จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (29) 14/3/49

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (29) 14/3/49



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (29)



29. อาณาจักรแห่งทางเลือกของตัวตนที่หลากหลาย


ชีวิตเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์ ชีวิต ช่างเต็มไปด้วยความน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ผิดด้วยหรือ ที่คนเราจะ กล้าเลือก แนวทางการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยตระหนักถึงความเป็นไปได้อย่างมหาศาลที่ ชีวิต มีให้แก่เรา? ผิดด้วยหรือ ที่คนเราจะหันมาตรวจสอบบรรทัดฐาน และค่านิยมต่างๆ ที่เคยยึดถือในสังคมกันใหม่ ด้วยความรู้เชิง ปรัชญา ซึ่งเป็น ศิลปะแห่งความคิด?


มันเป็นความจริงเสียยิ่งกว่าจริงเสียอีกว่า ในโลกนี้ ในเอกภพนี้ ในจักรวาฬนี้ ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนยิ่งไปกว่า สัจธรรม อีกแล้ว และมันไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องเชื่อมั่นศรัทธาอย่างสมบูรณ์พร้อมในระบบความคิดชุดหนึ่งชุดใดอย่างตั้งแง่เอาไว้ก่อน แต่คนเราก็ควรเตรียมพร้อมอยู่เสมอมิใช่หรือที่จะพบกับสิ่งที่ไม่เคยพบเคยรับรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของธรรมชาติหรือวัฒนธรรมอันมีคุณค่ายิ่ง ในฐานะที่มันเป็น อาณาจักรแห่งทางเลือก ของคนเราซึ่งมีอยู่มากมายหลากหลายแนวทาง


เราต้องไม่ลืมว่า คนเรา พวกเรา สังคมเรามีทางเลือกที่มากมายเสมอในการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ ยังมีหนทางที่หลากหลายอีกมากมายนักที่รอคอยให้พวกเราก้าวเดินไปได้ในทุกห้วงเวลา


ไม่เคยมีโลกแห่งความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียว และโลกที่ดีที่สุดควรจะเป็นโลกที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และเป็นสถานที่ซึ่งคนเราสามารถจะเรียนรู้และมีประสบการณ์ในสิ่งต่างๆ ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อเติบโตและวิวัฒนาการไปพร้อมๆ กับวิวัฒนาการของจักรวาฬที่ผุดบังเกิด และเผยตัวออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง


ตัวตน ของคนเรา ไม่ควรมอบ อิสรภาพแห่งตัวตน ให้แก่ร่มเงาใดๆ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ข้ออ้างที่สวยหรูเพียงไหนก็ตาม ตัวตนของบุคคลควรเป็นสิ่งที่จะต้องเปิดเผยออกให้ประจักษ์ต่อโลก ต่อชีวิต ยิ่งตัวตนของคนเรามีประสบการณ์ผ่านโลก ผ่านชีวิตมามากเท่าใด ตัวตนของคนเรา ก็จะยิ่งเปิดกว้างและลุ่มลึกได้มากยิ่งขึ้นเพียงนั้น


การตระหนักรู้ในตนเองของตัวตน ที่สามารถหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เอกภพ และจักรวาฬ ก่อนอื่น ตัวตน นั้นจะต้องรู้สึกเป็นอิสระจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเสียก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาความรู้สึกมีส่วนร่วม และเห็นอกเห็นใจโลกใบนี้อย่างพ้นไปจากอัตตาของตนเอง พัฒนาความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยต่อโลกที่ขยายวงออกไปเรื่อยๆ


ตัวตน ของคนเราจะบรรลุถึงความสมบูรณ์พร้อมได้มากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า ตัวตน นั้นสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ และเครือข่ายมากมายมหาศาลที่เชื่อมโยงโลกทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้มากแค่ไหนนั่นเอง


สิ่งที่ท้าทายความเป็นตัวตนของคนเราในยุคนี้มากที่สุดประการหนึ่งก็คือ การสามารถค้นพบแนวทางชีวิตที่ตัวตนของคนผู้นั้นสามารถผสาน "สมอง" กับ "หัวใจ" ให้สอดคล้องกลมกลืนกันอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือไม่ เพราะ ณ เบื้องลึกแห่งความทรงจำอันเลือนรางของคนเราทุกคนแล้ว มันยังมีความพิศวงหลงใหลในธรรมชาติแฝงเร้นอยู่เสมอ แต่เราถูกความกลัวและกิเลสครอบงำจิตใจจนหลงลืมมันไปชั่วคราวเท่านั้น


