บทสนทนาในวิหารที่ว่างเปล่า กับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

บทสนทนาในวิหารที่ว่างเปล่า กับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล





วิหารที่ว่างเปล่า" : บทสำรวจวิกฤติแห่งจิตวิญญาณ
ของมนุษยชาติชิ้นล่าสุด ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล


1
พลันที่ผมอ่านจนถึงข้อความตอนสุดท้ายในหนังสือ "วิหารที่ว่างเปล่า" (สำนักพิมพ์สามัญชน, กันยายน 2544) ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หรือ "พี่เสก" ของผมจบลง ผมถึงกลับเปล่งคำอุทานออกมาในใจว่า หนังสือเล่มนี้หาใช่ "บันทึกการเดินทาง" ธรรมดาเหมือนดังรูปโฉมภายนอกที่ปรากฏออกมาไม่ แต่มันคือ บทสำรวจวิกฤติแห่งจิตวิญญาณของมนุษยชาติในยุคปัจจุบันสมัย ในลีลาของพี่เสกโดยแท้
พี่เสกได้เขียนขมวดในตอนจบของหนังสือเล่มนี้ว่า


""ผมคิดว่า นี่คือ ความน่าสะพรึงกลัวที่สุดของยุคสมัยปัจจุบัน และมันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากเกิดขึ้นทุกหนแห่งในโลกเนื่องเพราะ ผู้ได้เปรียบทางโครงสร้างรู้สึกหลุดพ้นจากมลทินทั้งปวง ...ขณะเดียวกัน บรรดาผู้เสียเปรียบทางโครงสร้างจำนวนมหาศาลต่างก็ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในความขาดแคลนหิวโหย ไร้โอกาสทุกอย่างในชีวิต รวมทั้งโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้มาปรับปรุงชีวิตของตน... อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าหากพวกเขาสูญสิ้นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาบ้างเหมือนกัน?"" (หน้า 252-253, ตัวเน้นเป็นของผู้อ้าง)


ราวกับไม่บังเอิญเลย ที่ช่วงที่หนังสือเล่มนี้ออกวางตลาด เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตึกเวิลดเทรด เซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก ถูกถล่มทลายโดยการถูกกลุ่มผู้ก่อการร้าย ขับเครื่องบินชนพินาศไปทั้งสองตึก... เหตุการณ์ช็อคโลกครั้งนี้ราวกับเป็น "คำตอบ" ต่อคำถามในตอนสุดท้าย ของหนังสือเล่มล่าของพี่เสกข้างต้น
นักปฏิวัติ หรือผู้ก่อการร้าย? คำสองคำนี้เริ่มมีเส้นขีดแบ่งที่รางเลือนพร่ามัว...


หากเป็นแค่เมื่อสามสิบปีก่อน ดูเหมือนว่า มันยังมีความชอบธรรมอยู่ ที่จะเป็นนักปฏิวัติ เพื่อโค่นล้มโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เป็นธรรมของผู้ได้เปรียบทางโครงสร้างกลุ่มหนึ่งในสังคม


โรแมนซ์ของนักปฏิวัติ ที่เห็น "ความตายราวกับความงามของชีวิต" (หน้า 209)


ความยากเข้าใจด้วยตรรกะเหตุผลของนักปฏิวัติ ที่พาตนเองไปสู่ความขัดแย้งแหลมคมทางความคิดกับเพื่อนมนุษย์ "กระทั่งยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพียงเพื่อให้โลกเปลี่ยนไปจากเดิม" (หน้า 225)


แต่อนิจจา ยุคสมัยแปรผันไป บัดนี้ ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ให้กับการดำรงอยู่ของ นักปฏิวัติตามความหมายที่แท้ ได้หยัดยืนอีกต่อไปแล้ว นักปฏิวัติในยุคก่อนกลับถูกแทนที่ด้วย ผู้ก่อการร้าย ที่ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อ ทำลาย โลกทุนนิยมที่เป็นอยู่ มิใช่เพื่อ เปลี่ยน โลกทุนนิยมที่เป็นอยู่
ความถดถอยในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองไปเป็นแค่ความคลั่งไคล้ทางความเชื่อเชิงศาสนา รวมทั้งความเสื่อมถอยจากนักปฏิวัติไปเป็นผู้ก่อการร้าย จึงเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็น ความเสื่อมทรุดทางจิตวิญญาณขั้นร้ายแรงยากเยียวยา ที่ดำรงอยู่ทั้งในโครงสร้าง ในระบบ และในจิตใจของมนุษย์สมัยนี้ ทั้งฝ่ายผู้ได้เปรียบทางโครงสร้าง และฝ่ายผู้เสียเปรียบทางโครงสร้างด้วยเช่นกัน


2
ผมอ่านหนังสือ "วิหารที่ว่างเปล่า" เล่มนี้ของพี่เสกด้วยจิตใจที่หดหู่มากกว่ารันทด ยังจำได้ว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนที่ผมได้อ่านข้อเขียนเรื่อง "พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในหัวใจ" ของพี่เสกที่เขียนลงใน ผู้จัดการรายสัปดาห์ ผมบังเกิดความรู้สึกปวดร้าวเจ็บแปลบยิ่งในหัวใจ ขนาดตัวผมที่เป็นผู้อ่านเองยังรู้สึกเจ็บปวดได้ขนาดนี้ แล้วตัวคนเขียนเล่า?


นั่นอาจเป็นเพราะในตอนนั้นตัวผมก็ยังมี "พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในหัวใจ" ดำรงอยู่ด้วยเช่นกันกระมัง แต่ครั้งนี้ยามที่ผมได้อ่าน "วิหารที่ว่างเปล่า" ตัวผมกลับไม่ได้รู้สึกปวดร้าวเช่นนั้นแล้ว และก็คิดว่าตัวพี่เสกเองก็คงไม่ได้ปวดร้าวเท่าสมัยก่อนเช่นกัน


นั่นคงเป็นเพราะว่า บัดนี้ ในหัวใจของพี่เสกได้สถาปนา "วิหารในใจ" (หน้า 98) ขึ้นมาอีก บน พื้นที่ที่รกร้างว่างเปล่า นั้นแล้วกระมัง? ...วิหารในใจ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สถิตของอุดมคติทางการเมืองและสังคม แต่บัดนี้ได้กลายเป็น วิหารในใจ ที่อัญเชิญก้อนหิน เกลียวคลื่น เวิ้งฟ้า เดือนดาวมาไว้ในวิหารแห่งตน และคงอัญเชิญ "ความว่างเปล่าอันลึกล้ำที่ไม่อาจมีรูปเคารพใด" (หน้า 98-99) มาเป็น "พระประธาน"


หัวใจของผม ก็เฉกเช่นเดียวกับพี่เสก เหตุหนึ่งที่ตัวผมมิได้ปวดร้าวลึกเช่นครั้งก่อนก็คงเพราะว่า ในก้นบึ้งแห่งหัวใจของผมได้เป็นที่สถิตของ "วิหาร" ที่มี "ความว่างเปล่าอันลึกล้ำ" นี้ เป็นองค์ประธานมาเนิ่นนานพอสมควรแล้ว



3
จิตใจมนุษย์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของเอกภพ เฉกเช่นเดียวกับก้อนหิน ดินทราย แมกไม้ กลุ่มเมฆ เกลียวคลื่น เดือนดาว มิหนำซ้ำยังเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของเอกภาพด้วย เนื่องเพราะ จิตใจมนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่เอกภพใช้รู้จักตนเอง และมีประสบการณ์เกี่ยวกับตนเอง


งานเขียนส่วนใหญ่ของพี่เสก แทบเป็นการตีแผ่ แต่ละแง่ แต่ละมุม แต่ละด้าน แต่ละส่วน และแต่ละเสี้ยว ของหัวใจ ของจิตใจที่เป็นอัตตาตัวตนของเขามาให้ผู้อื่นได้สัมผัสรับรู้กันได้ทั้งสิ้น พี่เสกมักเขียนหนังสือออกมาราวกับว่า เขาคิดอาศัย ความเจ็บปวดรันทด หดหู่ ชอกช้ำ โศกสลดที่บังเกิดในห้วงยามแห่งการแสวงหาคุณค่าความหมายของชีวิต และตำแหน่งแห่งที่ของตัวตนในเอกภาพเขานี้มาช่วยฟื้นฟู ความรัก ความเข้าใจ ความเห็นใจ ความสมานฉันท์ ความปรองดองในหมู่เพื่อนมนุษย์ นี่คือ ด้านแห่ง "กรุณา" ของ เสกสรรค์ ที่ตัวผมเข้าใจ


ขณะที่ในยามที่ตัวเขาปลีกวิเวก ถอนตัวจากผู้คน เร้นกายอยู่โดยลำพัง ""เริ่มต้นพูดคุยกับตนเอง และลงท้ายด้วยการจมหายไปในความเงียบที่สถิตอยู่เบื้องลึกสุดของจิตใจ ที่ในห้วงนั้นแม้บทเจรจาข้างในก็พร่าจางเลือนหาย"" (หน้า 39)


นี่คือ ด้านแห่ง "ปัญญา" ของเสกสรรค์ ที่ ตัวผมตระหนัก

หากเราเข้าใจและตระหนักสองด้านนี้ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ว่าทั้งสองด้านนี้มันเป็น ที่มา ของงานสร้างสรรค์ทั้งปวงของตัวเขาแล้ว เราจะรักคนๆ นั้น รักเขาอย่างที่ตัวเขาเป็น รักทั้งจุดอ่อนจุดแข็งในตัวเขา โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เหมือนอย่างที่ตัวผมและคนกลุ่มหนึ่งในสังคมนี้ รักเขาและรักงานเขียนของเขา

.............................


