ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 18)
18. ศึกวาทกรรมกับนักกลยุทธ์ (ต่อ)
“เราไม่สามารถฝากความหวังไว้ แต่เฉพาะ ผู้นำแบบเดิมๆ ที่ใช้ วาทกรรมแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไปแล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง ผู้นำในความหมายใหม่ ที่ใช้ วาทกรรมแบบใหม่ อันสะท้อนให้เห็นถึง ศักยภาพแห่งการเป็นผู้นำ ที่คนทุกระดับชั้นในสังคมสามารถจะเป็นได้...มีแต่เป็นสังคมเช่นนี้เท่านั้น สังคมไทยในยุคหลังทักษิณ ถึงจะเป็นสังคมที่มีความหวังอย่างแท้จริงได้”
เขา คำนึงเช่นนั้นในใจ ขณะที่กำลังจิบชาและเรียงหมากล้อมอันเป็นสุนทรียรสที่เสพได้ โดยมี “ความว่าง” ในใจรองรับ
“วาทกรรมแบบใหม่ จะต้องเป็น วาทกรรมที่สามารถเชื่อมโยงคนเราเข้ากับชีวิต คนเราเมื่อสามารถเข้าใจ ชีวิตอย่างเป็นองค์รวม อย่างเห็นการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการตั้งแต่เกิดจนรู้แจ้งหรือบรรลุธรรมได้ คนผู้นั้นย่อมสามารถ เริงระบำไปกับชีวิต ด้วยลีลาที่สง่างามในจักรวาฬ (Kosmos) ที่เปี่ยมไปด้วยความเปลี่ยนแปลงนี้”
เขา เรียก วาทกรรมแบบใหม่ นี้ว่า “ภูมิปัญญาบูรณาการ” ซึ่ง เขา เชื่อว่ามันเป็น วาทกรรมที่สามารถเปลี่ยนทัศนะที่คนเรามีต่อชีวิต ต่อตัวตน ต่อโลก และต่อจักรวาฬได้
ในวาทกรรมแบบเดิมๆ นั้น รัฐ คือ แหล่งอำนาจหลักในสังคม โดยที่ “อำนาจ” คือ ระบบความสัมพันธ์ ที่ทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มสามารถที่จะผลักดันให้คนกลุ่มอื่นทำตามที่กลุ่มตนต้องการ และสามารถที่จะเป็นผู้ตัดสินใจในการแบ่งสรรทรัพยากรส่วนกลางในสังคม
ความชอบธรรม ของ “อำนาจ” จะบังเกิดขึ้นเมื่อผู้คนในสังคมนั้นให้การยอมรับเชิงวาทกรรมว่า ความสัมพันธ์ชุดนั้นๆ เป็นชุดของความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง และเชื่อมโยงอย่างสอดคล้องกับชีวิตของผู้คนและยุคสมัย
“ระบอบทักษิณ” คือ ระบบอำนาจหรือระบบความสัมพันธ์ที่อดีตนายกฯ ทักษิณได้วางเอาไว้ โดยการทำให้ระบบราชการหมดอำนาจในการตัดสินใจ ทำให้ทักษิณสามารถดึงเอาอำนาจที่มีอยู่ของระบบราชการเข้ามาอยู่ในกำมือของตน และพรรคพวกซึ่งเป็นเพียงนักการเมืองกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ทักษิณและพวกได้ครอบงำระบบราชการเสียจนมันแทบกลายเป็นแขนขาของพรรคไทยรักไทย และแทบกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของทักษิณ เพราะตัวเขาสามารถกำหนดแต่งตั้งผู้นำในระบบราชการที่เป็นคนของตนได้
การลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบอบทักษิณของ ภาคประชาชน ที่นำโดย สนธิ และต่อมาคือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเป็นความพยายามในการที่จะล้มล้าง “อำนาจ” ของระบอบทักษิณ โดยผ่าน การต่อสู้เชิงวาทกรรม ซึ่งเป็นการเปิดโปงและชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองหลวง และตามหัวเมืองต่างๆ ได้เห็นถึง “ความจริงอีกด้าน” ของระบอบทักษิณ
รัฐในอุ้งมือของทักษิณมิได้เป็นแหล่งอำนาจหลักในสังคมอีกต่อไปแล้ว “อำนาจใหม่” ที่ไม่เอาระบอบทักษิณได้ผุดขึ้น และกระจายอยู่ทั่วไปตามเครือข่ายต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ “อำนาจใหม่” นี้เป็น อำนาจของวาทกรรมชุดใหม่ที่ตอบโต้ ต่อต้าน ขัดขืน วาทกรรมแบบ “ทักษิโณมิกส์” ของทักษิณซึ่งได้ขยาย “พื้นที่” ในโลกแห่งความเป็นจริง และในโลกแห่งไซเบอร์หรือความจริงเสมือนได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือน โดยเริ่มจากการ “จุดเทียนแห่งปัญญา” ของ สนธิ และ สื่อในเครือผู้จัดการ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ASTV กับเว็บไซต์ของ “ผู้จัดการ” (www.manager.co.th)
สนธิ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการทำให้วาทกรรมเกี่ยวกับระบอบทักษิณชุดที่ตัวเขาสร้าง และสถาปนาขึ้นมาโดยผ่านสื่อในเครือผู้จัดการ เป็นที่ยอมรับในวงกว้างภายในระยะเวลาอันสั้น โดย สนธิ ได้ทำให้ระบอบทักษิณกลายเป็น “ประเด็นปัญหา” (problematization) ของสังคมขึ้นมาอย่างได้ผล จนเป็นที่เห็นชัดว่า “อำนาจ” “ความรู้” และ “ความจริง” เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก
คุณูปการของ สนธิ และสื่อในเครือผู้จัดการที่มีต่อสังคมไทยในเชิงวาทกรรมนั้นอยู่ที่ สนธิ ได้ช่วยให้คนไทยเป็นจำนวนมากสามารถตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถาม และตรวจสอบสรรพสิ่งต่างๆ แทบทุกเรื่องในสังคมไทยที่ห่อหุ้มคนไทยทั้งหมดเอาไว้ โดยทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายสภาพเป็น “ประเด็นปัญหา” ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่อง “ระบอบทักษิณ” เท่านั้น แต่ครอบคลุมแทบทุกเรื่องอย่างชนิดที่ต้องได้รับการตรวจสอบและวิพากษ์อย่างจริงจัง
สำหรับ สนธิ แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ควรได้รับการยกเว้น หรือยอมรับโดยปราศจากการตั้งคำถามหรือตรวจสอบ เพราะ สนธิ ไม่เคยมองสรรพสิ่งในฐานะที่หยุดนิ่ง เป็นเอกภาพ แน่นอน และตายตัว แต่ สนธิ มองออกอย่างทะลุปรุโปร่งว่า สรรพสิ่งเป็นสิ่งที่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาขึ้นอยู่กับ “ศึกวาทกรรม” หรือขึ้นอยู่กับการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในการนิยาม และการสร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นๆ ในแทบทุกเรื่อง โดยผ่านสื่อที่ทรงพลังอย่างบูรณาการของเขา
“พื้นที่การต่อสู้ในเชิงวาทกรรม” เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดที่ สนธิ ได้ใช้ในการต่อสู้โค่นล้มระบอบทักษิณ เพราะ สนธิ มองออกว่าจุดยืน ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้ ความหมายของผู้คนในสังคมนั้น ส่วนใหญ่แทบมิใช่เป็นเรื่องของการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หรือเป็นการตกผลึกทางความคิด แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากกฎเกณฑ์ของวาทกรรมชุดหนึ่งที่คนผู้นั้นรับมาและยึดถือไว้ต่างหาก
เพราะฉะนั้น วาทกรรม จึงเป็นตัวกำหนดจุดยืน ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้ ความหมายของผู้คนในสังคม การวิเคราะห์วาทกรรมได้ช่วยให้ สนธิ สามารถมอง “ความรู้” ในฐานะที่เป็น มุมมอง หรือ ทัศนะหนึ่ง (perspective) เท่านั้น ไม่ใช่ความจริงสูงสุดหรือสัจธรรมแต่อย่างใด
การพัฒนา วาทกรรมแบบอื่น หรือ แบบใหม่ ที่มี “ที่ว่าง” หรือ “พื้นที่” ให้กับความแตกต่างและความหลากหลายเป็น หนทางเดียว ที่จะก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก หรือการเปลี่ยนแปลงในทัศนะที่คนเรามีต่อโลก ต่อสังคม ต่อชีวิต และต่อตัวตนของตนเองได้
การพัฒนาวาทกรรม (discourse development) ไปสู่ “ภูมิปัญญาบูรณาการ” เพื่อสร้างคำนิยามและความหมายชุดใหม่ ที่ครอบคลุม ทัศนะต่อสรรพสิ่ง (everything) อันได้แก่ สังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ ตัวตน ชีวิต โลก และจักรวาฬ จึงกลายเป็น ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ ของ บูรณาปัญญาชน ผู้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของ วาทกรรมแบบใหม่ ที่จะกำหนดอนาคตและชะตากรรมของสังคมนี้ใน ยุคหลังทักษิณ ซึ่งคงจะมาถึงในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน
พอตระหนักได้เช่นนี้ เขา ก็ตื่นขึ้นจากการครุ่นคำนึงในใจเขาเต็มไปด้วยความฮึกเหิม และพลังอันเปี่ยมล้นที่พลุ่งพล่านอยู่ภายใน เขา ลุกขึ้นจากเก้าอี้ยุติการเรียงหมากล้อม หันไปจับกระบี่เพื่อออกไปร่ายรำกระบี่ที่ลานฝึกวิชาฝีมือข้างบ้านของเขา แม้ว่าขณะนั้นจะเป็นเวลาที่ดึกมากแล้ว พระจันทร์เดือนเสี้ยวกำลังลอยเด่นอยู่เหนือนภากาศยามราตรีที่ไร้เมฆ
วิถีแห่งนักกลยุทธ์ นั้น ยึดถือ การขัดเกลาจิตใจตนเอง เป็นสำคัญ โดยเริ่มจากมุ่งขัดเกลาจิตใจที่ยังไม่บริสุทธิ์ของตน ขจัดความรู้สึกอวดโอ่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนของตน จนกระทั่งใจของตนกระจ่างดั่งท้องฟ้ากว้าง จากนั้นจึงมุ่ง บำเพ็ญสมาธิภาวนา ขัดเกลาจิตใจตนให้เข้าสู่ ฌานสมาธิ โดยการฝึก จิต ให้รวมกับ ปราณ จนเป็นหนึ่งเดียว เพื่อพัฒนาจิตใจของตน และยกระดับจิตของตนให้เป็นหนึ่งเดียวกับ ใจของฟ้าดิน หรือ ใจแห่งเอกภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นสามารถเข้าถึงภูมิปัญญาอันเร้นลับของจักรวาฬได้ เมื่อนั้นเขาจะผละจากความมีสู่ความไม่มี หลอมรวมชีวิตเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับ อภิมรรค นับแต่นี้แค่รักษาสภาวะจิตกระจ่างแจ้งไว้ วิถีจิต ไม่มีวันโยกคลอน อีกทั้งจิตวิญญาณเป็นอิสรเสรี ไม่ยึดติดกับวัตถุธาตุใด มุ่งขัดเกลาจิตใจสู่จุดสูงสุด ซึ่งเป็น ‘สุญญตา’ หรือ ‘ความว่าง’
ขณะที่ เขา กำลังร่ายรำกระบี่อยู่นั้นเขา บอกกับตัวเองในใจว่า “ปากกา” ของเขา คือ กระบี่แห่งจิตใจของตัวเขา “ความคิด” ของเขาคือพลังอำนาจแห่งวาทกรรมของตัวเขา และ “หนังสือ” ของเขา คือ พื้นที่เพื่อการปลดปล่อยสรรพสัตว์ของตัวเขา จากนี้ไปเขาจะใช้ “ปากกา” กับ “ความคิด” ของเขา รังสรรค์ข้อเขียนชุด “พุทธบูรณา-รำลึก 100 ปีชาตกาลสืบสานปณิธานพุทธทาส” ขึ้นมา เพื่อตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเป็นตอนๆ นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2549 นี้เป็นต้นไป
สำหรับ เขา แล้ว ศึกวาทกรรม ครั้งใหม่ในช่วงรอยต่อไปสู่ ยุคหลังทักษิณในอนาคตอันใกล้ เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น