั้งพวกนี้ก็เข้าไป “รับใช้” ขุนศึกผู้มีอำนาจเผด็จการด้วยความเต็มใจ ครั้นพอบ้านเมืองได้พัฒนาไปเป็นระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย อย่างในสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กลุ่มนักเลือกตั้งกลุ่มนี้ก็ยิ่ง “อยู่ดีกินดี” ยิ่งกว่าเดิมเสียอีก แถมยังโกงกินได้มากขึ้น เพราะพวกเขาได้รับการจัดสรรพื้นที่ในโครงสร้างอำนาจมากขึ้นกว่าเดิมจนคนกลุ่มนี้สามารถเสวยผลประโยชน์ได้มากกว่ากลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยในยุคเผด็จการทหารเสียอีก

* * *

การเลือกตั้งที่มีขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ปรากฏว่าพรรคความหวังใหม่ได้เสียงมากที่สุดคือ 125 เสียง โดยชนะพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 เสียงเท่านั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปัญหาหลักในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็คือ เศรษฐกิจฟองสบู่ที่กำลังจะแตกอยู่รอมร่อ แม้จะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลังก็แล้วแต่ มิได้ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายดีขึ้นแต่ประการใด โดยเฉพาะวิกฤตด้านสถาบันการเงิน จนในที่สุด ประเทศไทยก็ประสบปัญหาหนักจากการถูกโจมตีค่าเงินบาทโดยกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ ทำให้เงินสำรองของประเทศลดลงเป็นอย่างมาก

ในที่สุด รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ไม่สามารถตรึงค่าเงินบาทไว้ได้อีกต่อไป ต้องยอมประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ทำให้ค่าเงินบาทลดลงจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 30 บาท จากนั้นก็ลดต่ำลงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย

ฟองสบู่แตกแล้ว! เศรษฐกิจล่มสลายแล้ว! แต่นั่นแหละ นี่คือ วิกฤตที่เป็นโอกาสทองของพวกโจรสวมเสื้อนอกในคราบนักการเมืองที่จะมาปล้นชาติกินบ้านกินเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้