1 ความรวดร้าวของมหาบุรุษกับการเมืองฝ่ายเบื้องบน (1)

1 ความรวดร้าวของมหาบุรุษกับการเมืองฝ่ายเบื้องบน (1)



ความรวดร้าวของมหาบุรุษ กับการเมืองฝ่ายเบื้องบน (1)



"เราเป็นอาหารแห่งชีวิต
ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว
และผู้ที่วางใจในเรา
จะไม่กระหายอีกเลย"

ยอห์น 6:35




อัน ความรู้แบบข้ามพ้นตัวตน (transcendent knowledge) นั้น ต่างจาก ความรู้จากตำรา (book knowledge) ตรงที่ความรู้ประเภทนี้ ต้องเป็น ประสบการณ์โดยตรง ในการเข้าถึง "ความเป็นสิ่งนั้น" ซึ่งเป็นความจริงแท้ ความดีแท้ ความงามแท้แห่งสภาวธรรม ซึ่งไม่อาจถ่ายทอดให้กันได้ แต่ชี้ทางให้ได้


ในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยปกติของคนทั่วไป จึงยากที่จะเข้าถึงความรู้แบบข้ามพ้นตัวตนนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้ารู้จักใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะพอ แม้แต่การได้ดูภาพยนตร์ดีๆ เรื่องหนึ่ง ถ้าหากคนผู้นั้น เตรียมตัวมาอย่างดีพอ เขาก็อาจมีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับความรู้แบบข้ามพ้นตัวตนได้ แม้เพียงส่วนเสี้ยวแห่งชั่วยามขณะหนึ่งก็ตาม


ถูกแล้ว! ผู้เขียนกำลังพูดถึง วิธีการดูภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ แพสชั่น ออฟ เดอะ ไครสต์" (The Passion of the Christ) ของ เมล กิบสัน เพื่อให้มันกลายเป็น "ประสบการณ์โดยตรง" เกี่ยวกับความรู้แบบข้ามพ้นตัวตนของตัวผู้ดูเอง ไม่ว่าท่านจะได้เคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์มาแล้วหรือยัง ไม่ว่าท่านจะมีความรู้เรื่องศาสนาคริสต์หรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า ท่านควรดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในรูปแบบของ DVD ท่านควรดูคนเดียว ในเวลาดึกสงัด อาบน้ำชำระร่างกายและจิตใจให้ปลอดโปร่ง หลังจากอ่านเรื่องราวของพระเยซู ที่ผู้เขียนจะถ่ายทอดออกมาในเชิงมนุษย์นิยม หรือในเชิงที่ท่านก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์แห่งยุคของท่านแล้ว ก็นำพาตัวท่านเอง ย้อนเวลาเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ช่วงวาระสุดท้ายของพระเยซูที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่่ายทอดออกมาอย่างสมจริงสมจัง แล้วเฝ้าพิจารณาดูความรู้สึก ความคิดของตัวท่านที่เกิดขึ้นขณะที่กำลังดูภาพยนตร์เรื่องนี้...


เยซู (Jeshouah) ชื่อนี้เป็นชื่อธรรมดาสามัญในยุคนั้น รูปลักษณ์ภายนอกของเขาก็มิได้มีลักษณะโดดเด่นไปกว่าคนทั่วไป ผมสีดำยาวประบ่า แสกกลาง ไว้หนวดไว้เคราเหมือนชาวยิวทั่วไปในสมัยนั้น


สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเยซูที่เห็นได้ชัดคือ ดวงตาโศกซึ้งอยู่เป็นนิตย์ของเขา ดวงตาที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ยากแห่งการมีชีวิต อย่างเข้าใจซึ้งถึงมัน แทบกล่าวได้ว่า มีแต่ดวงตาคู่นี้ของเขาเท่านั้นที่ทำให้เขาดูเหมือนต่างไปจากผู้คนทั่วไป และอยู่ในความประทับใจ ความทรงจำของผู้คนที่ได้เคยเห็นเขาอย่างยากที่จะลืมเลือน มันมิใช่ดวงตาที่คมกล้า องอาจของนักรบผู้กล้า มันไม่ใช่ดวงตาของปราชญ์ผู้รอบรู้ แต่มันเป็นดวงตาที่โศกซึ้งคู่หนึ่ง และมันเป็นดวงตาที่ล้ำลึกยากจะหยั่งถึงคู่หนึ่ง ดุจความลึกล้ำของน้ำทะเล


