บันได, ผู้ปีนบันได และทิวทัศน์ในวิวัฒนาการทางจิตกับทางเลือกใหม่ของสังคมไทย
หาก โครงสร้างเชิงลึก อย่าง โครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิต ทั้ง 10 ขั้นที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น เปรียบเหมือน บันได (ที่จริงคือ ครึ่งวงกลมที่ซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้นๆ มากกว่า เพราะแต่ละขั้นของระดับของจิตนั้น จะมีลักษณะเหลื่อมทับกันเสมอ มิได้มีการแบ่งแยกแต่ละขั้นกันอย่างเด็ดขาด) ความเข้าใจแค่นี้ ยังเป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 ส่วนของ กระบวนการวิวัฒนาการทางจิต ที่เกิดขึ้นจริง และ ภูมิปัญญาบูรณาการได้ใช้ กระบวนการวิวัฒนาการทางจิตของโฮลอนปัจเจก และโฮลอนรวมหมู่นี้มาเป็นแก่นแกนกลางในการสร้าง "โมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการ" ขึ้นมา เท่านั้น
เพราะถ้าหาก จิตทั้ง 10 ขั้นเปรียบเหมือน บันได มันก็ยังขาด ผู้ปีนบันได หรือ "ตัวตน" (self) หรือ "ตัวรู้ของจิต" และก็ยังขาด "ทิวทัศน์" (vision) หรือ "โลกทัศน์" (และชีวทัศน์) ที่มองเห็นจากขั้นบันไดนั้นๆ
ซึ่งในแต่ละขั้น บันได "ผู้ปีนบันได" จะเห็น ทิวทัศน์ แตกต่างกันไป หรือ มองโลกต่างกันไป ตามขั้นตอนวิวัฒนาการของจิต ของโฮลอนหรือหน่วยองค์รวมนั้น ซึ่งก็ทำให้คนแต่ละคนที่มีระดับพัฒนาการของจิตไม่เท่ากัน จึงมี มีมสี แต่ละสีที่แตกต่างกันไปด้วย ดังที่ผู้เขียนได้เคยใช้เรื่อง มีม (meme) สีต่างๆ และระดับจิตนี้ไปวิเคราะห์ ทักษิโณมิกส์ มาแล้ว (ใน "แกะรอยทักษิโณมิกส์กับความจำเป็นของทางเลือกที่สาม" สำนักพิมพ์ Openbooks, สิงหาคม 2547 หน้า 46-53 เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น โปรดอ่านประกอบข้อเขียนนี้)
ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั่วทุกสังคมจนแทบเป็นกลียุคอย่างเช่น ในยุคปัจจุบันนี้ หากสาวต้นตอไปจนถึงสาเหตุลึกๆ แล้วเราจะพบว่า ล้วนเกิดขึ้นเพราะ ผู้คน มีความเห็น ความเชื่อ อุดมการณ์ และโลกทัศน์ (เรียกรวมๆ ก็คือ ทิวทัศน์) ที่ แตกต่างกัน ทั้งนี้ก็เพราะ ผู้คน (หรือ "ผู้ปีนบันได") มีระดับวิวัฒนาการของจิต (หรือ "ขั้นบันได") ที่แตกต่างกัน และสังคมโลกโดยรวมก็ยังมีวิวัฒนาการไปไม่ถึงขั้น บูรณาการ ที่เป็น higher vision-logic หรือ ขั้นบนสุดของระดับจิตขั้นที่ 6 ซึ่งเป็น สังคมในอนาคตขั้นต่อไปที่รอมนุษยชาติอยู่เบื้องหน้า หรือ "สังคมความรู้" ที่เริ่มมีการกล่าวถึงกันบ้างแล้วนั่นเอง องค์ความรู้ล่าสุดของมนุษยชาติหรือภูมิปัญญาบูรณาการที่เพิ่งเริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในช่วง 10 ปีมานี้ ที่โลกตะวันตกได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่วงการผู้สนใจเรื่อง การพัฒนาอย่างบูรณาการ ในแง่ที่ว่า มันสามารถบ่งชี้ชัดในระดับ "ฟันธง" ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมหึมาว่า สังคมมนุษย์จะพัฒนาไปในทิศทางใด โดยใช้ โครงสร้างเชิงลึก อย่างโครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิตนี้เป็นตัวบ่งบอก มันจึงเป็น "จุดเปลี่ยนเชิงบูรณาการ" สำหรับวิชาสังคมศาสตร์โดยแท้
