พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 38)
38. โลกุตตรจิต
ณ สวนโมกข์ ประเทศไทย...กลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956)
ในสายตาของอินทปัญโญ โลกนี้เป็นโลกส่วนบุคคลโดยแท้ คนเราทุกคนต่างคนต่างก็อยู่ในโลกของตน โดยมีตนเป็นศูนย์กลาง ความเป็นตัวตนบุคคลของแต่ละคน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ถูกเนรมิต ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อแสดงบทบาท เพื่อเสพเสวยทุกขเวทนา สุขเวทนาในโลกสมมตินี้
ขณะนั้น อินทปัญโญ เพิ่งออกจากสมาธิ ฟ้ายังมืดอยู่ เขาเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศอินเดียได้เดือนเศษเท่านั้น อินทปัญโญจุดเทียนขึ้นภายในกุฏิของเขา แท่งเทียน ไส้เทียนกับไม้ขีดไฟ ทำให้เกิดเปลวไฟบนเทียนกลายเป็น "เปลวเทียน" ขึ้นมา
เพียงแวบหนึ่งที่อินทปัญโญมองดู "เปลวเทียน" นี้ ถึงมันจะดูเป็นปรากฏการณ์ที่สุดแสนจะสามัญในชีวิตประจำวันของพระป่าอย่างเขาก็ตาม แต่ตัวเขาก็รู้ดีว่า แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นกระบวนการธรรมชาติที่ละเอียดซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะคนเรามักจะถือเอา "ข่าวสาร" แต่ละหน่วยอย่างแท่งเทียน ไส้เทียนและเปลวไฟที่พวกเขา "สังเกตการณ์" แล้วประมวลออกมาว่า มันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงในกาลอวกาศ โดยมีเนื้อหาสาระจริง โดยที่พวกเขามิได้ล่วงรู้ถึงกลไกอันละเอียดซับซ้อนของจิตเลยว่า
แท่งเทียน ไส้เทียน และเปลวไฟที่พวกเขาแลเห็น และยึดถือเป็นจริงเป็นจังว่ามีตัวตนนั้น แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นแค่บัญญัติธรรมที่อาศัยปรมัตถธรรม คือสีสัน สว่างมืด และอดีตอารมณ์มากมาย มาเป็นหลักให้จิตของพวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นอารมณ์สำหรับคิด นึก รู้ เท่านั้น
คนเราล้วนอยู่ในโลกแห่งสมมติ หรือในโลกแห่งบัญญัติธรรมนี้ โดยที่พวกเขาแต่ละคนก็เป็นสิ่งสมมติหรือบัญญัติธรรมเช่นกัน พวกเขาล้วนดำเนินบทบาทแห่งชีวิตคล้ายคลึงกับตัวละครบนเวที จะต่างกันก็ตรงที่ในละครบนเวทีนั้น ผู้แสดงล้วนรู้ดีว่า เรื่องละครมันเป็นสมมติ ผู้แสดงจะ "อิน" กับบทบาทของตัวละครที่เขาแสดงก็บนเวทีเท่านั้น พอละครเลิกพวกเขาก็กลับไปยึดตัวตนเดิมของเขาตามเดิม
แต่บุคคลในชีวิตจริงกลับไม่ล่วงรู้ความเป็นสมมติบัญญัติของโลกที่พวกเขาหลงอยู่ รวมทั้งพวกเขายังไม่รู้ความเป็นสมมติบัญญัติแห่งความเป็นตัวตนของตนเอง แต่ละคนด้วย...นี่คือสิ่งที่ทำให้อินทปัญโญทั้งสงสาร และสมเพช ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้อย่างเหลือที่จะกล่าว เขารำพึงในใจว่า
"สำหรับบุคคลที่ยังยึดติดกับความมีตัวตนของตนอย่างเหนียวแน่น อย่างดีที่สุดที่เขาจะทำได้ ก็คือ หาความหมายเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ของ ตน ให้เจอ เพื่อที่ ตน จะได้สามารถทนรับสิ่งต่างๆ ที่ประดังเข้ามาในชีวิตได้ แต่แค่นี้ไม่น่าจะพอหรอก"
แม้อินทปัญโญจะเป็นเพียง "พระภิกษุธรรมดาที่ยิ้มได้รูปหนึ่ง" ที่อาจจะมีพลังชีวิต และความคิดที่สร้างสรรค์มากกว่าคนทั่วไป มีแรงบันดาลใจ มีอารมณ์ขัน และความจริงใจให้กับโลกอย่างไม่จำแนกก็ตาม แต่เขาก็มีบุคลิกภาพที่เปล่งรัศมีโดดเด่นอย่างยากที่จะปกปิดได้ นี่เป็น ผลของการเดินอยู่บนวิถีพุทธอย่างพากเพียรของตัวเขาที่มุ่งชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ด้วยการเพิกถอนมายาการ และอุปทานเกี่ยวกับตัวตนของเขาอย่างยาวนานนับสิบๆ ปี
