โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 17)
17. จอมคนของหวงอี้ (ต่อ)
อย่างที่ผู้เขียนได้เคยตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่า เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มีบุคลิกที่ใกล้เคียงกับ จอมคน อย่าง ชอนแชอิม ในวรรณกรรมกำลังภายในเรื่อง “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของ หวงอี้ โดยเฉพาะในเรื่องการมุ่งเฝ้าค้นหาสิ่งที่นำมาซึ่งความหมายเชิงลึกให้แก่ชีวิต ซึ่งเราสามารถแลเห็นได้จากงานเขียนแทบทั้งหมดของเขาที่ผลิงอกออกมาจากประสบการณ์ชีวิตจริงของเขา
ในความเข้าใจของผู้เขียน วรรณกรรมของ เสกสรรค์ ส่วนใหญ่ก่อนจะถึง “ผ่านพบไม่ผูกพัน” เป็นงานเขียนที่ผู้เขียนเรียกว่า วรรณกรรมแห่งบาดแผล ในความหมายที่ว่า เสกสรรค์ ได้บันทึกเรื่องราวจากชีวิตของเขาที่เต็มไปด้วยริ้วรอยของบาดแผลข้างในอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความผิดหวังพังพ่ายหลายกรณีที่ตัวเขาเคยเอาชีวิตตนเองเข้าแลก เพื่อมุ่งหมายจะทำให้โลกและสังคมดีขึ้น ...แต่ไม่สำเร็จ ด้วยภาษาที่งดงาม จนกลายมาเป็นต้นแบบแห่งวรรณกรรมชีวิตแนวหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย
“บาดแผลข้างใน” ของ เสกสรรค์ ที่ตัวเขาตีแผ่ออกมาอย่างมีศิลปะ และอย่างงดงาม มันได้ไปสะกิดใจของผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างก็มี “บาดแผลข้างใน” ของตนเหมือนกันไม่มากก็น้อย จนกลายเป็นความรู้สึกร่วม และผูกพันระหว่างคนอ่านกับคนเขียน เพราะ การที่มีผู้ชายคนหนึ่งที่ทั้งเก่ง ทั้งดี ทั้งกล้า และจริงใจ ได้ควักหัวใจที่เต็มไปด้วยบาดแผลของตนออกมาตีแผ่ให้คนแปลกหน้าอ่านนั้น ในด้านหนึ่งมันได้เป็นการเยียวยาหัวใจให้แก่ผู้คนในสังคมเป็นจำนวนมากโดยปริยาย
นี่แหละคือ คุณค่าของวรรณกรรมแห่งบาดแผล ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่จะคงอยู่ตลอดไป โดยไม่เกี่ยวกับยุคสมัย ตราบใดที่คนเรายังคงมี “บาดแผลข้างใน” กันอยู่ ตราบนั้นงานของ เสกสรรค์ จะช่วยเยียวยา พวกเราได้ โดย “เจ็บปวด” ร่วมไปกับ เสกสรรค์ ในทุกๆ อักษรที่ตัวเขาบรรจงถ่ายทอดออกมาอย่างโศกซึ้งกินใจ
“วิหารที่ว่างเปล่า” เป็นงานเขียนที่ เสกสรรค์ เองก็ยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในทิศทางการเขียนของเขา หลังจากนั้นซึ่งได้กลายมาเป็นวรรณกรรมที่ผู้เขียนขอเรียกว่าเป็น วรรณกรรมแห่งการสลายตัวตน ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนในงานเขียน 3 เล่มล่าสุดของเขาซึ่งได้แก่ “ผ่านพบไม่ผูกพัน” “วันที่ถอดหมวก” และ “ผ่านพ้นจึงค้นพบ”
การเปลี่ยนผ่านจาก วรรณกรรมแห่งบาดแผล ไปสู่ วรรณกรรมแห่งการสลายตัวตน ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เกิดขึ้นนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตในเชิงลึกด้านจิตวิญญาณของ เสกสรรค์ ได้อย่างชัดแจ้งที่สุด เพราะ เสกสรรค์ เปลี่ยนไปแล้ว งานเขียนของเขาจึงเปลี่ยนไปด้วย มิหนำซ้ำยังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ถอยห่างออกมาจากหุบเหวแห่งความทุกข์ล้าได้เป็นผลสำเร็จ ชัยชนะแห่งจิตใจ ของ เสกสรรค์ ในครั้งนี้จึงให้ พลัง และ กำลังใจ แก่ผู้ที่กำลังเผชิญมรสุมด้านในตามเงื่อนไขของแต่ละคนให้มีความหวังที่จะแลเห็นแสงสว่างในชีวิตได้ ชัยชนะที่แท้จริง ของ เสกสรรค์ ในครั้งนี้ จึงมิใช่ชัยชนะของปัจเจกอย่างตัวเขาเพียงลำพังเท่านั้น แต่ยังเป็น ชัยชนะร่วม ของ “พวกเรา” ในสังคมนี้อีกด้วย เพราะมันเป็น ชัยชนะแห่งจิตวิญญาณ ของเหล่า จิตสำนึกร่วม ที่ ตื่น ขึ้นมาเห็นธรรมที่มีอยู่ในตนอยู่แล้วเสมอ เพราะ ผองเรา ต่างก็เป็น พี่น้องทางจิตวิญญาณ บนเส้นทางเดียวกันทั้งนั้น ชัยชนะของเสกสรรค์ จึงเป็นชัยชนะของพวกเรา และชัยชนะของพวกเราคนใดคนหนึ่ง ก็ย่อมเป็นชัยชนะของเสกสรรค์ด้วยเช่นกัน
หาก “ผ่านพบไม่ผูกพัน” เป็น การบำเพ็ญภาวนาด้วยงานเขียน ของ เสกสรรค์ งานอย่าง “วันที่ถูกถอดหมวก” ก็คงเป็น บทบันทึกแห่งการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ของตัวเขา และงานล่าสุดอย่าง “ผ่านพ้นจึงค้นพบ” ก็เป็น บทสำรวจตัวเองของเสกสรรค์ โดยผ่านการแกะรอยเส้นทางเดินทางจิตวิญญาณของตัวเขา ในงานเขียนที่ผ่านมาทั้งหมด ตั้งแต่งานชิ้นแรกอย่าง “ฤดูกาล” จนถึงปัจจุบัน งานเขียนทั้งสามชิ้นนี้ จะว่าไปแล้วก็คือ งานที่เขียนถึง กระบวนการสลายตัวตน ของ เสกสรรค์ ในช่วงหลายปีมานี้ โดยมองจากแง่มุมต่างๆ นั่นเอง งานเขียนเหล่านี้ รวมทั้งงานเขียนชิ้นต่อๆ ไป หลังจากนี้ของ เสกสรรค์ มีความสำคัญมาก เพราะมันเป็นตัวเติมเต็มให้ “วรรณกรรมเสกสรรค์” มีความสมบูรณ์
เนื่องเพราะ หากงานของเสกสรรค์มีแต่หรือมีแค่ วรรณกรรมแห่งบาดแผล แม้จะทรงคุณค่า แต่ยังขาดความสมบูรณ์ใน “ตอนจบ” แห่ง ละครชีวิต ของ ตัวเอก ของเรื่อง วรรณกรรมแห่งการสลายตัวตน ของ เสกสรรค์ ในช่วงนี้ และหลังจากนี้เป็นต้นไป จึงเป็นการเติมต่อ และเติมเต็มให้แก่ปลายทางชีวิตของ จอมคน ผู้นี้ให้จบลงอย่างสวยงามและสมบูรณ์ที่สุด ท่ามกลางความโล่งอกและปลื้มปีติของเหล่าผู้อ่านที่เป็นแฟนติดตามงานเขียนของผู้ชายคนนี้มาหลายสิบปีเช่นกัน
สิ่งที่ เสกสรรค์ ได้ค้นพบ และเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ทางจิตวิญญาณเหลือเกินในสายตาของเขา จนเป็นที่มาของ กระบวนการสลายตัวตน ของตัวเขาได้นั้น คือการที่ตัวเขาได้ค้นพบอย่างแจ่มแจ้งด้วยตัวของเขาเองว่า สิ่งที่เรียกกันว่า อัตตา หรือ ตัวตน นั้นคือ มายาภาพที่ใหญ่ที่สุดที่คนเรามีต่อการดำรงอยู่ และนำไปสู่มายาคติต่อสรรพสิ่งที่เหลือ จึงทำให้คนเรามองโลกผิดไปจากความเป็นจริง โดยเริ่มจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตนเอง
ลักษณะที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของ ตัวตน คือการมองตัวเองว่าเป็นองค์อิสระแยกออกจากผู้อื่น สิ่งอื่น กระทั่งโลกทั้งโลก สรรพสิ่งและสรรพชีวิตที่เหลือทั้งปวง ความเข้าใจผิดเบื้องต้นดังกล่าว ทำให้คนเรามองไม่เห็นความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่างๆ ที่นำมาสู่การก่อเกิด และการดำรงอยู่ของชีวิต และยิ่งมองไม่เห็นการเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนของเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว ไม่มีอันใดเที่ยงแท้หรือมีตัวตน
เมื่อคนเรามองตัวเองแบบแยกส่วนแล้ว จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งกับผู้อื่น เกิดความรักความชอบเป็นการส่วนตัว และหลงผิดไป ประกาศต่อโลกว่า ซึ่งที่ตนเองรักตนเองชังนั้นคือเอกลักษณ์เฉพาะตนเองของตัวเอง
