จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (30)
30. บทเรียนผู้นำ และภาวะผู้นำของเรา : อะไรควรทำหลังจากนี้?
ส่วนหนึ่งของปัญหาในระบอบทักษิณที่ยากจะปฏิเสธได้ก็คือ การที่ "ผู้นำ" ของเรามักพยายามเร่งรีบทำทุกๆ อย่างให้เร็วขึ้นๆ ทั้งที่น่าจะรู้ดีว่า คุณภาพของชีวิตเกิดจากการทำอะไรๆ ให้สุขุมรอบคอบแต่ทันการณ์ มันเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า ทั้งๆ ที่ "ผู้นำ" คนนี้มิได้มีศักยภาพที่มากพอที่จะเข้าใจความซับซ้อนของโลกที่มีหลายมิติ และมีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก แต่ตัวเขากลับไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ มิหนำซ้ำยังพยายามทุกวิถีทางที่จะมีอำนาจเหนือทุกๆ สิ่ง ทั้งๆ ที่มันเป็นไปไม่ได้
ทักษิณกำลังทำหรือพยายามทำในสิ่งที่ฝืนกฎของธรรมชาติ กฎทางเศรษฐกิจ แต่ถ้ามองให้ลึกๆ แล้วเรากลับพบว่า รากเหง้าส่วนใหญ่ของปัญหาในขณะนี้ของประเทศนี้ ล้วนมีที่มาจากการที่ตัวเขา และพรรคพวกของเขาไม่สามารถควบคุมตัวเอง และความอยาก ความโลภของตัวเองได้นั่นเอง
ผู้นำที่ดี ที่สามารถนำพาประเทศให้รอดพ้นจากสงครามหลากมิติที่กำลังโหมกระหน่ำเข้ามาพร้อมๆ กันได้ จะต้องเป็นคนที่ถ่อมตนไม่คิดว่าตนรอบรู้แต่เพียงผู้เดียว และต้องกล้ามองสวนกระแสเพื่อให้ความคิดใหม่ๆ ที่สร้่างสรรค์ผุดบังเกิดขึ้นมาได้ เขาจะต้องประกอบไปด้วย จรรยาบรรณ และ ความฉลาด จรรยาบรรณของผู้นำคือการยึดมั่นในหลักแห่งความถูกต้อง และกล้าพอที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่ได้รอบรู้ไปหมดทุกเรื่อง จึงพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่นจากใจจริง มีท่าทีใฝ่รู้อยู่เสมอ ส่วนความฉลาดของผู้นำหมายถึง การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน พร้อมทั้งสามารถสื่อให้สมาชิกทั้งสังคมเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และเกิดศรัทธาที่จะเดินไปตามเส้นทางสายนั้นอย่างปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย
การจะทำให้เป็นเช่นนั้นได้ ผู้นำที่แท้จึงจะต้องเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย มีความจริงใจ ไม่ทำอะไรแบบหน้าไหว้หลังหลอก หรือแบบมือถือสากปากถือศีล ซึ่งเราก็รู้ว่าผู้นำเช่นนี้หาได้ยากและ "ผู้นำ" แห่งระบอบทักษิณก็ไม่ใช่ผู้นำแบบนี้
ข้อบกพร่องที่ใหญ่ที่สุดของทักษิณในฐานะที่เป็นผู้นำก็คือ ขาดศักยภาพที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ของตนสัมฤทธิผล ทั้งนี้ก็เพราะว่า ยุทธศาสตร์ที่เขาป่าวประกาศออกมา มีลักษณะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเชิงการตลาด หรือไม่ก็วางอยู่บนความคาดหวังลมๆ แล้งๆ จากลมปากของเขา ซึ่งคนที่มีวิจารณญาณจะมองเห็นได้ชัดเลยว่า มีความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่างความคาดหวังหรือการขายฝันของทักษิณกับขีดความสามารถของรัฐบาลทักษิณ ที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ที่ได้โฆษณาป่าวประกาศออกมา
สาเหตุหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ คงเป็นเพราะตัวเขามิได้รู้จักตัวเอง และขุมกำลังที่เป็นเครื่องมือของตัวเขาเองดีพอ ยิ่งตัวเขามีวุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่สูงนัก ขาดทั้งความจริงใจ ความเข้าใจตนเอง ไม่สามารถเอาชนะตนเอง และไม่รู้จักประมาณตนเองอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน จึงกลายเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรงของตัวเขาในฐานะผู้นำอย่างน่าเสียดายโอกาสแทน