หมายเหตุ ผมเขียนข้อเขียนชิ้นนี้ เพื่อ เฉลิมฉลอง ภาพยนตร์ "14 ตุลาคม สงครามประชาชน"
ที่เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวัยหนุ่ม







บทสนทนาในวิหารที่ว่างเปล่า กับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล


"สุวินัย ภรณวลัย" ผู้นับถือ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" เป็น "พี่ชายทางวิญญาณ" ได้ขอสัมภาษณ์เสกสรรค์เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเสกสรรค์ไม่ขัดข้อง แต่ขอให้สุวินัยเป็นคนสัมภาษณ์เอง และให้เขียนบทความประกอบการพูดคุยสนทนาด้วยหนึ่งชิ้น

นั่นเป็นที่มาของ "รอบทิศจิตวิญญาณ" ในฉบับนี้ที่ดูแปลกตาไปกว่าฉบับอื่น ๆ

เพราะแทนที่จะเป็น "รายงานพิเศษ" ดังในเล่มก่อน ๆ กลับเป็นการนำเสนอในลักษณะของ "บทสนทนา"

แม้ในช่วงเวลาที่สัมภาษณ์จะเป็นช่วงที่หนัง "คนล่าจันทร์" กำลังฉายอยู่ แต่สารัตถะของการพูดคุยสนทนานี้ สุวินัยตั้งใจที่จะพูดคุยถึงสิ่งที่เสกสรรค์ได้สะท้อนเอาไว้ในงานเขียนที่มีชื่อว่า "วิหารที่ว่างเปล่า" ของเขามากกว่า

"วิหารที่ว่างเปล่า" เป็นงานเขียนในลักษณะของบันทึก "การเดินทาง" และ "การอ่านหนังสือ" ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่สิ่งที่ทำให้งานเขียนเล่มนี้เป็นมากกว่า "บันทึก" ก็คือ ผู้เขียนได้สะท้อนมุมมองที่ลึกซึ้งต่อชีวิตและความหมายของการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ตกผลึกมาจากประสบการณ์ที่ตนได้พบพานเชื่อมร้อยเข้ากับการประมวลองค์ความรู้ล่าสุดของมนุษยชาติได้อย่างกลมกลืนและน่าติดตาม

บทสนทนาที่ท่านจะได้อ่านเราให้ชื่อว่า "บทสนทนาในวิหารที่ว่างเปล่า" ซึ่งผู้สนทนาบอกว่าไม่ใช่ถ้อยคำของผู้บรรลุหรือคำสอนสำเร็จรูปใด ๆ หากแต่มุ่งหวังที่จุดประกายให้ผู้อ่าน (โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว) คิดถามถึงความหมายของชีวิต ด้วยความห่วงใยอาทรต่อวิกฤติของโลก ของมนุษยชาติ และสังคมไทยมากกว่า

การตั้ง "คำถามของชีวิต" ในท่วงทำนองนี้อาจนับได้เป็นการมองชีวิตในมุมมองของ "จิตวิญญาณ" แบบหนึ่ง ซึ่งอยู่นอกกรอบของศาสนาหรือพิธีกรรมอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป สุวินัยกล่าวว่านี่คือบางด้านของเสกสรรค์ที่ถูกมองข้ามไปทั้งจากคนที่ "ชอบ" และ "ชัง" ตัวเขา ซึ่งการมองข้ามนี้ อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทั้งที่เจตนาหรือโดยบังเอิญ

นี่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ได้ แต่มันมายถึง "ขอบเขต" ของการวิพากษ์ที่พุ่งเข้าไปสู่ "สิ่ง" ที่เขาได้พูดไว้หรือพุ่งเป้าไปสู่ "ตัวผู้พูด"

นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ในบ้านเรามักปรากฏอย่างหลังมากวก่าอย่างแรก และมันอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยยังไม่เติบโตทาง "สำนึกแห่งเสรีภาพ" เท่าที่ควร อีกทั้งไม่สามารถเก็บเกี่ยวสาระของ "วิวาทะ" ใด ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อไปต่อยอดเชิงความคิดของคนในสังคมได้

และมันเป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งขึ้น หาก "สารัตถะแห่งความคิด" ในเชิงสร้างสรรค์ที่กำเนิดขึ้นมาจากความหวังดี มันอาจถูกกลมกลืนไปจนสูญหายไป

และมันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุด หากการพูดถึง "ผู้หวังดี" ต่อสังคมนี้กลับส่ง "ผลร้าย" สะท้อนกลับไปสู่บุคคลนั้น และที่น่าปวดร้าวที่สุดก็คือการเฝ้าดูผู้หวังดีทยอย "สาบสูญ" โดยไม่มีกระบวนวิธีใดมาคุ้มครองป้องกันได้

สิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่แค่ "เคราะห์กรรม" ของบุคคลคนหนึ่งคนใดดังที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พูดไว้เท่านั้น หากแต่มันเป็น "เคราะห์กรรม" ร่วมกันของทุกคนในสังคมนี้

เคราะห์กรรมที่เราพร้อมเผชิญมันร่วมกัน



อารยธรรมที่เปราะบาง

บทนำ

ชีวิตของคนเราเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน และแฝงไว้ซึ่งความหมายแห่งการดำรงอยู่ สำหรับเผ่าพันธุ์หนึ่งที่เรียกตนเองว่า "มนุษย์" มีความรู้สึกแห่งฉัน-เธอ-เรา-เขา มีวิวัฒนาการขึ้นมาบนพื้นพิภพโลก สร้างอารยธรรมขึ้นมาสูงล้ำ และพร้อมที่จะทำลายมันลงทุกขณะ สิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่ความบังเอิญของจักรวาลที่ไร้เป้าหมายทิศทางใดๆ

ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับใครก็ตามที่นึกถามตนเองขึ้นมาว่า "ฉันเป็นใคร?" "มาทำอะไรที่นี่?" แล้วจะได้พบคำตอบ "สูตรสำเร็จ" ที่ตนปรารถนาในทันที... ความหมายแห่งการดำรงอยู่ "ที่นี่" และ "เดี๋ยวนี้" คืออะไรกันเล่า? ผู้ที่มองเห็นชีวิตที่มากไปกว่า "ความสำเร็จ" และ "การเสพสุข" ย่อมต้องเกิดคำถามนี้ผุดขึ้นในใจบ้าง

บทสนทนาระหว่าง "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" และ "สุวินัย ภรณวลัย" ซึ่งนับถือกันประหนึ่ง "พี่น้องทางวิญญาณ" ในที่นี้ถือได้ว่าเป็นส่วนเสี้ยวของการแสวงหาความหมายของชีวิตที่ "ขยาย" ออกมาจากงานเขียนของเสกสรรค์ ที่มีชื่อว่า "วิหารที่ว่างเปล่า" แน่นอนว่า ตัวมันเองคงไม่ใช่ "คำตอบสุดท้าย" สำหรับใครต่อใคร แต่ผู้สนทนาก็หวังว่ามันอาจจุดประกาย "คำถามแรก" ให้กับอีกหลายๆ คนได้บ้าง โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาวที่เติบโตขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วย "ความแห้งแล้งทางจิตวิญญาณ"

บทสนทนาจริงๆ จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่มีตัดตอน แต่เพื่อความเป็นระบบระเบียบของการนำเสนอ ทางกองบรรณาธิการได้แบ่งบทสนทนาดังกล่าวเป็นสามช่วง.. ตามสารัตถะของการสนทนาที่ครอบคลุมในหลายประเด็น - กอง บก.


หมายเหตุกอง บก. : "เวียง - วชิระ บัวสนธ์" ได้เขียนไว้ในหมายเหตุสำนักพิมพ์ในหนังสือ "วิหารที่ว่างเปล่า"
ว่า เขา (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ได้ขยายพรมแดนในการพิจารณาชีวิตทั้งในทางปัจเจกและสังคมโดยองค์รวม ให้เราอดไม่ได้ที่จะต้องทบทวนกันใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ตระหนักสำนึกว่าการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าของมนุษย์นั้นพึงเป็นเช่นไร

"พรมแดน" ที่ถูกขยายไปดังกล่าว ครอบคลุมองค์ความรู้ในหลายแขนงวิชา ว่ากันตั้งแต่ละอองธุลีของชีวิตที่ติดมากับเศษฝุ่นของดาวหางที่ (เคย) พุ่งเข้าชนโลก เส้นทางวิวัฒนาการแห่งมนุษยชาติและอารยธรรม.. ตลอดไปจนถึงริ้วรอยของอารยธรรมที่สาบสูญ อันสะท้อนถึงความเปราะบางของการดำรงอยู่ในยุคสมัยของเราเอง

หลายเรื่องเป็นสมมุติฐานทางความรู้ล่าสุด

หลายเรื่องอาจเป็นที่จะรับรู้กันบ้างแล้ว แต่หากยังขาดการโยงใยเชื่อมต่อให้เห็นถึง "ความหมาย" ของ "ข้อเท็จจริง" หรือ "สมมุติฐาน" ดังกล่าว

ช่วงแรกของการสนทนาจะว่าด้วย "แนวเขต" และ "ความหมาย" ของพรมแดนที่ถูกขยายไปเหล่านั้น

 

 

อารยธรรมที่เปราะบาง

สุวินัย : ผมเข้าใจถูกมั้ยครับว่า หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือ "วิหารที่ว่างเปล่า" ผมรู้สึกว่าพี่เจ็บปวดน้อยลง เมื่อเทียบกับงานเล่มก่อนๆ อย่างเช่น "เพลงเอกภพ"

เสกสรรค์ : ผมคิดว่ามันเป็นการเขียนในช่วงที่ผมมีวุฒิภาวะมากขึ้น และมีความสงบนิ่งมากขึ้น เหมือนกับคนที่ผ่านความเจ็บปวดมายาวนาน แล้วถึงวันหนึ่งมันแก้ไขได้และสามารถจะมองย้อนหลังไปโดยที่ไม่มีอารมณ์หวือหวา หรือรุนแรงมากนัก

สุวินัย : แต่ในทางกลับกัน ผมรู้สึกว่า "วิหารที่ว่างเปล่า" จะแตกต่างกับ "เพลงเอกภพ" โดยเฉพาะมิติที่พี่หาความหมายหรือตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในเอกภพนี่ ดูว่ามันหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมมาก

เสกสรรค์ : พูดถึงระยะห่าง "เพลงเอกภพ" เขียนในช่วงปี ๒๕๓๕ มาถึงปี ๒๕๔๓ เวลาก็ผ่านมาไม่ต่ำกว่า ๘ ปี จากอายุ ๔๐ ปีกลางๆ มาเป็นอายุ ๕๐ กว่า สายตาที่มองสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเราก็มีความกระจ่างชัดมากขึ้น จริงๆ แล้วคนเราอายุมากขึ้น สายตามักจะพร่ามัว จิตใจยิ่งใสกระจ่างขึ้น เมื่อเรามองสิ่งเหล่านี้เรามองด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่มองด้วยสายตาที่อยู่บนใบหน้าเพียงอย่างเดียว

ในช่วงแรกวี่แววของการตั้งคำถามมันก็มีมานาน แล้วอาจจะมีความรู้สึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวเป็นครั้งคราวกับเรื่องราวของธรรมชาติ แต่เมื่อมาถึง "วิหารที่ว่างเปล่า" พบว่าคำถามน้อยลง แต่จะมีข้อสรุปมากขึ้นในเรื่องต่างๆ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นวิถีที่ควรจะเป็น เพราะว่าบางเรื่องที่เราพอจะเข้าใจ และพอจะสรุปได้ มันก็ออกมาในงานเขียน แต่ก็มีส่วนที่ยังไม่สามารถสรุปได้ หรือชั่วชีวิตก็อาจจะสรุปไม่ได้ก็คงจะต้องมีบ้าง

สุวินัย : ในบทที่ชื่อ "เศษศพแห่งดวงดาว"พี่เล่าเรื่องตนเองเหมือนเป็นการเกริ่นนำเท่านั้น โดยเนื้อหาแล้วแทบจะเป็นปรัชญาจักรวาลของพี่เสกเลยก็ว่าได้ พี่นำเสนอราวกับว่าต้นตอของมนุษยชาติสามารถสาวไปได้จนถึงจุดที่ยาวกว่าอายุของโลกใบนี้

