30. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 3/11/52

30. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 3/11/52

30. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)


การจะทำความเข้าใจต่อการต่อสู้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยก็ดี หรือการจะทำความเข้าใจให้กระจ่างต่อ ขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณ รวมทั้งการก่อเกิดของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเวลาต่อมา อันเป็น ขุมพลังทางการเมืองภาคประชาชนที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ก็ดี

ผมมีความเห็นว่า การวิเคราะห์โดยใช้มโนทัศน์ (concept) เรื่อง “ปัญญาชนออแกนิก (organic intellectual)” ตามทฤษฎีของ อันโตนิโอ กรัมชี่ (ค.ศ. 1891-1937) นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ชาวอิตาลีผู้โด่งดังจะเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่ทรงพลังมากที่สุดในการอธิบาย และทำความเข้าใจปรากฏการณ์ข้างต้น

ปัญญาชนออแกนิก ตามนิยามของกรัมชี่นั้น ค่อนข้างต่างไปจากนิยามของปัญญาชนแบบดั้งเดิม (traditional intellectual) ที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกันที่มองว่า นิยามของปัญญาชนแบบดั้งเดิมนั้น หมายถึงนักวิชาการกระฎุมพีหรือนักวิชาการหอคอยงาช้างที่จินตนาการเอาเอง หรือคิดเอาเองว่า พวกตนเป็นกลุ่มชนอิสระ (autonomous group) ที่เป็น “กลาง” และแยกตัวเองออกจากการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นใดๆ ทั้งปวง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว กรัมชี่เห็นว่า บทบาทของคนเหล่านี้คือ เป็นแนวร่วมโดยปริยายในเชิงอุดมการณ์กระแสหลักกับชนชั้นปกครองนั่นเอง ต่อให้คนกลุ่มนี้มองตัวเองว่าเป็นปัญญาชน หรือนักวิชาการที่ทำงานวิชาการ “เพื่อวิชาการ” เท่านั้นก็ตาม

ส่วน ปัญญาชนออแกนิก ตามคำอธิบายของกรัมชี่นั้น คือ ปัญญาชนหรือ “ผู้ให้ปัญญาแก่สังคม” โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีสติปัญญาที่แหลมคม มีองค์ความรู้ ประกอบทั้งมีบทบาทและกำลังแสดง บทบาททางสังคม ในฐานะ “ผู้ให้ปัญญาแก่ประชาชน” โดยตระหนักถึงฐานะหรือ ตำแหน่งทางองค์ความคิด ของตนในท่ามกลางพลวัตของกระแสความคิดหลักของสังคม โดยพยายามที่จะ ใช้องค์ความรู้ของตนอย่างมียุทธศาสตร์ ในการบ่มเพาะ พัฒนา เสริมสร้างความเข้มแข็งทาง จิตสำนึกที่มีชีวิตชีวา (organic consciousness) ให้แก่ ขุมพลังทางการเมืองของพวกตน (อย่างเช่น ขุมพลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น)

ในการต่อสู้เพื่อสถาปนา “การเมืองใหม่” และ “สังคมใหม่” โดยผ่านการสถาปนา “ความเป็นใหญ่ (ทางอุดมการณ์)” (hegemony) แบบใหม่ ที่จะมาแทนที่ “การเมืองเก่า” และ “สังคมเก่า” ซึ่งตกอยู่ภายใต้การครอบงำทางอุดมการณ์ของ “ความเป็นใหญ่” (hegemony) แบบเก่า ของชนชั้นนำเก่านั่นเอง

ถ้ากล่าวตามความหมายหรือคำนิยามข้างต้น เมื่อเราหันไปวิเคราะห์บทบาทของผู้คนต่างๆ ที่สำแดงบทบาทอย่างเอาการเอางานในขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราก็จะเห็นได้ว่า ผู้ประกาศข่าวของ ASTV พิธีกรรายการสนทนาข่าวการเมืองของ ASTV ผู้จัดรายการวิทยุของสื่อผู้จัดการ คอลัมนิสต์ในสื่อผู้จัดการ นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ของสื่อผู้จัดการ นักรบไซเบอร์ในเว็บไซต์ผู้จัดการ ศิลปินที่ขึ้นแสดงบนเวทีพันธมิตรฯ โฆษกและผู้อภิปรายบนเวทีชุมนุมของพันธมิตรฯ

