40. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 40) 15/1/2551

40. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 40) 15/1/2551

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 40)


40. วิถีกู้ชาติของศรี อรพินโธ (ต่อ)

...วันที่ 23 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1926

อรพินโธ กำลังจะเริ่มนั่งเจริญสมาธิภาวนาในห้องพักของเขา ตั้งแต่ตีสามเขาเริ่มต้นการเจริญสมาธิภาวนาของเขาด้วยการนั่งขัดสมาธิ ตัวตรง ศีรษะตั้งตรง กระดูกสันหลังทุกข้อตั้งตรง แล้วผ่อนคลายร่างกายทั่วร่าง จากนั้น อรพินโธ จึงสูดลมหายใจเข้าไปอย่างแผ่วเบาให้ยาวและลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้ ขณะที่ อรพินโธ สูดลมหายใจเข้าไปนั้น เขาทำความรู้สึกตามไปด้วยว่า ลมหายใจนี้มันได้แผ่ซ่านเข้าไปทั่วทุกขุมขนแห่งร่างกายของเขา จากนั้นเขาค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกด้วยความรู้สึกแผ่วเบา นุ่มนวล เมื่อผ่อนลมหายใจออกมาจนหมดแล้ว อรพินโธ ก็ค่อยๆ เริ่มสูดลมหายใจเข้าไปใหม่อย่างนุ่มนวล เนิบนาบ มั่นคง และเต็มเปี่ยม

อรพินโธ สูดลมหายใจลึกๆ เข้าออกเช่นนี้เพียงไม่กี่ครั้ง ตัวเขาก็รู้สึกว่ามี “พลัง” บางอย่าง ถ่ายเทเข้ามาที่ตัวเขาผ่านกลางกระหม่อมของเขาลงมาสู่ตัวเขา จากนั้น อรพินโธ รู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ไหลเวียนเป็นสายเล็กๆ วิ่งซาบซ่านอยู่ภายใน ไม่แต่เท่านั้น บริเวณกลางอกของเขาก็รู้สึกสั่นกระหึ่มเบาๆ ขณะที่ “พลัง” อีกส่วนหนึ่งได้ไหลเข้ามาในบริเวณกลางอกนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อ “พลัง” เหล่านี้หลั่งไหลเข้ามาในตัวของ อรพินโธ เขาบังเกิดความปีติซาบซ่านแต่สงบนิ่ง

อรพินโธ ไม่เคยสงสัยเลยแม้แต่ครั้งเดียวว่า “พลัง” เหล่านี้คือ “จิตศักดิ์สิทธิ์” ที่เข้ามาร่วมวงในการเจริญสมาธิภาวนาร่วมกับตัวเขาด้วย เพื่อให้ตัวเขารู้ในตนเอง แจ่มแจ้งในตนเอง และกระจ่างแจ้งอย่างไร้ตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ขณะที่ อรพินโธ กำลังนั่งเจริญสมาธิภาวนาอยู่นั้น “จิตศักดิ์สิทธิ์” ได้ลงมา “ครอบ” ตัวเขาเอาไว้ โดยที่ตัวเขาก็ได้ช่วย “ค้ำจุน” ส่งเสริมการทำงานของ “จิตศักดิ์สิทธิ์” ในขณะกำลังนั่งสมาธิอยู่ด้วยเช่นกัน

ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่า “จิตศักดิ์สิทธิ์” ทั้งหลายทั้งปวงต่างร่วมแรงร่วมใจกันหนุนช่วย อรพินโธ ผู้ซึ่งกำลังบำเพ็ญเพียรโยคะอยู่ เพื่อให้ตัวเขาสามารถเข้าถึงคำสอนสูงสุดของโยคะ และกลายเป็นตัวคำสอนสูงสุดของโยคะที่มีชีวิตชีวาได้ในที่สุด

ขณะที่กำลังนั่งสมาธิอยู่นั้น อรพินโธ มีสติตระหนักรู้เสมอถึงเสียงต่างๆ รอบตัวเขา เขาตระหนักรู้เสมอถึงความคิดต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในใจเขา ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แม้จะยังคงมีความคิดผุดขึ้นประปรายในขณะที่กำลังนั่งสมาธิ แต่ อรพินโธ ก็รู้ดีว่ายังมี บางส่วนของตัวเขา ที่ไม่เคยเปลี่ยน บางส่วนของตัวเขา อันนี้ยังคงสงบนิ่งอยู่เสมอท่ามกลางความคิดที่ผุดพรายออกมา อรพินโธ ตรึงจิตของเขาอยู่กับ บางส่วนของตัวเขา ที่ไม่เปลี่ยนแปลงนี้ บางส่วนของตัวเขา ที่เป็น “ผู้รู้” หรือ “ผู้เห็น” (The Witness) ในทุกๆ สิ่งของความคิดต่างๆ ที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นอนิจจัง