เสกสรรค์ : ถ้าพูดถึงวิธีการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมใช้เรื่องของตนเองเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเดินเรื่อง แต่เนื้อหาทั้งหมดเป็นความคิดทั้งด้านสังคม หรือความคิดระดับปรัชญา แต่ว่าแนวทางการแสวงหาของผมถ้าใครเคยอ่านงานเขียนของผม จะพบว่างานผมลึกๆ แล้วเป็นงานศาสนา ที่ไม่ได้อาศัยคัมภีร์ทางศาสนามากนัก แต่อาศัยการค้นหาความจริงจากความรับรู้จากมนุษยชาติในขั้นตอนล่าสุดเช่น ความรู้เรื่องฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ อาศัยประสบการณ์ชีวิตเป็น "นิมิต" ที่บอกบางอย่างให้เรา ผมไม่ได้ยกตัวเองว่าเหนือกว่าคำสอนโบราณ แต่เพื่อความเข้าใจของตัวผมที่เป็นคนรุ่นหลัง ผมก็คิดว่าถ้าผมไปค้นคว้าเพิ่มเติมในลักษณะของการหาข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ล่าสุดของมนุษย์ คิดว่าจะทำให้ผมอ่านคำสอนของศาสดาโบราณเข้าใจมากขึ้น

สุวินัย : เพราะเหตุนี้นี่เอง หลังจากที่อ่าน "วิหารที่ว่างเปล่า" ก็รู้สึกว่า ความเป็นจิตวิญญาณของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มัน healthy ในแง่ที่ว่า มันไม่ต้องผ่านเรื่องความงมงายหรือถูกหลอกด้วยความงมงายอย่างที่ผมเคยเจอ พี่อธิบายความเป็นจิตวิญญาณจากแง่มุมที่มีเหตุผลในความเข้าใจมนุษยชาติ ผมทึ่งในแง่หนึ่งมีบทหนึ่งพี่เสกถึงกับฟันธงว่า "อารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์มีจริงและก็ได้ล่มสลายไป"

เสกสรรค์
: ผมตั้งข้อสังเกตจากภูมิหลังทางปัญญาของตนเอง คือหมายถึงว่าผมฝึกอบรมในทางวิชาการมานาน ดังนั้น วิธีคิดของผมจะใช้ตรรกะเหตุผล ใช้ข้อมูลรองรับ ผมเห็นความขัดแย้งที่ชัดเจนอย่างหนึ่งว่า จากระยะสิ้นสุดยุคหินใหม่มาจนถึงยุคอวกาศ จริงๆ แล้วเวลามันสั้นมาก แค่ ๕,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ ปี เท่านั้นเอง

น้ำแข็งละลายครั้งที่แล้ว ก็ตกราวๆ ๘,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ ปี ขณะที่มนุษย์เองมีการดำรงอยู่มาเป็นแสนปี มันเป็นไปไม่ได้เลยว่า ในสมองที่มีขนาดเท่ากับปัจจุบัน แสนปีหรือสองแสนปีก่อนจะทำอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น ผมจึงตั้งข้อสังเกตตรงนี้เอาไว้อย่างหนักหน่วง ว่าเราอาจจะมีอารยธรรมเก่าแก่มาหลายรอบแล้ว เราก็ทำลายมันลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมสืบคดีจากสภาพมนุษย์ปัจจุบันว่า มนุษย์มีลักษณะการทำลายตนเองอยู่ทุกวัน ทำลายด้วยการใช้ชีวิตที่บริโภคล้นเกิน ด้วยการเบียดเบียนข่มเหง จนกระทั่งเป็นอย่างที่เราเห็นว่ามีการลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันอย่างไม่มีสติใดๆ ยับยั้ง สิ่งเหล่านี้อาจจะเคยเกิดขึ้นในอดีตอันไกลโพ้น

ในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มนุษย์อาจจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตแรกๆ ที่วิวัฒน์ขึ้นมาบนผิวโลก แต่อย่างต่ำที่สุดก็ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ปี ถ้าเป็นล้านปีก็อาจจะยังไม่ใช่ตอนนั้นเป็น "โฮโม อิเรคตัส" อยู่ แล้วใน ๒๐๐,๐๐๐ - ๓๐๐,๐๐๐ ปี หากเอาอารยธรรมมนุษย์ ๕,๐๐๐ ปีมาเป็นตัวหาร มันหารได้ไม่รู้กี่รอบ ในระหว่างนั้นเราต้องยอมรับว่ามีภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายอย่าง เป็นกฎเกณฑ์ปกติของธรรมชาติ มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพียงแต่แต่ละรอบมันยาวนานจนไม่มีความทรงจำของมนุษยชาติเหลืออยู่ ยกเว้นอยู่ในรูปตำนาน เช่น น้ำท่วมโลก ยุคน้ำแข็ง อุกกาบาตชนโลก นี่เป็นความเคลื่อนไหวปกติ เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปราะบาง เพียงแต่เราไม่ค่อยรู้ตัว ขาดสติและมาเบียดเบียนกันเองมากเกินไป ผมอยากเห็นมนุษย์มาศึกษาและทำความเข้าใจสถานภาพของตนเอง ในกรอบที่ใหญ่กว่าในสิ่งที่เราสมมุติขึ้นมา อาจจะทำให้เราใจเย็นลง เราเบียดเบียนน้อยลง เพราะอย่างผมเองที่ได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้ที่ผมเองก็ทำมานานในหลายๆ รูปแบบ ความรู้สึกอยากได้อยากมีในทางสังคมมันหมดไป หรืออย่างน้อยก็ถูกขัดเกลาให้เหลือเพียงนิดเดียว

ทีนี้ "ความอยากได้อยากดี" ไม่เหมือนกับ "การทำความดี" นะ ความอยากได้อยากดีคือมีกิเลส มีโลภโมโทสัน ผมคิดว่าถ้าเรารู้ว่าเรามาอยู่ชั่วคราวและเรามาจากส่วนที่ยิ่งใหญ่กว่าการสมมุติกันเป็นมายาภาพในสังคม ผมคิดว่าเราก็ไม่ต้องการมัน เพราะมันดูไร้สาระ แต่การอยากทำความดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยากดีต่อเพื่อนมนุษย์ อยากสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ตรงนี้ไม่ได้สูญหาย

ผมเองก็ไม่ถึงขั้นบวชเป็นโยคี เพียงแต่มีบ้างที่คล้ายไปในทางนั้น ผมก็มี "ศีล"จำนวนหนึ่งที่ผมยึดถือและปฏิบัติ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนทั่วไป รวมทั้งคนที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยเข้าใจผม เพราะไม่เคยมองผมจากมุมที่ผมเป็นจริงๆ คือจะมองผมว่าเป็นมนุษย์การเมือง หรือเป็นมนุษย์สังคมตลอดเวลา จริงๆ ผมใช้เวลาอยู่กับตนเองมาก หรืออยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มาก เช่น อยู่กับหมา อยู่กับกระรอก อยู่กับทะเล ภูเขา ผมถือว่าผมเกิดมาก็เป็นญาติพี่น้องกับสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องคบแค่มนุษย์เท่านั้น และบางทีคบกับสิ่งเหล่านั้นสบายใจกว่า

สุวินัย : พี่รู้สึกแบบนี้มานานเท่าไรแล้วครับ ในแง่ที่ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างมนุษย์ กับสิ่งมีชีวิตในรูปแบบอื่นๆ

เสกสรรค์ : ผมคิดว่ามันคงมี "หน่อ" บางอย่างในตัวผมที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้น ผมไม่อยากให้เข้าใจผิดว่าผมเป็นผู้บรรลุอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ามันมีอารมณ์บางอย่างที่เรามีมาตั้งแต่เกิด เช่นตอนที่เป็นเด็ก พ่อแม่หรือพวกพี่ๆ ก็มักจะรู้สึกว่าผมเป็นเด็กใจอ่อน ไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ชอบใช้ชีวิตครุ่นคิดเงียบๆ คนเดียว กระทั่งไม่ค่อยพูด ถูกล้อเลียนเพราะไม่พูด ต่อมาเมื่อโตขึ้นมาก็มีชีวิตวิบากกรรมหลายอย่าง ที่ต้องไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ต้องไปขัดแย้งกับผู้คน

เมื่อผมออกจากป่ามาเลิกทำสงครามกับอำนาจรัฐ ผมคิดว่าอารมณ์เหล่านี้มันค่อยๆ กลับมา แน่ละความใจร้อน ใจเร็วก็มี ความขัดแย้งกับเพื่อนมนุษย์ก็มี แต่มันก็ค่อยๆ กลับมา และยิ่งในยามที่เราอยู่คนเดียว มันทำให้เรารู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรามันมีค่า อย่างบางทีนกบินหลงมาในห้องทำงาน ผมใช้เวลาตั้งนานที่จะทำให้เขาออกไปได้อย่างปลอดภัย แม้แต่บางวันผมต้องช่วยเหลือคางคกที่หลงเข้ามาในบ้านให้ออกไปสู่พื้นที่ที่เป็นสิ่งแวดล้อมของเขาจริงๆ โดยไม่ถูกหมาของผมไล่กัดซะก่อน เป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้ผมมีความสบายใจ เจอจิ้งจกตัวเล็กๆ บางทีก็ทักทายกัน เขาทักมาผมก็ทักไป คนที่ไม่เข้าใจก็จะเข้าใจว่าผมเสียสติ ผมก็พยายามจะทำบาปให้มันน้อยลง ผมไม่ได้บรรลุอะไร เพียงแต่มีสติสำนึกที่จะทำบาปให้มันน้อยลง

สุวินัย : ผมขอย้อนกลับไปนิดหนึ่ง พี่เสกคิดว่าอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเราสูญสลายไปหลายรอบไม่ใช่แค่รอบเดียวหรือครับ

เสกสรรค์ : ต้องเข้าใจก่อนว่าผมไม่มีหลักฐานชนิดยืนยัน ๑๐๐% แต่ผมมีข้อสังเกตที่ได้มาจาก ๒ อย่าง

อย่างที่หนึ่ง ได้มาจากการครุ่นคิด ระยะเวลาสมองจากมนุษย์ที่พัฒนาเครื่องมือจากที่เป็นหินมาสู่คอมพิวเตอร์จริงๆ มันสั้นนิดเดียว มันไม่ได้ใช้เวลาหลายล้านปีในการคิดอะไรออก เพราะสมองในระดับนี้เมื่อมันสั่งสมข้อมูลถึงขั้นหนึ่งมันก็วิเคราะห์ได้ มันแยกแยะได้ เมื่อมารวมกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ยาวนานพอสมควรเมื่อเทียบกับที่เราพัฒนาอารยธรรม มันน่าจะหารแล้วได้หลายรอบ นี่อาจจะเป็นการคิดหยาบๆ