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นบทเรียนราคาแพงของผู้ที่จะมาเป็นผู้นำในยุคหลังทักษิณก็คือ ผู้นำจะต้องทำตนให้น่าเชื่อถือ โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ตามหลักจรรยาบรรณอย่างมั่นคงให้เป็นแบบอย่าง โดยยึดถือบทเรียนจากทักษิณเป็นครูด้านกลับ เพราะวัฒนธรรมการบริหารแผ่นดินจะสะท้อนพฤติกรรมของผู้นำในขณะนั้นออกมาเสมอ
ขณะนี้เราควรจะต้องยอมรับกันจริงๆ แล้วว่า สังคมไทยกำลังเผชิญภาวะวิกฤตแทบทุกด้าน ทั้งรากฐานเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ การเมืองที่ยังด้่อยพัฒนา และสังคมที่ระดับจริยธรรมเสื่อมทรามลง พวกเราแต่ละคน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสำแดงความเป็น "ผู้นำ" ที่ดำรงอยู่ภายในตัวของพวกเราแต่ละคนออกมา โดยเฉพาะ ผู้นำทางด้านความคิด และ ทางด้านจริยธรรม ที่สามารถทำได้ตั้งแต่บัดนี้เลย! ดังที่อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้เคยเสนอไว้ว่า
เราจะต้อง กล้าคิด ที่จะปรับเส้นทางการพัฒนาของสังคมให้มีสมดุลมากขึ้นกว่าเดิม โดยเลือกทางสายกลาง ไม่เลือกเส้นทางการปิดประเทศโดยที่ในขณะเดียวกันก็ไม่หน้ามืดตามัวถึงกับดำเนินนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจอย่างสุดโต่ง แต่จะต้องแสวงหายุทธศาสตร์การพัฒนาที่เหมาะสมกับตัวตน และศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย โดยไม่ผลาญสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยัง
เราจะต้อง กล้าเรียกร้อง ให้เร่งรัด ผลักดัน ส่งเสริมการตรากฎหมายเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พิจารณาทบทวนและยกเลิกกฎหมายโลกาภิวัตน์ที่ทำให้สูญเสียอธิปไตย ที่มีผลในการถ่ายโอนส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากภาคชนบท รวมทั้งกฎหมายที่มีผลในการทำลายสิ่งแวดล้อม และกฎหมายที่มีผลในการสร้างสายใยและอำนาจการผูกขาด
เราจะต้อง ต่อสู้ เพื่อความโปร่งใสยิ่งขึ้น หรือเพื่อธรรมาภิบาลของกระบวนการกำหนด และบริหารนโยบายทางเศรษฐกิจ และเพื่อป้องกันการทุจริต คอร์รัปชันด้วยการเสนอให้ยึดทรัพย์ผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันเท่ากับสองเท่าของมูลค่าที่ทุจริตคอร์รัปชัน โดยคิดดอกเบี้ยอัตราตลาดนับตั้งแต่วันที่ทุจริตคอร์รัปชันจนถึงวันที่ถูกยึดทรัพย์ด้วย ทั้งนี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการระดับสูง รวมทั้งข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงิน การงบประมาณ การพัสดุ และการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนข้าราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประมูล การจัดจ้างซื้อ การออกใบอนุญาต การขายทรัพย์สินของแผ่นดิน การจัดสรรโควตา และการจัดสรรสัมปทานตั้งแต่ระดับซี 8 ขึ้นไป จะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของตนเอง คู่สมรสและบุตรธิดา ทั้งก่อนเข้าดำรงตำแหน่งและเมื่อออกจากตำแหน่ง โดยต้องรายงานรายการเคลื่อนย้ายบัญชีทรัพย์สินทุกๆ 6 เดือนด้วย
เราจะต้องเข้าไป ผลักดัน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับรากหญ้าที่เรามีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นรากฐานของความมั่นคงของสังคม เราจะต้อง กระตุ้น ให้ประชาสังคมไทยรวมตัว และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายประชาคมเพื่อผลักดันนโยบาย และตรวจสอบชนชั้นปกครอง นอกจากนี้ เราจะต้อง สนับสนุน การจัดตั้งองค์กรประชาชน และเสริมสร้างองค์กรประชาชนให้แข็งแกร่ง เพื่อมี ส่วนร่วม ในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อเกื้อกูลการพัฒนาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เราจะต้องทำให้สังคมไทย พึ่งตนเองทางด้านภูมิปัญญา ให้จงได้ด้วยการรวบรวมประมวลเผยแพร่ และพัฒนาภูมิปัญญาของเราเองขึ้นมา และลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาต่างประเทศให้น้อยลงข้างต้นนี้คือ สิ่งที่ควรทำ (what is to be done) หลังจากนี้
จะเห็นได้ว่า การเป็นผู้นำเป็นภาวะที่ทุกคนทำได้ และริเริ่มจากตนเองได้ทุกเมื่อ เนื่องจากองค์กรในอนาคตจะออกมาในรูปของ "เครือข่าย" มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ การใช้ระบบข่าวสารข้อมูลจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ และเป็นผู้นำของผู้คนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องผลักดัน การเมืองอินเทอร์เน็ต และ การเมืองภาคประชาชน อย่างบูรณาการควบคู่กันไปเพื่อใช้มันในการทำให้แน่ใจได้มากขึ้นกว่าเดิมว่า พวกเราสามารถมีส่วนช่วยผลักดันสังคมการเมืองไทยไปในทิศทางที่ประชาสังคมต้องการ โดยไม่ยินยอมปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามยถากรรมอย่างยอมจำนน หรืออย่างไม่ยอมคิดที่จะไปทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นที่เป็น หายนะ จากเงื้อมมือของระบอบทักษิณ
ขณะนี้เรากำลังอยู่บนทางสองแพร่งแห่งประวัติศาสตร์ เราจำเป็นต้องแสดง ความเป็นผู้นำ ของเราด้วย จิตสำนึกแห่งทางเลือก ของเราว่า เราต้องการอะไร และเราไม่เห็นด้วยกับ วิถีทักษิณ ในประเด็นต่างๆ เรื่องอะไรบ้างอย่างเปิดเผย และอย่างตรงไปตรงมา สังคมไทยจะอยู่ไปแบบนี้ภายใต้การบริหารแผ่นดินแบบทักษิณได้ไม่นานหรอก แต่ ผลลัพธ์และผลร้ายจากการบริหารแผ่นดินของ "ผู้นำ" แบบนี้อย่างเต็มรูปแบบ มันจะไปปรากฏในอนาคตข้างหน้าในรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา หากเราไม่ออกมายับยั้งเสียแต่ตอนนี้
แต่ลักษณะ วิภาษวิธี (dialectic) ของความเป็นผู้นำที่แท้ตามคติของเต๋านั้น มีอยู่ว่า ผู้นำที่แท้คือคนที่ไม่อยากเป็นผู้นำ เพราะถ้าผู้นั้นยังมี ความอยากที่จะนำอยู่ เขาก็จะนำด้วยความเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุนี้ ภาวะผู้นำที่แท้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้นั้นเข้าถึงความว่าง ความสงบจนใจเปิดกว้าง และเที่ยงธรรมได้แล้วเท่านั้น
ความอยากที่จะยิ่งใหญ่ก็เป็นอุปสรรคของการเป็นผู้นำที่แท้เช่นกัน แต่ถ้าเรามองว่า การนำหรือภาวะผู้นำเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ถ้าเราทำหน้าที่ในแต่ละบทบาทของเราให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับทุกสถานการณ์ได้ พวกเราทุกคนก็ย่อมสามารถที่จะเป็นผู้นำที่แท้ตามคติของเต๋าได้ทั้งนั้น
นี่คงเป็น ปฏิบท (paradox) ของประวัติศาสตร์ อีกกระมังที่พวกเราทุกคนจำต้องสำแดง ภาวะผู้นำที่แท้ของพวกเราออกมาเพื่อ ก้าวข้าม การนำของ "ผู้นำ" แห่งระบอบทักษิณให้จงได้
หมายเหตุ : ข้อเขียนชุดนี้เริ่มเขียนตั้งแต่ ก่อน ที่จะเกิด "ปรากฏการณ์สนธิ" โดยตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่าจะเขียนทั้งหมด 36 ตอนด้วยกัน แม้ผู้เขียนจะสังหรณ์ใจอยู่ลึกๆ ว่า "ระบอบทักษิณ" จะอยู่ได้ไม่นาน แต่ตัวผู้เขียนเองก็ยังต้อง ตะลึง กับ "พลังของประชาชน" ที่พร้อมใจกัน "ลุกขึ้นสู้" ด้วย จิตสำนึกแห่งทางเลือก ที่จะไม่เอา "ระบอบทักษิณ" นี้ ข้อเขียนชุดนี้เหลืออีกไม่กี่ตอนก็จะจบแล้ว แต่ดูเหมือนว่า อวสานของระบอบทักษิณ จะมาเร็วกว่าตอนจบของข้อเขียนชุดนี้เสียอีก เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า "ความเป็นจริง" กำลัง แซงหน้าปริมณฑลทางความคิด ในการวิพากษ์ระบอบทักษิณไปแล้ว ด้วยอัตราที่ทวีความเร่งอย่างน่าระทึกใจยิ่ง เหตุการณ์แบบนี้น้อยครั้งที่จะเกิดขึ้น แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว