42. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ) 26/1/53

42. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ) 26/1/53

42. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)


พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ที่รัก วิสัยทัศน์แห่งการเมืองเชิงบูรณาการ (integral political vision) ของพรรคเรานั้น เป็นการสังเคราะห์และบูรณาการ ข้อดีหรือจุดแข็งทั้งของการเมืองฝ่ายซ้าย และการเมืองฝ่ายขวา โดยที่ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงจุดอ่อนหรือข้อจำกัดของแนวทางการเมืองฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวาไปพร้อมๆ กันด้วย

ยกตัวอย่างเช่น วิธีคิดในการแก้ไขปัญหาการเมืองแบบพวกฝ่ายขวาหรือพวกอนุรักษนิยมนั้น จะเน้นในเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม ค่านิยม และความรับผิดชอบของปัจเจกเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ขณะที่วิธีคิดในการแก้ไขปัญหาการเมืองแบบพวกฝ่ายซ้ายนั้น มักจะเน้นในเรื่องโครงสร้าง เรื่องระบอบ เรื่องระบบ เรื่องการปฏิรูปสถาบันเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นการเน้นกันคนละด้าน และก็ถูกทั้งคู่จากมุมมองของตัวเอง เพียงแต่ถูกเพียงบางส่วนเท่านั้น

มันไม่สำคัญหรอกว่า คนเราจะคิดแบบพวกฝ่ายขวา หรือคิดแบบพวกฝ่ายซ้ายในการมองปัญหาบ้านเมือง เราจะ เริ่มต้น จากฝ่ายไหนก็ได้ แต่ที่สำคัญเราจะต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ เฉพาะแค่มุมมองจากฝ่ายนั้นแบบเดียวเท่านั้น เราควรเปิดใจให้กว้าง ยอมรับและเคารพในวิธีคิดของฝ่ายอื่นที่คิดต่างไปจากวิธีคิดของฝ่ายตนเอง แต่ต้อง “รู้ทัน” ข้อจำกัดในวิธีคิดของแต่ละฝ่าย ทั้งของฝ่ายตนและของฝ่ายอื่น จากนั้นก็จงพยายามพัฒนาวิธีคิดของตนให้ “ข้ามพ้น” ข้อจำกัดต่างๆ ในวิธีคิดเหล่านั้นของแต่ละฝ่ายให้จงได้ ซึ่งก็คือ การมุ่งไปสู่ วิธีคิดแบบการเมืองเชิงบูรณาการ

ในความหมายที่เป็น การเมืองฝ่ายเบื้องบน คือ ไม่ใช่ การเมืองแบบซ้าย และก็ไม่ใช่ การเมืองแบบขวา แต่เป็น การเมืองชั้นสูง ที่มุ่งวิวัฒนาการสังคม และปัจเจกทุกคนให้มีการยกระดับสูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป อันเป็นการพัฒนาไปสู่ทิศทางของพหุนิยม และบูรณานิยม ซึ่งจะ หลอมรวม จุดดี จุดแข็งของวิธีคิดทั้งแบบฝ่ายขวา และแบบฝ่ายซ้ายอยู่ในตัวเอง โดยมุ่งที่จะก้าวข้ามจุดอ่อน ข้อจำกัดของแนวทางการเมืองทั้งแบบฝ่ายขวา และแบบฝ่ายซ้ายไปพร้อมๆ กันเลย

