วิวัฒนาการของจิตกับการพัฒนาแบบบูรณาการ (ตอนที่ 2) 19/10/2547

วิวัฒนาการของจิตกับการพัฒนาแบบบูรณาการ (ตอนที่ 2) 19/10/2547



วิวัฒนาการของจิตกับการพัฒนาแบบบูรณาการ (ตอนที่ 2)

 



10 ขั้นตอนแห่งระดับวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ตั้งแต่ขั้นที่ 1 จนถึงขั้นที่ 6 ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น มีประโยชน์ในการช่วยให้เรามีความเข้าใจ พัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ที่เป็น ปุถุชนตั้งแต่เกิดจนตาย ว่าต้องผ่านขั้นตอนการพัฒนาอย่างไรบ้าง โดยที่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับ โครงสร้างการพัฒนาจิตสำนึกของคนทั่วไป เช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ "ผู้นำ" ในวงการต่างๆ ที่จะสามารถวาง แนวทางในการพัฒนา ได้อย่างสอดคล้องกับ การยกระดับจิตสำนึก ของผู้คนได้อย่างเหมาะสม รวมทั้ง "มองออก" ว่าจะ "ชี้นำ" ผู้คนให้พัฒนาไปข้างหน้าในทิศทางใดและได้อย่างไร


แต่ถ้าหากเราอยากจะมีความเข้าใจว่า คนเราจะ บรรลุธรรม ได้อย่างไร เมื่อพิจารณาจาก โครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ภูมิปัญญาบูรณาการบอกว่า เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ขั้นที่ 7-ขั้นที่ 10 แห่งระดับวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ดังต่อไปนี้...กว่าที่มนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งจะมีพัฒนาการทางจิตมาจนถึง ขั้นที่ 6 หรือ vision-logic ซึ่งเป็น ระดับจิตของปัญญาชนได้ ก็คงผ่านโลกมาไม่น้อย เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งใช้ชีวิตทางโลกอย่างจัดเจนมาแล้วจนกระทั่งมองทะลุซึ้งถึง ความเป็นอนิจจังของชีวิต การอ่านหนังสือ ธรรมะหรือหนังสือเชิงปรัชญา เชิงจิตวิญญาณเป็นจำนวนมาก เพื่อ ดับกระหาย มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก สำหรับคนในระดับจิตขั้นที่ 6 นี้ ซึ่งช่วยพอกพูนสติปัญญาทางธรรมให้แก่คนผู้นั้น จนสามารถพัฒนาจิตของเขาเป็น higher vision-logic หรือจิตที่พัฒนาจนติดเพดานบนของขั้น vision-logic ได้ แต่แม้กระนั้น คนผู้นั้นก็จะรู้สึก "ไม่เพียงพอ" อยู่ดี


เพราะลำพังแค่หนังสือธรรมะ หนังสือเชิงปรัชญา-ศาสนาและเชิงจิตวิญญาณอย่างเดียวต่อให้ผู้นั้นตะลุยอ่านนับร้อยนับพันเล่มก็ไม่อาจดับความกระหายทางจิตใจของคนผู้นั้นได้หรอก อุปมาดังคนผู้นั้นกำลังหิวโซ แลเห็น ภาพเขียนรูปอาหารอันโอชะตั้งอยู่เบื้องหน้า ย่อมไม่อาจดับความหิว เพราะแค่แลดูภาพวาดฉันใด ลำพังการแค่อ่านหนังสือโดยไม่มี การปฏิบัติธรรม เพื่อมี "ประสบการณ์โดยตรง" ใน "สิ่งนั้น" ที่หนังสือธรรมะได้ แค่พรรณนาก็ไม่อาจทำให้จิตของผู้นั้น ยกระดับเกินไปกว่าขั้นที่ 6 หรือ vision-logic ได้ ครั้นเมื่อเริ่ม ปฏิบัติธรรม อย่างจริงจัง ไม่ว่าคนผู้นั้นจะปฏิบัติในแนวทาง คัมภีร์วิสุทธิมรรค ของพุทธเถรวาท หรือในแนวทาง มหามุทรา ของพุทธทิเบต หรือในแนว เซน ของพุทธมหายาน หรือในแนว โยคะสูตร ของฮินดู หรือในแนว เซียน ของเต๋า หรือในแนว คาบาล่า ของศาสนายิว หรือในแนว ซูฟี ของอิสลาม หรือในแนว ภาวนาเชิงรหัสนัย ของคริสต์ หรือแม้แต่ในแนว นิวเอจ ของตะวันตกก็ตาม สิ่งที่ภูมิปัญญาบูรณาการโดยเฉพาะจิตวิทยาบูรณาการได้ค้นพบก็คือ พัฒนาการของจิต หลังจากที่ผู้นั้นได้เริ่มปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องจริงจัง มันก็ยังเป็น ขั้นตอน (stage model) อยู่ดี ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 4 ขั้นตอนของการพัฒนาเชิงข้ามพ้นตัวตน (four general stages of transpersonal development) ซึ่งได้แก่ ขั้นที่ 7 psychic, ขั้นที่ 8 subtle, ขั้นที่ 9 causal และขั้นที่ 10 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย nondual (โปรดดู แผนภาพ ประกอบ) (ในที่นี้ยังไม่ขอลงลึกในรายละเอียดของขั้นที่ 7-10 เพราะจะแยกอธิบายโดยละเอียดต่างหากในโอกาสหน้า)


