43. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ) 2/2/53

43. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ) 2/2/53

43. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)


พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ที่รัก เมื่อพรรคของพวกเราได้รับความไว้วางใจจากมวลมหาประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศแล้ว พรรคของเราจะต้องใช้ ภูมิปัญญาแบบบูรณาการ เข้ามาชี้นำ การปฏิรูปเชิงบูรณาการ กับประเทศนี้อย่างจริงจัง

เนื่องเพราะในพรมแดนแห่งองค์ความรู้ของมนุษยชาติขณะนี้ ถือว่า โมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการ (integral development model) นี้ เป็นโมเดลการพัฒนาคน และพัฒนาสังคมอย่างครอบคลุมรอบด้านที่สุด และมีประสิทธิผลที่สุดเท่าที่องค์ความรู้ของมนุษยชาติจะค้นพบได้ในขั้นตอนปัจจุบัน เพราะโมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการนี้ พิจารณาการพัฒนาคนและสังคมถึง 4 มิติควบคู่กันไป โดยให้ความสำคัญกับแต่ละมิติอย่างเท่าเทียมกัน คือ

(1) มิติปัจเจก-ด้านใน หรือ มิติแห่งเจตนารมณ์

(2) มิติรวมหมู่-ด้านใน หรือ มิติแห่งวัฒนธรรม

(3) มิติปัจเจก-ด้านนอก หรือ มิติแห่งพฤติกรรม

(4) มิติรวมหมู่-ด้านนอก หรือ มิติแห่งระบบสังคม หรือสถาบัน

เนื่องจากโมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการให้ความสำคัญแก่มิติทั้ง 4 มิติดังข้างต้น โมเดลนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งสั้นๆ ว่า โมเดลจตุรภาค ดังนั้นพรรคของพวกเราจะต้องใช้ โมเดลจตุรภาคหรือโมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการนี้มาเป็น ฐานคิด ในการนำเสนอ วิชัน หรือ วิสัยทัศน์เชิงบูรณาการ (integral vision) ในการชี้นำการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ และในการออกนโยบายปฏิรูปเชิงบูรณการต่างๆ

ข้อดีของโมเดลจตุรภาคนี้มีมากมายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมเดลนี้มันสามารถช่วยให้เหล่าปัญญาชนจากสำนักคิดต่างๆ “ตาสว่าง” และกระจ่างแจ้งในความจริง และในทางทฤษฎีหลายๆ เรื่องเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น

(1) การคาดการณ์อนาคตเกี่ยวกับ เมกะเทรนด์ หรือ ทิศทางหลักๆ ที่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจะเคลื่อนตัวไป ไม่ว่าจะเป็น วิชันแบบคลื่นลูกที่สาม ที่มองว่าสังคมมีพัฒนาการจากสังคมเกษตรกรรม (คลื่นลูกที่หนึ่ง) ไปสู่สังคมอุตสาหกรรม (คลื่นลูกที่สอง) และไปสู่สังคมข่าวสาร (สังคมความรู้ที่เป็นคลื่นลูกที่สาม) หรือ วิชันแบบนักมานุษยวิทยา ที่มองพัฒนาการของสังคมจาก พัฒนาการของโลกทัศน์ โดยพัฒนาจากโลกทัศน์แบบมายาคติ (magic) ไปสู่โลกทัศน์แบบปรัมปราคติ (myth) ไปสู่โลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม (rational) ไปสู่โลกทัศน์แบบพหุนิยม และไปสู่โลกทัศน์แบบบูรณานิยม (integral) นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความจริงเพียงส่วนเดียวเท่านั้น คือมีส่วนจริงแบบเฉพาะส่วน แต่ยังไม่ใช่ความจริงแบบองค์รวม เพราะวิชันแบบคลื่นลูกที่สามดังข้างต้น เป็นการมองพัฒนาการของสังคมจากมิติรวมหมู่-ด้านนอก (มิติแห่งระบบสังคม) เท่านั้น

ส่วนวิชันแบบนักมานุษยวิทยาดังข้างต้น ก็เป็นการมองพัฒนาการของสังคมจากมิติรวมหมู่-ด้านในเท่านั้น กล่าวคือ ถ้ามองจากมุมมองดังกล่าว จะรู้สึกว่ามันเป็นความจริงอย่างยิ่ง แต่แท้ที่จริงแล้ว มันยังเป็นความจริงเฉพาะด้านเท่านั้น

(2) ทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์ ที่เชื่อว่าฐานเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดโครงสร้างส่วนบน หรืออุดมการณ์ จิตสำนึกก็เป็นความจริงเพียงส่วนเดียวเท่านั้น คือมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชี้นำโดยทฤษฎีของลัทธิมาร์กซ์ที่ไม่สมบูรณ์เช่นนี้ จึงมักล้มเหลวเสมอ

(3) การที่ จิตของปัจเจก จะพัฒนาไปอย่างสมดุล และสมบูรณ์นั้น ปัจเจกจะฝึกแค่ การเจริญสมาธิภาวนา (มิติปัจเจก-ด้านใน) อย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องคำนึงถึง การพัฒนาโลกทัศน์ (มิติรวมหมู่ด้านใน) คำนึงถึง การรับใช้เพื่อนมนุษย์ โดยการเข้าไปช่วยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบ-สถาบันให้ดีขึ้น (มิติรวมหมู่-ด้านนอก) รวมทั้งคำนึงถึงการปรับปรุง พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต (มิติปัจเจก-ด้านนอก) ของตนเองให้ดีขึ้นสูงส่งยิ่งขึ้น ประเสริฐยิ่งขึ้นควบคู่กันไปด้วย

(4) การดำเนินนโยบายปฏิรูปเชิงบูรณาการของพรรคเรานั้น สามารถช่วยยกระดับจิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยผ่านการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่มุ่งพัฒนาปรับปรุงระบบต่างๆ ในสังคมให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผ่านการดำเนินนโยบายที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมของชุมชน โดยผ่านการรณรงค์ให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน

และโดยผ่านการส่งเสริมการปฏิวัติการเรียนรู้ของผู้คน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการผลักดันจากมิติต่างๆ ทั้ง 4 มิตินั่นเอง อันจะมีผลให้ คนเราสามารถพัฒนาจิตไปถึงระดับเฉลี่ยของจิตของชนชั้นกลางไทยที่ได้ไปถึงแล้วโดยง่าย โดยที่ประชาชนในระดับรากหญ้าเหล่านั้น ยังไม่จำเป็นต้อง ฝึกจิต โดยตรงแต่อย่างใดเลย เพราะ ระดับจิตเฉลี่ยของชนชั้นกลาง คือระดับจิตสำนึกที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานได้ผล เป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่ประชาชนระดับรากหญ้าจะเริ่ม “รู้ทัน” นักการเมือง และไม่ตกเป็นเครื่องมือของพวกนักการเมืองอีกต่อไป

(5) แต่ถ้าหากปัจเจกผู้ใดต้องการที่จะยกระดับ หรือพัฒนาจิตของตนให้รุดหน้าสูงกว่า ระดับเฉลี่ยของจิตสำนึกของสังคม โดยทั่วไป (จิตสำนึกที่เป็น โลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม อันเป็นระดับจิตเฉลี่ยของชนชั้นกลางไทย) คนผู้นั้นก็ต้องเริ่มฝึกฝนจิต เจริญสมาธิภาวนา รวมทั้งเจริญสติ เจริญวิปัสสนาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยจะต้อง ฝึกจิตแบบบูรณาการ อย่างคำนึงถึงมิติทั้ง 4 แห่งการพัฒนาอย่างมีสมดุลด้วย

(6) นั่นคือ โมเดลจตุรภาคหรือโมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการของพรรคเรา ได้นำเสนอว่า การพัฒนาอย่างบูรณาการที่แท้จริง และอย่างยั่งยืนนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทั้ง 4 มิติหรือ 4 ด้าน ได้รับการพัฒนาอย่างมีสมดุลควบคู่กันไปอย่างพร้อมเพรียงกันเท่านั้น (tetra-evolve) นโยบายใดก็ตาม ที่เน้นการพัฒนาแค่ด้านใดด้านหนึ่ง หรือมิติใดมิติหนึ่งแต่เพียงด้านเดียว มิติเดียวย่อมนำไปสู่การเกิดความขัดแย้งที่ไม่สมดุลที่อาจนำไปสู่วิกฤตได้เสมอ

(7) อย่างเช่นในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนมีความโน้มเอียงที่จะให้ความสำคัญกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เชิงประจักษ์นิยมจนเกินพอดี ทั้งๆ ที่ความจริงเชิงประจักษ์นิยม เป็นแค่ความจริงของมิติปัจเจก-ด้านนอก และมิติรวมหมู่-ด้านนอกของจักรวาลเท่านั้น ยังไม่ใช่ความจริงของจักรวาลทั้งหมด ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความจริงเชิงสังคมศาสตร์ เชิงมานุษยวิทยาซึ่งเป็นความจริงของมิติรวมหมู่-ด้านใน และความจริงทางจิต หรือธรรมะอันเป็นความจริงของมิติปัจเจก-ด้านในอีกด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า หลักการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแบบประจักษ์นิยม อย่างดีที่สุดก็บอกความจริงได้แค่ครึ่งเดียวของความจริงของจักรวาลเท่านั้น จึงยังไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์ชี้ขาดได้ทุกเรื่องเสมอไป เหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดกัน

(8) อวิชชาของคนสมัยนี้ที่ทั้งมีความรู้ ทั้งเก่ง และฉลาด จึงอยู่ที่ การหลงไปติดกับดักทางความคิดที่เชื่อว่า วิทยาศาสตร์คือความจริงอย่างเดียวเท่านั้น อวิชชาที่หลงผิดเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาที่ไปลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ในมิติด้านอื่นๆ หรือละเลยไม่เห็นความสำคัญ หรือไม่เห็นความหมายในเรื่องของจิตใจ คุณธรรม จิตวิญญาณ วัฒนธรรม จนทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงปะทะปะทุออกมาอย่างรวดเร็ว และรุนแรงไปทั่วโลก ดังที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน

(9) นโยบายการพัฒนาเชิงบูรณาการ ของพรรคเราเมื่อได้เข้ามาบริหารประเทศ จึงต้องมี วิชันของสังคมความรู้ เพื่อที่จะสถาปนาสังคมความรู้ หรือสังคมแห่งปัญญาที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้น และหยั่งรากลึกในประเทศนี้ให้จงได้ โดยที่นโยบายเหล่านี้ต้องมุ่งไปที่ “การปฏิวัติการเรียนรู้” (learning revolution) ให้เกิดขึ้นในระดับปัจเจกเสียก่อน เพื่อก่อให้เกิดการยกระดับจิตสำนึก (transformation of consciousness) ขึ้นในปัจเจกบุคคลผู้นั้นอันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเชิงลึก (deep structure) ที่มั่นคง ถาวร และยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ นโยบายการพัฒนาเชิงบูรณาการ ต่างๆ ของพวกเรา เมื่อได้เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน นโยบายสาธารณสุข นโยบายการศึกษา นโยบายวัฒนธรรม นโยบายเทคโนโลยี ฯลฯ จึงต้องมุ่งไปในทิศทางและวิชันเดียวกัน คือมุ่งไปที่การสถาปนาสังคมแห่งความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของปัจเจก ซึ่งย่อมส่งผลไปสู่การยกระดับจิตสำนึกทั้งของปัจเจก และของรวมหมู่ในที่สุด ถ้าหากเข้ากระทำอย่างบูรณาการ ด้วยนโยบายและปฏิบัติการต่างๆ ในทุกมิติของกาย ใจ และจิตวิญญาณ รวมทั้งในทุกปริมณฑลของภาคสังคม ภาควัฒนธรรม ภาคธรรมชาติ และภาคตัวตน (self)

(10) ด้วยเหตุนี้ แนวทางทางการเมืองเชิงบูรณาการของพรรคเรา จึงเป็นแนวทางที่กำหนดออกมาจากความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องระดับจิต และประเภทต่างๆ ของโลกทัศน์ของผู้คนอย่างลึกซึ้ง ว่า ทำไมผู้คนจึงคิดต่างกัน และขัดแย้งกัน แล้วจะสามารถเยียวยาความแตกแยกนี้ได้อย่างไร ด้วยวิธีการอะไร

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การที่พรรคของเราจะประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ และชี้นำประชาชนทั้งประเทศอย่างมีประสิทธิผลได้ ผู้คนในพรรคของพวกเราจะต้องมีความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมี โครงสร้างวิวัฒนาการทางจิต เป็น โครงสร้างเชิงลึก ที่เป็นศักยภาพแฝงอยู่ในตัวทุกคน โดยที่มนุษย์ทุกคนจะมีพัฒนาการผ่านระดับขั้นตอนของจิตไต่ขึ้นไปเป็นขั้นๆ ไปราวกับการขึ้นบันไดไปตามโครงสร้างวิวัฒนาการของจิตนี้เสมอ โดยไม่มีข้อยกเว้น

(11) ความแตกต่างที่บังเกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาของปัจเจกคือ ความแตกต่างในระดับความเร็ว ในการผ่านพ้นแต่ละขั้นตอนของโครงสร้างของจิตที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน กับ ความแตกต่างในระดับความสูง (หรือความลึกซึ้งลึกล้ำ) ของจิต ที่แต่ละคนสามารถได้ขึ้นไปได้ในชีวิตนี้ไม่เท่ากันเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของภูมิปัญญาแบบบูรณาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา คือ การใช้โครงสร้างเชิงลึกอย่างโครงสร้างแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ (the basic structure of consciousness) มาเป็นแกนหลักของโมเดลการพัฒนาคน และพัฒนาสังคมอย่างบูรณาการ โดยสามารถเชื่อมโยงกับการอธิบายวิวัฒนาการของจักรวาลหลากมิติได้อย่างกลมกลืน นั่นเอง




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้