เยซูเติบใหญ่ในเมืองนาซาเร็ธ มีอาชีพเป็นช่างไม้ที่ไม่มีร้านประจำเป็นของตัวเอง แต่ต้องตระเวนรับจ้างเป็นช่างไม้ไปตามที่ต่างๆ ที่มีคนเรียกใช้ เขาจึงคุ้นเคยกับชีวิตของผู้คนที่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ การที่ต้องตระเวนรับจ้างไปตามที่ต่างๆ เขาจึงไม่ได้สัมผัสแค่ความยากจนและความยากลำบากในการดำรงชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่เขายังได้พบเห็นผู้คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ อีกด้วย


จึงไม่น่าแปลกใจที่ในภายหลังเมื่อ เยซูได้กลายเป็น "คุรุ" แล้ว ท่านจึงสั่งสอนผู้คนจำนวนมากบนภูเขาที่มาฟังคำสอนของท่านว่า


"บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบประโลม...บุคคลผู้ใดต้องถูกข่มเหง ผู้นั้นเป็นสุข เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา"


คำสอนเรื่อง "แผ่นดินสวรรค์" ที่ชาวยิวเชื่อถือกันมากับความเป็นจริงที่น่าอเนจอนาถในนาซาเร็ธ ช่างมีช่องว่างที่ห่างกันไกลเสียเหลือเกิน! มีหลายคำถามที่เป็นข้อสงสัยเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ทำไม พระผู้เป็นเจ้าจึงยังไม่ประทานแผ่นดินสวรรค์แก่ผู้ยากไร้? ทำไมพระผู้เป็นเจ้าจึงเงียบเฉยต่อผู้คนที่น่าอเนจอนาถนี้?


เยซู ช่างไม้หนุ่มผู้เป็นผู้แสวงธรรม หรือผู้แสวงหาความจริงคนหนึ่ง ย่อมตระหนักถึงคำถามข้อสงสัยข้างต้นนี้มากกว่าผู้ใด เพราะฉะนั้น ดวงตาคู่นั้นของเขาจึงโศกซึ้งปานนั้น หัวใจของเยซูในยามนั้น จึงกระหายความจริงของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเหลือเกิน แต่หัวใจของเขาก็ไม่เคยเต็มเลย


ดินแดนปาเลสไตน์ในยุคนั้น เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรโรมัน โดยมีกษัตริย์เฮโรดเป็นเจ้าเมือง โดยที่ทางอาณาจักรโรมันได้ส่งปีลาตมาเป็นผู้ว่าการคอยสอดส่องดูแลพวกกษัตริย์ในเมืองขึ้นให้จงรักภักดีต่ออาณาจักรโรมัน ตราบใดที่พวกกษัตริย์ในเมืองขึ้นยังรักษาคำปฏิญาณที่ว่าจะจงรักภักดีอยู่ ทางอาณาจักรโรมัน จะปล่อยให้พวกเขามีสิทธิทางกฎหมายและเศรษฐกิิจ รวมทั้งมีกองกำลังส่วนตัวในเขตปกครองของตนได้


การที่กษัตริย์เฮโรด ยอมจำนนให้แก่ "ผู้รุกรานชาวต่างชาติ" ยังความไม่พอใจให้แก่พวกชาวยิวเป็นจำนวนมาก ชาวยิวเหล่านี้เป็นพวกที่นับถือศาสนายิวอย่างเคร่งครัด และมีความรู้สึกเกลียดชัง "วัฒนธรรมโรมัน" ที่นำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนาของพวกตน และดินแดนของตน คนเหล่านี้บางส่วนได้รวมตัวกันเป็น ขบวนการปลดแอก ที่มุ่งต่อต้านพวกโรมัน และถูกทางการหมายหัวว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้ว่าการอย่างปีลาตกังวลมากที่สุดก็คือ ในวันเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ ที่จะมีชาวยิวจำนวนมากมาแสวงบุญที่วิหารในกรุงเยรูซาเลม แล้วจะกลายเป็น การชุมนุมของพวกม็อบเกิดการจลาจลขึ้นมา