ระดับจิตตั้งแต่ขั้นที่ 7 ขึ้นไปนี้เป็นขอบเขตของ อภิจิต (the Superconscious) ที่ข้ามพ้นตัวกู-ของกู (transpersonal) ไปแล้ว โดยมันดำรงอยู่ในเชิงโครงสร้างของจิตในตัวคนเราทุกคน ในฐานะที่เป็น ศักยภาพ (potential) ของจิตที่สามารถพัฒนาได้ ถ้า ฝึกฝนจิต อย่างจริงจัง ดุจการฝึกฝนศิลปะทั่วไป


 


 

ส่วนการจะ ฝึกฝนจิต (ปฏิบัติธรรม หรือ spiritual practices) ด้วย แนวทางใด นั้น ภูมิปัญญาบูรณาการ บอกว่ามันเป็นแค่ ความต่างของโครงสร้างเชิงผิว (surface structure) ซึ่งถูกกำหนดโดย บริบททางวัฒนธรรม เท่านั้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้นั้นจะต้อง ตระหนักรู้ ให้ได้ว่า แนวทางที่ตัวเองเลือกฝึกฝนจิตหรือปฏิบัติธรรมนั้น มันจะ นำพาตัวเอง ไต่ระดับของ โครงสร้างเชิงลึกของจิต (deep structure ที่เป็น basic defining pattern) ซึ่งได้แก่ psychic, subtle, causal และ nondual ไปได้ไกลที่สุดแค่ไหนต่างหาก


เหมือนอย่างที่คนเราพอเกิดมาและเจริญเติบโตพอจะพูดได้ และคิดเชิงนามธรรมได้ ก็ต้องผ่านการพัฒนาจาก จินตภาพ (images) ไปสู่ สัญลักษณ์ (symbols) และไปสู่ มโนทัศน์ (concepts) อันเป็น โครงสร้างเชิงลึกของภาษา อย่างเป็นขั้นตอนก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (และไม่อาจพัฒนา ย้อนศร ได้) โดยที่ เนื้อหา ของจินตภาพ, สัญลักษณ์ และมโนทัศน์ อันเป็นโครงสร้างเชิงผิวของภาษาย่อมสามารถแตกต่างได้อย่างหลากหลาย แต่ที่ไม่มีวันเปลี่ยนคือ ทิศทางของการพัฒนาในเชิงโครงสร้างเชิงลึกนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น วิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด ผิวสีอะไร เพศอะไร หรือวรรณะอะไร ก็ล้วนแล้วแต่ต้องพัฒนาไปตามทิศทางของโครงสร้างเชิงลึก ทั้ง 10 ขั้นตอนดังที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อยกเว้น ความแตกต่างที่แลเห็น เป็นเพียงความแตกต่างของเนื้อหาอันเป็นโครงสร้างเชิงผิวที่ถูกกำหนดด้วยปัจจัยต่างๆ เท่านั้น แต่ไม่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างเชิงลึกนี้ไปได้


การพัฒนาของจิตในระดับโลกียะ อย่างขั้นที่ 1-6 ก็ดี หรือ การพัฒนาของจิตในระดับโลกุตตระ อย่างขั้นที่ 7-10 ก็ดี ล้วนดำเนินไปตาม หลักวิวัฒนาการของโฮลอน หรือ "หน่วยองค์รวม" ที่เคยกล่าวไปแล้วทั้งสิ้น กล่าวคือ ระดับจิตที่ผุดขึ้นมาใหม่ (new emergence) จะมี "ความลึก" ยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดย "ก้าวข้ามแต่หลอมรวม" ระดับจิตขั้นก่อนเสมอ


ระดับจิตที่ผุดขึ้นมาใหม่ นี้ จะทำให้คนผู้นั้นที่แม้จะมี ร่างกายร่างเดิม แต่ สภาวะจิต ของเขาจะไม่เหมือนเดิม ในความหมายที่ว่า เขาจะนิยามความเป็นตัวตนของเขาใหม่ในทิศทางที่สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม (higher sense of self) สายตาของเขาที่มองโลก มองผู้อื่น มองจักรวาฬก็จะเปลี่ยนไป แรงจูงใจ แรงผลักดันในชีวิตของเขาก็จะเปลี่ยนไป สิ่งที่เขาใส่ใจในการเรียนรู้ก็จะเปลี่ยนไป จุดยืนเชิงจริยธรรมของเขา ก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่สูงส่งยิ่งขึ้นตามขั้นตอนของโครงสร้างเชิงลึกแห่งพัฒนาการของจิต


เพราะฉะนั้น โมเดลการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง จะต้องเป็นโมเดลที่มีพื้นฐานอยู่ที่การพัฒนาตามขั้นตอนของโครงสร้างเชิงลึกของจิตมนุษย์แบบปัจเจกและรวมหมู่นี้เท่านั้น! เท่าที่ผ่านมา แนวทางการพัฒนาทั้งหลายล้วนแล้วแต่ประสบความล้มเหลว สาเหตุหนึ่งนอกจาก รู้ไม่จริง จึงมุ่งพัฒนาแบบ "ตาบอดคลำช้าง" แล้วแต่ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เพราะ มุ่งพัฒนาเชิงปริมาณ หรือมุ่งเปลี่ยนแปลงแค่ โครงสร้างเชิงผิว เป็นหลัก โดยขาดความเข้าใจ หรือไม่ได้ตระหนัก หรือไม่รู้วิธีการใน การพัฒนาเชิงคุณภาพแบบบูรณาการ ที่มุ่งเปลี่ยนแปลง โครงสร้างเชิงลึก เป็นสำคัญ


แม้ ภูมิปัญญาบูรณาการ จะมีความเห็นว่า ในฐานะ ปัจเจก คนเราทุกคนมี ศักยภาพ ที่จะวิวัฒนาการจิตของตนไปจนถึงขั้นที่ 10 หรือ ขั้นอทวิภาวะ (ขั้นที่ข้ามพ้นความเป็นคู่ของสรรพสิ่ง) ได้ทุกคนก็จริง แต่ถ้าพิจารณาในเชิงรวมหมู่ หรือพิจารณา ระดับเฉลี่ยของจิตสำนึกของมนุษยชาติโดยรวม ที่ได้วิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบันแล้ว เราได้พบว่า ปัจจุบันมนุษยชาติโดยรวมเพิ่งมีวิวัฒนาการทางจิตมาถึงแค่ระดับที่ 6 หรือ vision-logic เท่านั้น มิหนำซ้ำส่วนใหญ่ยังเป็น vision-logic ในระดับล่างหรือระดับขั้นต้น (มีมสีเขียว) เท่านั้น


จากงานวิจัยระดับจิตสำนึกของชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นประเทศอภิมหาอำนาจแห่งโลกปัจจุบันพบว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่มี จิตระดับ vision-logic ขั้นต้น (มีมสีเขียว) มีอยู่ราวๆ 20% ส่วนผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่มี จิตระดับที่ 5 หรือ formop (มีมสีส้ม) มีอยู่ราวๆ 40% และผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่มี จิตระดับที่ 4 หรือ conop (มีมสีน้ำเงิน) ก็ยังมีอยู่ถึง 25% ส่วนผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่มีจิตระดับ vision-logic ขั้นสูง (มีมสีเหลือง) ยังมีแค่ 2% เท่านั้น


เป็นที่เห็นได้ชัดว่า หลังเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ชาวอเมริกันที่มีระดับจิตมีมสีส้ม (40%) กับชาวอเมริกันที่มีระดับจิตมีมสีน้ำเงิน (25%) คือผู้ที่สนับสนุนให้รัฐบาลของตนเข้าไปทำสงครามในอิรัก ขณะที่ชาวอเมริกันที่มีระดับจิตมีมสีเขียว (20%) และระดับจิตมีมสีเหลือง (2%) เป็นฝ่ายค้านการทำสงครามรุกราน


จุดเปลี่ยนเชิงบูรณาการ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ที่ชาวโลกจะได้เห็นกันนั้น คงเป็นเพราะจำนวนประชากรของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่มีจิตสำนึกระดับ vision-logic (มีมสีเขียว และมีมสีเหลือง) ได้ทวีจำนวนมากขึ้นพอที่จะ งัดข้อ กับจำนวนประชากรของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่มีจิตสำนึกระดับ formop (มีมสีส้ม) ที่กำลังยึดกุมอำนาจเศรษฐกิจทุนนิยมอยู่ได้นั่นเอง


ขนาดประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยังเป็นเช่นนี้เลยแล้ว ระดับจิตสำนึกของผู้ใหญ่ชาวไทย ที่มีระดับจิตในขั้นที่ 3 หรือ มีมสีแดง กับขั้นที่ 4 หรือ มีมสีน้ำเงิน ซึ่งเป็น ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย ที่ "ค้ำจุน" ระบอบทักษิณ อยู่ในปัจจุบัน จะเป็นอย่างไร?


เราจะคาดหวังและคิดง่ายๆ ได้หรือว่า ระดับจิตของผู้คน ระดับรากหญ้าเหล่านี้ จะสามารถวิวัฒนาการไปได้อย่างราบรื่น พร้อมๆ กับพัฒนาการของระบบทุนนิยมไทย ภายใต้โลกาภิวัตน์? มันไม่ง่ายอย่างนั้นแน่นอน!


การมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึง กระบวนการคลี่คลาย และพัฒนาการของระดับจิตกลุ่ม หรือระดับจิตรวมหมู่จากระดับมีมสีแดง-สีน้ำเงิน ไปสู่ระดับมีมสีส้ม และไปสู่ระดับมีมสีเขียว จึงเป็น หัวข้อศึกษาที่ท้าทายที่สุดหัวข้อหนึ่งสำหรับนักสังคมศาสตร์ไทยในยุคนี้ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในตอนหน้า






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้