แต่ปุถุชนคนทั่วไปมิใช่เช่นนั้น พวกเขาแค่ยึดถือตาม "สามัญสำนึก" ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอยู่และมีอยู่จริง ตามที่รู้เห็นทางทวาร 5 คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายประสาท โดยที่ไม่เคยได้เฉลียวใจเลยว่า ข้อมูลเริ่มต้นที่พวกเขาได้จากทวาร 5 นั้น ยังมิใช่ข้อมูลเบื้องต้นแท้จริง แต่เป็นผลสรุปจากกระบวนการทำงานตามธรรมชาติของวิถีจิตมามากมายหลายขั้นแล้ว พวกเขาจึงถูกสามัญสำนึกของตนหลอกลวงด้วยจิตที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นโลกแห่งสมมติบัญญัติ สร้างโลกแห่งตัวตนของตนเองขึ้นมา แล้วหลงยึดถือว่า มีแก่นสารสาระจริงจัง โดยยึดเอาตัวตนของตนเป็นศูนย์กลางสำคัญที่จะต้องบำรุงบำเรอรักษา
ปุถุชนคนเหล่านี้ แม้จะเคยได้ยินได้ฟังคำสอนของท่านผู้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา บางคนอาจนำเอาคำสอนนี้มาท่องบ่นสนทนากันจดติดปาก แต่มีจำนวนคนไม่มากหรอกที่สำนึกและตระหนักได้ถึงความหมายที่ลึกซึ้งอย่างที่สุดของคำสอนนี้
เพราะความไม่ล่วงรู้กลไกการปรุงแต่งโดยกระบวนวิถีจิต ที่นำไปสู่การมีโลกส่วนตนที่เป็นเวทีดำเนินชีวิตอันไร้แก่นสารสาระ แต่ตนเองกลับหลงผิดว่าเป็นจริงจัง เสพทุกขเวทนา สุขเวทนาอย่างงมงาย จมปลักอยู่กับความมืดบอดของปัญญา จึงทำให้ชีวิตของคนเหล่านี้วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารที่เป็นทุกข์อย่างไม่รู้จักจบสิ้น
คำสอนเรื่องอนัตตา และสุญญตาของพระพุทธเจ้า จึงเป็นการเปิดเผยความจริงแท้ของโลกและชีวิตที่มิได้มีผู้ใดล่วงรู้มาก่อนในโลกนี้ การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าจึงเป็นแสงสว่างแห่งปัญญาให้กับมนุษยชาติ เพื่อขจัดความมืดบอดแห่งอวิชชาในมวลมนุษย์
เพราะผู้คนส่วนใหญ่ยังมิได้ประจักษ์ในความจริงที่ว่า ประสบการณ์ในชีวิตของปุถุชนทั้งหลายอย่างพวกเขา เป็นเพียงโลกแห่งสมมติบัญญัติที่วิถีจิตเนรมิตขึ้นมา โดยอาศัยรูปนามปรมัตถ์เป็นหลัก แต่ก็ปิดบังลักษณะแท้จริง คือสามัญลักษณะอันได้แก่ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตาของรูปนามเสียสิ้น
โลกที่มีความหลากหลายงดงามวิจิตรพิสดาร มีท้องฟ้า แผ่นดิน ภูเขา แมกไม้ ทะเล บ้านเรือน ยวดยาน สถาบัน สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ชวนให้ลุ่มหลงรื่นรมย์น่าอยู่อาศัยให้หลงติด แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสมมติบัญญัติที่วิถีจิตเนรมิตขึ้นมาทั้งสิ้น
การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพุทธธรรม คือ การเรียนรู้ให้เข้าใจกลไกการปรากฏในโลกและชีวิต ทั้งตามเป็นจริงและในความลวงซึ่งเกิดจากการเนรมิตสร้างสรรค์ของจิต โดยการพัฒนาสติตามหลักมหาสติปัฏฐานให้รู้แจ้ง รู้ชัด และรู้ทันวิถีทางและกลไกของจิตเอง แล้วก็ไม่ถูกพันธนาการโดยความลวงอีกต่อไป
เช้าตรู่แล้ว อินทปัญโญออกไปเดินจงกรมรอบๆ กุฏิของเขาตามปกติ เขาพิจารณาข้อธรรมที่ได้จากการแลเห็นเปลวเทียน เมื่อชั่วยามก่อนต่อว่า
"พุทธธรรมที่แท้จริงก็คือ การพิจารณาจิตในจิตจนรู้แจ้งจนเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในคนเราทุกคนเท่านั้น"