อย่างที่สอง ข้อเท็จจริงก็คือว่ามันมีริ้วรอยอารยธรรมโบราณหลายแห่งที่เราพบว่ามันเก่ากว่ายุคหินใหม่ ซึ่งการเก่ากว่ายุคหินใหม่ ในทางตำราประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการทั้งหลาย แทบจะวิเคราะห์ไม่ออกว่ามาได้อย่างไร อย่างกรณีของบางสิ่งบางอย่างที่อียิปต์ เช่นรูปหินแกะสฟิงซ์มีร่องรอยน้ำเซาะ ซึ่งหากถอยกลับไปในช่วงที่มีน้ำ มันต้องถอยไปไกลกว่าตารางเวลาประวัติศาสตร์อียิปต์ตามที่เราเข้าใจ รวมทั้งพวกพีระมิดและสิ่งก่อสร้างแถวอเมริกาใต้ที่เก่าแก่มาก ยังไม่ต้องพูดถึงว่าครั้งหนึ่งก่อนที่น้ำแข็งจะละลาย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยติดต่อถึงกันหมดได้ เพราะน้ำแข็งในยุคนั้นทำให้น้ำทะเลต่ำลงไป ๑๐๐ กว่าเมตร เพราะฉะนั้นคุณสามารถเดินได้ตั้งแต่ไหหลำจนถึงชวา แล้วเข้าใจว่าดินแดนที่เคยอยู่ใต้น้ำในเวลานี้มันอาจเคยเป็นอู่อารยธรรมเก่าแก่มาก เพราะเขาค้นพบหลักฐานว่ามนุษย์กระจายไปรอบทิศทางหลังจากน้ำท่วมว่ามีการเชื่อมร้อยกันอยู่ในทางวัฒนธรรมไปจนถึงตะวันออกกลาง ไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก ส่วนในละแวกบ้านเรามันก็ต้องมีริ้วรอยจากในยุคนั้นบ้าง เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พบในภาคใต้ของไทยบางแห่ง พิสูจน์แล้วว่ามีอายุเก่าแก่มากกว่ายุคบ้านเชียง ซึ่งหมายความว่าการเพาะปลูกข้าวอาจจะเริ่มที่นี่ด้วยซ้ำ

ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานที่สรุปได้ ๑๐๐% แต่มันมีสิ่งละอันพันละน้อยให้เราสันนิษฐานว่าเราอาจจะไม่ควรปักใจกับข้อสรุปที่เป็นทางการของตำราประวัติศาสตร์มากนัก เพราะว่ามันเหมือนกับว่าเรามีสายธารวิวัฒนาการแค่สายเดียว แล้วก็ใช้เวลา ๕,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปีเท่านั้น แล้วที่เหลือเราใช้คำพูดแบบเลื่อนลอยว่าเป็นยุคหินเก่าอันยาวนาน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามนุษย์เรามีสายวิวัฒนาการแบบนั้น อันนี้ก็เป็นปรัชญาขึ้นมาว่า ถ้าคุณมองโลกแบบเส้นตรงตลอด คุณก็อาจจะรู้สึกว่ามันถูกแล้วที่เป็นแบบนั้น คือมนุษย์อยู่ในถ้ำเป็นเวลายาวนาน กว่าจะมาสร้างบ้านสร้างเรือน แต่ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นวัฏจักรของการเกิดดับ คุณอาจจะต้องไปตั้งคำถามใหม่ว่า เราเองนี่ทำลายตนเองไปกี่รอบแล้ว

สุวินัย : ในฐานะที่พี่อ่านงานของ "เกรแฮม แฮนค็อค" มาโดยตลอด พี่เห็นด้วยกับข้อสรุปของเขามั้ยครับว่า "แอตแลนติส" หรืออารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่ล่มสลายไปอยู่ที่ขั้วโลกใต้

เสกสรรค์ : ผมไม่กล้าเห็นด้วยแบบนั้น เพราะผมเองความรู้เรื่องนี้ยังไม่พอ แต่ว่าจากการสืบค้นหลักฐานของทางฝ่ายตะวันตกนี่ ข้อหนึ่งคือค่อนข้างสรุปได้ว่าแอตแลนติสเคยมีจริง แล้วในระยะที่ "เพลโต" เขียนถึงนี่มันเท่ากับห่างจากยุคของ "เพลโต" ประมาณเกือบหมื่นปี ซึ่งเกือบหมื่นปีนี้เมื่อเรามาเทียบแล้วเราพบว่ามันเก่ากว่ายุคหินที่เราพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างที่พบที่บ้านเชียง อย่างที่พบที่พนัสนิคม ทีนี้การสันนิษฐานว่า "แอตแลนติส" อยู่ที่ไหน มันหลากหลายมาก มีตั้งแต่อยู่ที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งไม่ตรงกับที่ "เพลโต" เขียน แต่เขาก็พยายามพิสูจน์ว่ามันน่าจะใช่ จนกระทั่งมองไปถึงขั้วโลกใต้ ครั้งที่ยังไม่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง แต่ในระยะหลังๆ หลายๆ สายกำลังตะล่อมตัวเองเข้าไปสู่บทสรุปที่ว่า น่าจะเป็นหมู่เกาะที่อยู่แถวอเมริกาใต้ หรือระหว่างอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ ประมาณแถวทะเลแคลิบเบียน แล้วอาจจะมีหลักฐานหรือมีอะไรมากขึ้น ซึ่งผมเองยังไม่ได้ติดตามโดยละเอียด

สุวินัย : แล้วอย่างอารยธรรมสุเมเรียนล่ะ?

เสกสรรค์ : พวกนี้มาทีหลัง

สุวินัย : อย่างมีคนที่ค้นคว้าเรื่องนี้เช่น "ซิทกาเรีย สิทจิน" เขาอ้างว่ามีอารยธรรมจากต่างดาวมาช่วยสร้าง เพราะจู่ๆ มันผุดขึ้นมา ในแง่นี้มีข้อสังเกตอะไรไหม?

เสกสรรค์ : จริงๆ แล้วถ้าตามที่ศึกษากันอยู่ในโบราณคดี สุเมเรียนมาทีหลังอียิปต์ด้วยซ้ำไป แต่สิ่งที่นักประวัติศาสตร์โบราณคดีกังขากันอยู่ตลอดเวลาก็คือจุดเริ่มต้นของอียิปต์ ที่จู่ๆ ก็โผล่มาได้อย่างไรและเจริญรวดเร็วมาก หลายคนถึงกับตั้งสมมุติฐานว่าตะวันออกกลางอาจจะได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากอารยธรรมนอกโลก

ผมไม่กล้าคิดไปไกลขนาดนั้น เพราะผมไม่มีความรู้หรือหลักฐานอะไรเพียงพอ แต่เราต้องยอมรับอะไรอย่างหนึ่งก็แล้วกันว่า ในกาแล็กซีแบบของเรามีดวงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านดวง ซึ่งมีบริวารและบริวารก็เป็นดาวเคราะห์ มันก็มีความเป็นไปได้สูงว่าดาวเคราะห์ที่มีเงื่อนไข มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็อาจจะให้กำเนิดชีวิต แล้วชีวิตก็อาจจะวิวัฒน์เป็นชีวิตที่มีสติปัญญาได้เหมือนมนุษย์ เพียงแต่ระยะห่างระหว่างดาวทั้งหลายมันห่างมาก จนมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับการเดินทางโดยช่วงอายุมนุษย์ เพราะมันห่างเป็นล้านปีแสง แต่ว่าเรามีเครื่องมือมากขึ้นในการจับความเคลื่อนไหวของดวงดาวเหล่านั้น ถ่ายภาพได้มากขึ้น แล้วคำนวณสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่กล้าปฏิเสธหรอกว่า ถ้าธาตุต่างๆ ในดาวเคราะห์เหล่านั้นมันมีความเหมาะสมเท่ากับโลกแล้วมันจะไม่เกิดมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตขึ้น เพราะจริงๆ มันอาศัยเพียงคาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O2) ไนโตรเจน (N) จากนั้นก็ผสมผสานกันไปมา ตรงนี้เราคงไม่ได้ "ผูกขาด" องค์ประกอบเบื้องต้นของการมีชีวิต แต่ว่าเรายังไม่มีความรู้พอที่เห็นกันอย่างจะๆ แจ้งๆ ว่า ที่อื่นก็มีอารยธรรม มีคนอยู่ เพราะฉะนั้นการสันนิษฐานว่าอารยธรรมต่างดาว มาส่งถ่ายทอดองค์ความรู้แถวตะวันออกกลาง อาจจะเป็นนับหมื่นปีก็ยังเป็นข้อสันนิษฐาน


สุวินัย : ตอนนั้นผมตามเรื่องนี้อยู่ ทำไมมนุษยชาติเกิดมาถึงมีข้อแตกต่างกันมากเหลือเกิน เดี๋ยวผิวดำ ผิวขาว ผิวเหลือง

เสกสรรค์ : ผมไม่ได้เป็นคนมีความรู้ขนาดนั้น แต่ผมคิดจากหลักวิทยาศาสตร์ มันเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม มันไม่เพียงเกี่ยวกับมนุษยชาติ สัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พอมันย้ายถิ่นฐานมันก็ปรับเข้าหาสิ่งแวดล้อมอย่างสีผิวนี้ค่อนข้างชัดเจน สีผิวดำหรือคล้ำลงไปก็ช่วยป้องกันแสงอาทิตย์ในเขตโซนร้อนทั้งหลาย

ทีนี้คนผิวขาวอพยพมาอยู่โซนร้อน ลูกหลานรุ่นต่อไปก็มีโอกาสจะคล้ำลง อย่างผมพบคนจีนแถวปักษ์ใต้หลายคนมีหน้าตาผิวพรรณไม่ต่างกับชาวมาเลย์ แต่ถึงเวลาเช็งเม้งแล้วก็ไปไหว้บรรพบุรุษ คือผิวคล้ำมากเพราะเขาไปอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากขึ้น พอรุ่น ๒ - ๓ ก็เปลี่ยนไป

สุวินัย : แต่ผมคล้ายๆ กับว่า พอมนุษย์เกิดมามันเป็นพันธุ์แบบนี้คล้ายๆ กับความหลากหลายของชาติพันธุ์ของสัตว์ต่างกัน หรือว่ามันมีการกลายพันธุ์

เสกสรรค์ : คือผมไม่พร้อมจะสนทนาเพราะผมมีความรู้ไม่พอ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มักจะคิดกันถึงต้นกำเนิดของมนุษย์ที่ไหนสักแห่ง อย่างเช่นแอฟริกา จากนั้นก็แพร่ไปยังที่ต่างๆ พอไปถึงสิ่งแวดล้อมก็ปรับร่างกาย ปรับตัว ซึ่งผมคิดว่าในเฉพาะหน้าอาจจะต้องเชื่อตรงนี้ไว้ก่อน เพราะว่าเราไม่มีความรู้อื่นมาแย้ง ข้อสังเกตในปัจจุบัน การโยกย้ายถิ่นฐานมันมาก สิ่งแวดล้อมดั้งเดิมของสายพันธุ์นี้ก็อาจจะเปลี่ยนไป เช่นคนเอเชียไปอยู่ตะวันตก ผมเคยสังเกตว่าคนเอเชียที่โตในสหรัฐอเมริกา มาถึงรุ่น ๒ - ๓ โครงสร้างร่างกาย โครงกระดูกใบหน้าเริ่มเปลี่ยน แล้วก็มันจะมีรูปทรงสัณฐานใกล้ไปทางฝรั่งมากขึ้น หรือบางสายพันธุ์อาจจะเปลี่ยนยากหน่อย เช่น คนนิโกรไปอยู่มานานก็ไม่ขาวสักที (หัวเราะ) ตรงนี้ผมตอบไม่ได้เพราะผมไม่มีความรู้ด้านชีววิทยา

