จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (1) 30/8/2548

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (1) 30/8/2548



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (1)



1. โทษภัยของวิถีทักษิณ



"รัฐชาติที่ปราศจากวิญญาณหรือมิติทางจิตใจจะล้มเหลว"

(สุลักษณ์ ศิวรักษ์  จาก "จิตสำนึกใหม่แห่งเอเชีย เล่ม 1" สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, 2547
)



ราคาที่สังคมไทยต้องจ่ายให้แก่การเถลิงอำนาจเบ็ดเสร็จของ "ระบอบทักษิณ" นั้นแพงยิ่งนัก เพื่อแลกมากับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ ด้วยนโยบาย "เคนส์เซียนกำมะลอ" แบบประชานิยมผสานกับลัทธิการตลาดที่มุ่งแค่การสร้างภาพ, การสร้างความเชื่อมั่นเพื่อกระตุ้นฟองสบู่ในตลาดหุ้น และภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะได้ผลแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น


แต่ว่า มันเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งในโลกนี้ที่ของไม่แท้ ของไม่จริงหรือของปลอมย่อมไม่ทนทานต่อการพิสูจน์ของกาลเวลา เพราะเพียงย่างเข้าสู่สมัยที่สองของรัฐบาลทักษิณได้ไม่เท่าไหร่ "ความล้มเหลวของทักษิโณมิกส์" ก็ทยอยปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดทีละเรื่องๆ ราวกับตัวโดมิโน่ที่กำลังทยอยล้ม เอาเป็นว่าในขณะนี้การยกตัวอย่างความผิดพลาดในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลทักษิณนั้น มีจำนวนมากเกินกว่าตัวอย่างความสำเร็จที่พวกเขาเคยอวดโอ่คุยโตเอาไว้เสียแล้ว


แต่โทษภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่ "วิถีทักษิณ" ได้กระทำต่อบ้านเมืองนี้ เห็นจะไม่มีอะไรเกินกว่าการกระตุ้นคนไทยทั้งประเทศให้เกิดความโลภอย่างหน้ามืดตามัว กับส่งเสริมการใช้ความรุนแรง และอัตตานิยมอย่างขนานใหญ่ คนไทยส่วนใหญ่ถูกโลกทัศน์แบบ "มีมสีส้ม" (ทันสมัยนิยมที่มุ่งการพัฒนาทางวัตถุอย่างสุดโต่ง) ของนายกฯ ทักษิณ ชักจูงให้หลงผิด มุ่งคิดแต่จะดิ้นรนหาทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง และความสุขทางผัสสะอย่างไม่มีวันจบสิ้นราวกับว่า ชีวิตนี้ไม่มีทางเลือกอื่นที่มีความหมายยิ่งไปกว่านี้ราวกับว่า "วิถีทักษิณ" (วัตถุนิยม บริโภคนิยม และอำนาจนิยม) เป็นโลกทัศน์ที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวที่ดำรงอยู่ในสังคมนี้ ส่วนโลกทัศน์อย่างอื่น วิถีอย่างอื่นดู "โง่เขลา" และ "ต่ำต้อย" ทั้งสิ้นในสายตาของผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในประเทศนี้เพียงหนึ่งเดียวคนนี้ ทั้งๆ ที่ภายใต้ยุคทักษิณครองเมืองเช่นทุกวันนี้ สังคมเรากลับมีความเครียด ความขัดแย้ง ความรุนแรง ความเจ็บป่วยทางสังคม และทางจิตใจสูงมากขึ้นกว่าแต่ก่อนจนน่าตกใจ


ระบอบทักษิณจะนำพาประเทศนี้ไปสู่หนทางไหนกัน?


อารมณ์สองอารมณ์ด้านลบของมนุษย์ซึ่งได้แก่ ความโลภ และ ความโกรธเกลียด ได้ถูก ระบอบทักษิณ และ สื่อมวลชนกระแสหลัก ปลุกเร้าอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ จนมันค่อยๆ "ถอดรื้อ" และ "ถอนราก" ทางวัฒนธรรมของคนชั้นล่าง และคนชั้นกลางจำนวนมากในสังคมนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


ความอยากได้มากขึ้น และมากขึ้นกลายเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ของคนจำนวนมากสมัยนี้ โดยไม่เคยคิดแม้แต่จะตั้งคำถาม ความร่วมมือกันของคนในชุมชนดั้งเดิมถูกแทนที่โดยแนวคิดในเรื่องการแข่งขัน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้คนเราต้องแข่งขันกันทุกเรื่อง


แต่ การแข่งขันภายใต้ระบอบทักษิณที่มีแนวโน้ม "ผูกขาดอำนาจ" จนขาดเงื่อนไขของความเท่าเทียมกัน และความยุติธรรมอย่างแท้จริง มันจะนำไปสู่อะไรไม่ได้นอกจากการตอกย้ำ ความเห็นแก่ตัวของ "ผู้ที่เหนือกว่า" ซึ่งครอบงำคุณภาพจิตใจ และระดับจริยธรรมของผู้นั้นอย่างสิ้นเชิง


รัฐชาติภายใต้ระบอบทักษิณนั้น อาจมีความเปลี่ยนแปลงบ้างทางรูปโฉมภายนอก แต่เนื้อในแล้วยังคงเป็นแบบเดิมคือ เพื่อการคงอยู่ในอำนาจของทักษิณ และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อคงอำนาจนั้นไว้


กล่าวในความหมายนี้ รัฐบาลทักษิณก็ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดอื่นๆ ที่ หน้าไหว้หลังหลอก ประชาชนเป็นผู้มอบความชอบธรรมให้แก่เขามาเป็นผู้นำประเทศ เขาได้รับความชอบธรรมผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่ใช่การแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน และอย่างยุติธรรม สุดท้ายเขาก็ใช้อำนาจนั้นเพื่อสนองอัตตาของตัวเอง และสนองผลประโยชน์ของพวกพ้อง


ถึงเวลาแล้วกระมัง ที่เราต้องแสวงหา วิสัยทัศน์ที่เป็นทางเลือกที่แตกต่างไปจาก "วิถีทักษิณ" ที่กำลังครอบงำประเทศนี้อยู่ ทางเลือกหรือทางออกที่เป็นไปได้ในระดับปัจเจกคือ เราต้องใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลของรัฐชาติภายใต้การครอบงำของระบอบทักษิณให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


นั่นคือ เราควรหันมาเลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยจงใจเพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตเป็นหลัก ขณะเดียวกัน เราก็ต้องควบคุมความโลภ และความโกรธเกลียดของเราให้ได้โดยผ่านการเจริญสติ เจริญภาวนา เพราะนี่คือการรับมือที่ดีที่สุดกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของเราที่จะไม่ร่วมมือกับระบอบทักษิณในการกระตุ้นลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งเป็นตัวสร้างปัญหาให้แก่สังคมนี้


เราควรจะตระหนักถึงคำเตือนของท่านคานธีที่เคยกล่าวไว้ว่า "โลกมีเพียงพอที่จะตอบสนองความจำเป็นของมนุษย์ แต่ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความโลภของมนุษย์" ฉันใดก็ฉันนั้น ความจริงสังคมไทยเราเป็นสังคมที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมอย่างพอเพียงที่จะตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของคนทั้งประเทศได้อย่างสบาย หากผู้นำประเทศมุ่งที่จะพัฒนาประเทศอย่างสมดุล และอย่างยั่งยืน แต่ สังคมนี้มิได้มีความอุดมสมบูรณ์มากพอที่จะตอบสนองอัตตาของ "ผู้นำเบ็ดเสร็จ" ที่ปลุกเร้าความโลภของคนทั้งประเทศให้หวาดกลัว "อนาคตที่กำลังไล่ล่า" รวมทั้งสังคมนี้มิได้มั่งคั่งมากพอที่จะให้ท่านผู้นำของเขาใช้เงินอย่างผิดพลาด อย่างอีหลุยฉุยแฉกและล้มเหลวในการใช้เงินจากภาษีอากรของคนทั้งประเทศอย่างสร้างสรรค์ครั้งแล้วครั้งเล่า


รัฐบาลทักษิณกำลังหลงผิดคิดว่า การพัฒนาประเทศนี้ให้มีอารยธรรมคือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทางวัตถุ และการหาเงินเข้าประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ราวกับว่าสิ่งนี้คือทางเลือกเดียว และเป้าหมายเดียวของการดำรงอยู่ในจักรวาฬ (Kosmos) นี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว การพัฒนาประเทศนี้ให้มีอารยธรรม คือการยกระดับจิตใจของผู้คนทั้งประเทศให้มีความอ่อนโยนต่อกัน มีความสมานฉันท์กัน คำนึงถึงกันและกันมากขึ้น มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และใช้เวลาอันมีค่าของชีวิตส่วนใหญ่ให้แก่การศึกษา การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจนตลอดชีวิต และมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายสมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ต่างหาก


จะเห็นได้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองเชิงความหมาย (Politics of meaning) กับระบอบทักษิณที่กำลัง "กินเมือง" อยู่นี้ มันมิใช่เรื่องการปลุกระดมก่อม็อบขับไล่รัฐบาลเหมือนอย่างแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว แต่มันจะต้องเป็นการต่อสู้เชิงโลกทัศน์ เชิงวัฒนธรรมเพื่อ "ปลดปล่อย" ตัวเราเองและพวกพ้องน้องพี่ให้ "หลุดพ้น" จากการครอบงำในทุกๆ มิติของระบอบทักษิณ ทั้งในระดับจิตสำนึก จิตใต้สำนึก ทั้งในแง่ของสติปัญญา วัฒนธรรม และระบบเศรษฐกิจการเมืองด้วย


กล่าวคือ มันจะต้องเป็น การต่อสู้อย่างบูรณาการ หรืออย่างองค์รวม เพื่อทางเลือกใหม่ของตัวเราเอง ซึ่งจะมีผลกำหนดทางเลือกใหม่ของสังคมนี้ในอนาคตอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้