1. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 1) 17/4/2550

1. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 1) 17/4/2550

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 1)
 


1. ประตูแห่งเกียรติยศของนักรบแห่งธรรม

"ความรักชาติรักบ้านเมือง มันมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของมันเอง"

สนธิ ลิ้มทองกุล

....ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006)...กรุงเทพฯ

"อาจารย์ครับ สองมือของคนเราสามารถทำอะไรได้บ้างครับ" ชายหนุ่มถามอาจารย์ของเขา หลังจากที่อาจารย์ของเขาออกจากสมาธิแล้ว

"ศิษย์รัก สองมือของคนเราสามารถทำอะไรให้กับโลกใบนี้ได้มากมายเหลือเกิน หากเขาทำด้วยความกล้าหาญ ด้วยความจริงใจ และบริสุทธิ์ใจ" อาจารย์ของชายหนุ่มตอบพร้อมกับเล่าเรื่องราวของ อินทปัญโญ หรือที่รู้จักกันดีในนาม พุทธทาสภิกขุ ให้ชายหนุ่มฟัง แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็อดรำลึกถึงบทบาทของสองมือ หนึ่งสมองและหนึ่งหัวใจของลูกผู้ชายที่ชื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่ตัวเขาได้มีโอกาสสัมผัสในระหว่างการสัประยุทธ์กับระบอบทักษิณอย่างเอาเป็นเอาตาย ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ไม่ได้

วันนั้น คือวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2548 ผู้คนมากมายหลั่งไหลไปที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมรับฟังการสนทนาสาธารณะเรื่อง "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" โดยที่สนธิ ลิ้มทองกุล คือหนึ่งในผู้ร่วมอภิปราย

เขา รับฟังการสนทนาในครั้งนี้ที่ผู้ฟังแน่นขนัดจนล้นห้องด้วยความสงบ จะว่าไปแล้วนี่เป็นครั้งแรกที่เขาฟังสนธิพูดสดๆ ต่อหน้าเท่าที่ผ่านมา เขามักติดตามความเห็นของสนธิผ่านคอลัมน์ของ เซี่ยงเส้าหลง ใน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่ตัวเขาก็เป็นคอลัมนิสต์ด้วย

เขาถูกทาบทามให้เป็นคอลัมนิสต์ประจำของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ภายหลังจากที่ข้อเขียนวิชาการชุด "แกะรอยทักษิโณมิกส์" ขนาด 20 ตอนได้รับการตีพิมพ์ที่นี่ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2547 ซึ่งในขณะนั้น สนธิยังสนับสนุนหรือเห็นอกเห็นใจทักษิโณมิกส์อยู่ แต่ด้วยความใจกว้างของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ งานวิชาการที่วิพากษ์ทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณแบบปัญญาชนของเขา จึงได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่และอย่างเสรี

เขาต่อสู้กับระบอบทักษิณทางความคิดตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่มันยังไม่มีพลังทางการเมืองรองรับ และเป็นแค่ความเห็นของคนส่วนน้อยที่เป็นปัญญาชนในระดับแนวหน้าของประเทศนี้

วันนั้น สนธิได้วิพากษ์นายกฯ ทักษิณอย่างรุนแรง อย่างที่เขารับรู้และเชื่อได้ว่า คราวนี้สนธิสู้จริง ยิ่ง คำนูณ สิทธิสมาน แห่งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่ตัวเขาค่อนข้างสนิทสนมด้วย พูดกับเขาเบาๆ ตามสไตล์แต่หนักแน่นว่า

"อาจารย์ เตรียมลับ ดาบ ได้แล้ว"

เพราะก่อนหน้านี้ เขาเคยให้คำมั่นสัญญากับคำนูณช่วงที่เซี่ยงเส้าหลงเริ่มหันมาวิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างรุนแรงตั้งแต่กลางปี 2548 ว่า เขาจะยืนเคียงข้างสนับสนุนการต่อสู้ของชาว "ผู้จัดการ" อย่างไม่มีวันทอดทิ้ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

หลังจบการสนทนา สนธิ เดินกลับมาหากลุ่ม "ผู้จัดการ" ที่เขานั่งอยู่ด้วย สนธิถามเขาว่า

"อาจารย์ วันนี้ผมพูดเป็นยังไงบ้าง?"

เขาตอบสนธิไปว่า

"วันนี้ คุณสนธิคือ ฮีโร่ ของผม"

สัปดาห์ต่อมา หลังจากที่ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ของสนธิ ในทีวีช่อง 9 ถูกปิดเพียงเพราะสนธิกล้าวิพากษ์นายกฯ ทักษิณอย่างตรงไปตรงมาในฐานะที่เป็นสื่อ เขาจึงเดินด้วยเท้าจากที่ทำงานของเขาที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปที่บ้านพระอาทิตย์ของกลุ่ม "ผู้จัดการ" เพื่อให้กำลังใจสนธิและทีมงาน พอเขาได้ทราบจากคำนูณว่า จะมีการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 1 ที่หอประชุมศรีบูรพาของธรรมศาสตร์ และอยากให้เป็นการเปิดตัวที่ขลังๆ

"อาจารย์เล่น กู่เจิ้ง ให้พวกเราได้มั้ย" คำนูณถามเขา คำนูณรู้ว่า เขาหัดกู่เจิ้งมาหลายปีแล้ว เพราะเขาเคยออกรายการวิทยุสภาท่าพระอาทิตย์กับคำนูณ และ น.นพรัตน์ เมื่อหลายปีก่อน โดยสนทนากันเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" อมตะนิยายกำลังภายในของ หวงอี้ ที่ให้แรงบันดาลใจเขาในการหันมาหัดกู่เจิ้ง (พิณจีนโบราณ) และหมากล้อม

