ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 36)
36. วิถีกู้ชาติของศรี อรพินโธ (ต่อ)
กระแสสังคมที่ออกมาปกป้อง อรพินโธ ทำให้เขาถูกคุมขังไม่กี่เดือนเท่านั้นก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา หากเป้าหมายของคุกคือการจำกัดเสรีภาพของผู้ถูกขัง คุกก็สามารถจองจำเขาแค่ทางกายเท่านั้น มิอาจจองจำเขาทางด้านความคิด และจิตวิญญาณได้เลย ระหว่างที่อยู่ในที่คุมขัง อรพินโธ มีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอีกครั้งเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พอออกจากที่คุมขัง คนที่รู้จักเขาหลายคนออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจที่ตัวเขากำลัง “เดือดร้อน” เพราะถูกทางการ “เพ่งเล็ง” แต่สำหรับ อรพินโธ แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตัวเขาคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว และตัวเขาก็ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะเผชิญกับมันมาตั้งนานแล้ว เขาไม่เคยสำนึกเสียใจเลยที่เลือกเดินบน เส้นทางกู้ชาติ สายนี้ เขารู้ด้วยซ้ำว่า เขาคงเป็นอิสระอยู่ได้ไม่นานนัก ก็คงถูกจับอีก เพราะเขายังคงมุ่งมั่นที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปอีก
แต่ที่ต่างออกไปจากเดิมก็คือ คราวนี้ตัวเขาได้ตระหนักแล้วว่า “พลัง” ที่ตัวเขาได้ใช้ไปในงานการเมืองของเขานั้น ล้วนมาจาก โยคะ ทั้งสิ้น เขาจึงต้องการคำแนะนำจาก โยคี ที่จะมาช่วยชี้นำการฝึก โยคะ ของเขา
เพื่อนของ อรพินโธ จึงติดต่อโยคีผู้มีความสามารถท่านหนึ่งชื่อ วิษณุ เลเล มาให้คำแนะนำแก่เขา ในวัยหนุ่ม เลเล ก็เป็นผู้รักชาติเช่นกัน แต่การที่ เลเล มีวาสนาได้พบกับคุรุทางจิตวิญญาณหลายท่าน ทำให้ชีวิตของ เลเล หลังจากนั้นต้องกลายมาเป็น โยคี ตามครรลองของคุรุของตน
ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1907 อรพินโธ ได้พบกับ เลเล ที่บ้านเพื่อนของเขา เลเล แนะนำให้เขายุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองพักหนึ่ง เพื่อสะสม พลัง ให้แก่ จิต ก่อน อรพินโธ เห็นด้วย ทั้งคู่จึงเก็บตัวอยู่ในห้องพักห้องหนึ่งเป็นเวลาสามวันสามคืน เพื่อฝึกสมาธิแบบโยคะอย่างเดียวเท่านั้น
อรพินโธ ถูก เลเล จับให้นั่งลงและทำสมาธิภาวนาแบบ วิปัสสนา โดยให้นั่งเฝ้าดู “ความคิด” ของตัวเขาอย่างเดียวเท่านั้น
“จงเฝ้าดูความคิดของคุณ จนกระทั่งคุณสามารถมองเห็นว่า ความคิดทั้งหลายของคุณนั้น ล้วนมาจากข้างนอกตัวคุณ เพราะฉะนั้น คุณจะต้องขับไล่ความคิดนั้นให้ออกไปก่อนที่มันจะเข้ามาในหัวของคุณ” เลเล ให้คำแนะนำการนั่งวิปัสสนาแก่ อรพินโธ
เมื่อ อรพินโธ นั่งเจริญวิปัสสนาตามคำแนะนำของ เลเล เขาก็เห็นเช่นนั้นจริงๆ เขาเห็นกระทั่งว่าเจ้าตัว ‘ความคิด’ นั้นมันค่อยๆ คืบคลานเข้ามาหาตัวเขา กำลังจะเข้ามาในหัวของเขา และตัวเขาก็สามารถขับมันออกไปก่อนที่มันจะเข้ามาได้ เขาทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งเขาอยู่ในสภาวะที่จิตของเขาสงบนิ่งมาก และเปี่ยมไปด้วยความสุขสงบอย่างแท้จริงตลอดช่วงสามวันนั้น
สำหรับ อรพินโธ แล้ว ก้าวแรกของการฝึก โยคะ คือการต้องทำจิตให้สงบนิ่งเสียก่อน และวิธีที่ง่ายที่สุดที่ตัวเขาได้ค้นพบในตอนนั้นก็คือ เรียกร้อง ‘ความสงบ’ นั้นจาก ‘เบื้องบน’ ให้เข้ามาสู่หัวสมองของเขา จิตใจของเขา และร่างกายของเขา
อรพินโธ ไม่รู้ว่าสำหรับคนอื่นแล้ว มันจะทำได้ง่ายอย่างนั้นหรือเปล่า แต่สำหรับตัวเขาแล้ว การทำเช่นนั้นได้ มันเป็นเรื่องง่ายสำหรับตัวเขาและเป็นธรรมชาติมากเลย ไม่แต่เท่านั้น ภายใต้ความสงบนิ่งของจิต อรพินโธ ยังได้เข้าถึง ‘ตัวรู้’ หรือ ‘ญาณ’ บางอย่าง ขณะที่กำลังอยู่ในสมาธินั้น ซึ่งมันอยู่เหนือการใช้สติปัญญาและเหตุผลของมนุษย์ทั่วไป จิตของ อรพินโธ ในห้วงยามนั้น มิได้ถูกจำกัดให้คับแคบอยู่ในระดับ ‘ความคิด’ อีกต่อไป เขาสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ของ จิตสากล ที่เป็นอิสระสมบูรณ์ได้ชั่วแวบหนึ่ง เพราะนี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของตัวเขาที่ได้ ฌานสมาธิ แต่นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับตัวเขาในขณะนั้น
ผลลัพธ์อันน่าทึ่งที่ อรพินโธ ได้รับจากการฝึกโยคะเพียงสามวันเท่านั้น ทำให้ เลเล ถึงกับบอก อรพินโธ ว่า ถ้าหาก อรพินโธ สามารถพึ่งและเข้าถึง คุรุที่อยู่ภายใน ของเขาได้ทุกเมื่ออย่างนี้แล้ว ตัวเขาก็ไม่มีอะไรที่จะถ่ายทอดและแนะนำแก่ อรพินโธ อีกแล้ว แม้ เลเล ไม่จำเป็นต้องสอนอะไรแก่ อรพินโธ อีกแล้วก็จริง แต่ อรพินโธ ผู้เห็นความสำคัญทางด้าน มิติทางจิตวิญญาณในการเคลื่อนไหวกู้ชาติ ได้ขอร้องให้ เลเล ไปช่วยสอนโยคะให้แก่พวกหนุ่มๆ ในองค์กรปฏิวัติของพวกเขาที่กัลกัตตาด้วย
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน อรพินโธ ก็ถูกทางการอังกฤษบุกเข้ามาจับตัวถึงบ้านพักอีกครั้งในตอนเช้าวันที่ 2 เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1908 คราวนี้ อรพินโธ ถูกจับด้วยข้อหาที่หนักกว่าเก่า เนื่องจากทางการอังกฤษได้หลักฐานเป็นเอกสารใต้ดินของ อรพินโธ คราวที่จับกุมกลุ่มนักปฏิวัติที่เคลื่อนไหวใต้ดินกลุ่มอื่นๆ ได้ อรพินโธ จึงถูกส่งไปเข้าคุกที่อลิปอร์ และถูกควบคุมจองจำอย่างแน่นหนาถึงหนึ่งปีเต็ม