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่สนใจในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง (ซีกขวาล่าง) อย่างเช่น พัฒนาการของระบบทุนนิยมในประเทศไทย เราย่อมสามารถเข้าใจมันได้ในมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าเดิมว่า มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับวิวัฒนาการทางจิตของ โฮลอนรวมหมู่ (ในกรณีนี้คือ ชนชั้นกลางไทย) ที่เป็น มีมสีส้ม ที่ ผุด หรือ โผล่ ขึ้นมาอย่างชัดเจนตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นผู้มีส่วนในการก่อตัวและแตกสลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ในปี 2540 เป็นผู้ค้ำจุนนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยในต้นปี 2544 และเป็นผู้ "รู้ทัน" และต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ในปี 2547 โดยที่ก่อนหน้านี้โฮลอนรวมหมู่หลักที่ "ครอบงำ" ประเทศนี้ให้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารก็คือ กลุ่มคนที่มีระดับจิตเป็น มีมสีน้ำเงิน และเป็น "ตัวตน" ของรัฐไทย และหรือระบบราชการไทยมาโดยตลอด ขณะที่ประชาชนในระดับรากหญ้าที่ยากไร้เป็นกลุ่มคนที่มีระดับจิต เป็น มีมสีแดง กับ มีมสีน้ำเงิน ซึ่งมีทิศทางการพัฒนาทางจิตไปสู่ มีมสีส้ม (ลัทธิบริโภคนิยม, การแข่งขันเชิงเศรษฐกิจ) อย่างมองเห็นได้ชัด
หรือเราย่อมสามารถใช้มุมมองเรื่อง วิวัฒนาการของจิตนี้มาประเมิน นโยบายประชานิยมของทักษิโณมิกส์ ได้ว่า สำเร็จหรือล้มเหลวกันแน่ คือ ไม่ดูอย่างหยาบๆ แค่ รายได้ ของประชาชนรากหญ้าเพิ่มขึ้น หรือ หนี้สิน เพิ่มขึ้นกันแน่เท่านั้น แต่จะวิเคราะห์ลึกไปถึงระดับโครงสร้างของจิตของประชาชนระดับรากหญ้า ส่วนใหญ่ว่ามีพัฒนาการทางจิตหรือไม่ ถ้ามีมันพัฒนาไปอย่างมี "สุขภาวะ" หรือ "พยาธิภาวะ" กันแน่
หากสมมติเราได้ข้อสรุปว่า แนวทางของทักษิโณมิกส์ประสบความล้มเหลวในการพัฒนาแบบบูรณาการ และยั่งยืน (ซึ่งตรวจสอบได้จากการศึกษา พัฒนาการทางจิตของโฮลอนรวมหมู่ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย) เราก็ย่อมสามารถเห็น "ทางเลือกใหม่" อย่างมีวิชาการ ว่าจะนำเสนอแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศแบบไหนที่ดีกว่าของทักษิโณมิกส์ได้อย่างเป็นองค์รวม และอย่างบูรณาการโดยแท้จริง
พูดสั้นๆ ก็คือ สิ่งที่ผู้เขียนกำลังพยายามอย่างเต็มที่ในข้อเขียนชุดนี้ของผู้เขียนก็คือ การนำเสนอฐานคิด หรือแม่บทแห่งวิธีคิดที่สามารถใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบแนวทางต่างๆ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศที่ถูกนำเสนอโดยพรรคการเมือง หรือกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมนี้ได้อย่างปราศจากอคติหรือฉันทคติ ซึ่งในขณะนี้ ผู้เขียนยังไม่เห็นว่า มีฐานคิดไหน หรือแม่บทแห่งวิธีคิดไหน ที่ทรงพลังรอบด้าน และบูรณาการมากเท่ากับ โมเดลเชิงฐานความคิด ที่ผู้เขียนกำลังนำเสนออยู่ในข้อเขียนชุดนี้ที่เป็น "โมเดลบูรณาการ" (integral model) อย่างแท้จริง
โมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการยืนยันว่า วิวัฒนาการของจิตมนุษย์ทุกคนจะต้องพัฒนาผ่านทีละขั้น จากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูงเสมออย่างไม่สามารถกระโดดข้ามขั้นได้ ไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขของสังคมใดๆ ก็ตาม
กล่าวคือ ต่อให้เป็นสังคมพระศรีอาริย์ มนุษย์ในสังคมเชิงอุดมคติแห่งอนาคตกาลนี้ก็ต้องผ่านขั้นตอนวิวัฒนาการทางจิตเช่นนี้เสมอ เพียงแต่จะผ่านขั้นตอนต่างๆ ได้เร็วกว่าสังคมปัจจุบัน และคนในสังคมพระศรีอาริย์นี้ ส่วนใหญ่จะสามารถมีพัฒนาการทางจิตสูงกว่าระดับที่ 7 ขึ้นไปได้อย่างไม่ต้องใช้ความเพียรพยายามในการฝึกฝนทางจิตมากเท่าสังคมปัจจุบัน เพราะเงื่อนไขทางสังคม, สถาบัน, ระบอบเศรษฐกิจ-การเมือง, องค์ความรู้, และบริบททางวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ มันเอื้ออำนวยให้คนในสังคมพระศรีอาริย์มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองให้โครงสร้างเชิงวิวัฒนาการทางจิตของผู้คน มันเผยตัวออกมาได้เร็ว และไปได้ไกลกว่าสมัยปัจจุบันนั่นเอง
เหมือนอย่างที่ ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ย่อมอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง-วัฒนธรรม ที่ทำให้ระดับจิตของพวกเขาสามารถพัฒนามาถึงระดับจิตขั้นที่ 5 formop (มีมสีส้ม) ได้อย่างไม่ยากเย็น โดยผ่านระบบการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมฟิวดัล (ศักดินา) ก่อนหน้านั้น ที่คนส่วนใหญ่จะพัฒนาระดับจิตได้เพียงขั้นที่ 4 conop (มีมสีน้ำเงิน) เท่านั้น โดยที่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่สุดในยุคฟิวดัลที่เคลื่อนไหวกระบวนการภูมิธรรม (Enlightenment Movement) ก็ยังมีระดับจิตแค่ขั้นที่ 5 (มีมสีส้ม) เป็นหลัก ขณะที่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคทุนนิยมโพสต์โมเดิร์นในปัจจุบัน จะมีระดับจิตขั้นที่ 6 vision-logic (มีมสีเขียวและมีมสีเหลือง) เป็นหลัก และเราย่อมคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตข้างหน้า ระดับจิตของปัญญาชนหัวก้าวหน้าจะต้องไปสูงถึงระดับจิตขั้นที่ 7 transpersonal (ข้ามพ้นตัวกู-ของกู) อย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็วเท่านั้น
กล่าวในความหมายนี้ สังคมในอุดมคติของมนุษยชาตินั้น รอเราอยู่ข้างหน้าอย่างไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้ว ถ้าพิจารณาจากทิศทางการคลี่คลายของโครงสร้างเชิงลึกอย่างโครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิตนี้ เพียงแต่คงยังไม่ใช่ในชั่วชีวิตของพวกเรา หรือของลูกหลานของพวกเรา แต่มันต้องคลี่คลาย และวิวัฒนาการไปในทิศทางนี้อย่างแน่นอน แม้ว่าจะประสบกับอุปสรรคความยากลำบากมากมายแค่ไหนก็ตาม