เขารู้มาโดยตลอดว่า ตัวเขามิใช่ความคิดเหล่านั้น แต่ตัวเขาคือ “ผู้เห็น” ความคิดเหล่านั้น อรพินโธ พำนักอยู่ในความเป็น “ผู้เห็น” นี้อย่างไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ เลย ตลอดเวลาที่ตัวเขาอยู่ในสมาธิ การพำนักอยู่ในความเป็น “ผู้เห็น” นี้แหละคือ ประสบการณ์แห่งปัจจุบันขณะที่เป็นความตระหนักรู้อันบริสุทธิ์ อันเป็นความตระหนักรู้เดียวกันกับของพระผู้เป็นเจ้าและของพุทธะ

คนเราไม่มีวันเห็นพระผู้เป็นเจ้าได้หรอก เพราะพระผู้เป็นเจ้าคือ “ผู้เห็น” ซึ่งมิใช่วัตถุที่จะถูกมองเห็นได้

ภาวะความเป็น “ผู้เห็น” ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับ การเป็น “สิ่งนั้น” นี้มิได้ยากเลยที่จะบรรลุ แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลบเลี่ยง เพราะมันอยู่ที่นั้นเสมอ และตลอดไป

เพราะเขาตระหนักรู้ในความรู้สึกต่างๆ ของตัวเขา ตัวเขาจึงไม่ใช่ตัวความรู้สึกต่างๆ ของเขา

เพราะเขาตระหนักรู้ในความคิดต่างๆ ของตัวเขา ตัวเขาจึงไม่ใช่ตัวความคิดต่างๆ ของเขา

เขามิใช่สิ่งใดทั้งสิ้น ที่ตัวเขารับรู้ได้ในใจเขา เพราะตัวเขาคือ “ผู้เห็น” สิ่งต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมดทั้งสิ้น

เขาคือ “ผู้เห็น” ที่เป็นความเปิดกว้างอย่างอิสระอันมโหฬารสุดบรรยาย และเป็นความว่างอันไร้ขอบเขตที่สรรพสิ่งต่างๆ ล้วนผุดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เขาจึงเป็นความว่าง หรือมหาสุญญตานั้น

มีแต่ “ผู้เห็น” เท่านั้นที่เป็นความจริงที่ไม่มีวันผันแปร ความคิดที่แยก “ผู้เห็น” ออกจาก “สิ่งที่ถูกเห็น” ในทุกภพภูมิล้วนเป็นมายา การรู้แจ้งคือการรู้ว่า “ผู้เห็น” กับจักรวาฬ หรือ “โลกที่เห็น” คือสิ่งเดียวกัน

อรพินโธ ลืมตาขึ้นและออกจากสมาธิในตอนย่ำรุ่ง สภาวะจิตในห้วงยามนั้นของเขา เต็มเปี่ยมไปด้วยบรมสุข จิตของเขาสว่างไสว กระจ่างแจ้งยิ่งกว่าตะวัน เขารู้แน่แก่ใจตนเองว่า เขาทำสำเร็จแล้ว! ภารกิจศักดิ์สิทธิ์แห่งบูรณาโยคะ ของเขาสำเร็จสมบูรณ์แล้ว

* * *

หลังจากบำเพ็ญโยคะมาได้สิบกว่าปี อรพินโธ สามารถทำความเข้าใจเชิงลึก และในเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับ “จิตศักดิ์สิทธิ์” ได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ “จิตศักดิ์สิทธิ์” นั้นมีอยู่ 4 ระดับที่คนเราจะต้องไต่ระดับขึ้นไปจาก จิตใจสามัญระดับที่หนึ่ง เป็นระดับต้นสุดหรือระดับแรกสุด ระดับนี้ อรพินโธ เรียกว่าการมี จิตใจสูงส่ง (The Higher Mind) กระบวนการคิดของผู้มีจิตใจสูงส่งนั้น แตกต่างจากของผู้มี จิตใจสามัญ (normal mind) เป็นอย่างมาก เพราะในขณะที่ จิตใจสามัญ พึ่งพา “ความรู้” ของตนที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์จากผัสสะทั้งห้าอันจำกัดเท่านั้น แต่ จิตใจสูงส่ง และ จิตศักดิ์สิทธิ์ ในระดับที่สูงกว่านั้น มิได้พึ่งพาอยู่แค่แหล่งความรู้อันจำกัดเหล่านั้นเหมือนอย่าง จิตใจสามัญ แต่ยังสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ อย่างเห็นองค์รวม อย่างเห็นภาพรวมภาพเดียว โดยสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเรื่องราวต่างๆ ที่ซับซ้อนและเข้าใจภาพรวมได้