คุก เป็นสถาบันอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่รัฐแสดง "อำนาจ" ต่อผู้ถูกคุมขังอย่างเข้มข้นและเห็นได้ชัดเจนที่สุด แต่ ไม่เคยมี ‘อำนาจ’ ใดๆ ที่แม้จะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแค่ไหนที่ไม่ถูกต่อต้านขัดขืน เพราะที่ใดที่มีอำนาจที่นั้นย่อมมีการต่อต้านขัดขืน แม้จะอยู่ในคุกก็ยังพอมีพื้นที่ให้ผู้ถูกคุมขังหาวิธีต่อต้านขัดขืนได
้
อรพินโธ เลือกวิธีต่อต้านขัดขืน อำนาจที่ ‘อธรรม’ นั้น ด้วยการใช้เวลาทั้งหมดของเขาระหว่างที่ถูกจองจำถึงหนึ่งปีเต็มในคุกด้วยการศึกษาคัมภีร์อุปนิษัท และคัมภีร์ควัตคีตากับการฝึกฝนโยคะทำสมาธิอย่างเข้มข้น
ในตอนนั้น อรพินโธ ก็คาดไม่ถึงว่า วันที่ตัวเขาถูกจับกุมจะเป็นการปิดฉากชีวิตบทหนึ่งของเขา และเป็นการเริ่มต้นบทใหม่ในชีวิตของเขา การที่ตัวเขาถูกขังเดี่ยวเป็นเวลาถึงหนึ่งปีเต็มในคุก ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมากของตัวเขาต้องถูกตัดขาดลงอย่างสิ้นเชิง ในไม่ช้า อรพินโธ ก็เริ่มตระหนักทีละนิดแล้วว่า อรพินโธ ‘คนเก่า’ ที่ผู้คนรู้จักกันในฐานะนักปฏิวัติผู้รักชาติและต้องการกู้ชาติกำลังตายจากไป ขณะที่อรพินโธ ‘คนใหม่’ ที่มีบุคลิกใหม่ มีปัญญาญาณชุดใหม่ มีวิถีชีวิตใหม่ มีจิตใจใหม่ และมีงานใหม่ที่จะต้องทำกำลังก่อรูปก่อร่างขึ้นมา
คุกอลิปอร์แห่งนี้ได้กลายเป็นอาศรมหรือสำนักปฏิบัติธรรมสำหรับ อรพินโธ ไปเสียแล้ว พวกทางการอังกฤษได้จับกุมตัวเขาเข้าคุกเพื่อต้องการให้ตัวเขาตกอยู่ในภาวะที่เลวร้าย และเลิกคิดที่จะกู้ชาติ แต่ผลของมันกลับตรงกันข้าม แทนที่ อรพินโธ จะได้พบกับความทุกข์ทรมาน ตัวเขากลับได้พบ พระผู้เป็นเจ้า ในความเชื่อของเขาแทน
อรพินโธ บรรลุเคล็ดวิชาของ เวทานตะ และ ตันตระโยคะ ในระหว่างที่ถูกขังเดี่ยวในคุกอลิปอร์นี่เอง ครั้งหนึ่งเขาเคยถามตนเองหลังจากที่ได้อ่าน คัมภีร์โยคะสูตรของมหามุนีปตัญชลี แล้วว่า เมื่อฝึกโยคะจนสามารถควบคุมลมปราณส่วนที่เรียกว่า อุดานา ที่อยู่บริเวณเหนือลำคอขึ้นไปได้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเขาทดลองทำดู เขารู้สึกว่าร่างกายของเขาเบาขึ้นจนเหมือนกับลอยขึ้นมาเหนือพื้นเล็กน้อย ขณะที่กำลังเข้าฌานอยู่
ครั้งหนึ่ง อรพินโธ นั่งเข้าฌานสมาบัติแน่นิ่งจนผู้คุมเข้าใจผิดรีบไปรายงานเจ้านายว่า ตัวเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว เขาเคยบำเพ็ญตบะอดอาหารต่อเนื่องกันเป็นเวลาสิบเอ็ดวันเต็ม และนอนหลับรวดเดียวสามวันสามคืนติดต่อกัน การฝึกเช่นนั้นทำให้ตัวเขาแข็งแกร่งมากทั้งภายนอกและภายใน อรพินโธ จึงไม่เคยป่วยหนักเลยในระหว่างที่ถูกจองจำ
ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ อรพินโธ ได้รับขณะที่อยู่ในคุกก็คือ ตัวเขาได้ยินเสียงของ สวามี วิเวกนันทะ (ชาตะ ค.ศ. 1863-มรณะ ค.ศ. 1902) มหาโยคีผู้ละสังขารไปแล้ว มาสอนโยคะให้เขาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาสองอาทิตย์ ในขณะที่ตัวเขากำลังนั่งสมาธิอยู่ คำสอนของ วิเวกนันทะ ที่ให้แก่เขาในตอนนั้น เป็นแนวทางที่นำตัวเขาไปสู่ “จิตศักดิ์สิทธิ์” (Supermind) ซึ่งเป็นแก่นแท้ที่สำคัญยิ่งของวิชา บูรณาโยคะ (Integral Yoga) ของ อรพินโธ ในเวลาต่อมา
* * *
อรพินโธ กำลังดื่มด่ำ และเอิบอาบอยู่ในฌานสมาธิ แม้จะอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยนัก ภายในคุกอลิปอร์แห่งนี้วันพรุ่งนี้ เขาก็จะได้ออกจากคุกแห่งนี้แล้ว หลังจากถูกจองจำมาถึงหนึ่งปีเต็ม
หนึ่งปีมานี้ อรพินโธ รู้ตัวดีว่า วิชาโยคะ ของเขาได้รุดหน้าไปมาก วิชาโยคะ ของเขา และ วิถีแห่งจิตศักดิ์สิทธิ์ ของตัวเขาแตกต่างจากของผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไปคนอื่น ตรงที่มันถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากประสบการณ์จริงที่เข้มข้นที่ตัวเขาได้รับท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตัวเขาที่ต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองลูกแล้วลูกเล่า โยคะของเขา ไม่ได้พึ่งพาปาฏิหาริย์ หรือความเชื่ออย่างงมงายในเรื่องอิทธิฤทธิ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งตัวเขาก็ยอมรับว่า ดำรงอยู่จริง แต่ โยคะของเขา ก็มิได้หยุดอยู่แค่หลักปรัชญาที่เป็นนามธรรมล้วนๆ หรือเป็นทฤษฎีบนหอคอยงาช้างอย่างพวกนักวิชาการทั่วไป โยคะของเขามาจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมในชีวิตจริง และถูกทดสอบในท่ามกลางการต่อสู้ในชีวิตจริงๆ โดยที่ตัวเขาได้ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดของเขาเข้ารับการทดสอบของฟ้าดิน
จริงอยู่ เขาเริ่มฝึกโยคะเมื่อหลายปีก่อนโดยมีจุดประสงค์แค่ต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรง มีพลังที่สร้างสรรค์ในการทำงานและการออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกู้ชาติเท่านั้น แต่ช่วงเวลาหนึ่งปีมานี้ ทัศนะที่ตัวเขามีต่อ โยคะ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง บัดนี้ โยคะ ได้กลายมาเป็น วิถี ของเขา และ ชีวิต ของเขาอย่างสมบูรณ์แบบ แต่เดิมเขาถือว่า ภารกิจในการกู้ชาติเป็น ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ ในชีวิตของเขา แต่มาบัดนี้ เขาได้ตระหนักรู้แก่ใจตนเองแล้วว่า ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ ในชีวิตของเขานับจากนี้เป็นต้นไป มันมิได้หยุดอยู่แค่การกู้ชาติ และปลดปล่อยมาตุภูมิให้เป็นอิสระเท่านั้น แต่มันไปไกลกว่านั้นมากและเกี่ยวพันกับ อนาคตของมนุษยชาติ อย่างลึกซึ้ง