5 กลยุทธ์ของทักษิโณมิกส์

5 กลยุทธ์ของทักษิโณมิกส์


กลยุทธ์ของทักษิโณมิกส์



"การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะต้องเริ่มฟื้นที่ระดับรากหญ้า ถ้าฟื้นระดับล่างได้แล้ว
เศรษฐกิจระดับบนจะไปได้แน่นอน เปรียบได้กับการเขย่าต้นไม้ ถ้าเขย่าที่โคนแรก
ก็คลอนแคลนเคลื่อนไหวหมด แต่ถ้าเขย่าที่ใบ ลำต้นก็ขยับนิดเดียว ระดับล่างไม่รู้สึกเลย"

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร (2544)



ความคิดที่ทรงพลัง ย่อมกลายมาเป็นปฏิบัติการที่ทรงพลังเสมอ ไม่ช้าก็เร็ว!


ภายหลังจากที่เขาลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม และก่อตั้งพรรคการเมืองของเขาเองนั้น เขาได้กระทำในสิ่งที่นักการเมืองรุ่นก่อนๆ แทบไม่ได้ทำกันเลย นั่นคือ การตระเตรียมทางความคิดให้พรั่งพร้อม ก่อนที่จะเสนอตัวเข้าช่วงชิงอำนาจทางการเมือง


นักการเมืองก่อนหน้าเขาส่วนใหญ่ใส่ใจกับการเล่นการเมือง ฝักใฝ่ในอำนาจ แต่ขาดความมุ่งมั่นทางการเมือง รวมทั้งขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองอันแน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองอย่างจริงจัง ในระดับเอาเป็นเอาตาย อย่างมากก็ผลักดันไปตามกลไกระบบราชการพอเป็นพิธีพอให้อยู่ในอำนาจต่อไปได้เท่านั้น


แต่เขาตระหนักแก่ใจตัวเองดีกว่า เขาเป็นคนละสายพันธุ์กับนักการเมืองประเภทนั้น ยิ่งในช่วงสองปีแรกของการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ที่เขาระดมสมอง อ่านหนังสือ ทุ่มเทให้กับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มพลังต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อหายุทธศาสตร์และทางออกในการกู้ชาติให้พ้นจากวิกฤตการล่มสลายของเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2546 เขาและกลุ่มของเขา ก็ยิ่งตกผลึกทางความคิดยิ่งขึ้น ยิ่งกว่ากลุ่มการเมืองใดๆ ของประเทศนี้ในขณะนั้น


แนวทางของพรรคไทยรักไทยของเขาที่เสนอตัวเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในต้นปีพ.ศ. 2544 นั้น จะว่าไปแล้วถูกกำหนดจากหนังสือ "Rethinking the Future" ที่เขาอ่านมาก็เห็นจะไม่ผิดนัก


โดยเฉพาะการตระหนักว่า "ถนนสิ้นสุดที่นี่" อนาคตจะแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง การเดินทางไปสู่วันพรุ่งนี้จะเป็นประสบการณ์ที่อยู่นอกถนนหลวง (Off-road experiences) ซึ่งทำให้ผู้นำต้องเปลี่ยนความคิดและวิธีคิดกันใหม่


แล้วอะไรเล่าคือ วิธีคิดแบบใหม่ ที่จำเป็นที่สุดสำหรับการนำทางเศรษฐกิจในต้นศตวรรษที่ 21 นี้?


ก่อนอื่น คือการต้องยอมรับความจริงที่ว่า เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เป็นผลผลิตของคลื่นลูกที่สองที่ปรับตัวไม่ทันกับการรุดหน้าอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจแบบคลื่นลูกที่สามในช่วงสิบปีมานี้


วิธีคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะพวกเขายังคงติดอยู่กับกับดักความสำเร็จก่อนหน้านี้ของตัวเองในอดีต มีน้อยคนและน้อยครั้งนักที่พวกเขาจะเข้าไปสำรวจขอบเขตของเศรษฐกิจคลื่นลูกที่สามอย่างลึกซึ้ง


สิ่งนี้เองที่ทำให้กระบวนทัศน์ของพวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักขาดวิธีการคิดแบบเชื่อมโยง (บูรณาการ) ระหว่างความคิดทางการจัดการแบบคลื่นลูกที่สามกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบคลื่นลูกที่สาม เข้าด้วยกัน!


พวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่ ไม่ค่อยกล้า "คิดนอกกล่อง" เพราะมันเสี่ยงอย่างมากกับชื่อเสียงในวิชาชีพของเขา ด้วยเหตุนี้ ความรุดหน้าในการสร้างกรอบทางปัญญา และกรอบทางทฤษฎีทั่วไปที่เป็นเอกภาพระหว่างทฤษฎีการจัดการและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ จึงยังไม่ลงตัวนัก


นี่ยังไม่ต้องพูดถึง กรอบทางปัญญาแบบ "บูรณาการศาสตร์" (Integral studies) ที่เกินความนึกคิดและจินตนาการของนักวิชาการ "สายเดี่ยว" ทั่วไป
สิ่งที่เราเรียกกันว่า "ทักษิโณมิกส์" (Thaksinomics) เป็นความพยายามทางความคิดเชิงกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์หลังปี พ.ศ. 2540 ที่กลายมาเป็น "ระบอบการจัดการและปกครองประเทศ" (ระบอบทักษิณระบอบหนึ่งในปัจจุบันด้วยเท่านั้น) ดังนี้


1. เริ่มจากวิธีคิดในการแก้ปัญหาความยากจนในชนบท ซึ่งเป็นคนใหญ่ของประเทศ โดยตั้งโจทย์ว่าจะใช้พลังหมู่บ้าน พลังชุมชนทั้งประเทศในการฟื้นประเทศได้อย่างไร คำตอบง่ายๆ ก็คือ ต้องลดรายจ่ายประชาชน ปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชนและให้โอกาสประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับแหล่งความรู้


การลดรายจ่ายประชาชนเป็นที่มาของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพ


การปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน เป็นที่มาของโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี การให้โอกาสประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นที่มาของกองทุนหมู่บ้านและธนาคารประชาชน


การให้โอกาสประชาชนในการเข้าถึงแหล่งความรู้เพื่อสร้างรายได้ เป็นที่มาของโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)


2. มองระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ โดยแยกเป็น เศรษฐกิจส่วนบน (ยอดหญ้า) ซึ่งเป็น ภาคทุนนิยมเต็มตัว และจำเป็นต้องใช้แนวทางแบบทุนนิยมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก กับเศรษฐกิจส่วนล่าง (รากหญ้า) ซึ่งยังอ่อนแออยู่มาก จำเป็นต้องประยุกต์แนวทางแบบสังคมนิยม (รัฐสวัสดิการ) โดยใช้การอุดหนุนทางการเงินจากรัฐบาลส่วนกลาง เพื่อไปดูแลคนกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ จนเป็นที่มาของนโยบายประชานิยม และโครงการเอื้ออาทรต่างๆ แนวทางการดำเนินนโยบายต่อเศรษฐกิจส่วนบน และเศรษฐกิจส่วนล่างนี้ต่างกัน แต่ก็ต้องทำควบคู่กันไปพร้อมๆ กัน ทักษิโณมิกส์จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นโยบายเศรษฐกิจ "คู่ขนาน" (Dual Track)


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า นโยบายประชานิยมของทักษิโณมิกส์ มีลักษณะชั่วคราวเท่านั้น คือจะอุดหนุนช่วยเหลือเอื้ออาทรจนกว่าภาครากหญ้าฟื้นตัว ยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเองได้แล้ว ก็จะผลักดันภาครากหญ้านี้ให้กลายเป็นภาคทุนนิยมเต็มตัวเหมือนกับเศรษฐกิจส่วนบน โดยผ่านสินค้า OTOP และยุทธศาสตร์ผู้ว่าฯ CEO ที่แบ่งประเทศออกเป็น 19 คลัสเตอร์


3. เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงที่แท้จริงของทักษิโณมิกส์ จึงมิใช่นโยบายประชานิยมอย่างที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่เข้าใจกัน เพราะปริมาณเม็ดเงินที่ทักษิโณมิกส์ใช้ไป เพื่อนโยบายประชานิยมมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับเม็ดเงินมหาศาลที่ทักษิโณมิกส์จะทุ่มเทไปให้กับนโยบายพัฒนาระบบเศรษฐกิจทั้งระบบให้กลายเป็นทุนนิยมพัฒนาแล้วเต็มตัว โดยมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานยิ่ง


คนที่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่แท้จริงนี้ดีมิใช่ใครอื่น แต่เป็นมือสองของเขาคือ รองหัวหน้าพรรคและรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่กล่าวออกมาเองว่า


"เราต้องรักษานายกฯ ทักษิณไว้...เราต้องอย่าทำให้ท่านพลาด ถ้านายกฯ ทำผิดทำพลาด พวกเราทั้งหมดก็จะพลาดพลั้งไปด้วย...หากท่านไม่พลาด การบุกไปข้างหน้าจะเกิดอย่างมั่นคง ประเทศไทยจะก้าวหน้า"


4. นโยบายปลุก "ฟองสบู่" ให้อยู่ในภาวะที่คิดว่าจะควบคุมได้ โดยผ่านการสร้างศรัทธาให้คนทั้งประเทศและกองทุนต่างชาติทั่วโลกมั่นใจในตัวนายกฯ ทักษิณ ด้วยวิธีการตลาดเชิงการเมือง (Political Marketing) เพื่อให้เงินทุนจากในประเทศและทั่วโลกไหลเข้าสู่ภาคทุนนิยมของไทย จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์อันทะเยอทะยาน (มุ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 15 ปีข้างหน้า)นี้


5. นโยบาย FTA (เขตการค้าเสรี) ที่ไทยทำกับจีน อินเดีย และประเทศที่มีพลังทางเศรษฐกิจต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับทักษิโณมิกส์ เพื่อลดความเสี่ยงจากผลผลิตล้นเกิน (ขายไม่ออก) ในอนาคตอันใกล้ เพราะทักษิโณมิกส์ได้ทุ่มทุนให้กับการเพิ่มพลังการผลิตในภาคต่างๆ เป็นอย่างมาก นโยบายการท่องเที่ยวเพื่อดูดเงินตราจากต่างประเทศ นโยบายศูนย์สุขภาพแห่งเอเชียก็เช่นกัน เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในสายตาของทักษิโณมิกส์ นอกเหนือไปจากการผลักดันสินค้า OTOP ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมของทักษิโณมิกส์ทั้งสิ้น แค่ภัยจากโรคระบาดร้ายแรงอย่างซาร์ส หากควบคุมไม่ได้ ก็สามารถทำลาย ความทะเยอทะยานของทักษิโณมิกส์ให้พลาดพลั้งพังพินาศเอาได้ง่ายๆ


6. การปฏิรูปเชิงบูรณาการ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการให้เป็น "คนรับใช้ที่ดี" จากเดิมที่เคยเป็น "นายที่เลว" ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยลดความเสี่ยง ที่ทักษิโณมิกส์พอจะควบคุมได้มากกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก แต่ภูมิปัญญาของทักษิโณมิกส์ ในการปฏิรูปเชิงบูรณาการนี้ก็ยังดูอ่อนด้อยนักในเรื่องการยกระดับจิตสำนึกของผู้คนในสังคมนี้ เมื่อเทียบกับความเก่งกาจในเรื่องการจัดการ บริหารระบบ เพราะจิตสำนึกเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก หากไม่มีความลึกซึ้งเพียงพอ รู้จริงเพียงพอ หากทักษิโณมิกส์จะพังก็คงพังเพราะประเมินความล้าหลังของจิตสำนึกที่จะส่งผลร้ายแรงต่อการพัฒนาระบบทั้งหมดโดยรวมต่ำเกินไป หรือคงพังเพราะมุ่งมั่นต่อความสำเร็จทางวัตถุภายนอกอย่างใจเร็วด่วนได้เกินไป จนคาดไม่ถึงว่า จิตสำนึกมีแนวโน้มต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเสมอ ต่อให้เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกก็ตาม


7. หากนโยบายประชานิยมของทักษิโณมิกส์เป็นวิชันเฉพาะหน้า หาก FTA, OTOP "ฟองสบู่ที่คิดว่าจะควบคุมได้" และการปฏิรูปเชิงบูรณาการโดยเฉพาะระบบราชการ ของทักษิโณมิกส์เป็นวิชันระยะกลาง สังคมความรู้และนาโนเทคโนโลยี ของทักษิโณมิกส์ก็คงเป็น วิชันระยะยาว ซึ่งหากมองในแง่การลงทุน R&D (วิจัยและพัฒนา) ก็ยังคงมีความเสี่ยงมากอยู่ดี แม้จะต้องทำก็ตาม แต่ความเสี่ยงเฉพาะหน้า รวมทั้งในอนาคตอันใกล้นี้อยู่ที่ วิชันระยะกลางของทักษิโณมิกส์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว


สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอ แผนภูมิ โมเดลทักษิโณมิกส์ อย่างคร่าวๆ พร้อมหมายเหตุที่เป็น ข้อสังเกตเชิงทฤษฎีของผู้เขียนเกี่ยวกับทักษิโณมิกส์ในแผนภูมินี้

จากแผนภูมิโมเดลทักษิโณมิกส์ข้างต้น


หมายเหตุ : ข้อสังเกตเชิงทฤษฎี

(1) ตามโมเดลทักษิโณมิกส์ กลไกขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับแรกคือ การนำเชิงบูรณาการ หรือการปฏิรูปเชิงบูรณาการ ซึ่งส่งผลสะเทือนไปทุกส่วนของสังคม และนำมาซึ่งความสำเร็จเฉพาะหน้าของโมเดลนี้ (อย่างน้อยก็ในขณะนี้) กลไกขับเคลื่อนที่สำคัญรองลงมาเป็นอันดับสองคือ นโยบายประชานิยม


(2) ผู้วิจารณ์ทักษิโณมิกส์ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ส่วนใหญ่มักขาดความเข้าใจในบทบาทของ การนำเชิงบูรณาการ (Integral Leadership) ที่ส่งผลสะเทือนต่อกระบวนการเศรษฐกิจในความเป็นจริง จึงทำให้ข้อวิจารณ์ของพวกเขาถูกจำกัดด้วยกรอบมุมมองที่คับแคบ และไม่ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในระบบ (system) ที่มีผลสะเทือนต่อประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ (performance)


(3) ถ้าพิจารณาจากมุมมองของตัวทักษิโณมิกส์เอง การแปลงเศรษฐกิจใต้ดินให้ถูกกฎหมาย เป็นสิ่งจำเป็นในการผลักดัน กลไก "ประชานิยม" เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลังแก่รัฐบาลในการดำเนินนโยบายประชานิยม เพราะฉะนั้น "อบายมุขที่คิดว่าจะควบคุมได้" (เช่น เปิดบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย) ย่อมดีกว่า "อบายมุขที่หลบลงใต้ดิน" ในสายตาแบบทักษิโณมิกส์ ซึ่งมองว่าการวิจารณ์ทักษิโณมิกส์จากแง่มุมเชิงศีลธรรมเท่านั้น มันไม่ได้ผล เพราะพวกที่วิจารณ์จากมุมมองศีลธรรม ไม่ได้ตระหนักถึง ปัญหาเชิงซิสเต็มของตัวอบายมุข ที่ควรจะถูกควบคุมภายใต้กฎหมายดีกว่าปล่อยให้หลบซ่อนใต้ดินก็เหมือนกับที่ พุทธควรกำกับไสย มิใช่ขับไสยให้หลบลงใต้ดิน ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่า ฉันใดก็ฉันนั้น อบายมุขทุกประเภท ควรอยู่ในกำกับของกฎหมาย ดีกว่าปล่อยให้อยู่ในเงื้อมมือของผู้มีอิทธิพลทั้งหลายที่อยู่ใต้ดิน


(4) จากโมเดลนี้จะเห็นได้ว่า ตัวทักษิโณมิกส์เองก็เป็น Dynamic Flow (กระแสพลวัต) ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความยืดหยุ่นในระดับสูง และนี่ย่อมหมายความว่า ทักษิโณมิกส์ในฐานะที่เป็นกระแสพลวัต หรือกระบวนพลวัตนี้ มิใช่สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะไปลอกเลียนแบบอย่างกลไก อย่างเถรตรงเป็นสูตรคัมภีร์ตายตัวได้


เพราะกลไกการนำเชิงบูรณาการก็ดี วิชันเชิงกลยุทธ์ก็ดี แทบกล่าวได้ว่า ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากมันสมองของคนคนเดียว และถูกผลักดันชี้นำจากคนคนเดียวเท่านั้น มิหนำซ้ำกลยุทธ์ต่างๆ ที่ออกมา ยังมีลักษณะของสัญชาตญาณทางธุรกิจที่เฉียบคมมากกว่าความลุ่มลึกทางภูมิปัญญาและทฤษฎีด้วย จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปที่มีการเป็นห่วงกังวลว่า ผู้นำเดี่ยวหนึ่งเดียวคนนี้ของเราอาจจะมีพลาดได้เหมือนกัน เพราะเป็นสัจธรรมอย่างจริงแท้เสมอว่า ไม่มีใครเป็นผู้ชนะได้ตลอดไป และไม่มีใครเป็นผู้แพ้ตลอดกาล


(5) ประเด็นที่ผู้รับผิดชอบในการผลักดันทักษิโณมิกส์ จะต้องคิดให้มากในขณะนี้ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มมิติด้านความลึกในเชิงทฤษฎีและภูมิปัญญาให้กับระบอบทักษิณและทักษิโณมิกส์ โดยเฉพาะมิติในด้านการยกระดับทางจิตสำนึกของผู้คนในระบอบทักษิณ เพื่อลดความเสี่ยงในการพลาดพลั้งที่อาจเกิดขึ้นได้


(6) ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์ตัวผู้นำในระบอบทักษิณหรือการวิเคราะห์ตัวนายกฯ ทักษิณด้วยศาสตร์ต่างๆ ที่ผู้เขียนจะทยอยนำเสนอต่อไป จึงมีความสำคัญมากเป็นทวีคูณในการทำนายอนาคตของระบอบทักษิณและทักษิโณมิกส์








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้