จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (14)
"ย่างก้าวสำคัญ ที่แยกตรงนั้นมันมีเพียงสอง
แยกหนึ่งแสงสีเรืองรอง แยกสองป่าดงพงพฤกษ์พนา
...ขบวนรถเรา ย่างเข้าปีเจ็ดสิบสาม
ลุ่มๆ ดอนๆ ไปตาม เส้นทางชื่อปรารถนา
...เหลือเพียงทางป่า ที่ว่าไม่รู้ไปสู่แห่งใด
แต่น่าสนใจ เพราะเป็นทางใหม่ไปสุดแผ่นดิน
แลดูเขียวๆ เลี้ยวลัดกันไปไม่มีสุดสิ้น
คือที่อยู่กินที่ต้องสร้างด้วยน้ำมือเรา
จะเอาทางไหน จะไปทางใด 2548""
จาก เพลง "2548"
(โดย สุรชัย จันทิมาธร)
14. หลังปี 2548 เราจะไปทางไหน?
ปัจจุบันการใช้ น้ำมัน ซึ่งเป็นรูปการณ์หนึ่งของ พลังงานจากแสงอาทิตย์สะสมตั้งแต่โบราณกาล (ancient sunlight) ของโลกอยู่ที่ 83 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากยังคงมีการบริโภคน้ำมันในอัตรานี้ ได้มีการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าโลกเราจะเหลือน้ำมันให้บริโภคได้อีกเพียง 40 ปีเท่านั้น อวสานของยุคน้ำมันเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ในอนาคตอันใกล้
ทางออก หรือ ทางเลือก ที่ทางวิทยาศาสตร์คิดได้ในตอนนี้คือ การเอา พลังงานไฮโดรเจน มาใช้แทนน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งได้ก่อปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อภาวะเรือนกระจก ซึ่งตรงข้ามกับการเผาผลาญไฮโดรเจนที่จะไม่ก่อผลกระทบเหมือนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซไฮโดรเจนเราสามารถเอามาจากน้ำได้โดยการป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับน้ำเพื่อแยกโมเลกุลของน้ำให้กลายเป็นไฮโดรเจน และออกซิเจน จึงเห็นได้ว่า แหล่งที่มา มิใช่ปัญหาของพลังงานไฮโดรเจนที่จะมาแทนที่น้ำมัน แต่เป็น วิธีเก็บบรรจุ ต่างหาก ซึ่งถ้าแก้ปัญหานี้ได้ พลังงานอนาคตรูปแบบใหม่จะเข้ามาแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยทันที
เซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) จากไฮโดรเจน คือรูปแบบวิธีเก็บบรรจุที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยที่เซลล์เชื้อเพลิงคือเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าโดยอาศัยปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า โดยมีการทำงานคล้ายกับแบตเตอรี่ แต่ต่างกันตรงที่เซลล์เชื้อเพลิงไม่จำเป็นต้องหยุดเพื่อทำการชาร์จไฟ แต่ สำหรับเซลล์เชื้อเพลิงแล้ว ตราบใดที่ป้อนไฮโดรเจน และออกซิเจนเข้าไปในตัวเซลล์ มันก็จะผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่คาดหมายกันว่า เซลล์เชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ พลังงานทดแทน ในยุคหลังน้ำมัน และจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นตามลำดับ ...ข้างต้นนี้ คือทัศนะที่มองโลกในแง่ดีมากๆ อย่างเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะสามารถแก้ไขวิกฤตอารยธรรมโลกอันเนื่องมาจากวิกฤตน้ำมันได้
แต่ถ้าเรามองวิกฤตนี้จากแง่มุมที่กว้างขึ้น อย่างบูรณาการยิ่งขึ้น อย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น เราจะพบว่า รากเหง้าของวิกฤตระบบโลก ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ และเป็นที่คาดว่าจะหนักหน่วงระดับหายนะในอนาคตอันใกล้นี้มาจาก การขยายตัวของประชากรโลกอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมๆ กับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลของน้ำมันที่เป็นแสงอาทิตย์สะสมตั้งแต่โบราณกาล กับ ความสามารถที่มนุษย์เราจะพยุงระดับประชากรเหล่านี้เอาไว้โดยไม่อดอยาก เพราะต่อให้ชาวโลกสามารถค้นพบบ่อน้ำมันใหม่เพิ่มขึ้น หรือต่อให้สามารถใช้เซลล์เชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนมาทดแทนน้ำมันได้ในขอบเขตที่กว้างไกลโดยเร็วได้ก็ตาม แต่ ตราบใดที่ประชากรโลกยังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง และตราบใดที่วัฒนธรรมแบบบริโภคนิยมยังครอบงำพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนส่วนใหญ่อยู่เช่นปัจจุบันนี้ การร่อยหรอของทรัพยากรโลก การทำลายสิ่งแวดล้อมของโลก การทำลายป่าไม้ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความผันผวนของสภาพอากาศ ฯลฯ ก็ย่อมนำไปสู่จุดจบของอารยธรรมบริโภคนิยมในอนาคตอันใกล้อยู่ดี
จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทางออก หรือ ทางเลือก ออกจากวิกฤตอารยธรรมโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันต้องแก้ที่วัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม มิใช่แก้ที่ เทคโนโลยี เป็นหลัก มันต้องแก้ที่ จิตสำนึก หรือ ปรัชญาการใช้ชีวิตแบบพอเพียง มิใช่แก้ด้วยเทคนิคการตลาด ขายฝันให้แก่ประชาชนแบบลมๆ แล้งๆ ไปวันๆ
ลองเปิดใจให้กว้าง แล้วหันกลับไปทบทวนดูให้ดีซิว่า บัดนี้มนุษยชาติกำลังยืนอยู่บนจุดไหนของวิวัฒนาการของจักรวาฬ?
ก่อนอื่น เรายอมรับกันได้หรือยังว่า ชีวิต ของคนเราอยู่ได้ด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะอาหารที่คนเรากินก็ต้องมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านจากพืช และผ่านจากสัตว์สู่มนุษย์อีกทีหนึ่ง
ก่อนหน้าที่จะบังเกิด อารยธรรมทุนนิยม บรรพบุรุษของเรายังชีพอยู่ได้ด้วยแสงอาทิตย์รายวันเท่านั้น จนกระทั่งมนุษย์ได้ค้นพบ "น้ำมัน" ซึ่งเป็นแสงอาทิตย์โบราณสะสม มนุษยชาติจึงสามารถเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มการบริโภค เพิ่มประชากร ก่อเกิด อารยธรรมบริโภคนิยมขนานใหญ่ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งในขณะเดียวกันอารยธรรมนี้ก็เริ่มทำลายล้างสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในอัตราที่น่าตระหนก พร้อมๆ กับจำนวนประชากรโลกที่ยิ่งเพิ่มขึ้นๆ ในอัตราเร่ง
จนกระทั่งบัดนี้ "น้ำมัน" ซึ่งเป็นแสงอาทิตย์โบราณสะสมใกล้จะหมดโลกในอีก 40 ปีข้างหน้านี้แล้ว และถึงแม้จะหาแหล่งพลังงานทดแทนได้ มันอาจทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะมันจะไปเพิ่มจำนวนประชากรโลกต่อไปอีก ตราบใดที่วัฒนธรรมของเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมพอเพียง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง
ขอย้ำอีกครั้งว่า ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้มิได้มาจากน้ำมัน จากผู้ก่อการร้าย หรือจากสิ่งใดอื่นทั้งสิ้น นอกจาก วัฒนธรรมของพวกเรา หรือจากโลกทัศน์ของพวกเราที่เป็นแบบวัตถุนิยม และบริโภคนิยมที่ใกล้จะถึงจุดจบในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้
เหตุที่แนวทางแก้ปัญหาแก้วิกฤตต่างๆ ที่ถูกนำเสนอมาส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ผล หรือแก้ปัญหาไม่ได้ก็เพราะแนวทางแก้ปัญหาเหล่านั้นถูกคิดค้นโดย โลกทัศน์ที่เป็นตัวสร้างปัญหา นั่นเอง มันจึงเป็นการพายเรือวนอยู่ในอ่างเท่านั้น! แนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทดแทน, การรีไซเคิล, การคุมกำเนิด, การอนุรักษ์ป่าไม้ที่เหลืออยู่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต่อให้มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้อยู่ดี ตราบใดที่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึก และโลกทัศน์ของผู้คนจำนวนมาก จนกระทั่งร่วมมือกันลุกขึ้นมาก่อความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย และยั่งยืนอย่างแท้จริงในทุกๆ มิติ ทุกปริมณฑลแห่งการใช้ชีวิต...ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
เส้นทางที่ "ผู้นำ" ของเรากำลังนำพาประเทศของเราไปไล่ล่าอนาคตนั้น หากพวกเราได้คิดว่ามันเป็นเส้นทางที่ผิดหรือไม่เหมาะสม เราก็ต้องพยายามเปลี่ยนเส้นทางนั้นด้วยมือของเราเองถ้าหากทำได้ แต่ถ้าหากเราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เราก็ต้องพยายามใช้คำพูดของเรา ใช้ข้อเขียนของเราไปทัดทานไว้
แต่ถ้าหากแม้แต่การพูด การเขียนของเราก็ยังไม่สามารถทำได้ เราก็ต้องพยายามด้วยหัวใจของเรา ด้วยการภาวนา ด้วยการตั้งจิตอธิษฐานขอให้สิ่งนั้นอย่าได้เกิดขึ้น เราต้องทำให้เกิดความถูกต้องให้มากที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้อย่างไม่แบกภาระเกินกว่าความสามารถของตัวเรา
เราต้องกล้าที่จะก้าวเดินบนโลกนี้อย่างอ่อนโยน อย่างไม่หยิ่งผยอง และเข้าร่วมการสร้างสรรค์อย่างมีจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ไม่ใช่เพื่อที่จะครอบงำและสยบธรรมชาติ แต่เพื่อที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความเคารพ เพราะ ธรรมชาติไม่ใช่ของเรา แต่เราเป็นของธรรมชาติต่างหาก เราจึงเป็นได้แค่ผู้พิทักษ์ธรรมชาติเท่านั้น หามีสิทธิที่จะครอบครองครอบงำธรรมชาติ แต่อย่างใดไม่
เราจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในโลกนี้อย่างมีศิลปะ จงอย่าทำตนแบบ "ลืมตัว" เหมือนอย่าง "ผู้นำ" ของเราที่ใช้ชีวิตราวกับตัวเองจะเป็น "อมตะ" ที่จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ที่ถูก คนเราควรใช้ชีวิตแต่ละวันราวกับเป็นวันสุดท้ายแห่งชีวิตของเรา เพื่อที่จะได้มีชีวิตอยู่อย่างเปี่ยมไปด้วยสาระทุกลมหายใจของเรา