ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 27)
27. หมวกที่ถูกถอด
...ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 กรุงเทพมหานคร
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตระหนักได้อย่างชัดเจนว่า ตัวเขาได้ “เปลี่ยนไป” จากเดิมมากเหลือเกินใน บ่ายวันนั้น เมื่อเขาได้ยินเสียงเจ้าหมาน้อยที่เขาเลี้ยงไว้ เห่าไม่หยุดจากข้างบ้าน จนตัวเขาต้องรีบลงมาดูจากห้องทำงานชั้นบน
สัญชาตญาณบอกกับเขาว่า เสียงเห่าแบบนี้ บ่งถึงสัญญาณอันตราย เมื่อเขาลงมาถึงสถานที่ต้นเหตุ ภาพที่ปรากฏขึ้นตรงหน้าเขา เป็นภาพของหมาน้อยรูปร่างล่ำตันกำลังยืนแยกเขี้ยวเผชิญหน้าอยู่กับงูเห่าซึ่งกำลังแผ่แม่เบี้ยพร้อมฉก ลำตัวของมันดำวาว วงดอกจันที่ต้นคอนวลชัด ท่าทีทั้งหมดของงูเห่าคือการส่งสารศึกให้กับหมาว่า สันติวิธีสิ้นสุดแล้ว ที่เหลือเป็นสงครามเท่านั้น
เสกสรรค์ รู้ว่า นี่คือ วินาทีที่เขาต้องตัดสินใจแล้ว
เขารีบเดินเข้าไปหาทั้งคู่ แล้วก้มตัวลงหมอบเพื่อให้อยู่ระดับเดียวกับหมาและงู นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเคยเผชิญหน้ากับงูพิษ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขาไม่ได้กลัวมัน และไม่ได้มองมันเป็นสิ่งชั่วร้ายน่ารังเกียจ ในอดีต เสกสรรค์ ได้เคยฆ่างูมาไม่น้อย ฆ่าเพราะมันแค่เลื้อยผ่านมาใกล้ๆ โดยไม่ได้มีท่าทีคุกคามเขาเลย เขาฆ่ามันเพียงเพราะเขา ‘กลัว’ มันเท่านั้น
คนเราชอบมองโลกโดยผ่านความคิดชี้นำ โดยผ่าน ‘ความกลัว’ แล้วก็สร้าง ‘ความจริงลวง’ ขึ้นมาจาก ‘ความกลัว’ ดังกล่าว คนเราจึงกล้าที่จะทำคนอื่นก่อน ปฏิเสธคนอื่นก่อน และมองคนในแง่ร้ายเสมอ
เสกสรรค์ ใช้ไม้เท้าเดินป่าที่เขาถือมาด้วยเหวี่ยงไปโดนเจ้าหมาน้อยเต็มแรง มันกระโดดหนีออกจากจุดเผชิญหน้าด้วยความตกใจ พร้อมกับแผดเสียงร้องออกมาดังลั่น
งูเห่าตัวเขื่องลดแม่เบี้ยลงฉับพลัน ทั้งๆ ที่ เสกสรรค์ ยังคงนั่งอยู่ใกล้ๆ และมีท่าทีสงบลงเหมือนจะรับรู้ว่า เขาไม่ใช่ศัตรู
“อย่าเบียดเบียนกันเลยลูก พวกเดียวกันทั้งนั้น” เสกสรรค์ พูดกับงูเบาๆ ก่อนที่มันจะเลื้อยกลับไปทางสนามหญ้าหน้าบ้าน และหายลับไปในความรก
เสกสรรค์ ยืนนิ่งอยู่ตรงนั้น รู้สึกตัวเองกำลังน้ำตาคลอด้วยความปีติกับอะไรบางอย่าง นี่เป็นครั้งแรกที่ เสกสรรค์รู้ชัดว่า ตัวเขา “เปลี่ยนไป” แล้ว...
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ได้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยถามตัวเขาแทบทุกวันว่า ทำไมไม่ไปร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล หรือขึ้นเวทีปราศรัยพร้อมกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลายคนไม่ได้ต้องการแค่อยากทราบความคิดเห็นของเขา หากยังพยายามเรียกร้องกดดันให้เขาออกมาเคลื่อนไหวในทิศทางต่อต้านผู้นำรัฐบาลด้วย แต่ไม่สำเร็จ
แม้ เสกสรรค์ พยายามยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยคำตอบที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาว่า “ผมไม่มีความอยาก” แต่ปรากฏว่า แทบไม่มีใครเลยที่เชื่อว่าเขาพูดจริง และหมายความตามนั้น ทั้งๆ ที่เขาพูดจริงและหมายความตามนั้นจริงๆ เพราะตัวเขา “เปลี่ยนไป” แล้ว
เสกสรรค์ ตระหนักดีว่า เหตุที่ผู้คนจำนวนหนึ่งยังคาดหวัง และเรียกร้องให้เขาออกมาต่อต้านนายกฯ ทักษิณร่วมกับคนอื่นด้วย ก็เพราะผู้คนเหล่านั้นรู้จัก และยึดติดกับภาพลักษณ์ของตัวเขาอยู่เพียงด้านเดียวเท่านั้น
ในทัศนะของผู้คนเหล่านี้ เขาคืออดีตผู้นำการต่อต้าน 14 ตุลาคม หรือไม่ก็อดีตนักรบปฏิวัติ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีกรณีขัดแย้งกับผู้กุมอำนาจ เขาจึงควรจะต้องอยู่ฝ่ายต่อต้านโดยอัตโนมัติ ไม่เพียงอยู่ข้างประชาชน หากยังต้องอยู่ในแถวหน้าของประชาชนด้วย
ทัศนะดังกล่าว หากมองในแง่บวกเท่ากับผู้คนจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อถือศรัทธาในตัวเขา แต่หากมองในแง่ลบ เขาก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ตัวเขาเองตกเป็น “เชลยของประวัติศาสตร์” นานเกินไปแล้ว ‘ชีวิต’ ของเขาถูกคนอื่น ‘ย่อส่วน’ ให้เป็นแค่เครื่องมือของใช้ทางการเมืองเท่านั้น
สำหรับ เสกสรรค์ แล้ว ไม่ว่ามองทางบวกหรือลบก็ล้วนเป็นการมองเพียงด้านเดียวทั้งสิ้น
นี่มิใช่หมายความว่า เสกสรรค์ เลิกสนใจเรื่องบ้านเมือง หรือหมดความเห็นเรื่องส่วนรวมไปแล้ว เพียงแต่ เสกสรรค์ รู้ตัวดีว่า เขามีสติมากขึ้นเกี่ยวกับ ความเป็นอนิจจังของเรื่องผิดถูกชั่วดีทางสังคม รวมทั้งในช่วงหลายปีมานี้ ตัวเขาให้ความสำคัญต่อเรื่อง ความถูกต้องทางจิตวิญญาณ มากกว่าเดิม
เขาเห็นด้วย และได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ 2 ฉบับ ซึ่งเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างสุภาพ ชัดเจน และมีเหตุมีผล
แต่เขาไม่พร้อมที่จะเกลียดชังและด่าทอหัวหน้าพรรคไทยรักไทยผู้นี้ในทุกๆ เรื่อง เพราะตัวเขาไม่เชื่อว่า คนเราจะสร้างสังคมที่ดีกว่าได้โดยอาศัยความชังเป็นฐานราก
ถึงกระนั้น เขาก็เห็นด้วยกับส่วนใหญ่ที่บรรดาผู้นำการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีได้กระทำลงไป แม้จะไม่เห็นด้วยกับบางด้านของรูปแบบการเคลื่อนไหวก็ตาม
เสกสรรค์ พบว่า บุคคลที่ห้อมล้อมนายกฯ ทักษิณหลายคน ล้วนเป็นเพื่อนเก่าของเขา เคยรักกันเหมือนพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาสมัยต่อต้านระบอบอำนาจนิยม ขณะที่อีกฟากหนึ่ง บรรดาแกนนำคนสำคัญของฝ่ายต่อต้านนายกฯ ทักษิณ ก็เป็นเพื่อนเก่าของเขาเช่นกัน มิหนำซ้ำบางคนยังเคยโยงใยกระทั่งเคยสนิดชิดเชื้อกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาก่อน
เช่นนี้แล้ว จะให้เอาเป็นเอาตายกันขนาดไหน? เสกสรรค์ ยังเห็นว่า พื้นที่ทะเลาะทางการเมือง ในปัจจุบันยังอยู่บนเวทีประชาธิปไตย แม้เขาจะเห็นว่า ระบอบทักษิณ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปการเมืองก็ตาม
แต่สิ่งที่ เสกสรรค์ กังวลเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตอย่างโชกโชนมันเตือนไว้ว่า
“การขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม จะต้องระวังไม่ไปติดหล่ม กับดักแห่งความเคียดแค้น จะต้องไม่ไปยึดถือป้ายประกาศทางการเมืองเป็นเรื่องขาวล้วนดำล้วนมากเกินไป...”
“เพราะมันจะนำไปสู่ ความสุดขั้วทางการเมือง ที่เป็นโศกนาฏกรรมทั้งสิ้น โศกนาฏกรรมนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการด่าทอฝ่ายตรงข้ามจนเกินจริง และลดฐานะศัตรูทางการเมืองให้ต่ำกว่าความเป็นคน”
เสกสรรค์ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า กระบวนการแห่งการสลายตัวตน ของตัวเขานั้น มันเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เขารู้แต่เพียงว่า เขาเคยใช้เวลาเกิน 5 ปี รบกับอำนาจรัฐที่เขาเห็นว่า ไร้ความเป็นธรรม จวบจนกระทั่งเขาตัดสินใจวางอาวุธเนื่องจากสิ้นศรัทธาต่อหัวแถว และแนวทางของขบวนการปฏิวัติ
เมื่อ ‘จุดหมายร่วม’ เสื่อมสลาย เสกสรรค์ ก็แบกความทรงจำส่วนนี้เอาไว้ และตีความอดีตส่วนนี้ของตน ตามวิถีแบบที่ตัวเขาเคยเติบโตมาแบบ นักเลงโบราณ ในห้วงต้นของการวางปืนยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ เขาจึงมีบาดแผลที่ร้าวลึกอยู่พอสมควร
เสกสรรค์ ‘เจ็บ’ ในเรื่องที่หลายคนอาจเฉยๆ เขา ‘เจ็บ’ ด้วยความรู้สึกที่ว่า ความเป็น ‘นักเลง’ ของ ตนนั้นได้แหว่งวิ่นไปเพราะพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง ด้วยเหตุนี้ เสกสรรค์ จึงได้ใช้เวลาหลายปีหมดไปกับการเดินป่าออกทะเล เพื่อค้นหา ‘ความเป็นผู้ชาย’ ที่หายไปในช่วงระหว่างนั้น เสกสรรค์ ทั้งตกปลา ปีนเขา ล่องแก่งเพียงเพื่อจะบอกทั้งโลกและตัวเองว่า ‘กูแน่’ เท่านั้น
เสกสรรค์ ต้องใช้เวลานาน และผ่านอะไรอีกหลายอย่างทีเดียวกว่าเริ่มที่จะมองออกว่า ชายร่างใหญ่ไว้หนวดใส่หมวกที่ชอบแต่งกายแบบนักเดินป่า และนักตกปลาคนนั้น ลึกๆ แล้ว เป็นคนที่มีปัญหากับตัวเอง เขาได้เวลาอีกกว่า 20 ปี หลังจากวางอาวุธ ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ความหมายของชีวิต อย่างเอาเป็นเอาตาย
เขาขัดแย้งกับโลก ขัดแย้งกับผู้อื่น และขัดแย้งกับตัวเองจนสิ้นแรงเหนื่อยล้า จนแทบไม่อาจอยู่เป็นผู้เป็นคน กระทั่งนำไปสู่ชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว เขากับภรรยาได้แยกทางกันเดิน แม้ทั้งคู่จะไม่ได้โกรธเกลียดกัน และเพียงเปลี่ยนความสัมพันธ์จากคู่ครองมาเป็นเพื่อน แต่แม้กระนั้นมันก็สั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดของเขาอย่างถึงราก
ตอนนั้น เสกสรรค์ เริ่มเข้าสู่วัยห้าสิบกว่าๆ แล้ว เสกสรรค์ ได้ถามตัวเองว่า เขาจะยืนต้านกระแสหลักในสังคมแบบที่ผ่านมาแล้วสะสมความเจ็บปวดขมขื่นต่อไป หรือเขาควรเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมเสียใหม่ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้
เสกสรรค์ เฝ้าถามตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า มีหนทางไหนบ้างที่จะทำให้ตัวเขาไม่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้ โดยที่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องยอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ตัวเขาไม่เห็นด้วย
ในช่วงนั้น เสกสรรค์ ได้ลงลึกเข้าไปสำรวจตัวเองและวิจารณ์ตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย และในที่สุด เขาก็ตระหนักได้ว่า แท้ที่จริงแล้วเขาตกเป็นเหยื่อของอุปาทานบางอย่างที่ตัวตนของเขาได้จินตนาการขึ้นมาเอง เขามองโลกแบบยกตัวและแยกส่วนมากเกินไป เมื่อเขาปล่อยวางตรงนั้นได้ พลันโลกกลายเป็นสดใส ชีวิตโล่งเบา ณ ที่นั้น เดี๋ยวนั้นเลยทันที โดยเขาเกือบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีกเลย