2 ระบบเศรษฐกิจก่อนทักษิโณมิกส์

2 ระบบเศรษฐกิจก่อนทักษิโณมิกส์


ระบบเศรษฐกิจก่อนทักษิโณมิกส์



"เวลานี้ เรากำลังอยากจะเห็นอะไรกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชนบท
ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ วันนี้เรามีคนจนอยู่ 9 ล้าน 9 แสนคน คนจนที่เขาบอกว่า
จนเพราะมีรายได้ต่ำกว่า 888 บาทต่อเดือน คือมีรายได้วันละไม่ถึง 30 บาท"

ทักษิณ ชินวัตร (2544)



จะว่าไปแล้ว นโยบายแบบทักษิโณมิกส์ของรัฐบาลทักษิณ มีลักษณะเป็นปฏิบท (Anti-Thesis) ของระบบเศรษฐกิจไทยก่อนหน้านั้น อย่างน้อย 4 ประการด้วยกันคือ


(1) พยายามแก้ไข กลไกเศรษฐกิจแบบทวิลักษณะ (Dual Economy) ที่เป็นที่มาของการเกิดความยากจนในชนบทไทย


(2) พยายามกระตุ้น พลวัตของทุนนิยมอุตสาหกรรมไทย ที่ขาดฐานเทคโนโลยี


(3) พยายามใช้ กลไกเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในขอบเขตที่พอจะควบคุมได้


(4) พยายามดึง เศรษฐกิจใต้ดิน ซึ่งเป็นฐานของความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเก่า (เจ้าพ่อ, ผู้มีอิทธิพล, นักธุรกิจการเมือง) ให้กลายมาเป็นเศรษฐกิจบนดินที่รัฐสามารถควบคุมได้ และสามารถนำรายได้จากส่วนนี้มาใช้ในนโยบายประชานิยม เพื่อลดภาระทางการคลังของรัฐบาล


โมเดลเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ (Dual Economy Development Model) ในทางเศรษฐศาสตร์ มิใช่การจำแนกเศรษฐกิจแบบ สองโฉมหน้า อย่างเช่น ภาคเศรษฐกิจจริง-ภาคเศรษฐกิจการเงินแบบฟองสบู่, อุตสาหกรรมขนาดใหญ่-อุตสาหกรรมขนาดเล็ก,ภาคอุตสาหกรรม-ภาคเกษตรกรรม อย่างที่ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ (โลกาภิวัตน์-เศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ สถาบันวิถีทรรศน์ 2546) เข้าใจ


แต่มันคือ โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้อธิบายว่า ความยากจนในชนบทของประเทศกำลังพัฒนา เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะแก้ไขอย่างไร?


โมเดลนี้ตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานที่ว่า สังคมหนึ่งๆ ประกอบขึ้นมาจาก 2 สาขาเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างทางคุณภาพ คือ สาขาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (Traditional Sector) กับ สาขาเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ (Modern Sector) และยังตั้งข้อสมมติเพิ่มเติมอีกว่า


(1) สาขาเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่สามารถขยายตัวได้ โดยได้รับการป้อนอุปทานแรงงานจากสาขาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (ภาคชนบท)


(2) แรงงานที่ไม่มีทักษะความชำนาญ สามารถได้รับค่าตอบแทนจากสาขาเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่มากกว่า สาขาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ทั้งๆที่งานที่ทำนั้นมีปริมาณและคุณภาพของงานเท่ากัน


(3) ในระดับค่าจ้างปัจจุบัน จำนวนอุปทานของแรงงานไร้ทักษะที่ป้อนเข้าสู่สาขาเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่จะมีปริมาณ มากเกินกว่าที่สาขานี้จะจ้างได้หมด เพราะฉะนั้น คำว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ ตามโมเดลนี้ก็คือ กระบวนการทางเศรษฐกิจที่ภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่ ขยายตัว พร้อมกับดูดซับ แรงงานส่วนเกินจากภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง ภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่กลายมามี ฐานะครอบงำ ในระบบเศรษฐกิจโดยรวมเหนือภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมได้นั่นเอง


และการกลายเป็น ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ก็คือการที่ประเทศนั้นสามารถรุดหน้าในการ พัฒนาเศรษฐกิจ ตามความหมายข้างต้น จนกระทั่งมาถึงจุดที่แรงงานส่วนเกินในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมได้เหือดแห้งจนหมดไป เพราะถูกดูดซับแรงงานไปสู่ภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่จนเกือบหมด และแม้แต่เกษตรกรรมแบบดั้งเดิมเองก็พลอยถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น อุตสาหกรรมการเกษตร ไปด้วย ณ จุดนี้เองที่ คนจน ตามนิยามของเศรษฐศาสตร์จะเริ่มหมดไปจากประเทศนั้น


กลไกการเกิดความยากจนในชนบท ตามโมเดลเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ สามารถอธิบายเป็นแผนภูมิได้ดังนี้


จากแผนภูมิเราสามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่สามารถขจัดความยากจนในชนบท และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้รุดหน้าอย่างต่อเนื่องได้ กับกรณีที่ล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจ และไม่อาจแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทได้ ในกรณีแรกเป็นไปได้ในกรณีที่มีการแห่เข้ามาลงทุนโดยตรงในภาคอุตสาหกรรมจากบรรษัทข้ามชาติ


เป็นจำนวนมากพอที่จะดูดซับแรงงานในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนกระทั่งมาถึงจุดที่แทบไม่มีแรงงานส่วนเกินหลงเหลืออีกต่อไปแล้ว เมื่อนั้นระดับค่าจ้างในภาคเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมจะสูงขึ้น ส่วนภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะอัตราค่าจ้างแรงงานในภาคนี้จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว


ในอีกด้านหนึ่ง ผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่ จะทำให้ภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม (ชนบท) ก็สามารถซื้อสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิต อย่างเช่น ปุ๋ย เครื่องจักรการเกษตร ฯลฯ ได้ในราคาที่ค่อนข้างต่ำ โดยเปรียบเทียบกับค่าจ้างในภาคชนบทที่เริ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของการใช้แรงงานกับเครื่องจักรการเกษตร ผลก็คือ เกิดความรุดหน้าในการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตร และเปลี่ยนโฉมหน้าของการเกษตรจากที่เคยมีผลิตผลต่ำ และใช้แรงงานล้นเกิน มาเป็นการเกษตรที่มีผลิตผลสูงและใช้เทคโนโลยีหนาแน่น ด้วยกระบวนการเช่นนี้แหละที่พวกนักเศรษฐศาสตร์เชื่อกันว่า ภาคเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมจะค่อยๆ ถูกปฏิรูปให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และการสูงขึ้นของค่าจ้างในภาคเกษตรจะช่วยยกระดับสวัสดิการของสังคมโดยรวมด้วย


โมเดลนี้เรียก กระบวนการข้างต้นนี้ว่า กลไกที่ 1 หรือกลไกการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมให้ทันสมัย


แต่ถ้า กลไกที่ 1 นี้ไม่ทำงานหรือล้มเหลว กลไกที่ 2 หรือกลไกการเกิดความยากจนในชนบท จะเข้ามาแทนที่กลไกที่ 1 ซึ่งกลไกการเกิดความยากจนในชนบทสามารถพิจารณาได้ดังต่อไปนี้


กล่าวคือ แรงกดดันจากจำนวนประชากรที่หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการมีข้อจำกัดในการขยายที่ดินทำกิน ทำให้เกิดการซอยที่ดินทำกินออกเป็นผืนย่อยๆ ซึ่งมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนพวกชาวนาที่ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยที่ดินทำกินที่มีขนาดเล็กลงนี้ ต้องผันตัวเองไปเป็น ชาวนาเช่า และอาจต้องสูญเสียที่ดินทำกินทั้งหมดไปในที่สุด


นั่นก็คือ เกิดการสลายตัวหรือการแตกขั้วในหมู่ชนชั้นชาวนาออกเป็นชาวนาระดับล่าง หรือชาวนาไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มชาวนาไร้ที่ดินกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้แหละ คือตัวตนที่แท้จริงของ คนจน และ ความยากจน ในชนบท โดยปกติคนกลุ่มนี้ที่มีจำนวนมากมายนี้มักกลายเป็นแรงกดดันต่ออุปทานของตลาดแรงงาน ทำให้อัตราค่าจ้างมิอาจสูงขึ้นได้ อย่างดีก็แค่ทรงตัว หรืออาจถูกกดให้ต่ำลงกว่าเดิมด้วยซ้ำในแง่ของอัตราค่าจ้างแท้จริง


จากคำอธิบายเชิงทฤษฎีของโมเดลเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ข้างต้น แล้วหันมาพิจารณาปัญหาความยากจนในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงก่อนทักษิโณมิกส์ เราคงต้องยอมรับว่า กลไกการเกิดความยากจนในชนบทนี้ยังคงทำงานของมันอยู่ในภาคเกษตรของไทยที่ยังมีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ และเท่าที่ผ่านมา ไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทไทยได้ ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะกลไกที่ 1 ไม่ค่อยเวิร์ก ขณะเดียวกัน รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมาในรอบ 40 ปีมานี้ ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่มี "ความมุ่งมั่นทางการเมือง" ที่มากพอที่จะ หยุดสกัดกลไกที่ 2 แล้วสร้าง กลไกใหม่ ขึ้นมาทดแทน


จะมีก็รัฐบาลทักษิณชุดนี้แหละที่เริ่มใช้ โมเดลทักษิโณมิกส์ เข้ามาแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทอย่างเป็นระบบ แต่ในขณะนี้ก็ยังเป็นแค่ความเป็นไปได้เท่านั้น ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดแจ้งว่า จะทำได้สำเร็จ ซึ่งข้อเขียนชุดนี้จะค่อยๆ ทยอยตรวจสอบจากทุกแง่ทุก







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้