จิตเห็นจิตเดิมแท้ คือมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเดิมแท้ คือ ความดับเย็น หรือนิพพาน แต่จิตจะเห็นจิตเดิมแท้ได้ จิต ต้องรวมกับ กาย อย่างสมบูรณ์แล้วเสียก่อน เพราะกิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต จึงต้องเพ่งมองดูที่จิตตน กิเลสอันไหนเกิดก่อนก็ให้ละอันนั้นก่อน อุปมาดั่งนักรบที่ถือดาบอยู่ในมือท่ามกลางวงล้อมของศัตรู ศัตรูคนไหนบุกเข้ามาก่อน ก็ให้ใช้ดาบสังหารศัตรูคนนั้นทีละคน ทีละดาบ เปี่ยมไปด้วยสติในทุกลีลาการเคลื่อนไหว
การปฏิบัติสมาธิภาวนา จึงต้องไม่ส่งจิตออกนอกกาย ความรู้ที่เรียนกับตำราหรือจากครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็อย่าเอามายุ่ง ผู้นั้นจะต้องตัดอารมณ์ออกให้หมด ให้รู้จากจิตของตนเอง เมื่อจิตของตนสงบ ผู้นั้นก็จะรู้เอง ความรู้อะไรๆ ต้องให้มันออกมาจากจิตของตนเอง ความรู้ที่ออกจากจิตอันสงบนี้เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด
สิ่งที่ชาวโลกเชื่อกันว่า เป็นความสุขที่สุดในชีวิตนั้น เมื่อสำรวจดูจากจิตในจิต แล้วก็จะพบว่า "มันก็แค่นั้นแหละ!" แค่ที่เราเคยรู้เคยพบมาแล้ว โลกนี้ความจริงก็มีอยู่แค่นี้เอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป
ด้วยเหตุนี้ อริยบุคคล จึงสละความสุขแบบนี้เพื่อแสวงสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส อันเป็นความสุขที่ยั่งยืนปลอดภัยอย่างหาที่เปรียบมิได้ สิ่งแวดล้อมใดๆ ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหน มันก็แค่ ตถตา มันก็เป็นเช่นนั้นเอง อริยบุคคล จึงทำตัวไม่ให้เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อมใดๆ เพียงแต่ความเข้าใจกับมันอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญาญาณอันลึกซึ้งในความเป็นธรรมดาของสรรพสิ่ง
อริยบุคคล คือผู้ที่ปฏิบัติภาวนาฝึกฝนตน จนบรรลุถึง โลกุตตรจิต หรือ จิตที่เหนือโลก อันเป็นขั้นที่ จิตแย้มยิ้มเองโดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้มแย้ม กิริยาที่จิตยิ้มแย้มเองนี้ เกิดในจิตของ อริยบุคคล เท่านั้น เพราะพ้นเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งแล้ว จึงเป็นอิสระด้วยตัวมันเอง
พระอรหันต์ คือผู้ซึ่งอกุศลทั้งปวงได้ถูกทำลายสิ้นไปอย่างถอนรากถอนโคนแล้วในชีวิตของท่าน อกุศลเจตสิกทั้ง 14 ดวงได้สูญสิ้นไปแล้ว และไม่อาจเกิดประกอบจิตของท่านได้อีก ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะประสบเหตุการณ์อย่างไรก็ตาม จะไม่มีอกุศลจิต 12 ดวง เกิดขึ้นในวิถีจิตของท่านเลย
เพราะเหตุความชั่วในจิตของบุคคล คือ โลภะโมหะ และโทสะได้สูญสิ้นไปจากชีวิตของ พระอรหันต์ แล้ว ท่านจึงไม่มีความโง่เขลาหลงผิดในเรื่องของโลกและชีวิตอีก จึงเป็นอยู่ด้วยความรู้เท่าทันวิถีทางของปรากฏการณ์ทั้งปวงอย่างที่เป็นจริง ท่านไม่มีความคิดที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ เพื่อตนเอง เพราะหมดความแส่อยาก และหมดความยึดติดในอารมณ์ทั้งหลายโดยสิ้นเชิงแล้ว
หลังจากที่อินทปัญโญกลับมาจากประเทศอินเดีย เขารู้ดีว่า ตัวเขาได้ทำ "ประโยชน์ตน" สำเร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ชีวิตที่เหลือหลังจากนั้นของเขา คือการทุ่มเทให้กับการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยการปลุกเร้าให้ผู้คนตื่นขึ้นมาจากความไม่รู้ ความหลงผิด แล้วหันมารับรู้ความเป็นจริงแบบเดียวกับที่ พระอรหันต์ เห็นเท่านั้น
ขณะนั้น อินทปัญโญมีอายุย่างห้าสิบปีแล้ว