นักกิจกรรมทางสังคม ผู้ประสานงานเครือข่ายต่างๆ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักคิดนักเขียน ผู้นำสหภาพต่างๆ ผู้นำขบวนการนักศึกษา นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ผู้คนเหล่านี้ข้างต้นล้วนได้แสดงบทบาทเป็น ปัญญาชนออแกนิก ตามนิยามของกรัมชี่เหมือนกันทั้งสิ้น

จริงอยู่ที่คนเราทุกคนล้วนมีเชาวน์ปัญญา (intellect) และมีความสามารถในการใช้ตรรกะเหตุผลได้ก็จริง แต่มิใช่ว่าคนทั้งหมดทุกคนในสังคมจะสามารถมีหรือสำแดง บทบาททางสังคมในฐานะที่เป็นปัญญาชน ได้ (social function of intellectuals)

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า บทบาทของปัญญาชนที่ทรงพลานุภาพ ในยุคปัจจุบัน อันเป็นยุคแห่งสังคมข่าวสารและเป็นยุคหลังสมัยใหม่ หรือโพสต์โมเดิร์นนั้น จะต้องเป็น บทบาทของปัญญาชนออแกนิก เสมอ มิใช่บทบาทของปัญญาชนแบบดั้งเดิมที่เป็นนักวิชาการหอคอยงาช้าง เพราะ ปัญญาชนออแกนิก ต่างกับนักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วไปที่แค่สอนหนังสือ และเขียนหนังสือทางวิชาการออกมาเท่านั้น

ขณะที่พวก ปัญญาชนออแกนิก จะมีบทบาทยิ่งกว่านั้น และนับวันก็จะยิ่งทวีความสำคัญต่อสังคมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะ ปัญญาชนออแกนิก นอกจากจะพูดผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความคิดเห็นของตนต่อสังคม รวมทั้งเขียนบทความและเขียนหนังสือออกสู่สาธารณชนในวงกว้างแล้ว พวก ปัญญาชนออแกนิก ยังกระโจนเข้าไปร่วมเคลื่อนไหว ผลักดัน กำกับ ขับเคลื่อน และจัดตั้งชุมชนทางการเมือง-สังคม และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง-สังคม เพื่อมุ่งที่จะสถาปนา “การเมืองใหม่” และ “สังคมใหม่” โดยผ่านการสถาปนาความเป็นใหญ่ทางอุดมการณ์ (hegemony) แบบใหม่ ที่จะเข้ามาแทนที่ การเมืองเก่าและสังคมเก่าที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำทางอุดมการณ์และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเก่าของพวกชนชั้นนำเก่าอีกด้วย โดยที่เครื่องมือทางอุดมการณ์ (ideological apparatus) ที่ทรงพลังที่สุดของพวก ปัญญาชนออแกนิก คือ สื่อแบบมัลติมีเดียแบบต่างๆ ที่ครบวงจร ทั้งโทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสารรายสัปดาห์ นิตยสารรายเดือน หนังสือเล่ม และเว็บไซต์ออนไลน์ ซึ่งสามารถ “ให้ปัญญา” หรือให้ความรู้แก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และเป็นวงกว้าง

เพราะพลานุภาพที่แท้จริงของพวก ปัญญาชนออแกนิก คือ ความสามารถที่พูดหรือเขียน หรือสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ในมือที่มีอยู่อย่างครบวงจร จนสามารถ “โดนใจ” “แทนใจ” และ “ตรงใจ” มวลมหาประชาชนในวงกว้างที่รู้สึกนึกคิดแบบเดียวกัน แต่ไม่สามารถแสดงออกทางข้อเขียนหรือทางคำพูด หรือทางวาทกรรมออกมาได้ดีเท่านั้นเอง จะเห็นได้ว่า เพราะความสามารถอันนี้ของพวก ปัญญาชนออแกนิก นี่เองที่ทำให้พวกเขาสามารถหลอมรวมจิตใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับมวลชนในขบวนการได้อย่างแน่นแฟ้น เพื่อร่วมมือกันต่อสู้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองเดียวกันได้อย่างถึงที่สุด

