48. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 48 อตัมมยตา 28/3/2550

48. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 48 อตัมมยตา  28/3/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 48)


48. อตัมมยตา

"อตัมมยตา" (ความที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้นอีกต่อไป) เป็น หัวข้อธรรมสุดท้าย ของอินทปัญโญที่เทศนาในปี 2531 (ค.ศ. 1988) ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุถึง 82 ปีแล้ว

จากประสบการณ์ในการพัฒนาจิตมาตลอดชีวิตของตัวอินทปัญโญเอง เขาบอกว่า การมีดวงตาเห็นธรรม คือ การเห็นความจริงทั้งหลายตามที่เป็นจริง โดยเริ่มจาก

(1) การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความเป็นของไม่เที่ยง เห็นความไม่ได้อย่างใจ และเห็นความที่มันไม่มีตัวตน

(2) การเห็นธัมมัฏฐิตตา เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตั้งอยู่ตามกฎของธรรมชาติ และเป็นธรรมดา

(3) การเห็นธัมมนิยามตา เห็นความที่มันมีกฎธรรมชาติบังคับอยู่

(4) การเห็นอิทัปปัจจยตา เห็นความมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัยสิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น

(5) การเห็นสุญญตา เห็นความว่างจากตัวตนในสิ่งทั้งปวง

(6) การเห็นตถตา เห็นความเป็นเช่นนั้นเองในสิ่งทั้งปวง

อินทปัญโญบอกว่า ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมคนใดที่ได้ฝึกฝนปฏิบัติธรรมตามวิถีของพุทธธรรมจนได้ "เห็น" ความจริงทั้งหลายตามที่เป็นจริง อย่างที่กล่าวมาข้างต้น อย่างรู้สึกเช่นนั้นได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ความคิดความจำได้ที่อ่านมาหรือฟังมาจากคนอื่น แต่เป็นผลของความพากเพียรในการอบรมพัฒนาจิตของตนมาอย่างยาวนาน ในที่สุด บุคคลผู้นั้น ซึ่งก็คือตัวอินทปัญโญเองนั่นแหละ จะเกิดอาการที่เรียกว่า "อตัมมยตา" หรือ ความที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัยทั้งหลายที่เคยปรุงแต่งอีกต่อไป

อินทปัญโญได้อธิบายความหมายของ "อตัมมยตา" เป็นภาษาชาวบ้าน เพื่อให้ฟังง่ายขึ้นเข้าใจง่ายขึ้นว่า มันตรงกับความรู้สึกที่แท้จริง ที่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ว่า "กูไม่เอากับมึงอีกต่อไป" มันคืออาการของการสลัดคืน การไม่ยึดติด การไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ในความหมายที่สูงสุดอย่างไม่มีอะไรยิ่งกว่าอีกแล้ว

อินทปัญโญบอกว่า อตัมมยตา เป็น หัวใจของพุทธศาสนาใน ฝ่าย ธัมมัฏฐิติญาณ คือญาณที่แสดงความจริงของสังขารทั้งหลายว่าเป็นอย่างไร ถ้าเห็นจริงถึงที่สุดในเรื่องนี้แล้ว มันจะปล่อยวางเหมือนกับการขึ้นไปสู่ นิพพานญาณ

ญาณ ทั้งหลายที่มีอยู่มากมายเป็นร้อยเป็นพันชื่อในพุทธศาสนานั้น จริงๆ แล้วมันมีอยู่ 2 พวกเท่านั้น พวกหนึ่งเป็น ธัมมัฏฐิติญาณ ที่บอกให้รู้ความจริงของสังขารทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นอย่างไร ครั้นรู้แล้วมันก็เกิด นิพพานญาณ คือ ความปล่อยวาง หลุดพ้น เป็นสุขสงบเย็น

ธัมมัฏฐิติญาณ นั้นได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถตา และอตัมมยตา

นิพพานญาณ นั้นได้แก่ นิพพิทา (จิตหน่าย) วิราคะ (จิตคลายออก) วิมุตติ (จิตหลุด) วิสุทธิ (ความบริสุทธิ์) สันติและนิพพาน

สูงสุดของธัมมัฏฐิติญาณ ที่จะหลุดจะหย่าขาดจากกัน จากสังขารทั้งหลายทั้งปวงคือ อตัมมยตา...ความที่ไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยนั้นอีกต่อไป หรือความที่ไม่ต้องผูกพันหลงใหลอยู่กับเหตุปัจจัยนั้นอีกต่อไป

อินทปัญโญบอกว่า อตัมมยตานี้ คือดาบเล่มสุดท้ายของพระธรรม แล้ว และจะไม่มีเรื่องอะไรที่จะพูดกันต่อไปอีกแล้ว ที่สูงกว่าเรื่องนี้ในด้านของธัมมัฏฐิติญาณนี้มันไม่มีแล้ว มันสูงสุด แล้วแค่อตัมมยตานี้เท่านั้น

