19. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 19) 21/8/2550

19. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 19) 21/8/2550

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 19)


19. งานเขียนกับนักกลยุทธ์

วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2549...ณ ห้องทำงานที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขา กำลังเริ่มร่ายปากการังสรรค์ “พุทธบูรณา” (หรือ “พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์”) ขึ้นมาบนแผ่นกระดาษ งานเขียนเกี่ยวกับท่านพุทธทาสชิ้นนี้ของ เขา ตัว เขา ต้องการให้งานเขียนชิ้นนี้พูดถึง ‘โลกแห่งจิตใจ’ หรือ ‘โลกภายใน’ ของท่านพุทธทาสด้วยความเข้าใจอย่างเชิงลึกในตัวของท่านพุทธทาสให้ออกมาได้อย่างหมดจดงดงาม ถ้าหากทำได้ ตัว เขา ก็อยากจะตีความผลงานต่างๆ ของท่านพุทธทาสโดยผ่านงานเขียนชิ้นนี้ของเขาให้ได้ดีกว่าที่ตัวท่านพุทธทาสเข้าใจงานของตัวท่านเอง

โดยผ่านงานเขียน “พุทธบูรณา” (หรือ “พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์”) ชิ้นนี้ เขา มุ่งที่จะสร้าง ‘โลกแบบหนึ่ง’ ขึ้นมาให้แก่คนอ่านของเขา ด้วยการใส่รหัสชุดหนึ่งที่มาจาก “ภูมิปัญญาเชิงบูรณาการ” ของเขาเข้าไปในงานเขียนชิ้นนี้

โดยทั่วไป งานเขียน โดยตัวมันเองก็คือ ‘โลก’ อย่างหนึ่งแน่นอนว่า งานเขียนหรือตัวบท (Text) มิใช่ที่สิ้นสุดในตัวของมันเอง ต่อให้ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านจะดื่มด่ำกับงานเขียนหรือตัวบทนั้นเพียงใดก็ตาม เพราะถึงอย่างไร งานเขียนนั้นก็ย่อมสะท้อนสังคมในขณะนั้น และผูกโยงกับโลกภายนอกอย่างไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้

งานเขียน ย่อมมิใช่การสื่อสารอย่างธรรมดา และอย่างไร้เดียงสาเหมือนอย่างที่ผู้คนมักนิยมเข้าใจกัน แต่ งานเขียน คือ ระบบของสัญญะ (sign) แบบหนึ่งที่มีความหลากหลายอันเป็นผลมาจากการปะทะสังสรรค์ระหว่างสัญญะแบบต่างๆ

งานเขียน ดำรงอยู่และเป็นไปได้ เพราะมี ภาษา โดยที่ ภาษา ก็คือ ระบบของสัญญะ (a system of signs) แบบหนึ่งซึ่งสื่อถึงความคิด และความหมายต่างๆ เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปได้ ภาษาจึงเป็นเรื่องของสังคม ในขณะที่การพูดหรือการใช้ภาษาเป็นเรื่องของบุคคล

ส่วน สัญญะ คืออะไรก็ได้ที่ก่อให้เกิดความหมายโดยการเทียบเคียงให้เห็นถึงความแตกต่างไปจากสิ่งอื่น และคนในสังคมยอมรับหรือเข้าใจ

สัญญะที่เป็นฐานรากที่สุดที่มนุษย์ทุกคนควรมีความเข้าใจก็คือ ตัวตน (the self) ของมนุษย์เอง เพราะการเข้าใจตัวเองแบบหนึ่งย่อมนำไปสู่การมองโลกรอบตัวแบบหนึ่งด้วย

โดยผ่านงานเขียน “พุทธบูรณา” (หรือ “พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์”) ชิ้นนี้ เขา ต้องการให้ผู้อ่านของเขาเข้าใจ ‘ตัวตน’ ในเชิงโครงสร้างอย่างที่จะสามารถ ‘ข้ามพ้น’ อัตตาตัวตนของตนได้

สัญญะ ในฐานะที่เป็นหน่วยพื้นฐานที่สุดของภาษาคือ ระบบของความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนที่เชื่อมโยงกันระหว่าง

(ก) รูปสัญญะ (signifier) หรือตัวสื่อ/ตัวหมาย กับ

(ข) ความหมายสัญญะ (signified) หรือความคิดที่รูปสัญญะต้องการจะสื่อ

เมื่อเป็นเช่นนี้ลักษณะถูกกำหนดให้สัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกันของ สัญญะ จึงเกิดขึ้นใน 2 ระดับด้วยกันคือ

(1) ในระดับของรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ เช่นคำว่า “หนังสือ” กับความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “หนังสือ”

และ (2) ในระดับของรูปสัญญะด้วยกันเอง เช่นคำว่า “หนังสือ” ในภาษาไทยกับคำว่า “book” ในภาษาอังกฤษ

สำหรับตัว เขา แล้ว ความหมาย ของ “พุทธบูรณา” (หรือ “พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์”) จึงมิได้อยู่ที่ตัวงานเขียนชิ้นนี้เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ความสัมพันธ์ของงานชิ้นนี้กับงานเขียนชิ้นอื่นๆ ของ เขา ก่อนหน้านี้ เช่น “มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์” “ภูมิปัญญามูซาชิ” “เซนอย่างมูซาชิ” “วิถีแห่งฟ้าของนักกลยุทธ์” “ยอดคนวิถีเซน” “ยอดคนมหาโยคะ” ฯลฯ รวมทั้งยังสัมพันธ์กับงานเขียนชิ้นอื่นของตัว เขา ที่จะเขียนออกมาหลังจากงานเขียนชิ้นนี้ด้วย

การที่ผู้อ่านจะอ่าน “งานเขียน” ของ เขา ให้สนุก ผู้อ่านจึงมิควรจำกัดตัวเองอยู่แค่การอ่าน “เนื้อหาสาระ” ของตัวงานเขียนชิ้นนั้นเท่านั้น แต่ควรจะเป็นการอ่านเพื่อค้นหา “รหัสต่างๆ” ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นงานเขียนชิ้นนั้นของ เขา ด้วย เพราะมีแต่การทำเช่นนี้เท่านั้นจึงจะทำให้ “การอ่าน” ของตัวผู้อ่านคนนั้นสามารถตกผลึกจนแจ่มกระจ่างขึ้นมาได้

ข้อบกพร่องที่เด่นชัดที่สุดที่ปรากฏอยู่ในตัวของคนเขียน และคนอ่านโดยทั่วไปส่วนใหญ่ก็คือ พวกเขามักกระทำการเขียนหรือการอ่านราวกับว่า พวกเขาเป็น “ตัวผู้กระทำ” หรือเป็น “ตัวองค์ประธาน” (the subject) จริงๆ หรือราวกับว่า “ตัวผู้กระทำ” (ในที่นี้คือ คนเขียนหรือคนอ่าน) เป็น “ศูนย์กลาง” ของตัวการกระทำนั้นจริงๆ

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมและการกระทำของคนเราในสังคมต่างก็มีฐานะที่เป็นสัญญะ และระบบสัญญะแบบหนึ่งเช่นกัน

เมื่อเป็นแค่ระบบสัญญะแบบหนึ่ง ตัวการกระทำนั้นๆ จะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งมากำกับหรือกำหนดให้มีความหมายขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ตัวคนเขียน หรือตัวคนอ่านโดยทั่วไปยังมิได้ตระหนักว่า “การกระทำ” ของตัวเขา (ในที่นี้คือ การเขียนหรือการอ่าน) ถูกกำหนดโดยบรรดากฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคมที่เรียกว่า ‘วาทกรรม’ มาเป็นตัวสร้าง ‘ความหมาย’ ให้กับการกระทำนั้น ตราบนั้นพวกเขาก็ย่อมไม่มีทางที่จะสลายหรือสั่นคลอนฐานะความเป็น ‘ตัวตน’ แห่งตนหรือ ‘อัตตา’ ของตนในฐานะที่เป็น องค์ประธาน (the subject) ของมนุษย์ในการรับรู้ เรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้

ตราบใดที่ผู้คนโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้คนที่เป็นคนเขียนกับคนอ่านยังไม่สามารถ “ตื่นขึ้น” และตระหนักได้ว่า ที่แท้ตนเองหาได้เป็น “ผู้กระทำ” การกระทำใดๆ ตามใจชอบอย่างที่ตัวเองนึกไม่ แต่เป็นเพียง “ร่างทรง” ของบรรดา “วาทกรรม” ต่างๆ หรือบรรดากฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคมที่ทำให้ “การกระทำ” ใดๆ มีความหมายอย่างหนึ่งขึ้นมาเท่านั้น ตราบนั้น พวกเขาก็ยังคงจมปลักอยู่กับ “มายาคติ” ชุดใดชุดหนึ่งต่อไปอยู่ดี

