ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 21)
21. ตุลาการภิวัฒน์ในโลกาภิวัตน์
ในที่สุด การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมก็เกิดขึ้นจริงๆ ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสแก่ คณะตุลาการศาลปกครอง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 มีใจความตอนหนึ่งว่า
“หน้าที่ของท่านกว้างขวางมาก ท่านอาจจะนึกว่าหน้าที่ของผู้ที่เป็นศาลปกครองมีขอบข่ายไม่กว้างขวาง ที่จริงกว้างขวางมาก การเลือกตั้งที่ได้คะแนนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และเลือกตั้งคนเดียวเป็นการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับตุลาการศาลปกครอง เพราะ เมื่อการปกครองแบบประชาธิปไตยดำเนินการไม่ได้ คำปฏิญาณของตุลาการศาลปกครองก็เป็นหมัน และถ้าทำงานไม่ได้ ตุลาการศาลปกครองจึงอาจต้องลาออก เพราะไม่ได้แก้ปัญหา”
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระราชดำรัสดุจเป็น พระราชอำนาจ ให้ศาลปกครอง และศาลฎีกาหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 โดยให้ทั้ง 3 ศาลคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกาไปปรึกษากันในการที่จะ ทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป
นี่คือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ต่อมาเรียกกันว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งพอจะนิยามได้ว่าหมายถึง อำนาจตุลาการที่แผ่กว้างขึ้น โดยมองว่าสถาบันตุลาการเป็นสถาบันเดียวที่มีความชอบธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในการเป็นผู้ตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมทั้งมวล ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการที่จะระงับความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดจากการที่อำนาจบริหารได้เข้าครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติ และกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ และทุนขนาดใหญ่ ซึ่งฝ่ายตุลาการอาจกระทำได้โดยการตีความเพิ่มเติมเพื่อคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้ง และเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติโดยพิจารณาถึงความยุติธรรมในสังคมเป็นหลัก
วัตถุประสงค์หลักของตุลาการภิวัฒน์ จึงอยู่ที่การให้อำนาจฝ่ายตุลาการในการเข้าไปตรวจสอบการออกกฎหมาย ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีอำนาจในการพิพากษาคดีต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมในมุมกว้าง เพราะฉะนั้น การใช้อำนาจตามหลักตุลาการภิวัฒน์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคดีขึ้นมาสู่ศาล และการพิจารณาพิพากษาก็ต้องคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของตุลาการในการเป็นองค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจ เพื่อเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข และภารกิจนี้ต้องถือความเที่ยงธรรมเป็นหลัก ปราศจากอคติประกอบกับอาศัยหลักกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายตุลาการ
จากนั้นประมุข 3 ศาลจึงได้ประชุมร่วมกันปรึกษาหาแนวทางแก้ไขวิกฤตการเมืองของชาติเพื่อสนองพระราชดำรัส โดยกำหนดทิศทางร่วมกันในการใช้อำนาจในการพิพากษาให้สอดคล้องกัน
การประชุมของประมุข 3 ศาล มีขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 เวลา 09.00 น. ที่ศาลฎีกา แต่ก่อนหน้าการประชุมหนึ่งวัน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติว่าการจัดการเลือกตั้งของ กกต.เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีมติให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยคำวินิจฉัยกลางมีสาระสำคัญคือ
การจัดคูหาเลือกตั้งไม่เป็นการลงคะแนนลับ เป็นความไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหลายมาตราตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ดังข้างต้น จึงเป็นการปลดล็อกวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่สำคัญมากทำให้การประชุมประมุข 3 ศาลในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งประกอบด้วย นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และ นายผัน จันทรปาน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ข้อสรุปออกมาภายหลังการประชุม โดยให้ นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกาเป็นผู้แถลงต่อสื่อมวลชน เรียกร้องให้ กกต.เสียสละเพื่อชาติด้วยการลาออก
แต่ กกต.หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ก็ไม่ยอมลาออก