ขอย้ำอีกครั้งว่า วิวัฒนาการของจิตมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใด มันก็ต้องผ่านขั้นตอนวิวัฒนาการเชิงลึกจากจินตภาพ (image) ไปสู่สัญลักษณ์ (symbol) แล้วจึงไปสู่มโนทัศน์ (concept) แล้วจึงไปสู่กฎทางสังคม (rule) เสมอ ไม่ว่า เนื้อหา ของมันจะแตกต่างกันไปตามบริบททางวัฒนธรรมที่หลากหลายเพียงใดก็ตาม แต่ในระดับของ โครงสร้างเชิงลึก แล้ว มันต้องเป็นเช่นนี้เสมอ โดยไม่อาจย้อนศรได้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมใด หรือสังคมใดก็ตาม
หน้าที่และภารกิจของ "ผู้นำ" ใน โมเดลบูรณาการ ก็คือ การไปช่วย "เร่ง" ให้กระบวนการผ่านแต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการทางจิตของผู้คน (โฮลอนกลุ่ม) กลุ่มต่างๆ ที่มีระดับต่างๆ กัน ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด ไม่ชะงักงัน โดยผ่านการให้การศึกษา อบรม ชี้แนะการปฏิบัติจากระดับจิตขั้นที่ 6 vision-logic ขึ้นไปเท่านั้น
เพราะมีแต่ ผู้นำแบบบูรณาการ ที่มีระดับจิตสูงกว่าขั้นที่ 6 ขึ้นไปเท่านั้น ถึงสามารถจะนำเสนอ "ทางเลือกใหม่" ที่แท้จริงให้กับสังคมได้ ลำพังแค่ ผู้นำแบบ "การตลาด" ที่มีระดับจิตขั้นที่ 5 formop (มีมสีส้ม) อย่างผู้นำแห่งระบอบทักษิณ คงไม่สามารถนำพาประเทศไทยไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่นี้หรอก เพราะปี 2547 นี้เป็นปีที่ได้พิสูจน์และสำแดงให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้ตระหนักถึง ข้อจำกัดของการนำของผู้นำคนนี้ อย่างชัดแจ้งที่สุดแล้ว
การเมืองใหม่ ที่เป็น การเมืองชั้นสูง (higher politics) อย่างแท้จริง และมิใช่เป็นการเมืองเชิง "การตลาด" ที่ผิวเผิน จะเกิดขึ้นได้ก็โดย น้ำมือ และการนำของเหล่าปัญญาชนจากวงการต่างๆ ที่มีระดับจิตขั้นที่ 6 ขึ้นไป เท่านั้น ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของพวกเขาในการสร้าง การเมืองใหม่ ที่เป็น การเมืองชั้นสูง ซึ่งเป็น รูปการขั้นปฐมของการเมืองฝ่ายเบื้องบน จึงขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาจะสามารถนำเสนอและผลักดันนโยบายต่างๆ ที่จะไปช่วยเร่งกระบวนการผ่านแต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการทางจิตของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเพียงไหน และตลอดรอดฝั่งหรือไม่
นโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย หรือนโยบายสวัสดิการก้าวหน้าของพรรคมหาชน หรือนโยบายของพรรคการเมืองอื่นๆ จึงควรถูกตรวจสอบจากมุมมองนี้เป็นสำคัญ เพื่อให้ "ทางเลือกใหม่" มิใช่เป็นเรื่องฝันกลางวันของนักอุดมคติอีกต่อไป (โปรดดู แผนภาพ "โครงสร้างวิวัฒนาการของจิต" ประกอบอีกครั้ง)