* * *

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่ผ่านมา เหล่า ปัญญาชนออแกนิก ได้มีบทบาทอย่างแข็งขัน และเอาการเอางานในการผลักดันโครงการใหญ่ 4 โครงการด้วยกัน คือ

(1) โครงการปฏิวัติสังคมนิยม (socialist revolution project) ตัวแทนปัญญาชนออแกนิกที่โดดเด่นในโครงการนี้คือ จิตร ภูมิศักดิ์ สุภา ศิริมานนท์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ทวี หมื่นนิกร ฯลฯ

(2) โครงการปฏิรูปเสรีนิยม (liberal reform project) ตัวแทนปัญญาชนออแกนิกที่โดดเด่นในโครงการนี้คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช อัมมาร์ สยามวาลา ฯลฯ

(3) โครงการปฏิรูปประชาธิปไตย (democratic reform project) ตัวแทนปัญญาชนออแกนิกที่โดดเด่นในโครงการนี้คือ ธีรยุทธ บุญมี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล วิทยากร เชียงกูล เกษียร เตชะพีระ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฯลฯ

(4) โครงการเปลี่ยนแปลง (โครงสร้าง) เชิงลึก (deep transformation project) ตัวแทนปัญญาชนออแกนิกที่โดดเด่นในโครงการนี้คือ พุทธทาสภิกขุ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ในช่วงหลัง) ยุค ศรีอาริยะ สุวินัย ภรณวลัย ฯลฯ

อนึ่ง ปัญญาชนออแกนิก คนหนึ่งอาจจะเริ่มต้นบทบาททางสังคมในฐานะที่เป็นปัญญาชนในโครงการหนึ่ง เช่น โครงการปฏิวัติสังคมนิยม แต่ภายหลังเมื่อบริบททางประวัติศาสตร์เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่ขบวนการปฏิวัติล่มสลาย หรือปัจจัยภายในที่เกิดจากการเติบโตทางจิตวิญญาณภายใน จนเห็นข้อจำกัดของอุดมการณ์สังคมนิยม ก็อาจทำให้ปัญญาชนออแกนิกผู้นั้น พลิกผันตัวเองหันไปผลักดันโครงการอื่นแทน เช่น โครงการปฏิรูปประชาธิปไตย หรือโครงการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก หรือผลักดันทั้งสองโครงการควบคู่กันไปก็เป็นได้

จากมุมมองของ ปัญญาชนออแกนิก เช่นข้างต้นนี้เอง ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจได้ว่า ขบวนการเสื้อเหลือง หรือขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นขบวนการทางการเมืองของปัญญาชนออแกนิกที่สัมพันธ์กับหลากชนชั้น โดยมีชนชั้นกลางเป็นชนชั้นหลักที่ค้ำจุนขบวนการเอาไว้ ในการต่อสู้กับระบอบทักษิณซึ่งเป็นตัวแทนของทุนนิยมสามานย์ ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถทำความเข้าใจได้ว่า

ขบวนการเสื้อแดงเองก็มีปัญญาชนออแกนิก (นักวิชาการเสื้อแดง) ขับเคลื่อนอย่างเอาการเอางานด้วยเช่นกัน เพียงแต่ปัญญาชนออแกนิกของพวกเสื้อแดงสัมพันธ์ และรับใช้พรรคชนชั้นของกลุ่มทุนใหญ่สามานย์ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ โดยที่พรรคชนชั้นของกลุ่มทุนใหญ่สามานย์นี้ คือ พรรคไทยรักไทยซึ่งต่อมาถูกยุบพรรคและกลายมาเป็นพรรคพลังประชาชน ซึ่งภายหลังก็โดนยุบพรรคอีก จนกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้