6 ผู้นำอย่างทักษิณ จากมุมมองของเอ็นเนียแกรม

6 ผู้นำอย่างทักษิณ จากมุมมองของเอ็นเนียแกรม


ผู้นำอย่างทักษิณ จากมุมมองของเอ็นเนียแกรม



"คนลักษณ์แปด สามารถพัฒนาการยึดติดกับเรื่องอำนาจ ให้เป็นพรสวรรค์ที่จะผลักดันงานใหญ่ๆ ให้เดินหน้าได้อย่างเหมาะสมเป็นแบบอย่างของผู้นำที่อุทิศตนในการต่อสู้กับอุปสรรค และกล้าทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว"


จากเอ็นเนียแกรม : ศาสตร์เพื่อความเข้าใจตนเองและผู้อื่นของ เฮเลน พาล์มเมอร์ แปลโดย วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2546


อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วในตอนก่อนว่า ทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณแทบเป็นผลงานความคิดของคนคนเดียวเท่านั้น มิหนำซ้ำคนคนเดียวกันนี้ยังมีอำนาจการตัดสินใจแบบรวมศูนย์ที่สุดในการกำหนดทิศทางและวิชันทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ดุจขุนพลผู้บัญชาการรบ หากจะสำเร็จก็เพราะการตัดสินใจของเขา หรือหากจะพลาดก็เพราะการตัดสินใจของเขาเช่นกัน


ในอนาคตอีกหลายปีถัดจากนี้ไป คนคนนี้คงยังเป็นผู้กำหนดและผู้กุมชะตาของบ้านเมืองนี้ต่อไปอีกอย่างแน่นอนในฐานะที่เป็น "ผู้นำ" ไม่ว่าเขาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ก็ตาม


เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้นำอย่างทักษิณ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในหลายๆ แง่


ผู้ที่หวาดระแวงในตัวผู้นำอย่างเขา อาจหวาดระแวงน้อยลง หากได้รู้จักเข้าใจเขาในแง่มุมที่ต่างไปจากเดิม เช่น แง่มุมของ เอ็นเนียแกรม (Enneagram) หรือศาสตร์นพลักษณ์


ผู้ที่ชอบวิจารณ์ผู้นำอย่างเขาในทุกๆ เรื่องอย่างตั้งแง่และมีอคติ อาจทำใจเปิดกว้างยอมรับข้อดีและข้อเสีย ซึ่งมีอยู่ในตัวของผู้นำอย่างเขาได้มากขึ้นกว่าเดิม เมื่อมีความเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของเขาในเชิงเอ็นเนียแกรม ที่แม้แต่ตัวเขาเองก็อาจยังไม่เข้าใจและรู้จักตัวเองดีพอ


ผู้ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองของเขา อาจค้นหาแนวทางการต่อสู้แข่งขันที่พอมีสิทธิ์ลุ้นได้มากกว่าเดิม หากสามารถเข้าใจได้ว่า ผู้นำอย่างเขาชนะมาได้อย่างไร และจะพ่ายแพ้เพราะอะไร แน่นอนว่า ผู้นำอย่างเขาไม่ได้ชนะมาได้เพราะ "เงิน" อย่างที่พวกคู่แข่งของเขาเข้าใจผิดหรอก


ผู้ที่ทำงานรับใช้ผู้นำอย่างเขา อาจทำงานได้ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งผ่อนคลายกว่าเดิม หากรู้ว่า ควรสัมพันธ์ในเชิงอำนาจกับผู้นำแบบเขาอย่างไร ในสายตาของเอ็นเนียแกรม


คนทั่วไปในสังคมนี้จะอยู่ภายใต้ระบอบของเขาได้อย่างสบายใจขึ้น และสัมพันธภาพที่คนทั่วไปมีต่อผู้นำของเขาจะมีดุลยภาพมากขึ้น คือ ไม่หลงงมงายเชื่อตามผู้นำอย่างหัวปักหัวปำทุกเรื่อง และไม่ต่อต้านทุกเรื่องโดยเอาอารมณ์เหนือเหตุผล เพราะคนทั่วไปจะสามารถมองผู้นำและระบอบของเขาด้วยสายตาที่เป็นกลาง ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ พ้นจากฉันทาคติและอคติได้มากขึ้น เพราะความเข้าใจที่ได้จากเอ็นเนียแกรม


และเหนือสิ่งใดอื่น ตัวนายกฯ ทักษิณเอง อาจสามารถพัฒนาตนเองให้บรรลุศักยภาพสูงสุดที่เขามีได้ ด้วยการข้ามพ้น "บุคลิกภาพ" บางอย่างของตัวเขา ที่เขาไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเขา และสามารถรังสรรค์ระบอบที่ข้ามพ้นข้อจำกัดของระบอบทักษิณ ด้วยตัวเขาเองได้ หากเขาสามารถเข้าใจตัวเองได้อย่างถ่องแท้ด้วยเอ็นเนียแกรมและศาสตร์ทำนองนี้


เอ็นเนียแกรมหรือศาสตร์นพลักษณ์เป็นคำสอนโบราณของพวกซูฟี ที่ถูกนำมารื้อฟื้นใหม่ โดย เกอร์ดจีฟฟ์ คุรุทางจิตวิญญาณชาวตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ถ่ายทอดผ่านออสการ์ อิชาโซไปสู่คลาวดิโอ นารานโจ และมาสู่เฮเลน พาล์มเมอร์ ก่อนที่จะเผยแพร่ในประเทศไทย โดยผ่านท่านสันติกโรภิกขุ


เอ็นเนียแกรมเป็นศาสตร์ในเชิงจิตวิทยาและเชิงจิตวิญญาณอยู่ในตัวเดียวกัน เท่าที่ผ่านมามีคนเป็นจำนวนมากที่ได้ศึกษาศาสตร์นี้และสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่สร้างสรรค์ได้


ศาสตร์นี้ช่วยอธิบายพฤติกรรมที่เข้าใจได้ยากของเราหรือคนใกล้ชิดกับเรา ซึ่งพฤติกรรมบางอย่างเปรียบเสมือนส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่เรามองเห็นอยู่เหนือน้ำ แต่ส่วนที่เรามองไม่เห็นไม่เข้าใจนั้นคือ มวลขนาดมหึมาของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำนั้น ซึ่งคือบุคลิกภาพหรือโครงสร้างของสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเราอย่างเช่น โลกทัศน์ ความชอบบางอย่าง กลไกปกป้องตัวตน ฯลฯ และเป็นตัวผลักดันให้เราแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา


ตัวตนที่เรายึดติดมาตลอดนี้เอง ที่เป็นที่มาของพฤติกรรมที่เข้าใจยากหรือถูกเข้าใจผิดจากผู้อื่น การมีความเข้าใจ โครงสร้างของตัวตนของตนเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง อันตัวตนนี้ ในด้านหนึ่งมันเป็นเหมือนเกราะที่ช่วยปกป้องจิตใจอันเปราะบางของเรา แต่ในอีกด้านหนึ่งมันกลับเป็นอุปสรรคของการก้าวไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ของเราเช่นกัน


ใช่หรือไม่ว่า ตัวตนของเรานั่นเองที่ขวางกั้นไม่ให้เราเปลี่ยนไปจากเดิมได้มากนัก? เศรษฐกิจฟองสบู่เพิ่งล่มสลายไปเมื่อปี พ.ศ. 2540 นี้เอง แต่ตอนนี้ พฤติกรรมแบบฟองสบู่ก็หวนกลับมาอีกในผู้คนส่วนใหญ่นี้ไม่ใช่เพราะตัวตนของคนเหล่านั้นที่ขัดขวางการเติบโตของพวกเขามิให้เปลี่ยนไปจากเดิมได้มากนักดอกหรือ?


เอ็นเนียแกรมแบ่งประเภทของตัวตนออกเป็นเก้าลักษณะ โดยศาสตร์นี้ให้แนวทางกว้างๆ ในการมองเห็นและเข้าใจว่า ตัวตนที่เป็นไปตามลักษณ์แต่ละแบบทั้งเก้าแบบนั้น เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการพัฒนาตัวเรา


เมื่อตัวเราได้เห็นข้อจำกัดเหล่านั้นแล้ว เราจะเกิดแรงจูงใจที่ไม่อยากจะอยู่ในความคับแคบของตัวตนนี้ เราจะเกิดความต้องการโดยธรรมชาติที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น ซึ่งจะชักนำเราไปสู่การปฏิบัติ เฝ้าสังเกตประเด็นต่างๆ ตามลักษณ์ที่เรามีเราเป็น ทำให้เราพัฒนาสติในการเฝ้าระลึกรู้ตัวสังเกตตนเองได้อย่างเป็นภววิสัย สามารถทำใจยอมรับ เข้าใจ ให้อภัยตนเองละวาง ปล่อยคลายพฤติกรรมที่เป็นไปตามกลไก จนกระทั่งหลุดพ้นจากความเป็นกลไกของลักษณ์ของเราในที่สุด


***************



ผู้นำคนนี้ของเรา ดูเหมือนจะเป็นคนลักษณ์แปดในศาสตร์ของเอ็นเนียแกรม คนลักษณ์แปดมักเล่าถึงวัยเด็กที่ต้องต่อสู้ ถ้าเข้มแข็งก็จะได้รับการยกย่อง ถ้าอ่อนแอก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ ความกลัวว่าจะถูกคนอื่นเอาเปรียบ ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะปกป้องตนเอง และไวเป็นพิเศษต่อเจตนาร้ายของคนอื่น


คนลักษณ์แปดมักมองตนเองเป็นผู้คอยปกป้องเพื่อนฝูงและผู้บริสุทธิ์ โดยตนเองชอบออกหน้าต่อสู้กับความอยุติธรรมต่างๆ


คนลักษณ์แปด จึงไม่รู้สึกหวั่นกลัวว่าจะขัดแย้งกับใคร ตรงกันข้าม เขามองตนเองเป็นเหมือนผู้พิทักษ์ความเป็นธรรม และจะรู้สึกภูมิใจในตนเองอย่างยิ่งกับการเป็นผู้ปกป้องผู้อ่อนแอคนยากไร้


คนลักษณ์แปด จึงมักแสดงออกถึงความรักด้วยการปกป้องคุ้มครองมากกว่าจะแสดงความอ่อนโยน ความผูกพันหมายถึง การปกป้องคนรักในอ้อมแขน แล้วฝ่าฟันก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน


ประเด็นสำคัญที่คนลักษณ์แปดใส่ใจมากที่สุดคือ อำนาจและการควบคุมคนลักษณ์แปดชอบเข้าควบคุม รับผิดชอบ ใช้อำนาจจัดการ และคอยควบคุมไม่ให้คนอื่นมาแย่งชิงอำนาจที่เขามี


ด้วยเหตุนี้ คนลักษณ์แปดจึงมักรู้สึกว่า เขาจำเป็นจะต้องทดสอบอำนาจของตัวเขาและของคนอื่นอยู่เสมอๆ เขาจึงมักจะคิดในใจอยู่เสมอว่า


"ฉันกำลังตกอยู่ในเงื้อมมือของคนฉ้อฉลคดโกงหรือเปล่านะ? พวกนั้น หากถูกกดดันจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ฉันจะต้องลองทดสอบพวกนั้นดู"


ผู้นำที่เป็นคนลักษณ์แปด จึงมักต้องการสร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักรของเขา คนลักษณ์แปดจึงชอบใช้กลยุทธ์ "ข้าเป็นใหญ่แต่ผู้เดียว" มากกว่าจะแสวงหาพันธมิตร


ตามปกติคนลักษณ์แปดมักจะทดสอบอำนาจของคนอื่น ด้วยการกดดันจุดอ่อนของคนคนนั้น แล้วจับตาดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คลาดสายตา


บุคลิกภายนอกที่แข็งกร้าวของคนลักษณ์แปดคือ เกราะที่สร้างขึ้นเพื่อปกป้องจิตใจที่อ่อนโยนของตัวเองที่ซ่อนเอาไว้ลึกๆ


คนลักษณ์แปดมักมีนิสัยมองออกภายนอกเพื่อคาดโทษคนอื่น การกล่าวโทษและความต้องการลงโทษผู้กระทำผิด จึงเป็นเรื่องหมกมุ่นหลักของเขา และทำให้เขามีความรู้สึกว่า ตนเองมีความชอบธรรมที่จะเข้ามาควบคุมจัดการในฐานะผู้ปกป้องคนบริสุทธิ์ และผู้สร้างความยุติธรรม


จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนลักษณ์แปดอาจใช้ความโกรธ เป็นพลังในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อรับมือกับการคุกคามจากภายนอก ความโกรธทำให้คนลักษณ์แปดรู้สึกมีพลังอำนาจ เพราะมันทำให้เขาไม่ต้องรู้สึกกลัวอันตรายจากคนอื่นและไม่ต้องกลัวถูกคนที่ไว้ใจหักหลัง


โลกทัศน์ที่เชื่อว่าคนแข็งแกร่งเท่านั้นที่อยู่รอด ทำให้คนลักษณ์แปดไม่ไว้วางใจการแสดงออกที่กำกวม ข้อมูลที่คลุมเครือ หรือสายการบังคับบัญชาที่ไม่ชัดเจน


คนลักษณ์แปดจะรู้สึกมั่นคงกว่า ถ้ารู้ว่าใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู เมื่อคนลักษณ์แปดถูกกดดัน การใส่ใจของเขาจะอยู่ที่การเปรียบเทียบอำนาจของตนเองกับจุดแข็งจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ และเขามักไม่ค่อยลังเลใจกับความคิดเห็นของตนเอง


คนลักษณ์แปดต้องการคาดการณ์สิ่งต่างๆ ให้ได้ และต้องการควบคุมชีวิตของตนเอง แต่เขาจะหงุดหงิดและเบื่อง่าย หากไม่มีเรื่องท้าทายในชีวิต เพราะฉะนั้น การทำอะไรที่เกินพอดี จึงเป็นทั้งวิธีปลดปล่อยพลังงานส่วนเกินและวิธีแก้เบื่อที่คนลักษณ์แปดใช้จนเป็นเรื่องปกติ


การมีวุฒิทางอารมณ์และการมีสติรู้ตัวในการสังเกต "ตัวตน" ของตนเองอย่างเป็นกลาง จะทำให้คนลักษณ์แปดสามารถตระหนักถึงมุมมองอันคับแคบและจำกัดของตนเองได้ และสามารถพัฒนาตัวเองให้พ้นขีดจำกัดเหล่านั้นได้


เรื่องหมกมุ่นยึดติดจนเป็นนิสัยและจุดอ่อนของคนลักษณ์แปดนั้นได้แก่

(1) การควบคุมอาณาจักรส่วนตัวของตน และการควบคุมคนอื่นที่อาจมีอิทธิพลต่อชีวิตของตนเอง

(2) ความก้าวร้าวและการแสดงความโกรธออกมาอย่างเปิดเผย

(3) ความกังวลในเรื่องความยุติธรรมและการปกป้องผู้อื่น

(4) การสร้างความสัมพันธ์โดยผ่านการต่อสู้ เพื่อความผูกพัน

(5) การทำสิ่งต่างๆ อย่างเกินพอดี (ไฮเปอร์) เพื่อขจัดความเบื่อของตน

(6) มองคนอื่นแบบสุดโต่ง แบบไม่เป็นมิตรก็เป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่แข็งแรงก็อ่อนแอ ไม่ยอมมองอะไรอย่างเป็นกลาง

(7) ไม่รับรู้จุดอ่อนของตนเอง และมักปฏิเสธความคิดเห็นของคนอื่นโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ตนเองรู้สึกมั่นใจในความคิดเห็นที่ "ถูกต้องชอบธรรม" ของตนเอง


พรสวรรค์ของคนลักษณ์แปดเป็น พรสวรรค์ในการดิ้นรนต่อสู้จนได้ชัยชนะเป็นพรสวรรค์แห่งความแข็งแกร่ง คนลักษณ์นี้จึงจะไว้ใจเฉพาะคนที่เปิดเผยตนเองทุกสิ่งทุกอย่างต่อตัวเขาอย่างไม่มีอะไรปิดบังเท่านั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่คนลักษณ์แปดมักกดดันผู้อื่นให้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน


ข้อด้อยของคนลักษณ์แปดคือ คนลักษณ์แปดมักปล่อยให้ความยืดมั่นใน "ตัวตน" ของเขา มามีบทบาทครอบงำจิตใจเขามากจนเกินไป ใจของคนลักษณ์แปด จึงมักจดจ่ออยู่กับความจริงเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับตนเองเท่านั้น และเขาจะยึดติดอยู่กับการกระทำที่ตั้งอยู่บน "ความจริงเฉพาะด้าน" (partial truth) ด้านนั้น ราวกับว่ามันเป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ (ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น)


เมื่อใดก็ตามที่คนลักษณ์แปดเชื่อมั่นใน "ความถูกต้อง" ของ "ความจริงเฉพาะด้าน" (โดยหลงผิดคิดว่าเป็น "ความจริงในเชิงบูรณาการ") นั้นแล้ว เขาจะมองไม่ออก มองไม่เห็นเลยว่า การที่เขาเชื่อเช่นนั้น เพราะมันเป็นประโยชน์สำหรับตัวเขาเอง (อย่างในเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน)


เมื่อใดก็ตาม ที่คนลักษณ์แปดหลงเชื่อใน "ข้อเท็จจริงบางด้าน" โดยหลงผิดคิดว่าเป็น "ความจริงเชิงบูรณาการ" และอยู่ในสภาวะที่ตั้งท่าต่อสู้ เขาจะมองเห็นแต่ข้อเสียของฝ่ายตรงข้ามและข้อดีของตนเองเท่านั้น ไม่แต่เท่านั้น ใครที่มีความคิดเห็นต่างไปจากเขาจะถูกเหมารวมว่าโง่ และเขาจะไม่แยแสความคิดเห็นนั้นเลย เพราะคนลักษณ์แปดจะจำกัดการใส่ใจของเขาไปที่การบรรลุเป้าหมายที่ตัวเขาตั้งขึ้นมาเท่านั้น


ในภาวะที่กำลังหมกมุ่นอยู่กับการบรรลุเป้าหมายของตนอยู่นั้น คนลักษณ์แปดจะขาดความยืดหยุ่น และอาจไม่สามารถใคร่ครวญการกระทำของตนเองได้



******************


จุดอ่อนของผู้นำแบบคนลักษณ์แปดนี้ถึงที่สุดแล้ว จะกลายมาเป็นจุดอ่อนของทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณอย่างแน่นอน


จุดอ่อนนี้ขอเน้นย้ำอีกทีว่า เป็นจุดอ่อนที่เกิดจากการกระทำตามสภาวะจิตที่ยึดติดอยู่กับ "ความจริงเฉพาะด้าน" ที่เขามองเห็น โดยที่ตัวเขาไม่สามารถใส่ใจกับมุมมองหรือความคิดเห็นที่ต่างไปจาก "สัจจะความจริง" ของเขานั้น


ในขณะที่จุดแข็งของผู้นำแบบลักษณ์แปดก็เป็นจุดแข็งของทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณด้วยเช่นกัน นั่นคือ การปลดปล่อยพลังอันมหาศาลดุจไร้ขีดจำกัดในการผลักดันงานใหญ่ งานที่ต้องใช้จินตนาการ ความสร้างสรรค์ให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ราวกับไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งไม่มีผู้นำลักษณ์ไหน ประเภทไหน จะทรงพลัง เก่งกาจ และปราดเปรื่องเท่ากับผู้นำลักษณ์แปดอีกแล้วในเรื่องแบบนี้


ถ้าเช่นนั้น พวกเรารวมทั้งตัวผู้นำเองจะช่วยกัน "ขจัดจุดอ่อน" ของผู้นำแบบลักษณ์แปดได้อย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงในการบริหารระบอบทักษิณนี้?

(1) ก่อนอื่น เมื่อใดที่ท่านผู้นำแบบลักษณ์แปดเกิดความรู้สึกขึ้นมาในจิตใจว่า คนอื่นนั้นช่างคิดอะไรแบบโง่สิ้นดี! เมื่อนั้นขอให้ท่านผู้นำแบบลักษณ์แปดจงรีบเจริญสติรู้ตัวว่า จุดอ่อนของตนกำลังเริ่มสำแดงบทบาทอีกแล้ว และจงรีบขจัดความรู้สึกในเชิงลบเช่นนี้ทิ้งออกไปโดยเร็ว


(2) บทบาทของคนรอบข้างที่ไว้ใจได้ ไม่ว่าภรรยา เพื่อนสนิท และผู้ร่วมงาน จะต้องเป็นไปในทิศทางที่ส่งเสริมวุฒิภาวะทางอารมณ์ของท่านผู้นำแบบลักษณ์แปดให้สูงขึ้น บทบาทของสื่อมวลชนและประชาชนก็เช่นกัน ควรไปในทิศทางนี้ เพื่อทำให้กลไกการปกป้องตนเองของท่านผู้นำแบบลักษณ์แปดผ่อนคลายลง


(3) บทบาทของคุรุทางจิตวิญญาณ บทบาทของปราชญ์สาธารณะ และบทบาทของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ท่านผู้นำแบบลักษณ์แปดเคารพนับถือไว้วางใจ ย่อมสามารถช่วยกล่อมเกลาจิตใจและเสริมสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ให้สูงขึ้นแก่เขาได้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้