ข้อสรุปเบื้องต้นของผมคือ ความเป็นมาของมนุษย์คือยังไม่สามารถยึดถือได้ว่าตำราที่มีอยู่ตอบคำถามแล้วทุกอย่างเป็นเรื่องที่สันนิษฐานมากกว่าจะเป็นข้อเท็จจริง เพราะจริงๆ แล้วเราอาจจะไม่ทราบเลยว่าต้นกำเนิดมันมาอย่างไร แต่การตั้งข้อสันนิษฐานต่างๆ ก็ต้องจำกัดตัวเองเหมือนกัน ถ้าหลงตัวเองมากไป เดี๋ยวคุณก็จะสรุปไปทั่ว โดยรู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ผมไม่อยากไปถึงขั้นนั้น ผมคิดว่าในฐานะปัญญาชนคนหนึ่ง การค้นคว้าด้านนี้ผมเป็นเพียงแค่ผู้มาทีหลัง และจุดมุ่งหมายที่ผมเขียนไว้ใน "วิหารที่ว่างเปล่า" ก็คือผมอยากจะเตือนสติสังคมไทย เตือนสติคนไทยในปัจจุบันซึ่งหลุดไปไกลมากในด้านของการใช้ชีวิตกับสิ่งที่หลงระเริงกับสิ่งที่มันฉาบฉวยเป็นเปลือกนอกของชีวิตมากจนกระทั่งน่าเป็นห่วง มากจนกระทั่งไม่ใช้สติปัญญาในการชี้นำชีวิตของตนเองเลย

คำว่าสติปัญญาของผมไม่ได้หมายความว่าปริญญาหรือความรู้ในห้องเรียน ผมหมายถึงความตื่นรู้ในความเป็นมนุษย์ของตนเองที่จะสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้าง แล้วมีความหมายอะไร ถึงไม่รู้ก็มีความหมายของการตื่นรู้ในเชิงของคำถามในเชิงของการค้นหา ที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนรุ่นหลัง ผมเป็นห่วงมาก ผมรู้สึกว่าพวกเขาถูกหลอกใช้กลายเป็นเครื่องมือทำกิน หรือเป็นสินค้า หรือเป็นกลุ่มเป้าหมายของคนที่จะหาเงินหาทองมากเกินไป และทำให้ชีวิตพวกเขามันขาดแหว่งไปมาก ไม่ได้เติบโตในทางสติปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น คือทุกฝ่ายไปกระตุ้นเร้าสัญชาตญาณบางด้านของพวกเขา แล้วก็หากินกับพวกเขา


 

"เราเป็นหางแถวของศาสดา"


หมายเหตุกอง บก. : ในบทสนทนาช่วงต่อไปเหมือนเป็นด้านกลับของการแสวงหาความหมายของการดำรงอยู่ เมื่อคนเราขยายแนวเขตของการรับรู้ "จักรวาล" ภายนอก ให้ขยายออกไปกว้างขวาง ท่ามกลางการรับรู้ว่าตัวเราเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของจักรวาล มิติของการส่องสะท้อน "จักรวาล" ภายในกลับเปิดกว้างออก

"เราเป็นหางแถวของศาสดา" อาจไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่กับรูปแบบ หรือพิธีกรรมทางศาสนาแต่อย่างใด "ศิลปิน" หรือแม้แต่ "นักวิทยาศาสตร์" (บางคน) ก็ส่องสะท้อนความหมายของชีวิตได้ไม่แพ้ "นักบวช" (บางคน) แน่นอนว่าเราคงไม่อาจสรุป "ประสบการณ์เชิงอัตวิสัย" ไม่ว่าจะเป็นของใครขึ้นเป็น "สัจธรรม" ที่เป็นสากลสำหรับใครต่อใคร แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีคุณค่าต่อการรับรู้ พูดถึง หากเราตระหนักถึงว่าเราต่างวนเวียนอยู่ในชะตากรรมชีวิตที่ยากจะควบคุมไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน


สุวินัย : ผมคิดว่าคนหนุ่ม-สาวสมัยนี้เขาไม่ได้ตระหนักว่าอารยธรรมที่เรามีอยู่เดี๋ยวนี้มันเปราะบาง ผมคิดว่าบางอย่างเขาหายไปนะ อย่างใน "วิหารที่ว่างเปล่า" พี่เขียนถึง "ดาวหาง" มันทั้งทำลายมนุษยชาติและให้กำเนิดชีวิตด้วยตัวมันเอง เขาอาจไม่เข้าใจ

เสกสรรค
์ : ผมคิดว่าสังคมทำให้เขาเป็นอย่างนั้น พ่อแม่ที่เลี้ยงเขามา ครูที่สอนเขามา สังคมที่เต็มไปด้วยความฉาบฉวยบันเทิงเริงรมย์ ต้องรับผิดชอบในสิ่งเหล่านั้น เด็กที่เกิดมาไม่ได้สร้างโลกโดยตรง เราสร้างไว้ล่วงหน้าแล้ว ทีนี้โลกที่เราสร้างไว้ล่วงหน้า อย่างสยามเซ็นเตอร์ เซ็นเตอร์พอยท์ อะไรเหล่านี้ หรือว่าบรรดาสิ่งเย้ายวนทั้งหลายมันเป็นสิ่งเดียวที่เขาเห็น เราน่าจะมีทางเลือกหลายอย่างให้เยาวชนของเรา รวมทั้งการศึกษาที่เป็นอยู่มันก็มีความผิดพลาดมากมายเหลือเกิน ไม่สอนให้คนถามคำถาม ไม่สอนให้คนอยากรู้ว่าชีวิตคืออะไร ความหมายคุณค่าอยู่ที่ไหน สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นจากลูกศิษย์ที่ผมสอนมา ผมก็ไม่ทราบมันเกิดอะไรขึ้นกับเขา พวกเขามี self esteem ที่ต่ำมาก ไม่เคยคิดว่าตนเองจะทำอะไรได้เลยในชีวิต มันก็นำไปสู่ความหดหู่ลึกๆ ที่เขาเองก็ไม่เข้าใจ ผมสอนก็ไม่มีคำถามอะไรจากลูกศิษย์


สุวินัย
: เพราะเขากลัวว่ากล้าแบบพี่แล้วมันเจ็บปวด แล้วเขาก็แบกรับความเจ็บปวดนั้นไว้ไม่ได้

เสกสรรค์
: ผมคิดว่าพ่อแม่ก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี กดข่มเขามาตั้งแต่เล็ก อาจจะในนามของความรัก ในนามของความห่วงใย แต่สรุปรวมๆ ก็คืออย่าไปทำอะไรที่ต่างไปจากคนอื่นน่ะลูก เดี๋ยวชีวิตจะลำบาก ผมเข้าใจว่าเขาคงไม่ใช่กลัวแค่ความเจ็บปวดนะ ผมคิดว่าเขากลัวว่าจะไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการมากกว่า เช่น การประนีประนอม การยอมรับเป็นกระแสหลักอาจจะนำมาซึ่งลาภยศสรรเสริญมากกว่า ผมไม่คิดว่านี้เป็นแนวคิดในเชิงป้องกันตัว แต่เป็นแนวคิดในเชิงรุกที่จะให้ลูกหลานเข้ากับระบบให้มากที่สุด และถ้าเป็นไปได้ ให้โกงระบบอีกต่างหาก แล้วก็หมดความรู้สึกผิดถ้าจะทำให้เรื่องผลประโยชน์ของตนเอง ขณะเดียวกันเรื่องของส่วนรวมถูก �ขริบŽ ทิ้งไปตั้งแต่จำความได้


สุวินัย
: จะเป็นไปได้ไหมว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะรุ่นพวกเราพ่ายแพ้

เสกสรรค์ :
ผมไม่เชื่อว่านั่นเป็นแรงจูงใจ เพราะผมก็สอนให้ลูกรักความเป็นธรรม ถ้าเป็นความพ่ายแพ้ ผมเป็นคนที่เจ็บเนื้อเจ็บตัวมากที่สุดคนหนึ่ง ผมไม่เคยละเลยที่จะบอกลูกว่าชีวิตมันมากกว่าเสพสุข คือต้องดูแลตนเองให้เป็น และจะต้องดูแลผู้อื่น ดูแลสังคมบ้างในฐานะที่เราอยู่ร่วมกัน


สุวินัย :
พี่ลองคิดดูว่า ๒๐ กว่าปีก่อน นักศึกษารุ่นนั้นยอมตาย เพื่อในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับตนเองทั้งสิ้น แล้วอยู่ดีๆ คนเหล่านี้ก็หายไปจากประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง กลับผลิตลูกหลานที่กลายเป็นคนตรงข้ามกับคนรุ่นนั้น

เสกสรรค์
: สุวินัยอย่าไปมองรวบรัดแบบนั้น จริงๆ แล้วมันมีช่วงหนึ่งที่ต้องมองให้ทะลุ คือช่วงที่คนเดือนตุลาไปต่อสู้จนกระทั่งลุกลามไปเกิด ๖ ตุลาคม ตามมาด้วยการต่อสู้ในชนบทอีกหลายปี ในระหว่างนี้มันมีพวกที่ไม่สู้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ทุกอย่าง ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ พัฒนาตนเองเป็นชนชั้นนำด้านเศรษฐกิจและการเมือง และสร้างโลกที่ตนเองชอบ โลกที่เต็มไปด้วยการบริโภค การสั่งสมทรัพย์สิน การเบียดเบียนผู้อื่น บันเทิงเริงรมย์ต่างๆ นั่นคือโลกที่เด็กรุ่นหลังเขาโตมาเห็น มันไม่ใช่เป็นฝีมือของคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ มันไม่ใช่ฝีมือของคนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม มันเป็นฝีมือของคนที่ใช้ประโยชน์ของการต่อสู้เหล่านี้มาหาผลประโยชน์ใส่ตัว ผมไม่เชื่อว่ามันเป็นผลงานของคนรุ่นผม แต่ว่ามันเป็นผลงานของคนที่ใช้ประโยชน์ระหว่างที่เราพ่ายแพ้ที่เราเลียแผล เรามานั่งบอบช้ำ เขาจะใช้ช่องว่างตรงนั้น ทั้งมาเล่นการเมือง ทั้งมาหาประโยชน์ทางธุรกิจ


สุวินัย
: ในฐานะที่ผมตามงานของพี่มาตลอด ในด้านหนึ่งผมมีความรู้สึกว่าบางส่วนของพี่ได้ "ตาย" ไปแล้ว ผมพูดในความหมายที่ดีเหมือนกับพี่หลุดออกจากตัวตนดั้งเดิมในสมัยที่เคลื่อนไหวเป็นนักปฏิวัติ

เสกสรรค์
: ผมอยากจะพูดอย่างนี้ว่า ผมเติบโตขึ้น ผมไม่ได้เปลี่ยนไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของตนเอง แต่คุณต้องยอมรับว่าผมต้องมีกระบวนการของการเติบโต เมื่อมีกระบวนการเติบโตมันก็ย่อมมีความแตกต่างในวัยเด็ก ในวัยหนุ่ม ในแง่ของรูปร่างหน้าตา มันก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วๆ ไป มีเติบใหญ่เต็มที่แล้วก็เสื่อมทรุดลง ด้านสติปัญญามันก็สะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก ผมไม่ได้ลืมความทรงจำในวัยเด็ก สิ่งเหล่านี้คุณจะเรียกมันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง อาจจะฟังดูแล้วเหมือนกับว่าผมเปลี่ยนจากคนหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ แต่ว่าผู้คนติดตามผมมานาน เฝ้าดูผมมานาน ด้วยสายตาที่เป็นมิตรและเป็นศัตรู ผมว่าไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี ทำให้เขาจะต้องเอามาเทียบกับช่วงนั้น ช่วงนี้ แล้วผมคิดว่ามันอาจจะถูกวิจารณ์ไปแบบผิดๆ ถูกๆ จริงๆ ตัวผมเองไม่ได้มีความรู้สึกว่าเปลี่ยนไปเป็นคนอื่นเลยแม้แต่นิดเดียว


สุวินัย :
ผมพูดในความหมายที่ว่า พี่ใช้สัญลักษณ์ว่า "วิหาร" ในใจของพี่ที่เคยมีความคิดทางการเมืองและสังคมสถิตเป็นพระประธาน

เสกสรรค์:
เดี๋ยวนี้ก็ยังมี แต่ไม่ใช่ความคิดทางสังคมหรือการเมืองแบบหยาบๆ และไม่ใช่เรื่องเดียวที่คิด... คือไม่ใช่เอาการเมืองเป็นหลักหรือเป็นพระประธาน


สุวินัย
: แต่ปัจจุบัน คล้ายๆ กับว่ามีความว่างเปล่าที่ลึกล้ำ ที่ไม่มีรูปธรรมใดมาแทน

เสกสรรค์
: คือเรื่องพวกนี้ เราเอามาพูดกันหยาบๆ ไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่จะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่โตขึ้นมาก็มีพัฒนาการทางสติปัญญา หรือบางคนอาจจะไม่มีเลย คืออาจจะมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสูงมาก แต่ตัวภูมิปัญญาจำกัดอยู่แค่ ๑๐ ขวบในการมองโลก นั่นเป็นส่วนน้อย


แต่สำหรับผม วิถีชีวิตและชะตากรรมมันบังคับให้ผมต้องคิด ผมจะต้องตอบตนเองให้ได้ว่า ทำไมผมถึงไปขัดแย้งกับคนอื่น ทำไมผมถึงไปพ่ายแพ้สูญเสียสิ่งนั้น
สิ่งนี้มา ซึ่งในหลายๆ กรณี หลายคนเขาไม่จำเป็นต้องผ่านสิ่งเหล่านี้ เขาอาจจะคิดได้ เพราะเขามีสติปัญญามากกว่าผม แต่สำหรับผมมันไปผ่านเรื่องราวที่เจ็บปวดและสูญเสียมาหลายอย่าง ทำให้ผมต้องตอบตนเองในตลอดเวลาว่า ชีวิตที่ผ่านมามันคืออะไร ต้องวิเคราะห์ตนเอง


ดังนั้น ในระหว่างนี้ส่วนไหนที่ผมค้นพบว่าความทุกข์ร้อนมันเกิดจากความจำกัดของตัวผม เกิดจากกิเลสของผม ผมก็ต้องตัดทิ้งไป เพราะผมไม่อยากเดือดร้อนอีก แต่ถ้าความทุกข์ร้อนมาจากการกระทำของผู้อื่น มาจากภาวะวิสัย อันนี้ผมไม่ถือว่าเป็นความผิดของผม ผมก็ต้องหาวิธีมาเผชิญกับมัน ซึ่งพูดรวมๆ ไปแล้วเราเข้าใจอะไรมากขึ้น แล้วพฤติกรรมของเราก็ได้รับการกลั่นกรองให้ประณีตขึ้น ความคิดของเราก็ประณีตขึ้น ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับคนที่ซีเรียสกับชีวิต


สุวินัย
: พอผมอ่าน "วิหารที่ว่างเปล่า" ผมกลับรู้สึกมากกว่าเล่มอื่นๆ ของพี่ในแง่ที่ว่า พี่เอาความเจ็บปวดของตนเองที่พบเจอ แล้วพยายามตอบปัญหา แล้วเอามาเขียนออกมา ผมคิดว่ามันเป็นด้าน "กรุณา" ของตัวพี่เอง เสนอบทเรียนความเจ็บปวดของตนเอง เพื่อที่จะให้ผู้อื่นไม่ต้องมาเจ็บปวดแบบนี้อีก ย่นระยะเวลาผ่านพ้นมันได้ง่ายเข้า

เสกสรรค์
: ผมคงมีส่วนให้ได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ในการมีส่วนเรียนรู้ของผู้อื่น แต่ผมก็กังวลเหมือนกันว่าคนทั่วไปเขาจะคล้ายๆ ผม มักจะดื้อและไปเจ็บปวดซะก่อน จึงจะเรียนรู้ "เราเป็นหางแถวของศาสดา" เราไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่เหมือนศาสดา เพราะฉะนั้นศาสดาท่านไปเห็นอะไรนิดหน่อยท่านคิดออกแล้ว นี่เราต้องใช้ชีวิตมาตั้งหลาย ๑๐ ปี ล้มลุกคลุกคลานถึงจะคิดอะไรออก ผมเองก็ไม่ได้บรรลุอะไรนักหนา เพียงแต่ว่ามีความจำเป็นต้องตอบคำถามตัวเอง และมีความจำเป็นต้องดูแลตนเอง จะให้ผมเสียสติไปหรือจมปลักกับความเศร้าหมองหม่นตลอดเวลา ผมก็คงมีชีวิตไม่รอดมานานแล้ว เพราะความจริงสิ่งที่ผมผ่าน สิ่งที่ผมพบมันหนักหนาสาหัสมากเมื่อเทียบกับคนโดยทั่วไป การที่ผมอยู่มาได้จนทุกวันนี้ ผมคิดว่าผมอาศัยตรงนี้ อาศัยการมองเข้าด้านใน อาศัยการค้นหา "ทางออกของจิตวิญญาณ" ถ้าไม่มีตรงนี้ผมคงทนไม่ได้ คนที่สูญเสียหลายๆ อย่าง และพ่ายแพ้ในหลายๆ สนามรบ ถ้าไม่มีการดูแลตนเองที่ถูกต้องก็อาจจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งเลย ผมมีตัวอย่างให้เห็นมากมายจากคนรุ่นเดียวกัน ผมพบว่าทางออกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกลบเกลื่อนความเจ็บปวดโดยใช้วิธีง่ายๆ คือ หรือหาความสุขแบบเปลือกๆ เพื่อจะให้ชีวิตผ่านไปได้แต่ละวันบางคนปรับตัวเข้าหาคู่ต่อสู้เก่าของตนเองเลย เพื่อที่จะได้รับการยอมรับและความรักจากฝ่ายที่ทำร้ายเขา หลายคนหันไปยึดติดในศาสนาเชิงรูปแบบ นอกจากนี้ก็ยังมีพวกที่คิดอะไรไม่ออกก็เอาสิ่งภายนอกทั้งหมดมากองรวมกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นลาภยศสรรเสริญ เงินทองต่างๆ เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองมีความสำเร็จในชีวิต ผมไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เลย ผมเลือกวิถีที่แตกต่างมาก อาจจะเรียกได้ว่าตั้งแต่ออกจากป่ามาก็เหมือน "บวช" อยู่กลายๆ อย่างไปตกปลาก็นั่งอยู่คนเดียวทั้งวัน หรือบางทีอยู่คนเดียวไม่ไปไหนก็อยู่บ้านทั้งอาทิตย์ไม่ออกไปเลย โดยไม่พูดกับใคร แล้วก็อ่านหนังสือ ใช้ชีวิตนั่งคุยกับตนเองค่อนข้างมาก


ผมจะไม่ค่อยเหมือนกับคนอื่น เวลาที่มีทุกข์ร้อน บางคนอาจจะพบเพื่อนมนุษย์ บางคนอาจจะให้คนปลอบประโลม แต่ผมเวลามีทุกข์ร้อนอยากอยู่คนเดียว สำหรับผมก็เหมือนการนั่งสมาธิแต่มันไม่ได้เป็นรูปแบบทางศาสนา หรือรูปแบบพิธีกรรม มันเป็นการนั่งคิดอะไรเงียบๆ


สุวินัย :
พี่เขียนไว้ตอนหนึ่งว่าคุยกับตนเอง แล้วเข้าสู่ความเงียบงัน พี่ช่วยขยายความตรงนี้

เสกสรรค์ :
สิ่งเหล่านี้คนอย่างสุวินัยน่าจะเข้าใจดี ว่าบางอย่างมันพูดไม่ได้ ถึงคุณจะเอาคำซึ่งมีอยู่จำกัดในภาษาของมนุษย์มาอธิบายปรากฏการณ์ที่เฉพาะตัว เฉพาะสถานการณ์ บางทีคำมันไม่พอ ตอบได้สั้นๆ ว่า ถ้าเราหันหน้าไปถูกทิศ แล้วคุยกับตนเอง ถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่าความทุกข์ร้อนทั้งหลายมันหายไป มันหายไปไม่ใช่เพราะเรื่องไม่เคยเกิด หรือว่าตัวเราเองไม่รู้สึกรู้สา แต่มันจะดึงจิตใจของเราให้ถอยห่างจากสิ่งเหล่านั้น โดยกระบวนการบางอย่างที่ผมเองก็ไม่ทราบว่ามันมาได้อย่างไร มันจะเกิดความนิ่งสงัด อยู่ในการดำรงชีพของเราซึ่งไม่มีทุกข์ร้อน ผมทำได้เป็นครั้งคราว ไม่ได้ทำได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าผมไม่เจอคน ๓ - ๔ วัน อาจจะมีบางช่วงที่ผมทุรนทุราย อยากจะออกไปข้างนอกอยากจะให้คนโทร.มาหา แต่ถ้าตั้งมั่นว่าไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น แล้วเราก็ทำอะไรของเราไป ตัดต้นไม้ เลี้ยงหมา หรือว่าอ่านหนังสือ สิ่งวิตกกังวลหลายอย่างมันหายไปทางไหนก็ไม่ทราบ มันแทบจะไม่คิดถึงมันเลย กระทั่งไม่คิดด้วยว่าเราอยู่คนเดียว

สุวินัย : ภาวะนั้นดำรงอยู่นานมั้ยครับ

เสกสรรค์ : ทุกวันนี้ผมก็มีบรรยากาศอย่างนี้ทุกวันแต่เป็นบางช่วง ทุกวันนี้ผมอยู่คนเดียว คือลูกเมียอยู่ต่างประเทศ และผมก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้ ไม่ใช่เดินเข้าบ้านทีน้ำตาคลอเพราะคนอื่นหายไปหมด ผมก็สามารถที่จะกินข้าวคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ อ่านหนังสือ ตามข่าวสารคดี โทรทัศน์ หรือว่าเรื่องราวของโลก จนกระทั่งถึงเวลาเข้านอนโดยไม่มีวิตกทุกข์ร้อนอะไร

สุวินัย : ตอนที่พี่ดื่มเหล้าตามลำพัง พี่เคยเข้าภาวะความเงียบงันอย่างนี้บ้างไหม

เสกสรรค์ : เหล้ามันไม่ใช่คำตอบ เหล้ามันเป็นยาแก้ปวด ความรู้สึกตอนกินเหล้า ผมมี ๒ อย่าง

หนึ่งคือ เวลาเราอยู่กับมิตรสหายมันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการพูดคุยสนทนา ผมไม่ได้บอกว่ามันไร้สาระ แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันเข้าไปลึกถึงจิตวิญญาณอะไร เป็นความรู้สึกพออกพอใจ เพื่อนฝูงมาพบกัน

สองคือ อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นการใช้บรรยากาศ ที่เราใช้ชีวิตไปอยู่ในที่ๆ เราพอใจ เช่น ไปนอนกลางป่า หรือริมทะเล เอามันมาเป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกับเสียงคลื่น แสงจันทร์อะไรแบบนั้น

แต่ถ้าเวลาที่ผมจะเอาชนะความทุกข์จริงๆ ผมจะไม่ใช้เหล้า เพราะว่ามันไม่ยั่งยืน ตรงกันข้ามถ้ากินมากเกินไปผมจะรีบหยุด ผมมีความรู้สึกว่านี้ไม่ใช่คำตอบ คือมาถึงตรงนี้ ผมมีข้อสรุปชัดเจนว่า ถ้ากินเหล้าไม่ใช่คำตอบ มันเป็นเพียงความบันเทิงชั่วครู่ชั่วยาม ถ้าช่วงไหนผมกินมันมากเกินไปผมก็จะหยุด ระยะหลังๆ ผมก็ไม่ค่อยได้กินมันไม่จำเป็น

สุวินัย : หลังจากที่พี่เขียนเรื่อง "วิหารที่ว่างเปล่า" เมื่อปีที่แล้ว แล้วพี่ก็มาเขียนบทหนัง

เสกสรรค์ : ไม่ ผมเขียนบทหนังก่อน บทหนังตกลงกับทางไฟว์สตาร์เมื่อมิถุนายน ๒๕๔๒ ส่วนวิหารที่ว่างเปล่าเขียนครึ่งหลังของปี ๒๕๔๓ แต่ที่พิมพ์ช้า เพราะผมใช้เวลาขัดเกลา จึงมาพิมพ์ปี ๒๕๔๔ ช่วงหนึ่งก็ทำงานควบคู่กันไป เพราะบทหนังยืดเยื้อเรื้อรัง เขียนเสร็จแล้วเมื่อมกราคม ๒๕๔๓ ก็ต้องมาแก้ไขตัดต่อ ทำงานร่วมกับผู้กำกับ ปรับปรุงมาเป็นภาพยนตร์ที่ดี ในขณะที่มันยังไม่เรียบร้อย ผมก็เริ่มงาน "วิหารที่ว่างเปล่า" ใช้เวลาประมาณ ๖ เดือน ที่เขียนลงเนชั่นสุดสัปดาห์

สุวินัย : หลังจากนั้นพี่มีประสบการณ์อะไรที่ประทับใจไหมครับ ที่เป็นงานชิ้นใหม่

เสกสรรค์ : ผมไม่เข้าใจ ปี ๒๕๔๔ มานี้หรือ (หัวเราะ) คุณถามเหมือนผมเป็นสัตว์เลี้ยงทางการเกษตร ต้องมีผลผลิตอยู่ตลอดเวลา

สุวินัย : (หัวเราะ) ไม่ใช่ครับพี่ คือพี่มีอะไรที่ค้นพบหรือตระหนักรู้ เพียงแต่ยังไม่ได้ถ่ายทอด

เสกสรรค์ : คือผมไม่อยากตอบคำถามเหล่านี้ มันเป็นคำถามของผู้คนที่ไม่อยากจะเข้าใจ หรืออยากคบกับผมในฐานะของเพื่อนมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริโภคผม พูดง่ายๆ เมื่อไรจะมีสินค้าตัวใหม่ ผมไม่ใช่เครื่องจักร ไม่ใช่โรงงาน บางทีผมไม่เขียนตั้ง ๓ - ๔ ปี เพราะมันอาจจะไม่ใช่ห้วงอารมณ์ที่เขียนหนังสือ คือหลายๆ อย่าง ผมไม่อยากตอบ เพราะมันเป็นสิทธิของผมที่จะไม่ตอบ หลายคนในฐานะของแฟนหนังสือล่วงเกินผมโดยไม่รู้ตัว อยากรู้ไปหมดทุกเรื่อง

ผมเข้าใจว่าพูดอยู่ในพันธุ์ทิพย์ดอทคอม เกือบทุกวัน ตอนนี้เสกสรรค์ทำอะไร เขียนที่ไหนแบบนี้ ผมไม่อ่าน มีทั้งด่า-ชมอยู่ในนั้น ผมก็ไม่รู้ว่าคนที่ด่าผมเจ็บแค้นอะไรมาจากไหน รู้จักผมก็ไม่รู้ ไม่รู้เอาอะไรมาด่า ผมก็งง ผมก็ไม่อยากไปเสียเวลากับสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าขอบเขตของการไต่ถามผม มันจะต้องมีบ้าง เพราะว่าผมไม่ใช่สมบัติของผู้ใด ผมไม่ชอบให้เอาคำที่เป็นสูตรสำเร็จเหล่านี้มาใช้กับผม ผมไม่ใช่นักการเมือง ดารา แล้วคุณจะเอาอะไรกันนักหนา ถ้าคุณมีเรื่องมาแลกเปลี่ยนความคิดกันยินดี แต่คุณจะซักไซ้ไล่เลียงเหมือนผมเป็นจำเลย คอยสอบประวัติ สอบความประพฤติผมตลอดเวลา ผมว่าคุณผิดเป้าหมายแล้ว มันน่าจะไปทำกับคนชั่วคนเลว คนที่ทำร้ายสังคมมายุ่งอะไรกับผมนักหนา

ถึงแม้ผมจะไม่ถึงขั้นเป็นนักบวช แต่ผมคิดว่าการที่พระธุดงค์หลายองค์ ตัดสินใจแบกกลดไปตามเขตทุรกันดารโดยลำพัง ตอนนั้นคนอื่นไม่เกี่ยวนะ มันเป็นเรื่องระหว่างเขากับตัวเขา ตัวเขากับจักรวาล ซึ่งพระเหล่านั้นอาจจะมีความรู้มากมาย เราไม่มีโอกาสได้ไปสืบทอด ไปรับสัจธรรมที่ท่านค้นพบ ผมเองไม่ถึงขั้นนั้นหรอก แต่หลายๆ มิติของชีวิตผมไม่อยากให้คนมายุ่งกับผม เพราะผมกำลังเดินทางของผม ในความหมายที่ผมคนเดียวเท่านั้นที่รู้ ซึ่งสังคมบางทีมายุ่งกับผมมากเกินไป

สุวินัย : ผมอยากเปรียบเทียบกับมูซาชิ เสกสรรค์ในวัยหนุ่มสนุก แต่ถ้าถามในความลึกของชีวิตเสกสรรค์ในวัยหลังจากนั้นต่างหากที่น่าตามในแง่ที่คนทั่วไปจะไม่ค่อยเข้าถึง แต่ถ้าหากคนจริงจังหรือสนใจกับความลึกของชีวิตแล้ว เขาจะสนใจ

เสกสรรค์ : คือที่สุวินัยพูดมาทั้งหมดเป็น "กิเลสของผู้อื่น" ทั้งนั้น ว่าอยากให้ผมเป็นอย่างนั้น อยากให้ผมเป็นอย่างนี้ หรือไปเปรียบกับสิ่งนั้น สิ่งนี้ นี่ไม่ใช่กิเลสของผม ไม่มีใครมาสัมภาษณ์ผมเลยก็ได้ ผมไม่ได้สนใจ จริงๆ แล้วส่วนใหญ่ผมปฏิเสธมาตลอด นี่ผมให้สุวินัยมาสัมภาษณ์เพราะเรารักกันเป็นพี่เป็นน้อง คิดว่าคุยกันรู้เรื่อง ทั่วไปผมไม่สนใจความมีชื่อเสียง หรือว่าการปรากฏตัวโดดเด่น ผมปฏิเสธการออกทีวีไปไม่ต่ำกว่า ๓ - ๔ ช่องในรอบสัปดาห์มานี้ ผมไม่ได้เป็นคนที่อยากอยู่ในความสนใจ คนที่ไม่รู้ความจริงก็คิดว่าเสกสรรค์อยากดังเหลือเกิน เดี๋ยวไปโผล่เล่มนั้นเล่มนี้ ใครก็ตามที่เคยสัมภาษณ์ผมจะพบว่า จริงๆ ต้องอ้อนวอนแล้วหลายคนจะพบว่าผมปฏิเสธอย่างไม่สนใจ เพราะผมไม่ชอบชีวิตแบบนี้

แต่ถ้าในกรณีที่ผมมีอะไรอยากจะพูดกับสังคม เช่นปีกลาย ๑๔ ตุลาคม ผมต้องการบอกประเทศชาติว่า บ้านเมืองเรามีวิกฤติ เราควรทำอะไรบ้าง ตรงนั้นผมอยากให้สื่อมวลชนทั้งหมดมาถ่ายทอดเพราะความสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่ตัวผม แต่อยู่ที่สิ่งที่ผมพูด แต่ถ้าในฐานะบุคคลที่มีชื่อเสียง ผมก็หนีอุตลุดหนีตลอด ทีนี้หลายคนไม่เชื่อว่าเป็นความจริงคิดว่าเป็นไปไม่ได้ คิดว่าคนอะไรไม่อยากดัง มันต้องอยากดังมันถึงมีข่าวสารพัดเล่ม เขาไม่รู้จักตัวจริงของผม