เพราะ ข้อจำกัดของแนวทางการเมืองแบบฝ่ายขวา คือ เน้นการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป กับมุ่งใช้กลไกระบบราชการที่มีโครงสร้างเป็นลำดับชั้น (hierarchies) มากเกินไปในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ขณะที่ ข้อจำกัดของแนวทางการเมืองแบบฝ่ายซ้าย ก็คือ เป็นวัตถุนิยมเกินไปในวิธีคิด เพราะดูแคลนและไม่ใส่ใจบทบาทของจิตใจและจิตวิญญาณ จึงขาดความเข้าใจที่ลุ่มลึกเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่าภายใน โดยเฉพาะเรื่องของจิตวิญญาณ จึงมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบเป็นหลักเท่านั้นในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ที่รัก คนของพรรคเรา และพวกเราจะคิดแบบบูรณการได้อย่างไร? เนื่องจากวิธีคิดแบบบูรณาการเป็นการระดมใช้สรรพวิชา หรือใช้ความสามารถทั้งหมดทุกประเภท ทุกแขนงที่ผู้นั้นมี หรือกลุ่มองค์กรนั้นมีในการเผชิญกับ ปัญหาที่มีความซับซ้อนสูง แล้วสามารถนำเสนอ ทางออกที่มีลักษณะบูรณาการ ให้แก่สังคมได้

เพื่อการนี้ จึงมีความจำเป็นที่คนผู้นั้น หรือกลุ่มองค์กรนั้นจะต้องหมั่นเรียนรู้ฝึกฝนตนเอง หรือฝึกฝนทั้งองค์กร รวมทั้งจะต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง พัฒนาองค์ความรู้ขององค์กรอยู่ตลอดเวลาในลักษณะที่หลากหลายแบบสหวิทยาการที่มีทั้งด้านกว้าง และด้านลึกอย่างครอบคลุม แต่การที่คนผู้นั้นหรือกลุ่มองค์กรนั้นจะฝึกฝนตนเองในแบบบูรณาการได้ ก่อนอื่น คนผู้นั้นหรือกลุ่มองค์กรนั้น จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้เสียก่อน

(1) คนผู้นั้นหรือกลุ่มองค์กรนั้น จะต้องมี กรอบมุมมองแบบบูรณาการที่สามารถอรรถาธิบาย ระดับขั้นตอนของการพัฒนาอย่างหลากมิติ โดยมีระดับขั้นตอนของการพัฒนาจิต (โครงสร้างของจิต) ที่เป็น โครงสร้างเชิงลึก เป็นแกนหลักในการวิเคราะห์ โดยชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าปัจเจก องค์กร สถาบันหรือสังคมใด ก็ต้องมีวิวัฒนาการ หรือมีพัฒนาการไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาของจิต (ทั้งในแง่ปัจเจกและในแง่กลุ่ม) เหมือนกันหมดทั้งสิ้นอย่างไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้ว

(2) หากเข้าใจในเรื่องระดับขั้นตอนของการพัฒนาที่เป็นแบบ โครงสร้างเชิงลึก อย่าง โครงสร้างของจิต (structure of consciousness) แล้ว คนผู้นั้นหรือกลุ่มองค์กรนั้น ถึงจะสามารถหลีกเลี่ยง ข้อผิดพลาดทางการเมืองสองประเภท ที่มักเกิดขึ้นเสมอในการพิจารณาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ผู้คน และสังคม

ข้อผิดพลาดประเภทที่หนึ่งคือ การเข้าใจผิดว่า ผู้คนจะมีท่าทีที่เหมือนกันในการเผชิญปัญหาเรื่องเดียวกัน ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เพราะจริงๆ แล้ว คนเรามักจะสะท้อนท่าที ความเห็นหรือโลกทัศน์ที่ต่างกันไปตาม “ระดับจิต” ของคนผู้นั้นเสมอ แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาเรื่องเดียวกัน หรืออยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็ตาม ส่วน ข้อผิดพลาดประเภทที่สองคือ คนเรามักประณามทัศนะของผู้อื่นอย่างมักง่ายสิ้นดีว่า คิดไม่ถูกหรือเห็นผิด แทนที่จะมองอย่างสร้างสรรค์ว่าทัศนะที่คนผู้นั้นนำเสนอออกมาเป็นแค่การสะท้อนจุดยืนและสถานภาพทางความคิด ระดับจิต ระดับโลกทัศน์ของคนผู้นั้นเท่านั้น ซึ่งมันก็มีความจริงของมันอยู่ แต่เป็นแค่ความจริงเฉพาะด้านเท่านั้น คือถูกเป็นบางส่วน แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ หากคนผู้นั้นหรือกลุ่มองค์กรนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งสองประเภทนี้ในระบบวิธีคิดของตนหรือของกลุ่มองค์กรนั้นได้ ก็จะไม่มีทางนำเสนอ ทางออกหรือหนทางในการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอะไรก็ตาม