"ได้สิครับ ขอให้ผมได้เล่น กู่เจิ้ง ในการเปิดตัวรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 1 เพื่อให้กำลังใจคุณสนธิและชาวผู้จัดการด้วยนะครับ"

* * *

...วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2548 ณ หอประชุมศรีบูรพา หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แห่งนี้ ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานสัญจรครั้งแรกของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ แม้ว่าจะเป็นการสัญจรนอกสถานที่เป็นครั้งแรก แต่ประชาชนจากหลากหลายสาขาอาชีพ นักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงนักการเมือง สมาชิกวุฒิสภาต่างเข้าร่วมฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์อย่างเนืองแน่นเต็มความจุของหอประชุม โดยผู้จัดได้ถ่ายทอดสัญญาณผ่านสถานีโทรทัศน์ ASTV และเครือข่ายวิทยุชุมชนอีกหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วย

ในช่วงระหว่างพักเบรกคั่นรายการ เป็นเวลาที่ เขา เล่นกู่เจิ้งก่อนจะเล่น เขาพูดเกริ่นนำว่า

"ฟ้ายิ้ม แผ่นดินเย้ยยุทธจักร สวรรค์เท่านั้นที่รู้ว่าใครผิดใครถูก พสุธาเท่านั้นที่รู้ว่าใครดีใครเลว ณ บัดนี้ ข้าพเจ้าจะขอบรรเลง เพลงรบแห่งสันติ เพื่อ คารวะเหล่าผู้กล้าทั้งแผ่นดิน"

เขาหายใจลึกๆ ก่อนจะวาดมือกรีดกรายลงบนพิณจีนกู่เจิ้งของเขา เพลงแรกที่เขาบรรเลง เขาตั้งชื่อบทเพลงนี้ว่า "คารวะผู้กล้าทั้งแผ่นดิน" เพื่อกู่ร้องระดมพลเหล่าผู้กล้าทั้งแผ่นดินที่รักความเป็นธรรม และต้องการปกป้องมาตุภูมิให้มารวมตัวกันเพื่อทำศึกกับระบอบทักษิณ ที่สนธิ ลิ้มทองกุล ได้จุดเทียนแห่งปัญญา และชักธงรบขึ้นมาแล้ว บทเพลงนี้เขาเอามาจากเพลงจีนโบราณที่ชื่อว่า "หวังเจาจวิน" ( ) ซึ่งเป็นชื่อวีรสตรีของจีนโบราณที่ยอมเสียสละตนเองเพื่อแผ่นดินเกิด ท่วงทำนองของบทเพลงนี้มีลักษณะโศกซึ้ง แต่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกและพลัง

เขาร่ายนิ้วกรีดดีดพิณกู่เจิ้งบรรเลงเสียงพิณออกมาเป็นเสียงติงตัง ติงตัง นิ้วของเขาสัมพันธ์กับจิตใจของเขา ถ่ายทอดบทเพลงอันบรรเจิดออกมา

หลังจากบรรเลงจบเพลง เขาได้กล่าวกับผู้ฟังว่า

"ประตูแห่งเกียรติยศ นั้น มี 2 บาน บานหนึ่งคือ การเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจ อีกบานหนึ่ง คือการลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการ อิทธิพลผูกขาด เพื่อปกป้องความจริง ความถูกต้อง และความดีงามของสังคม บัดนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า คุณสนธิและสื่อในเครือผู้จัดการทั้งหมดได้เลือกแล้ว ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเดินเข้าสู่ ประตูแห่งเกียรติยศ บานใด"

ประตูแห่งเกียรติยศบานแรกที่เดินเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญนั้น เพื่อนพ้องน้องพี่แห่งคนเดือนตุลา ที่ได้เดินเข้าไปแล้ว จะได้สำนึกหรือสำเหนียกบ้างหรือไม่ว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่จีรังเลย หากดูจากภายนอกเท่าที่เห็นก็ไม่อาจเชื่อได้ว่า แนวทางนี้สามารถให้ความสุข ความพึงพอใจที่แท้จริงแก่ตนได้

ขณะที่ประตูแห่งเกียรติยศอีกบานหนึ่งนั้น มันคือ ประตูแห่งเกียรติยศ ของ นักรบแห่งธรรม โดยแท้ ก่อนหน้านั้น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ ธีรยุทธ บุญมีก็ได้เลือกเดินเข้าประตูแห่งเกียรติยศบานนี้ไปแล้ว บัดนี้ สนธิ ลิ้มทองกุล ก็กำลังก้าวสู่ประตูแห่งเกียรติยศบานนี้เข้าไปเช่นกัน และไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า จะมีผู้กล้าหรือ เหล่านักรบแห่งธรรมนิรนาม อีกเป็นจำนวนมากที่จะก้าวตามสนธิเดินเข้าสู่ประตูแห่งเกียรติยศนี้ด้วย

หากย้อนเวลากลับไปได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกคงนึกเสียใจไม่หาย ว่าไม่น่าสั่งระงับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ในวันที่ 15 กันยายน 2548 เลย เพราะนี่เท่ากับเป็นการ ปล่อยเสือเข้าป่า หรือ ปล่อยมังกรลงทะเล โดยแท้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้