จิตใจสูงส่ง จึงมิได้ใช้แค่ตรรกะเหตุผลล้วนๆ ในการมองเหตุการณ์และสรรพสิ่ง แต่ยังใช้ ตรรกะร่วมกับสัมผัสพิเศษ อันละเอียดอ่อนในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วย โดยที่สัมผัสพิเศษนี้ทำให้สามารถได้รับความคิดใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ หรือความรู้ใหม่ๆ มาจาก “ภูมิปัญญาอมตะ” (eternal wisdom) ที่อยู่ในมิติที่สูงขึ้นไป เพียงแต่ยังได้รับแค่เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น

การยกระดับจาก จิตใจสามัญ ไปสู่ จิตใจสูงส่ง โดยผ่านการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา และการบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างบูรณาการ จึงเป็นก้าวแรกของการก้าวไปสู่ จิตศักดิ์สิทธิ์

ระดับที่สอง เป็นระดับของ จิตศักดิ์สิทธิ์ ที่สูงส่งยิ่งขึ้นไปอีก โดยเป็นกระบวนการที่พัฒนาต่อมาจากระดับ จิตใจสูงส่ง ระดับนี้ อรพินโธ เรียกว่า การมี จิตใจกระจ่างแจ้ง (The Illumined Mind)

ในขณะที่ จิตใจสูงส่ง เป็น ใจที่มีความคิดสูงส่ง แต่ จิตใจกระจ่างแจ้ง กลับเป็น ใจที่สว่างแจ้งทางจิตวิญญาณ จิตใจกระจ่างแจ้งนี้มิได้ทำงานด้วยความคิด แต่ทำงานด้วย นิมิต (vision)ที่ผุดขึ้นมาในจิตใจของผู้นั้นอย่างเป็นไปเอง ความคิด ในจิตใจระดับนี้ทำหน้าที่แค่เป็นผู้ช่วยตัวหนึ่งในการแสดงออกซึ่ง ความปราดเปรื่อง ของคนผู้นั้นเท่านั้น

ขณะที่จิตใจของสามัญชนอาจจะพึ่งพาความคิดเป็นหลัก และหลงผิดคิดว่าความคิดเป็นกระบวนการสูงสุด หรือกระบวนการหลักในการเข้าถึงความรู้ แต่ในจิตใจระดับนี้ ความคิด กลับเป็นเรื่องรองๆ เมื่อเทียบกับ ความสว่างแจ้ง และ ความปราดเปรื่อง ในการเข้าถึงความรู้ของคนผู้นั้น

ระดับที่สาม เป็นระดับของจิตศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่งยิ่งขึ้นไปอีก โดยเป็นกระบวนการที่พัฒนาต่อมาจากระดับ จิตใจกระจ่างแจ้ง ระดับนี้ อรพินโธ เรียกว่า การมี ญาณทัสนะ (The Intuitive Mind) จิตที่มี ญาณทัสนะ เป็นผลมาจากการที่จิตสำนึกของผู้นั้น สามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกับมิติขั้นสูงจนสามารถได้รับความรู้และข่าวสารจาก ภูมิปัญญาอมตะ ได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับจิตในระดับ จิตใจสูงส่ง และ จิตใจกระจ่างแจ้ง

จิตในระดับที่มี ญาณทัสนะ นี้ จึงสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้แก่ “จิตศักดิ์สิทธิ์” หรือพระผู้เป็นเจ้าได้แล้ว แม้จะยังไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดก็ตาม อนึ่ง จิตที่มีญาณทัสนะ เป็นจิตที่มีพลังพิเศษอยู่ 4 ประการคือ พลัง ในการเห็นความจริงหรือสัจธรรม พลัง ในการได้รับแรงบันดาลใจ พลัง ในการเข้าใจความหมายของเรื่องราวได้โดยพลัน และ พลัง ในการเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างซับซ้อน

ระดับที่สี่ เป็นระดับของจิตศักดิ์สิทธิ์ขั้นสุดท้ายที่มนุษย์สามารถฝึกฝนได้โดยเป็นกระบวนการที่พัฒนาต่อมาจาก จิตที่มีญาณทัสนะ ระดับนี้ อรพินโธ เรียกว่า โลกุตตรจิต หรือ จิตเหนือโลก (Qvermind)

โลกุตตรจิต เป็นระดับจิตที่มนุษย์สามารถฝึกฝนตนเองจนบรรลุถึงได้ จิตที่เหนือกว่าโลกุตตรจิตคือ จิตสุดยอด (Supermind) หรือ จิตสูงสุด ที่มิได้ดำรงอยู่ในเชิงโครงสร้างของจิต หรือในฐานะที่เป็นปลายทางของการยกระดับจิต แต่ จิตสุดยอด นี้ดำรงอยู่ในฐานะที่ “ค้ำจุน” ทุกสรรพสิ่งในจักรวาฬ (Kosmos) เอาไว้ จิตสุดยอด หรือ จิตสูงสุด นี้ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ธรรมจิต (Spirit)

โลกุตตรจิต คือตัวแทนของ จิตสุดยอด ที่ปรากฏแก่มนุษย์ปุถุชนผู้ยังไม่รู้ และยังไม่บรรลุในฐานะที่เป็น “ธรรมะ”

จิตสุดยอด สัมพันธ์และเข้ากระทำต่อ โลกของปุถุชน โดยผ่าน โลกุตตรจิต เพราะปุถุชนไม่อาจทนทานต่อการรับพลังโดยตรงจาก จิตสุดยอด หรือ จิตสูงสุด ที่เจิดจ้ายิ่งกว่าแสงอาทิตย์พันดวงได้ จิตสูงสุด จึงต้องเข้ากระทำโดยผ่านการกลั่นกรองจาก โลกุตตรจิต เสียก่อน มนุษย์ปุถุชนสามารถรับ “พลัง” เพื่อกระตุ้นให้เกิดพลวัตแห่งวิวัฒนาการทางจิตได้ โดยการปฏิบัติธรรมการเจริญสมาธิภาวนา และการบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างบูรณาการ ซึ่งจะไปพัฒนาศักยภาพทางจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนอีกทีหนึ่ง อรพินโธ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า มนุษย์ที่ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนาและบำเพ็ญเพียรทางจิตจะสามารถยกระดับ จิตศักดิ์สิทธิ์ ของตนไปได้ถึง โลกุตตรจิต ในเชิงโครงสร้าง เพราะมนุษย์ที่จะมี จิตสุดยอด (Supermind) ได้ จะมีแต่ องค์อวตาร (The Avartar) เท่านั้น อรพินโธ บอกว่าเนื่องเพราะ องค์อวตาร คือการที่ จิตสุดยอด ลงมา “จุติ” ในร่างมนุษย์ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

สิ่งที่ อรพินโธ ได้เฝ้าเพียรพยายามทำมาโดยตลอดในช่วงหลายปีมานี้ คือการชักนำ จิตสุดยอด ให้ลงมา “จุติ” บนโลกใบนี้ เพื่อช่วย “เร่ง” วิวัฒนาการทางจิตของมนุษยชาติโดยรวม

โดยส่วนตัวแล้ว อรพินโธ เชื่อว่า ตัวเขาได้บรรลุภารกิจศักดิ์สิทธิ์ในการชักนำ จิตสุดยอด ให้ “อวตาร” ลงมาได้แล้ว โดยตัวเขาได้ประกาศ “ข่าวดี” อันนี้ให้พวกลูกศิษย์ในอาศรมของเขาได้รับทราบในวันที่ 24 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1926

อนึ่ง องค์อวตาร ที่ลงมานี้ ต่อมาชาวโลกในยุคปัจจุบันจำนวนหลายร้อยล้านคนต่างเชื่อกันว่า น่าจะเป็นท่าน สัตยา ไส บาบา ซึ่งเกิดในวันที่ 23 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1926 อย่างพ้องจองกันโดยบังเอิญ แม้ว่าในตอนนั้น อรพินโธ จะไม่ได้รับรู้ถึงกำเนิดของท่าน สัตยา ไส บาบาท เลยก็ตาม ในขณะนั้น อรพินโธ รู้แต่เพียงว่า เขาได้ทำปฏิบัติการบูรณาโยคะของเขาสำเร็จแล้ว และ จิตสุดยอด (Supermind) ก็ได้ “จุติ” ลงมาบนโลกใบนี้แล้วเท่านั้น






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้