32. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 32 โพธิญาณ 5/12/2549

32. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 32 โพธิญาณ 5/12/2549

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 32)


32. โพธิญาณ

"การเดินทางแสวงหา สัมมาสัมโพธิญาณ ที่สว่างไสวบริสุทธิ์ของพระโพธิสัตว์ กำลังจะยุติลงที่ ปลายจมูก ของพระองค์เอง"

จาก "พุทธวิถี" ของพระมหาจรรยา สุทธิญาโณ

กว่าที่เจ้าชายสิทธัตถะพระโพธิสัตว์จะได้คิดว่า เส้นทางแห่งการบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายตนเองที่พระองค์ได้เดินมาจนสุดสาย มันเป็นทางตัน ไม่สามารถนำไปสู่การตรัสรู้ได้ ร่างกายของพระองค์ก็มีลักษณะเหมือนโครงกระดูกที่หุ้มไว้ด้วยหนัง มีลมหายใจที่รวยรินจนแทบมองไม่ออกว่ายังมีชีวิตอยู่ หรือมรณภาพไปแล้ว พระองค์ถูกทอดทิ้งไว้เพียงลำพัง กลุ่มปัญจวัคคีย์ที่ติดตามพระองค์มานานก็ทอดทิ้งพระองค์ไปแล้ว ด้วยเข้าใจว่า พระองค์เลิกล้มความเพียรเพื่อการบรรลุธรรมไปเสียแล้ว

พระโพธิสัตว์อาจเสียชีวิตไปจริงๆ ก็ได้ ถ้าในตอนนั้น ไม่มีเด็กเลี้ยงแพะคนหนึ่งต้อนแพะผ่านมาทางนั้นพอดี เด็กชายเห็นร่างของพระโพธิสัตว์นอนแน่นิ่งไม่ไหวติง จึงเดินเข้ามาดูใกล้ๆ เอามือสัมผัสจมูกอย่างแผ่วเบา เมื่อพบว่ายังมีลมหายใจอยู่ เด็กชายจึงรีบไปเอาภาชนะมารีดนมแพะที่กำลังเลี้ยงลูกอ่อนให้พระโพธิสัตว์ดื่ม จนพอมีกำลังลุกขึ้นมาได้เอง

พระโพธิสัตว์หยุดการทรมานร่างกาย กลับมาเสวยพระกระยาหาร และนมแพะที่เด็กเลี้ยงแพะนำมาถวายให้ในแต่ละวัน สุขภาพของพระโพธิสัตว์ก็ค่อยๆ ฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติแข็งแรงตามเดิม บัดนี้ร่างกายและจิตใจของพระโพธิสัตว์กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์อย่างสมดุลจนถึงขีดสุด

ครั้นถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 โดยการนับทางจันทรคติ เวลาสายๆ พระโพธิสัตว์ได้ประทับนั่งใต้ต้นไทรใหญ่ใบหนา นางสุชาดา ธิดาแห่งนายบ้านเสนานิคมที่อยู่ใกล้ๆ ได้นำข้าวมธุปายาสมาถวาย พระโพธิสัตว์ทรงรับแล้วนำไปเสวยที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา

พอตะวันบ่ายคล้อย พระโพธิสัตว์จึงเสด็จมายังโคนต้นศรีมหาโพธิ์ที่มีใบดกหนาแผ่ร่มเงาเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังจะเสด็จขึ้นประทับนั่ง ณ โคนศรีมหาโพธิ์ คนหาบหญ้าคนหนึ่งได้นำหญ้าคาแปดกำมาถวายเพื่อให้พระโพธิสัตว์ได้ปูลาดรองนั่งบำเพ็ญความเพียร

เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์แล้ว ทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ว่า การประทับนั่งครั้งนี้จะเป็นการประทับนั่งครั้งสุดท้าย เพราะพระองค์ได้ตั้งสัจจะไว้ว่า จะทุ่มเทพลังทั้งหมดของพระองค์อย่างไม่ย่อท้อ แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งหายไปเหลือเพียงแต่หนังหุ้มกระดูก หากพระองค์ยังมิได้ตรัสรู้ธรรมใดๆ ก็จะไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์อีกเป็นอันขาด

พระโพธิสัตว์เริ่มต้นภาวนา ทำสมาธิเข้าสู่ ฌาน ตามลำดับ...