หากคนเราหันมาตระหนักและรับรู้ถึงความเกี่ยวพันอันแน่นแฟ้นที่ตัวเรามีกับโลกธรรมชาติ คนเราก็จะรู้จักโลกธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และผูกพันกับโลกธรรมชาติ จนกระทั่งหันมาให้ความเคารพคุณค่าของธรรมชาติ ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมในโลกที่เกิดจากธรรมชาติในที่สุด


สังคมที่ดีและน่าอยู่คือสังคมที่ยอมให้มนุษย์ และสรรพสัตว์มีหนทางหลากหลายเส้นทางให้เดิน โดยที่สรรพชีวิตสามารถพึงพอใจกับคุณค่าของตนเอง และรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้


ชีวิตที่มีคุณค่าคือชีวิตที่เป็นไปเพื่อรับใช้อะไรสักอย่าง คนเราถ้าหากไม่มีชีวิตอยู่เพื่ออะไรบางอย่าง ก็ยากที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายได้ โดยเฉพาะ ชีวิตแห่งตัวตน ของคนเรานั้นเป็นชีวิตที่สามารถ "เลือก" ได้ว่า จะมีชีวิตเพื่ออะไรบางอย่างหรือจะมีชีวิตแค่อยู่ไปวันๆ เท่านั้นก็ย่อมได้


ตัวตน ของคนเราจึงควรใช้ชีวิตอย่างมี ปรัชญา และถ้าทำได้ ปรัชญา นั้นควรทะยานขึ้นไปสูงส่งบรรลุถึงศิลปะแห่งดนตรี หรือศิลปะที่ให้ความรู้สึกที่ ยิ่งใหญ่ภายใน แก่ตัวตนอย่างบริสุทธิ์ใจ


เพื่อการนี้ ตัวตน ของคนเราจำเป็นต้องมี ทัศนะอย่างองค์รวมหรืออย่างบูรณาการ เพื่อให้ตัวตนนั้นสามารถ "เลือก" กระทำแต่ในสิ่งที่สอดคล้องกับสหัชญาณ (intuition) ที่หยั่งลึกสุดอยู่ในตัวตนได้ เพื่อที่จะกระทำแต่ในสิ่งที่มีค่าคู่ควรกับการกระทำในชีวิตของตนเท่านั้น


อย่าลืมว่า ในทุกช่วงขณะแห่งชีวิต ตัวตน ของคนเราจะต้องเป็นคน "เลือก" ชีวิตในแบบที่ตัวตนต้องการเสมอถึงจะสามารถมีชีวิตที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงได้ ตัวตนต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสัญลักษณ์ โดยที่ตัวตนควรกระทำทุกอย่าง ทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ เพื่อสอนตัวเองให้รักเป็น และสามารถรักในสรรพสิ่งได้ เพื่อให้ตัวตนนั้น สามารถเข้าถึง ที่สุดของความรัก


จาก ตัวตน ที่รู้จักแค่มองออกไปจากความเป็นตัวของตัวเอง ก็จะเติบโตไปเป็น ตัวตน ที่ตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของโลกใบนี้โดยรวมเป็นตัวตนที่เห็นคุณค่าของระบบนิเวศ และมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทั้งหมดด้วย เป็นตัวตนที่เปิดใจกว้างมากยิ่งขึ้น คิดอะไรได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะตระหนักในความเล็กกระจ้อยร่อยของตัวตนแห่งตน เมื่อเทียบกับตัวตนอันยิ่งใหญ่ของจักรวาฬจนเป็น "อนัตตา" ด้วยเหตุนี้ การลุกขึ้นมาพิทักษ์โลกของตัวตนนี้ จึงจะกลายเป็นการกระทำที่ทำให้หัวใจของตัวตนเปี่ยมสุขไปด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อความอยู่รอดของตนเองเท่านั้น


ตัวตนเช่นนี้ ย่อมสามารถใช้ชีวิตอย่างรุ่มรวยมั่งคั่งภายใน และเปี่ยมไปด้วยความพึงพอใจ ในโลกที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สับสน เพราะ ตัวตนสามารถมีชีวิตอย่างเรียบง่าย และพอเพียง ด้วย "จิตสำนึกแห่งทางเลือก" ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทักษะของ ศิลปะแห่งตัวตน จนกระทั่งสามารถมีความสุขความพอใจในชีวิตได้อย่างสมบูรณ์พร้อมในทุกขณะจิต


ชีวิต ในความนึกคิดของ ตัวตนเช่นนั้น ย่อมถึงความสมบูรณ์พร้อมอย่างแท้จริง เพราะไม่เหลือเป้าหมายใดๆ มากดดันตัวตนนั้นอีกต่อไป จนกระทั่ง ตัวตนนั้นสามารถชื่นชมยินดีกับชีวิตโดยตัวของมันเองได้ แทนที่จะต้องชื่นชมชีวิต "ที่ต้องประสบผลสำเร็จบางอย่าง" เพื่อความพึงพอใจชั่วขณะ


เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก หากคนเราเกิดมาทั้งที แล้วไม่สามารถมองเห็นความหมายของชีวิตได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่สามารถมีอุดมคติ มีความเป็นอิสระ มีพลังความคิดอันเข้มแข็ง มีความเมตตา และความใจกว้างได้คนเช่นนี้ต่อให้ร่ำรวยล้นฟ้า มีอำนาจล้นแผ่นดิน แล้วยังไงเล่า?