ชาวยิวส่วนใหญ่ไม่เพียงไม่พอใจกษัตริย์เฮโรดที่ยอมสยบให้แก่ "มหาอำนาจต่างชาติ" เท่านั้น พวกเขายังไม่พอใจพวกมหาปุโรหิตที่นำโดย คายาฟาส อีกด้วย เพราะพวกเขาเห็นว่า พวกมหาปุโรหิตเหล่านี้ ประนีประนอมกับจักรวรรดิโรมัน และบิดเบือนคำสอนอันบริสุทธิ์ของศาสนายิว บางส่วนของคนพวกนี้ จึงแยกตัวออกมาตั้ง "นิกายใหม่" ที่ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของพวกมหาปุโรหิตที่เป็นนิกาย "กระแสหลัก" ที่เรียกตัวเองว่า พวกฟาริสี ในกลุ่มนิกายใหม่ที่แยกตัวออกมานี้ มีกลุ่มหนึ่งที่โด่งดังมากคือ กลุ่มของ "ยอห์นผู้ให้รับบัพติสมา" ที่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร แถบยูเดีย


เยซูแห่งนาซาเร็ธทิ้งงานและบ้านช่องแล้วเข้าร่วมกับกลุ่มของยอห์นผู้ให้บัพติศมา เมื่อเขามีอายุได้ 28 ปี


ถิ่นทุรกันดารแถบยูเดีย แม้อาจดูน่าหวาดหวั่นสำหรับคนธรรมดา แต่เป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการปลีกวิเวก เจริญภาวนา และครุ่นคำนึงถึงพระผู้เป็นเจ้า นอกจากนี้ ถิ่นทุรกันดารนี้ยังใช้เป็นสถานที่หลบภัยของฝ่ายขบถ พวกนักปฏิวัติ รวมทั้งที่ตั้งของนิกายใหม่ที่หลบหนีภัยศาสนาจากพวกนิกายกระแสหลักแห่งกรุงเยรูซาเลมอีกด้วย


เยซูเดินทางมาหายอห์นถึงถิ่นทุรกันดาร เพื่อรับบัพติสมา (พิธีชำระจิตด้วยน้ำ) จากท่านแล้ว กลายเป็นศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของยอห์น ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า เยซูผู้เป็นชายหนุ่มที่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง และเป็นตัวของตัวเองสูงได้ศึกษาอยู่กับยอห์นครูของเขานานเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยสามารถกล่าวได้ว่า เยซูต้องได้ศึกษาร่ำเรียนคำสอนจากยอห์นเป็นเวลาหลายอาทิตย์ทีเดียว


ขณะที่ศึกษาอยู่กับกลุ่มของยอห์น เยซูไม่ได้ยืนกรานความเป็นตัวของเขาเท่าไหร่นัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เยซูเห็นด้วยกับความเห็นของยอห์นในทุกเรื่อง สิ่งที่เยซูเห็นพ้องต้องกันกับยอห์นก็คือ พวกเขาวิจารณ์คณะมหาปุโรหิตแห่งกรุงเยรูซาเล็มที่ทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน หมกมุ่นแต่พิธีกรรม ยึดถือประเพณีปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจนเหินห่างจากมวลชน แต่กลับไปประนีประนอมกับมหาอำนาจต่างชาติ พวกฟาริสีเองก็เอาแต่เคร่งคัมภีร์ ขาดความยืดหยุ่นในการประยุกต์ใช้คำสอน


แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เยซูรู้สึกเห็นต่างกับยอห์นเป็นอย่างมาก สิ่งนั้นคือ จินตภาพที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า เพราะจินตภาพที่ยอห์นมีต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น มิได้ต่างไปจากของพวกกระแสหลักเลย นั่นคือ เป็นจินตภาพของพระเจ้าผู้เป็นพระบิดาที่โกรธเกรี้ยว มุ่งลงโทษ ลงทัณฑ์ อันเป็นจินตภาพของพระเจ้าในพันธสัญญาเก่า แต่จินตภาพแบบนั้นคือ ตัวตนที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าจริงหรือ? นี่เป็นความสงสัยของเยซูมาตั้งนานแล้ว ก่อนที่เขาจะเข้าร่วมนิกายของกลุ่มยอห์นเสียอีก และความสงสัยนี้ก็ไม่เคยหมดไปเลยแม้เยซูจะเข้าร่วมกับกลุ่มของยอห์นแล้ว