ตอนที่อินทปัญโญถ่ายทอดเรื่องอตัมมยตานี้ออกมาเป็นครั้งแรกในปี 2531 (ค.ศ. 1988) ลูกศิษย์บางคนของเขาตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมเพิ่งมาพูดเรื่องอตัมมยตาเดี๋ยวนี้ ทำไมไม่พูดก่อนหน้านี้ ทำไมหวงไว้ไม่พูดตั้งหลายสิบปี หวงไว้หรืออย่างไร

อินทปัญโญตอบข้อสงสัยนี้ด้วยความจริงใจว่า เขาไม่ได้หวง ไม่ได้กักไว้เหมือนกักสินค้า แต่มันเป็นเพราะ เขารออยู่ก่อน รออยู่ด้วยความจำเป็นในช่วงสามสิบปีมานี้ ให้พวกลูกศิษย์ของเขาโตขึ้นมาพอสมควรที่จะรู้เรื่องที่ยากๆ อย่างอตัมมยตานี้ได้

แต่มาในตอนนี้ เขารอต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะทั้งตัวเขาและคนฟังต่างก็ชราภาพกันมากแล้ว จะตายกันอยู่แล้ว เขาสารภาพออกมาตรงเลยว่า การบรรยายธรรมข้อสุดท้ายข้อนี้ของเขา เรื่องอตัมมยตานี้มันเหมือนกับการเตรียมตัวตายของตัวเขา เขากลัวว่าจะไม่ได้พูด ก็เลยเอามาพูดเสียที

ทั้งๆ ที่ อตัมมยตานี้เป็นเรื่องที่ลึกที่สุด และยากที่สุดในพระไตรปิฎก รวมทั้งยังเป็นผลสุดท้ายที่จะได้รับจากการปฏิบัติธรรมด้วย มันเปรียบเสมือนดาบเล่มสุดท้ายที่จะตัดสิ่งที่จะต้องตัด ถ้าจะเปรียบด้วยผลการปฏิบัติมันก็เหมือนเพชรน้ำเอกที่จะให้ความพอใจสูงสุด เพราะผู้ใดก็ตาม ที่มีอตัมมยตาก็เป็นอันแน่นอนว่า ผู้นั้นจะเป็นพระอรหันต์ และทำให้เกิดพระนิพพาน

อินทปัญโญบอกกับพวกลูกศิษย์ของเขาในตอนนั้นว่า

"ครั้นมาถึงจุดนี้ คือถึงอตัมมยตานี้ จิตมันจะไม่หวังที่จะผูกพัน ไม่หวังที่จะยึดมั่นอีกต่อไปแล้ว แม้ว่าร่างกายมันยังจะต้องทำงานอยู่ ร่างกายยังต้องกินต้องใช้ต้องอาศัยอยู่ แต่จิตใจก็ไม่ได้ผูกพันเลย จิตใจมันหลุดพ้นไปแล้ว"

* * *
...ปี 2534 (ค.ศ. 1991)

ปีนั้นอินทปัญโญป่วยหนัก แต่พระอุปัฏฐากอย่างพระสิงห์ทอง ซึ่งอยู่รับใช้ดูแลอินทปัญโญมาเป็นเวลานานถึง 16 ปีเต็ม กลับเกิดความรู้สึกอยากสึกขึ้นมาโดยไม่สามารถหาเหตุผลที่ชัดเจนได้ พระสิงห์ทองรู้สึกทุรนทุรายมาก หาความสุขสงบในจิตไม่ได้เลย จิตของเขาไม่นิ่ง รุ่มร้อน กระสับกระส่าย รู้อยู่แต่ในอกว่าตัวเขาอยากสึก ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้ไปแอบรักผู้หญิงคนไหนเลย

ช่วงนั้น พระสิงห์ทองเดินทางกลับไปจังหวัดขอนแก่น บ้านเกิดของเขาบ่อยครั้งมาก เขาสารภาพกับมารดาของเขาตรงๆ ว่า เขารู้สึกไม่ไหวแล้ว และไม่อยากนุ่งจีวรแล้ว มารดาของเขาเตือนสติเขาว่า ถ้าจะสึกเขาต้องนุ่งจีวรไปอย่างนี้ให้ท่านอาจารย์เห็นเสียก่อน

สิงห์ทองจึงเดินทางกลับมาสวนโมกข์อีกครั้งในตอนรุ่งเช้า เขานุ่งจีวรพระแต่ปล่อยผมยาวหัวฟู เดินเข้ามาในวัด ตอนนั้น อินทปัญโญยังนอนป่วยพักรักษาตัวอยู่ในห้อง เขาจึงไปหาพระนุ้ย สัมปันโน พระที่เป็นเพื่อนและบอกว่า

"ท่านนุ้ยครับ ผมไม่อยู่กับท่านหรอก ตอนนี้ผมหมดกำลังแล้วครับ ผมอยู่ต่อไม่ได้จริงๆ ครับ ผมขอลาครับ ขอลาจากหมู่คณะไปจริงๆ ครับ ขอลาทั้งใจ ทั้งกายเลยครับ"

พระนุ้ยถามเขาว่า ลาไปไหน สิงห์ทองก็ตอบตามตรงว่า

"ลากลับบ้าน กลับไปใส่กางเกงครับ"