สิ่งที่ผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ขณะนี้ ขาดแคลนเป็นอย่างมากมิใช่ เงิน หรอก แต่คือ ปรัชญา ต่างหาก ปรัชญาคือวิธีการตั้งคำถาม และเป็นองค์ความรู้อย่างหนึ่งที่ช่วยให้คนเราสามารถคิดเองได้เป็น และสามารถคิดได้ด้วยตนเองในแนวทางที่หลากหลายได้


หลักปรัชญาชีวิตแนวนิเวศวิทยาเชิงลึก ที่ผู้คนในสังคมไทยควรตระหนักในปัจจุบันมีประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้

(1) สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ล้วนมีคุณค่าในตนเอง สิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากมนุษย์ก็ทรงคุณค่า และเป็นเอกเทศ โดยไม่ขึ้นกับคุณประโยชน์ในเชิง มูลค่าใช้สอย ของมนุษย์


(2) รูปแบบวัฒนธรรมที่หลากหลายของมนุษย์ย่อมทรงคุณค่าในตัวเอง รูปแบบการดำรงชีวิตที่หลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกก็เช่นกัน


(3) มนุษย์ย่อมไม่มีสิทธิจะไปลดความมั่งคั่งหลากหลายทั้งหลายทั้งปวงนี้ เว้นไว้แต่ความจำเป็นในการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น


(4) มนุษย์เข้าแทรกแซงและรบกวนโลกของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากเกินไป กระทั่งสถานการณ์กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน


(5) มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติหลักๆ ที่ได้กระทำต่อโลกทั้งมวลอย่างต่อเนื่องสืบมากระทั่งปัจจุบันเสียใหม่ นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่หยั่งรากลึกไปจนถึงระดับพื้นฐานของโครงสร้าง ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และอุดมการณ์


(6) มีความจำเป็นที่จะต้อง เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ ไปสู่โลกทัศน์ที่เพิ่มความตระหนักชื่นชม และมองเห็นคุณค่าของคุณภาพชีวิตมากกว่าเน้นไปที่การบริโภคเชิงวัตถุ เพื่อสถาปนาระบบนิเวศวิทยาที่ยั่งยืนในระดับโลก


(7) ควรมุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสืบค้นลึกไปถึง ต้นตอรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง ซึ่งก็คือ ปัญหาสังคม จึงจะช่วยให้มองเห็นทางออกของปัญหาที่มีความลุ่มลึก และตรงตามความเป็นจริงได้


(8) ผู้ที่เห็นพ้องกับหลักการข้างต้น ย่อมมี พันธะหน้าที่ ในอันที่จะพยายามก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นดังกล่าวด้วย หนทางสันติวิธี ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม


ปัจจุบันสังคมมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนน่าตระหนก เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธความก้าวหน้าที่กำลังดำเนินอยู่นี้ แต่เรามีความจำเป็นที่จะต้อง "นิยาม" ความหมายของความก้าวหน้าเสียใหม่


เราจำเป็นที่จะต้องสร้างแรงบันดาลใจ และเข้าถึงจิตใจแห่งตัวตนของผู้คนทั้งหลาย โดยพยายามชี้ให้พวกเขาเห็นว่า ธรรมชาติมิใช่สิ่งที่ขัดแย้งกับมนุษย์ คนเราจะมี ตัวตน ที่สมบูรณ์ที่สุดได้ ก็ต่อเมื่อตัวตนนั้นสามารถมีความเห็นอกเห็นใจ และมีความรู้สึกร่วมกับโลกใบนี้ในความหมายที่กว้างที่สุดได้แล้วเท่านั้น


และก็มีแต่ ตัวตนที่สมบูรณ์แล้ว เช่นนี้เท่านั้น ที่จะเอาชนะและก้าวข้าม ตัวตนที่ "ตื้นเขิน" ของระบอบทักษิณ ไปได้


*หมายเหตุ : ข้อเขียนชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ "เจ็บหรือที่จะคิด? สนทนากับอาร์เนอ เนสส์" เขียนโดย เดวิด โรเธนเบิร์ก โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, พฤศจิกายน 2548







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้