27. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 13/10/52

27. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 13/10/52

27. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)


มันเป็น โศกนาฏกรรมของสังคมการเมืองไทย มาโดยตลอดที่ ภาคประชาชนหรือฝ่ายพลังประชาธิปไตย เป็นได้แค่ แนวหน้า ผู้เสี่ยงตายในการยืนหยัดต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาธิปไตยเสมอมาโดยพวกตนไม่เคยได้กุมอำนาจรัฐ เพราะพวกตนไม่เคยมีพรรคการเมืองที่เป็นพรรคมหาชนที่มีฐานสนับสนุนจากมวลมหาประชาชนทั่วทั้งประเทศมาก่อน มันเป็นเช่นนี้ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนมาถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 แม้จนกระทั่งมีการผลักดัน “การปฏิรูปการเมือง”จากภาคประชาชนจนก่อเกิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งตอนนั้นเชื่อกันว่า มีความเป็นประชาธิปไตยที่สูงยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ที่ผ่านมา

แต่แล้ว กลุ่มนักเลือกตั้ง (นักการเมืองอาชีพ) กลุ่มนี้ต่างหาก คือ ผู้ที่เป็นฝ่ายชุบมือเปิบเข้าไปเสวยผลพวงแห่งชัยชนะในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของภาคประชาชนทุกครั้งเสมอ เพราะภาคประชาชนหรือพลังฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เคยมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองเพื่อเป็นฐานกำลังที่จะนำไปสู่การยึดกุมอำนาจรัฐอย่างชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยได้ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักเลือกตั้งกลุ่มนี้จึงเป็นนักฉวยโอกาสที่เข้ามาปล้นชัยชนะได้ทุกครั้ง โดยการที่พวกเขาสามารถเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งที่ซื้อเสียงเข้ามาได้ กลุ่มนักเลือกตั้งกลุ่มนี้จึงอยู่ดีกินดีเป็นอย่างยิ่ง และสามารถโกงกินบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ที่สุดในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ส่วนเกินทางเศรษฐกิจของสังคมไทยได้เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากมายมหาศาล อันเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนานนับปีมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงบูมทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้อำนาจในการจัดสรรส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการกำหนด และบริหารนโยบายของรัฐของกลุ่มนักเลือกตั้งกลายเป็นช่องทางในการก่อให้เกิดการปล้นชาติกินเมืองอย่างมโหฬารอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน แม้ในยุคพลังอำมาตยาธิปไตยเป็นใหญ่

จะเห็นได้ว่า กลุ่มนักเลือกตั้งพวกนี้ “หน้าหนา” เป็นอย่างยิ่งอย่างผิดธรรมดา เนื่องจากพวกเขาสามารถ “เสพสุข” ร่วมกับกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยในระบอบเผด็จการก็ได้ และยังสามารถ “เปลี่ยนธาตุแปรสี” กลายเป็นผู้สนับสนุนระบอบรัฐสภาอย่างสุดจิตสุดใจอย่างหน้าตาเฉยก็ได้ เมื่อฝ่ายพลังประชาธิปไตยภาคประชาชนประสบความสำเร็จในการต่อสู้ขับไล่เผด็จการทหาร

หลักการใหญ่ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใสทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติวิธีนั้น น่าสนใจมาก เพราะ

(1) เน้นเรื่องสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งสิทธิชุมชนเด็ก และคนพิการ

(2) มีการระบุถึงแนวนโยบายที่รัฐต้องดำเนินการด้วย เช่น การปฏิรูปการศึกษา การสนับสนุนเศรษฐกิจเสรี

(3) มีการตั้งองค์กรอิสระตรวจสอบมากถึง 6 องค์กร โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมมิให้นักการเมืองที่บริหารประเทศทำการทุจริต

(4) มีการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลจัดการเลือกตั้งแทนรัฐบาล โดยคาดหวังให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งให้เป็นกลางและบริสุทธิ์ยุติธรรม

(5) สภาผู้แทนมี 500 คนมาจากการเลือกตั้งแบ่งเขต 400 คน โดยให้เป็นการแบ่งเขตเบอร์เดียว และมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยจัดสัดส่วนจากคะแนนเสียงรวมทั่วทั้งประเทศให้แก่พรรคที่มีคะแนนเสียงเกิน 5% ของผู้มาลงคะแนนเสียง

(6) วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรค มีจำนวน 200 คน

ในตอนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถูกประกาศใช้ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 นั้น ฝ่ายพลังประชาธิปไตยภาคประชาชน ล้วนตั้งความหวังไว้สูงมากว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำความรุดหน้าครั้งใหญ่มาสู่สังคมการเมืองไทยอย่างแน่นอน โดยที่แทบไม่มีผู้ใดเลยที่เฉลียวใจว่า ผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นี้ คือ การก่อตัวของระบอบทักษิณ ซึ่งจะกลายมาเป็น “ฝันร้าย” ของสังคมไทยเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น

* * *

หลังเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศก็ยิ่งทรุดหนักมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนค่าเงินบาทตกลงถึง 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นอย่างมาก มีการชุมนุมประท้วงที่ถนนสีลมโดยกลุ่มชนชั้นกลางเพื่อต่อต้านรัฐบาลและขับไล่นายกรัฐมนตรี ในที่สุด พล.อ.ชวลิต ก็ต้องยอมประกาศลาออกในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 11 เดือนเศษเท่านั้น

จากนั้นการเมืองก็เกิดการ พลิกขั้ว เมื่อพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้เดินเกมใต้ดินผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทนได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อสามารถดึงบางส่วนของพรรคที่เคยร่วมรัฐบาลให้ถอนตัว และหันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์แทนได้ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540