ทรงบรรลุ ปฐมฌาน มีวิตก ความตรึก วิจารความตรอง ปีติความอิ่มใจ และสุขอันเกิดจากความสงบจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย

ทรงบรรลุ ทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจ ณ ภายในผุดขึ้น วิตก วิจาร สงบไป เหลือแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ

ทรงบรรลุ ตติยฌาน มีอุเบกขา คือ ความแน่วแน่มั่นคง และสติรู้สึกตัวทั่วพร้อมอันเป็นเหตุให้เกิดความสุข

ทรงบรรลุ จตุตฌาน ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ เพราะละสุข ละทุกข์ มีแต่อุเบกขา และสติอันบริสุทธิ์พร้อมบริบูรณ์

ความสุขอันดื่มด่ำจากฌานเหล่านี้ ไม่สามารถทำให้พระโพธิสัตว์หวั่นไหวลุ่มหลงยึดติดได้เลย เมื่อพระโพธิสัตว์บรรลุถึงฌานที่สี่แล้ว สมาธิของพระองค์ก็เข้าสู่สภาวะที่สมบูรณ์เต็มที่ พร้อมบริบูรณ์ที่จะรองรับการตรัสรู้

การตรัสรู้อันเป็นโพธิญาณของพระองค์เป็น ปรากฏการณ์แห่ง "การผุดบังเกิด" ของจิต สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากฌานที่สี่ในคืนแห่งการตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์คืนนั้น มิใช่เป็นฌานที่ห้า หก เจ็ด แปด และหยุดที่ความสงบดื่มด่ำอย่างที่พระองค์เคยได้ทำมา เป็นมาอย่างชำนาญแล้ว

เพราะในคืนนั้น พอพระองค์ผ่านฌานที่สี่ก็พบ "ปรากฏการณ์ใหม่" ที่พระองค์ทรงตรัสเรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติที่เคยอยู่อาศัยมาก่อนเป็นอันมาก พอพระองค์ผ่านจุดนี้ไปแล้ว จึงทรงมั่นใจว่าพระองค์กำลังเดินเข้าสู่เส้นทางแห่งการตรัสรู้แน่นอนแล้ว วิชชา เกิดขึ้นแล้ว พระองค์กำจัดอวิชชา กำจัดความมืดได้แล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว

แม้พระโพธิสัตว์ได้สัมผัสถึงแสงสว่างแห่งการตรัสรู้ที่ส่องออกมาอย่างสว่างไสว ก็ไม่สามารถทำให้พระองค์หวั่นไหวเพราะความดีใจที่ได้พบสิ่งใหม่ๆ พระองค์ยังคงสงบมั่นคงเป็นปกติ นี่คือสมาธิที่แท้จริงที่มีปัญญาที่เป็นตัวรู้นำหน้า และมีสติตามติดไปทุกขณะ

เมื่อพระโพธิสัตว์ใช้ฐานจิตที่มั่นคงและรู้พร้อมพิจารณาต่อไป ก็พบ จุตูปปาตญาณ รู้แจ้งแทงตลอด ภูมิหลังแห่งชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์อย่างละเอียด ทรงรู้ถึงกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาลอย่างแจ่มแจ้ง

แม้กระนั้น พระโพธิสัตว์ก็ยังทรงทำความเพียรทางจิตต่อไปอีก เพื่อมุ่งสู่ความสิ้นไปของกิเลสขั้นละเอียดสุดที่สะสมอยู่ในจิตใจมนุษย์ที่ยากแก่การรู้เห็นและขจัดออกไปได้ ในที่สุดพระองค์ก็เข้าถึง อาสวักขยญาณ ซึ่งเป็นความรู้สูงสุดแห่งมนุษย์เพื่อการพ้นทุกข์ คือพระองค์ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี่คือ ทุกข์ นี่คือ สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือ นิโรธ ความดับไปแห่งทุกข์ และนี่คือ มรรค ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับสิ้นไปแห่งทุกข์ ทรงรู้ชัดอีกว่า นี่คืออาสวะ นี่คือ อาสวะสมุทัย นี่คือ อาสวะนิโรธ และนี่คือ อาสวะมรรค เมื่อพระองค์รู้เห็นอย่างนี้แล้ว จิตของพระองค์ก็หลุดพ้นเด็ดขาดจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ

เมื่อจิตของพระองค์พ้นแล้ว มีญาณรู้ว่าพ้นแล้ว ทรงรู้ต่อไปว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์คือ การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นได้ทำอย่างสมบูรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ไม่ต้องแสวงหาทางตรัสรู้ต่อไปอีกแล้ว เพราะได้ถึงแล้วซึ่งจุดหมายปลายทางแห่งการแสวงหาอันยาวนาน

การตรัสรู้โพธิญาณที่ทำให้พระโพธิสัตว์กลายมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ คือ การค้นพบเรื่องทุกข์ และการดับทุกข์อย่างแจ่มแจ้งสิ้นเชิงครบถ้วนทุกกระบวนการ จนอยู่เหนือความเกิดทุกข์ และความดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

* * *

26 ตุลาคม พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) ณ ใต้ร่มต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา
อินทปัญโญกำลังนั่งเจริญสมาธิภาวนาใกล้ๆ โคนต้นศรีมหาโพธิ์ เพื่อรำลึกและทบทวนว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร? ภายใต้จิตอันสงบนิ่ง มั่นคง ตั้งมั่น บริสุทธิ์ และกระจ่างแจ้ง ความรู้ต่างๆ ได้ค่อยๆ ผุดบังเกิดขึ้นมาจากจิตของอินทปัญโญ เป็นคำตรัสของพระพุทธองค์เองว่า

"ศิษย์รัก!" เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ยังไม่ได้ตรัสรู้ เราเคยเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นว่า สัตว์โลกทั้งหลายล้วนเกิดแก่เจ็บตาย แล้วก็วนเวียนมาเกิดแก่เจ็บตายอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง สัตว์โลกทั้งหลาย ต่างก็ ไม่รู้ ในหนทางที่จะหลุดพ้นออกจากทุกข์ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้ จึงยังไม่อาจหลุดพ้นกันได้..."

"ศิษย์รัก!" ในคืนที่เราตรัสรู้ ความรู้แจ้งอย่างยิ่งด้วยปัญญา เพราะการทำในใจให้แยบคาย ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า...

เพราะ ชาติ นี่เองมีอยู่ ชรามรณะ จึงได้มี
ชรามรณะ มีเพราะ ชาติ เป็นปัจจัย
เพราะ ภพ นี่เองมีอยู่ ชาติ จึงได้มี
ชาติ มีเพราะ ภพ เป็นปัจจัย
เพราะ อุปทาน นี่เองมีอยู่ ภพ จึงได้มี
ภพ มีเพราะ อุปทาน เป็นปัจจัย
เพราะ ตัณหา นี่เองมีอยู่ อุปทาน จึงได้มี
อุปทาน มีเพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย
เพราะ เวทนา นี่เองมีอยู่ ตัณหา จึงได้มี
ตัณหา มีเพราะ เวทนา เป็นปัจจัย
เพราะ ผัสสะ นี่เองมีอยู่ เวทนา จึงได้มี
เวทนา มีเพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย
เพราะ สฬายตนะ นี่เองมีอยู่ ผัสสะ จึงได้มี
ผัสสะ มีเพราะ สฬายตนะ เป็นปัจจัย
เพราะ นามรูป นี่เองมีอยู่ สฬายตนะ จึงได้มี
สฬายตนะ มีเพราะ นามรูป เป็นปัจจัย
เพราะ วิญญาณ นี่เองมีอยู่ นามรูป จึงได้มี
นามรูป มีเพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย
เพราะ สังขาร นี่เองมีอยู่ วิญญาณ จึงได้มี
วิญญาณ มีเพราะ สังขาร เป็นปัจจัย
เพราะว่า อวิชชา นี่เองมีอยู่ สังขาร จึงได้มี
สังขาร มีเพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย ดังนี้..."

"ศิษย์รัก! ดวงตา ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า นี่คือ ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ นี่คือ ห่วงลูกโซ่ของความทุกข์ ที่เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ความทุกข์มันเกิดขึ้นโดยอาการ 11 อย่าง 11 ตอนอย่างนี้ เราเป็นบุคคลแรกในโลกที่ค้นพบเรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วจึงตรัสรู้ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีใครค้นพบเรื่องนี้มาก่อนเลย..."