จากนั้น สิงห์ทองก็ตรงไปกราบอินทปัญโญที่กุฏิ พอเจอหน้าท่าน สิงห์ทองก็ก้มลงกราบท่านพร้อมกับพูดว่า

"ท่านอาจารย์ครับ ผมอยู่ไม่ไหวแล้วครับ ผมมาลาท่านอาจารย์แล้วจะขึ้นรถไฟกลับเลยครับ"

อินทปัญโญ กล่าวว่า

"เดี๋ยว รออยู่กินข้าวก่อนนะ สิงห์ทอง"

ท่านเป็นคนที่เยือกเย็นมาก ท่านพูดกับคนที่กำลังอยู่ในภาวะรุ่มร้อนอย่างสิงห์ทอง เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ระหว่างที่กินข้าวไปแต่ละคำ ความหลังความทรงจำที่สิงห์ทองเคยอยู่คอยรับใช้ท่านอาจารย์ของเขาอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลากว่าสิบหกปี ก็ผุดขึ้นมาเป็นฉากๆ คนเคยอยู่ด้วยกัน เคยนอนห้องเดียวกันตลอด บัดนี้คนหนึ่งจะมาแยกหนีจากกันไปเสียแล้ว

สักพัก ความรู้สึกที่ว่าจะต้องลากลับไปในทันทีเดี๋ยวนั้น ก็ค่อยๆ บรรเทาเบาบางลง กลายเป็นความรู้สึกที่ว่า จะรอไปพบท่านอาจารย์อีกครั้งให้ท่านเรียกเข้าพบ และขอให้ท่านอนุญาตให้เขาลาสึกแทน

สิงห์ทองนั่ง ยืน เดิน วนเวียนอยู่ในวัดตั้งแต่สายจนเย็น รอให้ท่านเรียกให้ไปพบ พอถึงเวลาหนึ่งทุ่ม อินทปัญโญได้สั่งให้พระรูปหนึ่งไปตามสิงห์ทองให้เข้ามาหาท่าน

สิงห์ทองคุกเข่าเดินเข้าไปกราบที่แทบเท้าของอินทปัญโญที่นั่งอยู่บนเก้าอี้หิน ด้วยท่าทางที่อ่อนระโหย เพราะยังไม่หายจากอาการป่วย แต่ถึงแม้จะ ป่วยกาย หนักหนาสาหัสแค่ไหน แต่อินทปัญโญไม่เคย ป่วยใจ เลย ใบหน้าของอินทปัญโญสะท้อนประกายอันสูงส่ง ดวงตาที่ล้ำลึกดั่งห้วงมหรรณพซึ่งทอแววอ่อนล้า เมื่อครู่พลันสลายคลายสิ้น แต่กลับเปล่งประกายคล้ายแสงอาทิตย์ยามเช้าที่แลดูสดใส อบอุ่น ลูบไล้ รอยยับย่นในหัวใจของสิงห์ทองให้ค่อยๆ กลับคืนสู่ความราบเรียบดุจเดิม

อินทปัญโญ เอ่ยคำพูดประโยคหนึ่งออกมา ซึ่งสิงห์ทองจะไม่มีวันลืมเลือนตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิตเขา ท่านกล่าวกับสิงห์ทองว่า

"เธอไม่โหดยิ่งกว่าโหดหรือทอง เธอก็รู้ว่าตอนนี้เราเป็นอย่างไรๆ อยู่"

คำพูดนี้ออกมาจากปากของพระชราที่อายุกว่าแปดสิบปี ที่อุทิศร่างกายนี้รับใช้พุทธศาสนามาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าหกสิบปีอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก จนร่างกายนี้ทรุดโทรมไปมากอย่างน่าใจหายแล้ว

พอได้ฟังคำพูดนี้ สิงห์ทองถึงกับร้องไห้โฮออกมาราวกับเด็กเล็ก น้ำตาไหลทะลักออกมาจากสองเบ้าตาของเขาอย่างไม่ขาดสาย เขาสะอื้นไห้ ในห้วงยามนั้น เขารู้สึกว่า มันหมดเลย พอได้ยินท่านอาจารย์บอกกับเขาว่า "โหดยิ่งกว่าโหด" เขาหมดความรู้สึกที่จะอยากไปทันทีเลย ความรู้สึกที่เคยอยู่ร่วมกันมารักกันมาเหมือนลูกกับพ่อ ถ้าพ่อพูดคำนี้กับลูก ลูกจะทำอย่างไร พอท่านอาจารย์พูดอย่างนั้น สิงห์ทองจึงเข้าไปในห้องตัดสินใจโกนผมบูชาท่าน เสร็จแล้วก็นอนในห้องพักของท่าน กลับมาทำหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐากต่อเดี๋ยวนั้นเลย

แม้จะป่วยหนัก แต่อินทปัญโญก็ได้ใช้ "อตัมมยตา" ซึ่งเป็น ดาบสุดท้ายของพระธรรม สังหารกิเลสในใจของศิษย์รักของเขาทำให้ศิษย์รักของเขาธำรงความเป็นพระสืบต่อมาได้ด้วย มนตรา "อตัมมยตา" หรือ "กูไม่เอากับมึงอีกต่อไป"






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้