ผ่านไปอีก 2 วันคือในวันที่ 11 พฤษภาคม นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา จึงต้องออกมาให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ไขวิกฤตการเมืองที่ประมุข 3 ศาลได้ลงมติร่วมกัน มีใจความว่า เพื่อผ่าทางตันของวิกฤตการเมืองทั้ง 3 ศาลได้ปฏิบัติหน้าที่แต่ละศาลตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่ได้ทำสิ่งใดเลยที่เกินขอบเขต โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคดีที่เข้ามา ส่วนศาลปกครองกำลังจะมีคำพิพากษาคดีเลือกตั้งตามที่มีผู้ฟ้อง และศาลยุติธรรมก็กำลังจะดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีที่มีประชาชนยื่นฟ้อง กกต.ไว้ ซึ่งศาลไม่เคยมีความคิดที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ศาลต้องใช้อำนาจตุลาการเข้าไปแก้ไขปัญหาตามพระราชดำรัส เพราะทั้ง 3 ศาลได้เคยเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
บทบาทใหม่ของศาลในการแก้ไขวิกฤตตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เรียกกันว่า “ตุลาการภิวัฒน์” นี้ ในที่สุดก็นำไปสู่การตัดสินของศาลอาญาให้พิพากษาจำคุก 3 กกต.ในความผิดฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 24, 42 และมาตรา 38 เป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี กรณีร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23 และ 29 เมษายน 2549 โดยไม่มีอำนาจ และการออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กกต.เขตให้รับผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนสมัครใหม่ ตามที่ นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
ผลคำพิพากษาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ให้ กกต.ถูกจำคุกโดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว ทำให้ กกต.ทั้ง 3 คนนี้สิ้นสภาพของการเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งทันที จนถูกสื่อกล่าวขานว่า เป็น “จุดจบลิ่วล้อทรราช” และเป็นความตกต่ำของชีวิต อดีต กกต.ทั้ง 3 คนนี้
ในอีกแง่หนึ่ง บทบาทของตุลาการภิวัฒน์ก็มีส่วนช่วยทำให้ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อความเสื่อมทรุดในการดำรงอยู่ของความเป็น “ชาติ” บรรเทาเบาบางลง เพราะก่อนหน้านั้น หายนภัยของ “ระบอบทักษิณ” ที่เป็นร่างทรงของ ทุนสามานย์ ซึ่งผูกสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับทุนข้ามชาติได้ทำให้ปัญหาการดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ของ “ชาติ” ที่โยงใยอยู่กับ ประเด็นการดำรงอยู่ของผลประโยชน์ส่วนรวมได้กลายเป็นปัญหาในความเป็นจริงขึ้นมาแล้วจริงๆ
แต่ลำพังแค่พลังของตุลาการภิวัฒน์ คงไม่อาจต้านทานผลกระทบของโลกาภิวัตน์ได้ตลอดไปหรอก ตราบใดที่สังคมไทยโดยรวมยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีชีวิตให้ก้าวทันกับยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รอบด้าน และอย่างสลับซับซ้อนโดยโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์ได้ทำให้โลกยุคปัจจุบันของเรากลายเป็น โลกของการควบแน่นระหว่างเวลากับสถานที่ อันเป็นผลมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีการคมนาคมสื่อสารและข่าวสารสมัยใหม่ ซึ่งทำให้การไหลเวียนของเงิน ทุน คน ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร เป็นไปอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญมันทำให้โลกยุคปัจจุบันนี้ กลายเป็นโลกที่บรรดาเส้นแบ่งต่างๆ ที่เคยมั่นคงชัดเจนเกิดความไม่มั่นคง ไม่แต่เท่านั้นบรรดาเส้นแบ่งเหล่านี้ยังถูกตั้งคำถาม และนำไปสู่การลากเส้นแบ่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย
การสลายเส้นแบ่งเดิมที่ดำรงอยู่ก่อนระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ได้นำไปสู่การลากเส้นแบ่งใหม่ขึ้นมาเช่นกัน โดยผ่าน “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ทำให้อำนาจตุลาการ “แผ่กว้างขึ้น” กล่าวโดยนัยนี้ ตุลการภิวัฒน์ก็อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์เช่นกัน...กระแสที่ก่อให้เกิดปัญหา และความขัดแย้งแบบใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในสังคมไทย อย่างเช่น ตัวทักษิณและระบอบทักษิณเอง ส่วนหนึ่งก็เป็นผลผลิตของโลกาภิวัตน์ มันได้สร้างความขัดแย้งแบบใหม่ๆ ขึ้นมาในสังคมไทย มันจึงกลายเป็นความขัดแย้งที่บรรดาสถาบันหลักทางการเมือง-การปกครองที่ดำรงอยู่ไม่เข้าใจ และไม่มีความสามารถในการแก้ไขได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายเพราะมันเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน หลากหลาย และตัดข้ามบรรดาเส้นแบ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่
การทำลายระบอบทักษิณจึงเป็นเรื่องยากลำบาก ถ้ายังยึดติดกับกรอบวิธีคิดแบบเดิมๆ และยังไม่เข้าใจผลกระทบของโลกาภิวัตน์ในทุกๆ มิติอย่างเป็นองค์รวม