เยซูเข้าสู่กระบวนการบำเพ็ญ โดยอดอาหารเป็นเวลาสี่สิบวันสี่สิบคืน อันเป็นระเบียบวิธีการฝึกฝนของกลุ่มยอห์น บนภูเขาลูกหนึ่งในถิ่นทุรกันดารใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน นอกจากอดอาหารแล้ว เยซูยังเจริญภาวนาโดยตลอด ในช่วงสี่สิบวันสี่สิบคืน เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า ตัวตนที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้านั้น เป็นอย่างไรกันแน่? "แสงดาวแห่งศรัทธา" ที่ส่องประกายระยิบบนฟากฟ้ายามราตรีเหนือถิ่นทุรกันดารแถบยูเดีย ดูอ่อนโยนยิ่งนักในสายตาของผู้แสวงหาหนุ่มอย่างเยซู


หลังจากผ่านการบำเพ็ญอย่างหนักตลอดสี่สิบวันสี่สิบคืน ในที่สุดเยซูก็ได้พบคำตอบแล้ว! แต่เป็นคำตอบที่ต่างไปจากความเชื่อเรื่องพระเจ้าของคนรุ่นก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง!


เยซูเห็นแล้วว่า สิ่งที่ "ขาดหายไป" ในคำสอนของศาสนายิวก่อนหน้านี้ รวมทั้งคำสอนของกลุ่มยอห์นด้วย ก็คือ "ความรัก" เพราะพวกนั้นพร่ำสอนผู้คนให้ "หวาดกลัว" ในพระเจ้า ให้ระวัง "ความโกรธเคือง" จากพระเจ้า "การลงโทษ" จากพระเจ้า และมุ่งกระตุ้นเตือนให้พวกเขา "กลับใจ" เป็นหลัก


ขณะที่สิ่งที่ เยซูได้ค้นพบเกี่ยวกับความจริงของพระเจ้า จากประสบการณ์โดยตรงของเขา ในช่วงที่บำเพ็ญอย่างหนักตลอดสี่สิบวันสี่สิบคืนนี้ กลับเป็นจินตภาพของพระเจ้าที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเข้าใจในความทุกข์ยากของมนุษย์ แต่เยซูก็มิได้ปริปากบอกประสบการณ์และการค้นพบของเขาให้ใครฟังทั้งสิ้น


ขณะนั้น พวกนิกายกระแสหลักในกรุงเยรูซาเลม กำลังหาทางปราบปรามกลุ่มยอห์น ซึ่งถูกทางการเพ่งเล็งว่าเป็นที่ส้องสุมของ "ผู้ก่อการร้าย" เพราะหากพวกนี้ก่อการขบถ ปลุกระดมมวลชนลุกฮือขึ้นมา นอกจากจะถูกกองทัพโรมันปราบแล้ว ทางโรมันก็คงหันมาเอาเรื่องพวกมหาปุโรหิตแห่งกรุงเยรูซาเลม ด้วยข้อหาไร้สมรรถภาพในการควบคุมพวก "นอกรีต"


ภัยกำลังย่างกรายเข้ามาใกล้กลุ่มยอห์นเต็มทีแล้ว ขณะที่ภายในกลุ่มยอห์นเอง พวกหัวรุนแรงที่เข้ามาร่วมกับกลุ่มยอห์น และมาจากดินแดนบ้านเกิดเดียวกับเยซู ต่างก็ปรารถนาจะได้ "ผู้นำ" ขบวนการปลดแอกที่เป็นคนบ้านเดียวกันกับพวกตนมาผลักดันการปฏิวัติขับไล่ต่างชาติ พวกเขาเริ่มให้ "ความสนใจ" ในตัวของเยซูผู้เพิ่งเสร็จการบำเพ็ญขั้นอุกฤษฏ์มาหยกๆ พวกเขาพุ่งเป้าแห่ง "ความหวัง ทั้งปวงของชนเผ่าพวกเขาไปที่เยซูหนุ่ม จนถึงประกาศลั่นเมื่อได้พบเยซูหนุ่มว่า "เราได้พบพระเมสสิยาห์แล้ว!" (ยอห์น 1:41)