แม้ว่าการกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้จะไม่ค่อยสง่างามนัก แต่ดูเหมือนว่าชนชั้นกลางไทยในขณะนั้น พร้อมจะให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีคลังกับนายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ จากพรรคประชาธิปัตย์ถูกสังคมไทยขณะนั้นมองว่าเป็น “ดรีมทีม” ทางเศรษฐกิจเลยทีเดียว รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ออกมาตรการ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ควบคุมธนาคารและสถาบันการเงินที่ขาดทุนจนไม่อาจจะดำเนินการต่อไปได้

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และตั้งบริษัทมาดูแลทรัพย์สินที่เสียหายเหล่านี้ โดยคัดเลือกกิจการที่เป็นหนี้เสียที่ยังพอดำเนินการต่อไปได้ออกมาขายทอดตลาดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามารับซื้อในราคาที่ถูกมาก มิหนำซ้ำรัฐบาลชุดนี้ยังได้ใช้เงินทุนไปประกันหนี้เสียของสถาบันการเงินเป็นจำนวนถึง 1.4 ล้านล้านบาท และนำเอากิจการที่เป็นหนี้เสียเหล่านี้ไปขายในราคาที่ต่ำมากให้แก่บริษัทต่างประเทศ ทำให้รัฐต้องแบกภาระขาดทุนของสถาบันการเงินเหล่านี้เป็นจำนวนมาก

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่ประการใดที่รัฐบาลชวน หลีกภัย จะถูกสังคมวิจารณ์ว่าเป็น รัฐบาลที่ “อุ้มคนรวยไม่ช่วยคนจน” เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับท่าทีของรัฐบาลที่เข้าไปโอบอุ้มสถาบันการเงินอย่างทุ่มเททุกอย่างให้แล้ว การปฏิบัติตัวของรัฐบาลชวน หลีกภัย ต่อความเดือดร้อนของภาคประชาชนถือว่าแย่มาก

ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลได้ส่งตำรวจเข้าไปปราบปรามและทุบตีคนงานโรงงานไทยซัมมิท ออโตพาท ที่ถนนบางนา-ตราด โดยอ้างว่า คนงานประท้วงปิดถนนขวางเส้นทางการจราจร ต่อมารัฐบาลได้สั่งจับกุมสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามและผู้นำชาวบ้านหลายสิบคนที่ประท้วงความไม่ชอบธรรมในการก่อสร้างท่อส่งก๊าซระหว่างประเทศไทย-พม่าของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งทำลายป่าไม้และสภาพแวดล้อมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้านในกรณีผลักดันการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จากนั้นรัฐบาลสั่งให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านที่ทำการประท้วงโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำหนดจะสร้างขึ้นที่ตำบลบ่อนอก และบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

แต่ที่น่าประณามที่สุดก็คือ ฝ่ายรัฐบาลได้ปล่อยให้ตำรวจใช้สุนัขตำรวจออกมาไล่กัดชาวไร่มันสำปะหลังจากจังหวัดนครราชสีมาที่ประท้วงอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนมีชาวบ้านบาดเจ็บหลายคน ความแล้งน้ำใจต่อคนจนของรัฐบาล ชวน หลีกภัย นั้นได้พุ่งถึงขีดสุดเมื่อรัฐบาลได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมต่อต้านโครงการเขื่อนปากมูลของสมัชชาคนจนที่นำโดย น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และแกนนำชาวบ้าน

เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาล ชวน หลีกภัย ยังแสดงท่าทีไม่สนใจเรื่องการปฏิรูปการเมืองเลย ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมผลักดันกฎหมายลูก ไม่เร่งร้อนในการตั้งองค์กรอิสระ มีความพยายามในการเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพราะไม่ยอมยุบสภา เพื่อจะได้มีการเลือกตั้งใหม่ และรัฐบาลใหม่ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยเร็ว แต่กลับบริหารประเทศแบบถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ แถมนายกรัฐมนตรียังทำตัวลอยตัวอยู่เหนือปัญหา เพราะไม่กระตือรือร้นในการแก้ปัญหาและมักจะคอยรายงานของทางราชการเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลชวน หลีกภัย จึงดันทุรังบริหารประเทศมาจนถึงการประชุมรัฐสภาวันสุดท้าย เมื่อมีการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลจึงได้ออกกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เพื่อจะได้อ้างว่า รัฐบาลได้ยุบสภาตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว ทั้งๆ ที่เหลือเวลาเพียง 8 วัน สภาผู้แทนราษฎรก็จะสิ้นอายุตามเงื่อนไขอยู่ดี

ภาพลักษณ์ที่ตกต่ำลงเป็นอย่างมากของพรรคประชาธิปัตย์ และนายชวน หลีกภัย ในตอนนั้นทำให้เป็นที่คาดการณ์กันได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่เพิ่งก่อตั้งในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 จะเป็นตัวเก็งหรือผู้นำรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และก็เป็นไปตามคาดจริงๆ เพราะในห้วงยามนั้น ชาวไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวไทยในระดับรากหญ้า ล้วนเป็นฝูงชนที่เปล่าเปลี่ยว อ้างว้าง และกำลังหลงทาง พวกเขาต้องการ ใครก็ได้ที่จะมาเป็น “ผู้นำของพวกเขา” ที่มอบความรัก ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร และความหวังเกี่ยวกับอนาคตให้แก่พวกเขา ไม่ว่า “ผู้นำ” คนนั้นจะพาพวกเขาไปทางไหน แม้เป็นหนทางที่จะนำไปสู่หุบเหวหรือนรก พวกเขาล้วนยินยอมพร้อมใจทั้งนั้น

ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่า คนไทยที่เป็นชาวรากหญ้าเหล่านี้ได้ค้นพบ “ผู้นำของพวกเขา” แล้วในบุคคลที่มีชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้