ผู้คนทั่วไปจึงยังไม่อาจตระหนักรู้ได้ว่า ยังมี “ระบบคิด” หรือ “วาทกรรม” แบบอื่น ดำรงอยู่ที่แตกต่างไปจากระบบคิดแบบเดิมๆ หรือวาทกรรมแบบเดิมๆ ที่ตนเองถูกสังคมครอบงำมาโดยตลอดทั้งชีวิต ผู้คนทั่วไปจึงยังไม่อาจมองเห็นถึง ขีดจำกัดของระบบคิด และวาทกรรมของตนเองได้ จนกว่าจะมีคนอื่นมาชี้แนะหรือชี้ทางสว่างให้

เขา ตั้งใจจะนำเสนองานเขียน “พุทธบูรณา” (หรือ “พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์”) ชิ้นนี้ของเขาให้เป็น โลกชนิดหนึ่ง ที่ตัวผู้อ่านเองก็ต้องนำประสบการณ์ส่วนตัวของตนเข้าไปร่วมปะทะด้วยในกระบวนการอ่านนั้น เพราะมีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้น งานเขียนของเขา จึงไม่มีวันเก่าแก่หรือล้าสมัยสำหรับตัวคนอ่าน แต่จะเป็นงานเขียนที่มีความเป็นปัจจุบันเสมอ เนื่องจากคนอ่านจะต้องนำประสบการณ์ส่วนตัวของตนเข้าไปปะทะในการอ่าน งานเขียนต่างๆ ของ เขา ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น งานเขียนต่างๆ ของเขาจึงสามารถชวนให้คนอ่านงานของเขาขบคิดใหม่ได้เสมอ

เขา ย่อมมุ่งหวังที่จะให้งานเขียน “พุทธบูรณา” (หรือ “พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์”) ชิ้นนี้ของเขา “อ้าปาก” ของมันเองออกมาเพื่อที่ตัวเขาจะได้ “ปิดปาก” ของตัวเองเสีย

เขา ย่อมมิจำเป็นต้องเอื้อนเอ่ยอะไรอีก ภายหลังจากที่งานเขียนชิ้นนี้เริ่มถูกตีพิมพ์เป็นตอนๆ ออกมาผ่าน สื่อในเครือผู้จัดการ และสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อมันกลายเป็น หนังสือ แล้ว เพราะ ความคิด ของ เขา ได้กลายมาเป็น หนังสือ ของ เขา ไปแล้ว

เขา มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะพูดถึง พุทธธรรมที่สมบูรณ์พร้อม ( ) ด้วยการเขียนหนังสือออกมาเพียงเล่มหนึ่งเล่มเดียวคือหนังสือ “พุทธบูรณา” (หรือ “พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์”) เล่มนี้ ในขณะที่คนอื่นๆ อาจต้องใช้หนังสือหลายสิบเล่มเพื่อพูดในเรื่องเดียวกัน

ท้ายที่สุดแล้ว คนเราย่อมไม่อาจเขียนหรือสกัดสิ่งใดๆ ที่มากเกินกว่าสิ่งที่ตัวผู้นั้นเคยรู้แล้ว และเข้าถึงแล้วออกมาได้ สิ่งใดที่คนผู้นั้นยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้วย คนผู้นั้นย่อมไม่อาจถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้

สำหรับ เขา แล้ว การจะสามารถเขียนงาน “พุทธบูรณา” ชิ้นนี้ออกมาได้ ตัว เขา ต้องจ่ายด้วยราคาที่แสนแพงในระดับชีวิตและจิตวิญญาณ ต้องผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวดขมขื่นที่สุดในชีวิต ในระดับที่เรียกว่า “ตายทั้งเป็น” มาก่อน อย่างที่คงไม่มีใครเลยที่ถ้ามีทางเลือกอื่นแล้ว จะยอมทำเรื่องแบบนั้นอีก...เขา ต้องผ่านประสบการณ์เช่นนั้นมาแล้วเสียก่อน จึงจะเขียนงานชิ้นนี้ออกมาได้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้