(3) ความสามารถในการทำความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหา และสถานการณ์ใดๆ จึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้นั้นหรือกลุ่มองค์การนั้น มีความเข้าใจพลวัตของปัจเจก และกลุ่มคนที่อยู่ในปัญหาต่างๆ เหล่านั้นหรือไม่ กล่าวคือ ผู้นำแบบบูรณาการ จะต้องมีความเข้าใจในขั้นตอนพัฒนาการมิติต่างๆ ของมนุษย์ อีกทั้งยังต้องเข้าใจแรงขับเคลื่อนภายใน แรงจูงใจภายใน เจตนารมณ์ และโลกทัศน์ของปัจเจกและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น รวมทั้งเข้าใจด้วยว่า ทำไมคนเหล่านั้นจึงเลือกที่จะมีพฤติกรรมเช่นนั้น รวมไปถึงการตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงอิทธิพลทางสถาบันและวัฒนธรรมที่เข้ามามีบทบาท และกำหนดขีดจำกัดในการเลือกของปัจเจกและกลุ่มคนต่างๆ ด้วย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้นำแบบบูรณาการที่จะมาชี้นำ การเมืองเชิงบูรณาการนั้น จะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงปฏิสังสรรค์อย่างมีพลวัต (dynamic interplay) ของความจริงหลากมิติของจักรวาล

(4) การตระหนักในความซับซ้อนของปัญหาทุกเรื่อง เรียกร้องให้ผู้นำแบบบูรณาการต้องพัฒนา แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ (processual approach) ที่นำไปสู่ ทางออกแบบบูรณาการ กล่าวคือ ผู้นำแบบบูรณาการจะต้องตระหนักว่า วิธีการในการบรรลุเป้าหมายมีความสำคัญพอๆ กัน หรือสำคัญยิ่งกว่าเป้าหมายเสียอีก เพราะในสายตาของผู้นำแบบบูรณาการที่แท้จริงนั้น วิธีคิดที่ตื้นเขินแบบดำ-ขาว ใช่-ไม่ใช่นั้น มีแต่นำไปสู่การเผชิญหน้าที่สุดขั้วกันทั้งสองฝ่ายเท่านั้น และจะไม่เหลือทางออกที่สร้างสรรค์ใดๆ เลย

การคิดแบบบูรณาการ จึงต้องเป็นการก้าวข้ามวิธีคิดแบบทวิภาวะ (dualistic approach) เช่นที่ว่านี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า สังคมนี้ผู้คนยังชินกับวิธีคิดแบบทวิภาวะที่แยกดำ-ขาว ดี-ชั่วกันอย่างง่ายๆ อยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท้าทายผู้นำแบบบูรณาการ และกลุ่มองค์กรของเขาที่สุดในสังคมนี้ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมให้ผู้คนสามารถคิดแบบบูรณาการเป็น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างการเมืองเชิงบูรณาการอันเป็น การเมืองใหม่ และ ทางเลือกใหม่ ที่แท้จริงของสังคมได้ในที่สุด

เพื่อการนี้ ผู้นำแบบบูรณาการในพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ จะต้องเป็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรม และมีชีวิตชีวาในการแสดงให้มวลชนพันธมิตรฯ ผู้คนภายในพรรค และสังคมข้างนอกได้เห็นกับตาว่า วิถีการเมืองแบบบูรณาการของพวกเรานั้นเป็นอย่างไร พวกเราต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ความมุ่งมั่นที่ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์ที่ต้องการเข้าถึง และเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลคือ วิถีแห่งการเมืองที่สูงส่งที่สุด

ความก้าวหน้าทางจิตที่ได้มาจากการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น มันกินเวลานานมากเหลือเกิน แต่ การเมืองเชิงบูรณาการของผู้นำแบบบูรณาการจากพรรคการเมืองของพวกรา จะเป็นหนทางในการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้คนเหล่านี้ให้มีความก้าวหน้าทางจิตรวดเร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์ชัดได้

ณ ที่ที่วิถีการเมืองแบบเก่าสิ้นสุดลง ที่นั้นแหละคือที่ที่เป็น จุดเริ่มต้นของการเมืองแบบใหม่ หรือการเมืองเชิงบูรณาการ ซึ่งจะต้องเริ่มขึ้นจากพรรคการเมืองของพวกเรา และเริ่มจากการฝึกฝนพัฒนาตัวเองอย่างบูรณาการของพวกเราแต่ละคน โดยการเข้าถึงและตระหนักรู้ใน จิตสำนึกแบบบูรณาการ นี้ พวกเราและพรรคของพวกเรา ย่อมสามารถสถาปนาการเมืองเชิงบูรณาการ ซึ่งเป็นการเมืองใหม่ขึ้นมาในสังคมนี้ได้ทั้งในระดับปัจเจกและระดับรวมหมู่

ในสายตาของคนทั่วไป การเมืองอาจเป็นเรื่องของความเลวร้าย เป็นเรื่องของการแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์และอำนาจ ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ด้วย แต่ในสายตาของพวกเรา ยังแลเห็นอีกด้านหนึ่งของการเมืองที่คนรุ่นเก่าอาจไม่เคยแลเห็นมาก่อน นั่นคือ การเมืองยังสามารถเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ และการเผยตัวให้เป็นที่ประจักษ์ของธรรมจิตอันเป็นธรรมชาติที่แท้หรือจิตเดิมแท้ของมนุษย์ทุกคนอีกด้วย

การเมืองเชิงบูรณาการคือ การเผยตัวแห่งพลวัตของธรรมจิต (Spirit) และจักรวาลหลากมิติที่มีวิวัฒนาการไม่หยุดยั้ง ซึ่งยังเป็นด้านที่ไม่ค่อยได้รับรู้กันมากนักสำหรับผู้คนทั่วไป เพราะด้านนี้ยังเป็นด้านที่ค่อนข้างยากแก่การเข้าถึง สำหรับผู้คนที่ยังมิได้มีระดับการพัฒนาทางจิตสูงพอ

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนส่วนใหญ่จึงมักไม่เข้าใจเหตุผล และความหมายที่แท้จริงและสูงส่งของ “การเมือง” จึงมักมอง “การเมือง” อย่างแคบๆ โดยเห็นแต่เฉพาะด้านที่อัปลักษณ์ ชั่วร้าย โสมม และเลวทรามของการเมืองเท่านั้น จึงยังไม่อาจแลเห็น ศักยภาพของ “การเมืองใหม่” ที่เป็นด้านที่สร้างสรรค์ของ “การเมือง” อันเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ความปรารถนาดี มีเมตตาธรรมได้

ผู้นำแบบบูรณาการ และพรรคของพวกเราคือ ผู้ที่มีวิสัยทัศน์แห่งการเมืองเชิงบูรณาการ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มความรับรู้เกี่ยวกับการเมืองใหม่ อันเป็นการเมืองชั้นสูงที่สูงส่ง ให้แก่ผู้คนทั้งหลายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยใช้ตัวของพวกเรา ความจริงใจของพวกเรา ศักยภาพของพวกเรา ความสามารถและสมรรถภาพของพวกเรา ปฏิบัติการของพวกเรา ความคิดของพวกเรา วาทกรรมของพวกเรา รวมทั้งจิตที่บริสุทธิ์ของพวกเรามาเป็นตัวพิสูจน์ ความจริงของ “การเมือง” ในความหมายที่แท้ และเป็นการเมืองใหม่ให้จงได้



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้