เสกสรรค์ ยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่า การอยากทำดีเพื่อเสริมค่าให้ตัวเองก็ยังเป็นอัตตาอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นตัวตนที่สูงส่งก็ตาม ยิ่งอัตตานี้ได้สลายรวมกับหมู่คณะกลายเป็น อัตตารวมหมู่ เหมือนอย่างขบวนการซ้ายไทยในอดีตที่ตัวเขาก็เคยเข้าร่วม มันจะก่อให้เกิดภาพลวงตาว่า ตัวตนของบุคคลไม่มีแล้ว กระทั่งมีการอุทิศตนเพื่อส่วนรวมอย่างเอาเป็นเอาตาย หมู่คณะแบบนี้อาจทำให้ผู้คนที่เข้าไปร่วมรู้สึกอุ่นใจที่ได้สังกัด แต่จริงๆ แล้ว มันมิได้มีการสลายตัวตนในระดับปัจเจกเกิดขึ้นเลย มันมีแต่การดำรงอยู่ของ อัตตารวมหมู่ ซึ่งปัจเจกสมาชิกได้ฝากตัวตนของเขาไว้ เพราะ อัตตารวมหมู่ นี้ก็ยังมอง ตัวตนรวมหมู่ ของตนแบบแยกส่วน แยกจากผู้อื่น แยกจากชนชั้น กลุ่มชนอื่นอยู่ดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเหล่านี้พร้อมทำทุกอย่างเพื่อพิทักษ์ มหาอัตลักษณ์ แห่ง อัตตารวมหมู่ นี้เอาไว้ไม่แพ้การพิทักษ์อัตตาเดี่ยวเลย
การดิ้นรนเพื่อฟื้น ระบอบทักษิณ ของผู้คนกลุ่มหนึ่ง จึงเป็นแค่ อัตตารวมหมู่ อย่างหนึ่งของ ฝ่ายอธรรม ขณะที่การลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบทักษิณของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เป็น อัตตารวมหมู่ อีกกลุ่มหนึ่งของ ฝ่ายธรรมะ ซึ่งเป็นลักษณะของตัวตนสูงส่งอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เข้าร่วมก็ควรมีสติรู้ตัวรู้ทันความคิดของตนเองในขณะเข้าไปร่วม เพื่อที่จะได้สามารถยกระดับ และพัฒนาจิตของตนเองให้ถูกทางได้ ผู้ที่สลายตัวตนได้แล้ว ย่อมสามารถเข้าร่วมในอัตตารวมหมู่ได้ ถ้าหากผู้นั้นมิได้กระทำไปเพื่อตัวเอง แต่เพื่อเข้าไปช่วยยกระดับจิตของหมู่คณะแห่งอัตตารวมหมู่นั้นให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะตัวเขาไม่มองตัวเองแยกส่วนออกจากผู้อื่น
การสลัดหลุดจาก อัตตารวมหมู่ และ ตัวตนสูงส่ง ของ เสกสรรค์ เริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อตัวเขามีอายุขึ้นเลขห้าสิบ ความเหนื่อยล้ากับชีวิตทำให้เขาอยากนั่งนิ่งๆ และเลิกทะเลาะกับผู้คน ยามนั้น เสกสรรค์ รู้สึกไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้นอีกแล้วในชีวิตนี้ นอกจากสันติภาพภายในเท่านั้น
พอ เสกสรรค์ หยุดเรียกร้องค้นหา พลันเขาก็ได้คิดและเริ่มเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า แท้จริงแล้ว สิ่งที่เหนี่ยวรั้งตัวเขาไว้ไม่ให้คืบหน้าทางจิตวิญญาณ ก็คือการแสวงหาทางจิตวิญญาณนั่นเอง เสกสรรค์จึงเริ่มตระหนักเป็นครั้งแรกว่า ชีวิตแท้จริงแล้วมิใช่การเดินทางหรอก แต่ความไม่เข้าใจชีวิตต่างหากที่ทำให้คนเราต้องเดินทาง
ประสบการณ์ในการรู้แจ้งแบบ เซน หรือ ซาโตริ จึงบังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับ เสกสรรค์ หลังจากที่ได้ตระหนักรู้ในความจริงข้างต้น งานเขียนของเขาเรื่อง “ผ่านพ้นจึงค้นพบ” (พ.ศ. 2551) ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักรู้ใน ความจริงทางจิตวิญญาณ ข้างต้นนี้ในแทบทุกๆ บทของหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ดับตะเกียงดูดาว” “ลากกระป๋องไปตามซอย” “ฉากชีวิตที่อยู่กลางแจ้ง” “รอยเท้าในสายน้ำ” “ขุนเขาแห่งความว่าง” “ถอนตัวจากความพ่ายแพ้” ฯลฯ
ตอนนี้ผู้เขียนเริ่มรู้สึกแล้วว่า จะไม่มีงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นงานมาสเตอร์พีซ หรืองานชิ้นโบแดงของ เสกสรรค์ หรอก แต่ งานทุกชิ้น ที่เป็น วรรณกรรมแห่งการสลายตัวตน ของเขานี่แหละคือ องค์รวมแห่งงานชิ้นโบแดงของเขา