จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (5) 27/9/48

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (5) 27/9/48



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (5)



5. ขาลงของจริงของทักษิโณมิกส์


"เวลาสำหรับการบริหารชาติ บริหารแผ่นดินนั้น
สำหรับคนดี คนซื่อ 8 ปี 12 ปี ก็น้อยเกินไป
แต่สำหรับคนชั่ว คนโกง 1 วันก็มากเกินไป"

(เซี่ยงเส้าหลง)



เมื่อกว่าหนึ่งปีก่อน ผู้เขียนเคยเขียนบทความเรื่อง "อะไรคือขาลงของทักษิโณมิกส์?" ออกมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อเสนอ หลักคิด หรือ มาตรฐานในการคิด ที่ควรจะใช้ในการประเมินสถานการณ์ว่า ขณะนี้รัฐบาลทักษิณ กำลังอยู่ในช่วง "ขาลง" หรือไม่ อย่างไร โดยมีมุมมองในการประเมินภาวะ "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์อย่างชัดเจน มิใช่แค่วัดจากความรู้สึกนึกคิด (perception) ทางอัตวิสัยเฉยๆ


หลักคิดที่ผู้เขียนได้นำเสนอในการประเมินภาวะ "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์ในครั้งนั้น ผู้เขียนได้เสนอให้วัดจากระดับความรุนแรงของปัญหาที่รัฐบาลทักษิณเคยเผชิญ กำลังเผชิญ และคาดว่าจะเผชิญในอนาคต โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ดังต่อไปนี้


(1) ปัญหาระดับ bounded rationality หรือปัญหาความมีเหตุผลที่ถูกจำกัดของผู้นำ ผู้ต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหา


(2) ปัญหาระดับ organizational failure หรือปัญหาความล้มเหลวเชิงองค์กร ในการดีไซน์ระบบบริหารที่สามารถป้องกันการเกิด "การคอร์รัปชัน" (ลัทธิฉวยโอกาสอย่างแรง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


(3) ปัญหาระดับ ligitimacy หรือปัญหาความชอบธรรมของแนวทางแบบทักษิโณมิกส์


(4) ปัญหาระดับ authenticity หรือปัญหาความเป็นของแท้ของแนวทางแบบทักษิโณมิกส์ (รายละเอียดกรุณาอ่านใน "แกะรอยทักษิโณมิกส์" ของผู้เขียนโดยสำนักพิมพ์ OPEN, สิงหาคม 2547)


ในตอนกลางปี 2547 ผู้เขียนได้ทำตารางดัชนี "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์ที่วัดจากระดับความรุนแรงของปัญหา 4 ระดับ ดัง ตารางที่ 1 ต่อไปนี้ ซึ่งผู้เขียนได้เปรียบเทียบกับปัจจุบันช่วงกลางปี 2548 ด้วย





ในตอนกลางปี 2547 นั้น ปัญหา "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์อย่างมากก็เป็นแค่สมมติฐาน หรือความคาดคะเนที่น่าจะเป็นในอนาคตเท่านั้น แต่หนึ่งปีเศษให้หลังนี้ดูเหมือนว่า ความเป็น "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์จะกลายเป็นเรื่องจริงไปเสียแล้ว อย่างที่เจ้าตัวเองก็คงคาดไม่ถึงเช่นกัน แน่นอนว่า สาเหตุบางส่วนมาจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาน้ำมันโลก แต่ถ้าพิจารณาดูในรายละเอียด เราจะพบว่า ความล้มเหลวหรือความเป็น "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์ในปัจจุบัน ล้วนมีสาเหตุมาจากตัวผู้นำแทบทั้งสิ้น ทั้งในแง่ วิสัยทัศน์ ที่ผิดพลาดที่ไปอุ้มราคาน้ำมันเพื่อสร้างคะแนนนิยม ในแง่ จริยธรรม ที่ไม่มีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอร์รัปชันในแง่ ขาดสำนึกเชิงธรรมาภิบาล ที่เพิกเฉยปล่อยให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในหมู่ญาติพี่น้องและพรรคพวก และในแง่ หมดน้ำยา ที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำคัญประการสุดท้ายคือ ในแง่ หมดมุก ที่จะกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาเป็นแค่มายาภาพที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวระยะสั้นด้วยการอัดฉีดเงินภาครัฐจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบกับใช้เทคนิคการตลาดปลุกความเชื่อมั่นของนายทุน และผู้บริโภคทำให้ "ฟองสบู่" คืนชีพขึ้นมาชั่วคราว


กล่าวในอีกนัยหนึ่ง ในช่วงกลางปี 2547 นั้น ผู้นำคนนี้ยังมีทางสองแพร่งแห่งประวัติศาสตร์ให้เลือกระหว่างเป็น "รัฐบุรุษ" กับ "นักการเมืองที่ดีมีความสามารถ" แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ โอกาสของการเป็น "รัฐบุรุษ" นั้นได้หมดไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว แม้แต่โอกาสที่จะเป็น "นักการเมืองที่ดีที่มีความสามารถ" ก็ยังเป็นที่น่ากังขาอยู่ ถ้าดูจากสิ่งที่ผู้นำคนนี้ได้กระทำออกมาในระยะหลัง เพราะมันทำให้แม้แต่คนที่เคยสนับสนุนผู้นำคนนี้มาก่อน และเมื่อก่อนไม่เคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ "ความจริงใจ" ของตัวเขาที่ต้องการมาแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เพื่อมาแสวงหาอำนาจ มาถึงตอนนี้ก็เริ่มไม่แน่ใจ และไม่เชื่อใจใน "ความจริงใจ" ข้อนี้ของเขาเสียแล้ว


สิ่งที่เคยเป็น จุดแข็ง ของผู้นำคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการมีวิสัยทัศน์ การกล้าตัดสินใจ และความสามารถในการจัดการ มาบัดนี้ดูเหมือนจะไม่ได้เป็น จุดแข็ง ของเขาอีกต่อไปแล้ว ขณะที่ จุดอ่อน ของผู้นำคนนี้ได้ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดทั้งใน 4 ระดับ ขอให้เรามาพิจารณากันดู


(1) จุดอ่อนระดับ bounded rationality

ในปัญหาใหญ่ๆ ที่การตัดสินของผู้นำมีส่วนชี้ขาดในการกำหนดทิศทางของการแก้ไขปัญหา จะเห็นได้ว่าในระยะหลังๆ ผู้นำคนนี้ใช้ข้อมูลด้านเดียว มีอคติตั้งแง่ไว้ก่อน แบกภาระงานไว้หนักอึ้งจนเครียด ทำให้จิตใจและสมองไม่แจ่มใส จึงไม่สามารถวินิจฉัยปัญหาได้อย่างถูกต้อง หรือไม่มีคุณภาพดีเท่าช่วงสองปีแรกที่มาเป็นผู้นำรัฐบาล หรืออาจจะพูดได้ว่า คุณภาพในการคิด-การตัดสินใจของผู้นำคนนี้ ไม่สดใหม่อีกต่อไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่นึกไม่ถึงเหมือนกันว่า ภารกิจการเป็นนักการเมือง และผู้นำในประเทศที่เป็น "สังคมทอนกำลัง" อย่างประเทศนี้ มันจะบั่นทอน "พลังชีวิต" ของผู้นำได้มากถึงขนาดนี้ จนน่าเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนรุ่นหลังเสียแล้ว


(2) จุดอ่อนระดับ organizational failure

ผู้นำที่เป็นยอดนักบริหาร-นักจัดการที่แท้จริง ย่อมต้องมีทักษะและความมุ่งมั่นที่จะจัดวางระบบบริหารที่สามารถป้องกันการเกิด "คอร์รัปชัน" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้กลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ลำพังแค่จุดอ่อนสองระดับข้างต้นนี้ ก็เพียงพอต่อการทำให้ "ตกสวรรค์" ได้อยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันนี้ ผู้นำคนนี้กำลังถูกเหล่าปัญญาชน และสื่อส่วนใหญ่ตั้งคำถามเกี่ยวกับจุดอ่อนในระดับที่สามด้วย คือ


(3) จุดอ่อนระดับ ligitimacy

อันเป็นการตั้งคำถามแบบไม่ไว้วางใจว่า ระดับจิตและระดับโลกทัศน์ที่ผู้นำคนนี้มีอยู่เป็นอยู่ มันจะเป็นแนวทางที่นำพาประเทศชาติไปสู่ความล่มสลายหรือไม่ เนื่องจากการชี้นำที่ผิดพลาดผิดทิศทาง จุดอ่อนระดับที่สามนี้ความจริงแยกไม่ออกจากจุดอ่อนระดับที่สี่ หรือ


(4) จุดอ่อนระดับ authenticity

อันเป็นเรื่องของความเป็นของแท้ ของจริงเป็นคนที่ดีจริงเก่งจริง และบูรณาการจริงของผู้นำคนนั้น ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกของตัวผู้นำคนนี้เองที่เก่งในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ การสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนระดับรากหญ้า และขาดความสามารถในการเปลี่ยนแปลงจิตใจตัวเองให้กลายเป็น "รัฐบุรุษ" และ "มหาบุรุษ" ที่เป็นยอดคนจริงๆ ผู้เป็นตัวแทนของวิถีแห่งความจริง ความดี และความงาม


สรุปก็คือ ความเป็น "ขาลง" ของจริงของทักษิโณมิกส์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และมีแนวโน้มที่จะเสื่อมทรุดยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ล้วนเป็น ผลแห่งวิภาษวิธี (dialectic) ของ "ความพ่ายแพ้ของผู้ชนะ" ของตัวผู้นำเองที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็น "ภาชนะที่สมบูรณ์พร้อม" ของการเดินอยู่บนวิถีแห่งรัฐบุรุษและมหาบุรุษ ดังที่ตัวเขาได้ "สร้างภาพ" ไว้นั่นเอง


คนเราหว่านเมล็ดพันธุ์อะไรลงไป ก็ย่อมก่อดอกออกผลเป็นไปตามนั้นเสมอ






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้