"ศิษย์รัก! เมื่ออายตนะพบกันแล้ว มีอวิชชาเป็นเจ้าเรือนอยู่ คนจะไม่มีสติ เขาจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ ขึ้นมาทันที จงอย่าเข้าใจว่า วิญญาณเป็นตัวตนถาวรอะไร มันเพิ่งมีเมื่ออายตนะกระทบกัน วิญญาณเกิดขึ้นก็สร้างสังขารหรืออำนาจปรุงแต่งนามรูปใหม่ขึ้นมาทันที นามรูปถูกปรุงแต่งเป็นนามรูปสำหรับที่จะมีทุกข์ แล้วก็เกิดปรุงอายตนะชนิดที่จะช่วยให้มีทุกข์ เกิดผัสสะชนิดที่จะให้มีทุกข์ เกิดเวทนาชนิดที่จะให้มีทุกข์ เป็นลำดับไป จนเกิดตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ เป็นอัตตาตัวตนที่มีความทุกข์เต็มที่..."

"ศิษย์รัก! จาก อาสวักขยญาณ ที่เราได้ตรัสรู้แล้ว เราได้ค้นพบ หลักปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ อันเป็น ปฏิจจสมุปบาทที่ซ้อนปฏิจจสมุปบาท อีกทีหนึ่งว่า...

การสิ้นอาสวะนั้น จะต้องอาศัยสิ่งที่เป็นปัจจัยลงมาตามลำดับเช่นกัน การจะสิ้นอาสวะหรือการจะดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้นั้น ก่อนอื่นต้องตั้งต้นที่ ศรัทธา ก่อน แต่ ศรัทธาเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทุกข์ เมื่อเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ความทุกข์นั้นจะกลายเป็นที่ตั้งของศรัทธา..."

"ศิษย์รัก! พอมี ศรัทธา แล้วมีความเจริญในธรรมก็จะมี ปราโมทย์

พอมี ปราโมทย์ แล้วมีความเจริญในธรรม ก็จะมี ปีติ
พอมี bิ แล้วมีความเจริญในธรรม ก็จะมี ปัสสัทธิ
พอมี ปัสสัทธิ แล้วมีความเจริญในธรรม ก็จะมี สุข
พอมี สุข แล้วมีความเจริญในธรรม ก็จะมี สมาธิ
พอมี สมาธิ แล้วมีความเจริญในธรรม ก็จะมี ยถาภูตญาณทัสสนะ คือ เห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง
พอมี ยถาภูตญาณทัสสนะ แล้วมีความเจริญในธรรม ก็จะมี นิพพิทา
พอมี นิพพิทา แล้วมีความเจริญในธรรม ก็จะมี วิราคะ
พอมี วิราคะ แล้วมีความเจริญในธรรม ก็จะมี วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น
พอมี วิมุตติ แล้วมีความเจริญในธรรม ก็จะมี ความสิ้นไปแห่งอาสวะ แล้วเข้าถึง นิพพาน"

อินทปัญโญออกจากสมาธิด้วยความตื้นตันในพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์

อินทปัญโญบอกกับตัวเองว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบในการตรัสรู้ของพระองค์ก็คือ การค้นพบความจริงของกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือ อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท โดยที่ พระนิพพาน เป็นธรรมอันเป็นที่สิ้นเหตุปัจจัยที่พ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง

นี่คือ ความจริงที่มีอยู่ เป็นอยู่ เป็นของธรรมดา มันมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดกาลอยู่แล้ว ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ ไม่ว่าใครจะเห็นหรือไม่เห็น ความจริงมันก็มีอยู่ของมันอยู่อย่างนั้น แต่เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่รู้ ความจริงที่เป็นธรรมดานี่แหละ พวกเขาจึงดำเนินชีวิตไม่ถูกต้อง แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาในชีวิตของตนเอง ปัญหาในสังคม และปัญหาต่อโลกใบนี้ทุกอย่างทุกประการ

อินทปัญโญรำพึงกับตัวเองต่อไปอีกว่า แต่ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ได้รู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดานี้เมื่อใด เมื่อนั้นพวกเขาก็จะปฏิบัติถูกต้องต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตก็ย่อมดีงามประเสริฐ มีความสุขได้เอง ปัญหาของมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อสืบสาวลึกลงไปจนถึงที่สุดแล้ว ก็อยู่ที่การไม่รู้ ไม่เข้าใจความจริงเท่านั้นเอง

การตรัสรู้ หรือ การรู้แจ้ง ในแง่หนึ่งก็คือ การเข้าถึงตัวธรรมดา หรือ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดานี้ แค่นั้นเอง








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้