เราต้องเข้าใจว่า ศิษย์ของเยซูสองคนแรกคือ อันดรูว์ และ ซีโมนเปโตร ผู้เป็นพี่ชายของอันดรูว์ ที่เชื่อว่า เยซู คือ พระเมสสิยาห์ (พระผู้ช่วยให้รอด) นั้น ไม่ใช่ "พระผู้ช่วยให้รอด" ในความหมายทางจิตวิญญาณ อย่างที่เข้าใจกันในสมัยนี้ แต่หมายถึง "ผู้นำทางการเมือง" ที่จะมาปลดปล่อยประชาชนให้พ้นจากการครอบงำของต่างชาติต่างหาก นี่คือ ความเข้าใจผิดประการแรกที่ศิษย์ของเยซูมีต่อเยซู และนำไปสู่ "โศกนาฏกรรม" ของเยซูในเวลาต่อมา


เพราะไม่เพียงแต่ศิษย์รุ่นแรกๆ ของเยซูหรอกที่ฝาก "ความหวัง" ของการเป็น "ผู้นำ" ขบวนการปลดแอกและ "ผู้ปฏิรูปศาสนา" ไว้ที่ตัวเยซู แม้แต่ศิษย์รุ่นหลังแทบทั้งหมดของเยซูต่างก็เข้าใจผิดในลักษณะเดียวกัน จนแทบกล่าวได้ว่า พวกเขายัดเยียดความคาดหวังของพวกเขาให้แก่เยซูเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เคยพยายามทำความเข้าใจ "ด้านใน" ของเยซูอย่างแท้จริงเลย ขณะที่เยซูยังมีชีวิตอยู่


เยซูเองก็กลายเป็น "คุรุ" ในชั่วข้ามคืนอย่างไม่ทันตั้งตัวเหมือนกัน เมื่อมีคนมาขอเป็นศิษย์ แม้เยซูจะตระหนักในความเข้าใจผิดที่ศิษย์มีความคาดหวังกับเขาแบบหนึ่ง ขณะที่ตัวเขาจริงๆ นั้นต้องการเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่เยซูคงเคารพใน "ความต่าง" ที่ยังมีอยู่ระหว่างตัวเขาและลูกศิษย์ แต่เขาอาจคาดหวังอยู่ลึกๆ ว่าสักวันความมุ่งหวังของลูกศิษย์กับความมุ่งหวังของเขา คงปรองดองไปในทิศทางเดียวกันได้


เยซูและคณะศิษย์กลุ่มเล็กๆ ของเขา ปลีกตัวแยกจากกลุ่มยอห์นได้ไม่นานนัก ยอห์นก็ถูกกษัตริย์เฮโรดส่งคนมาจับกุมตัว และถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา แน่นอนว่าผู้ที่กดดันให้กษัตริย์เฮโรดจับกุมยอห์นก็คือ คณะมหาปุโรหิตแห่งเยรูซาเลมนั่นเอง ซึ่งคณะมหาปุโรหิตเหล่านี้ก็เริ่มเพ่งเล็งเยซูผู้มีฐานะเป็น "ศิษย์เอก" ของยอห์น โดยหมายหัวว่าเป็นรายต่อไปที่จะต้องถูกกำจัดเมื่อสบโอกาส


ความเคลื่อนไหวของเยซูในช่วงแรกกับบทบาทของยอห์นผู้ให้รับบัพติสมา รวมทั้งการโยงใยกับขบวนการปลดแอก เป็นภูมิหลังที่สำคัญมาก ที่ผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลสมัยนี้ ต้องทำความเข้าใจในแง่มุมที่กว้างไกลก่อน รวมทั้งผู้ที่ดูภาพยนตร์ "เดอะ แพสชัน ออฟ เดอะ ไครสต์" ด้วย









 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้