สุวินัย : พี่เคยวิเคราะห์ไหมครับว่าทำไมถึงถูกเข้าใจผิดมากมายขนาดนี้

เสกสรรค์ : ก็เคยถามอยู่บ้างถามตัวเอง สิ่งไหนเป็นความบกพร่องของเราก็ต้องแก้ไข แต่บางส่วนไม่ใช่ เป็นกิเลสของผู้อื่น ผมคิดว่าการที่ทำตัวไม่เหมือนคนอื่นมักจะถูกตีความว่าอยากเป็นคนอยากเด่น อยากดัง แต่จริงๆ แล้วคนลืมนึกไปว่า การที่ทำตนไม่เหมือนผู้อื่นอาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่มากกว่านั้น อย่างสมมุติว่าคนๆ หนึ่งโกนหัว นุ่งเจียม ห่มเจียมเดินเร่ร่อนไปตามเขตทุรกันดารเพื่อค้นหาสัจจะของชีวิต คุณจะไปหาว่าเขาอยากเด่นอยากดังได้อย่างไร คนไม่เคยมองผมในจุดนั้น ไม่เคยสนใจจะถามผมว่าจริงๆ แล้วผมต้องการอะไร ก็เลยเอากรอบคิดของตนเองกรอบคิดที่เป็นหลักอยู่ในสังคมเอามาวัดผมอยู่ตลอดเวลา ผมไม่ได้มีเหตุผลในเชิงสังคมมากนักในการที่ไม่เหมือนคนอื่น จริงๆ แล้ว เป็นเหตุผลทางจิตวิญญาณ มากกว่าเหตุผลที่ผมไม่ไปร่วมงาน ๑๔ ตุลาคม ก็ไม่ได้ปฏิเสธ รังเกียจเดียดฉันท์ใคร เพียงแต่ หนึ่ง มันไม่ใช่วิถีชีวิตของผมที่ไปออกงานพิธีกรรมต่างๆ สอง ก็คือเวลาผมครุ่นคิดเพื่อนมิตรที่จากไป ผมอยากอยู่เงียบๆ มันไม่ใช่เรื่องทำตัวเด่น หรือทำตัวให้ต่าง มันเป็นชีวิตที่ผมมีมานาน ถ้าเลิกวัดผมด้วยกรอบคิดทั่วไปและกรอบคิดของตัวเอง บางทีอาจจะเข้าใจผมมากขึ้น

สุวินัย : ผมว่าพี่เสมอต้นเสมอปลายด้วยซ้ำไปในสิ่งที่พี่เป็น

เสกสรรค์ : คนเขาไม่อนุญาต ที่ไม่อนุญาตมีสาเหตุต่างๆ สาเหตุที่หนึ่งก็คือจะเอาตัวไปใช้งานอื่น อยากจะให้เป็นอย่างอื่นที่เขาได้ประโยชน์มากกว่า สาเหตุประการที่สองก็คือหมั่นไส้ขึ้นมาดื้อๆ ไม่เข้าใจแล้วก็กากบาทว่าต้องเป็นเรื่องไม่ดี จริงๆ แล้วผมเข้าใจว่าผมไม่เคยไปล่วงเกินหรือกดขี่ข่มเหงใครเลย เอารัดเอาเปรียบก็ไม่มี ก็ไม่เข้าใจผู้คนที่ตั้งหน้าตั้งตาวิพากษ์วิจารณ์ผม ลึกๆ แล้วเขาเคยหันไปถามตนเองไหมว่าเขาทำไปเพื่ออะไร ผมว่าเขาอาจจะไม่เคยถาม

ชีวิตคนมันเป็นเรื่องสลับซับซ้อน มันเป็นเรื่องลึกลับ อย่านึกว่าเรากระโดดโลดเต้นอยู่แล้วก็เป็นข่าวมันคือคำตอบทุกอย่าง ในชีวิตผมเองอายุ ๕๐ กว่าแล้วจะมีโควตามากน้อยแค่ไหนไม่รู้ ผมก็ไม่อยากจะเสียเวลากับสิ่งที่ผมไม่มีความสุขด้วยก็เท่านั้น

สุวินัย : พี่คิดไหมครับว่าวีรกรรมที่ทำในวัยหนุ่มนี่เป็น "cost" เป็นต้นทุนที่พี่ต้องชำระดอกมันอยู่ แม้ผมรู้ว่าพี่ไม่ได้แบกมันไว้แล้วล่ะ?

เสกสรรค์ : คือทั้งหมดเป็นอุปาทานและเป็นกิเลสของผู้อื่นทั้งนั้น ผมเองคิดถึงเรื่องราวที่ตนเองทำเมื่อ ๑๔ ตุลาน้อยมาก ทุกครั้งที่ออกมาพูดที่สาธารณชนจะพูดเรื่องปัจจุบัน พูดถึงความห่วงใยที่ผมมีต่อลูกหลาน ความห่วงใยที่มีต่อสังคม แต่ความทรงจำของคนเขาไม่เคยบวกข้อมูลใหม่ที่ผมให้ไปเลย ผมก็อยากให้เขามาคิดเรื่องปัจจุบันมากขึ้น เพราะว่าปัญหาที่เราเผชิญตอนนี้มันหนักหนามาก มันคนละแบบกับเมื่อก่อน ๑๔ ตุลาอาจจะเห็นเป้าหมายชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง แต่ในวันนี้มันต้องการความลึกซึ้งซับซ้อนในด้านการคิด ผมก็พยายามจะทำหน้าที่ของตนเองในฐานะปัญญาชนคนหนึ่ง

ส่วนในเรื่องที่ว่ามันเป็นราคาที่ผมต้องจ่าย พูดไม่ถูกน่ะ มันเหมือนผมไปได้รับอะไรมา จริงๆ ผมไม่ได้อะไรมาเลย ผมไม่ได้ไปลงทุนไปประกอบการค้าแล้วมีกำไรกลับมารอดมาได้ก็บุญแล้ว

สุวินัย : ผมหมายถึงสิ่งที่พี่ได้กระทำลงไป

เสกสรรค์ : มันเป็นวิบากกรรม แต่ว่าคนอื่นก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผมด้วย ถ้าคุณคิดว่า ๑๔ ตุลาคม ผมมีส่วนร่วมในวีรกรรม คุณได้รับอะไรไปเยอะแยะ ได้รับสิทธิเสรีภาพ ได้รับระบอบประชาธิปไตย แล้วคุณมีสิทธิอะไรมา "รีด" กับผมอีก มันใจร้ายเกินไป ทำไมไม่ถามตนเองบ้างว่าคุณทำอะไรบ้าง แทนที่จะมานั่งคาดหวังผมอยู่ตลอดเวลา ผมเองถือว่าผมไม่มีพันธะเหล่านี้ ใครจะไม่ชอบคำพูดเหล่านี้ รับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าผมไม่ได้หาเสียง ถ้าผมอยากทำให้และเห็นด้วยว่ามันถูกต้องที่จะทำก็ทำ ถ้าผมคิดว่านี่มันเป็นการล่วงเกินเวลาในชีวิตของผม ผมก็ไม่ไปข้องเกี่ยว ผมถือว่าผมไม่ได้ไปเอาอะไรจากใคร จริงๆ แล้วเวลามีคนมาขอให้ทำอะไรหนึ่งคน ก็จะมีคนคอยหมั่นไส้หนึ่งคน คนทุกข์ตกอยู่กับผมทั้งขาขึ้นขาล่อง นี่เป็นวิบากกรรมที่ผมต้องแบกมาโดยลำพังตลอด



 

"บาดแผลตะวันออก"

หมายเหตุกอง บก. : ชีวิตที่ผ่าน "เบ้าแห่งทุกข์" ย่อมปรากฏริ้วรอยของบาดแผล

โลกที่หมุนผ่านกาลเวลามาทั้งช่วง "วิวัฒน์" และ "วิบัติ" อาจเหลือร่องรอยแห่งบาดแผลที่แม่ธรรมชาติได้ทิ้งเอาไว้ บาดแผลแห่งพื้นพิภพ อาจอยู่ในรูปของหุบภูที่งดงาม ให้เราดื่มด่ำชื่นชมอย่างสุนทรีย์ บาดแผลแห่งชีวิตในด้านกลับอาจเป็นฐานรากของความแกร่ง การหาญกล้าทายท้าโลกนี้มาอย่างทระนง

แต่ที่แน่ๆ ไม่มีบาดแผลใดที่ไม่เจ็บปวด..
และใช่ว่าทุกความเจ็บปวดจะถูกสมานรักษาได้โดยง่าย.. โดยเฉพาะ "บาดแผลรวมหมู่" ของสังคมมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นโดยผู้บงการที่เป็น "นามธรรม" เช่น ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่แยแสต่อกันและกัน อีกทั้งใช่ว่าจะมีเพียงใครคนใดคนหนึ่ง "ขี่ม้าขาว" เพื่อมารักษามันได้

"เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" ย้ำเตือนสิ่งเหล่านี้ด้วยความห่วงใยใน "ปัจจุบัน" เสมอมา

 

สุวินัย : ตอนจบของหนังสือเล่มนี้ที่พี่สรุปว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่เสียเปรียบทางโครงสร้างขาดความสำนึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาบ้างเหมือนกัน แล้วมันก็เกิดเหตุการณ์โดยบังเอิญที่ตึกเวิลด์เทรด ผมจึงรู้สึกว่า "วิหารที่ว่างเปล่า" เป็นบทสำรวจวิกฤตการณ์แห่งจิตวิญญาณของมนุษยชาติของตัวพี่เอง พี่จะมีอะไรเพิ่มเติมมั้ยครับ?

เสกสรรค์ : ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ผมคิดถึงมนุษย์โดยทั่วไป แต่ผมคิดถึงประเทศไทยโดยเฉพาะ เพราะว่ารูปธรรมที่ผมพบเห็นก็เป็นสังคมไทย แต่เนื่องจากมันโยงใยกับสังคมโลก มันก็สะท้อนภาพของสังคมโลกมาด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นสิ่งที่หนักหน่วงรุนแรงมาก มันสะท้อนสิ่งที่ผมกังวลมาตลอดว่าวันหนึ่งคนที่ถูกข่มเหงรังแก ไม่ได้รับความเป็นธรรม มันจะระเบิดตูมตามอย่างไร้ทิศ ไร้ทาง และไม่แคร์ในเรื่องของผลกระทบ ผมคิดว่าการก่อวินาศกรรมโลกตะวันตกมันก็มีรากฐานความไม่พอใจที่สั่งสมมา การที่โลกตะวันตกไปกระทำกับมนุษย์ในส่วนอื่นๆ เมื่อโกรธแค้นถึงจุดหนึ่งๆ ก็จะไม่คิดหน้าคิดหลัง อยากจะทำอะไรก็ได้ที่เป็นการแก้แค้น

สังคมไทยเวลานี้ก็เหมือนกัน ในเวลานี้มันก็มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างสุดขั้วระหว่างอำนาจการเมือง ผลประโยชน์เศรษฐกิจมาจนถึงโอกาสในชีวิต สังคมไทยเรามีคนรวยสุด จนสุด คนมีอำนาจสุด มีคนไร้อำนาจ ก็นำไปสู่ความเบียดเบียนต่างๆ ผมเห็นชีวิตที่ได้เปรียบของคนในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นลูกหลานของคนมีเงินไม่ค่อยแยแสกับความทุกข์ร้อนของแผ่นดิน ผมก็มีความวิตกว่าถ้าวันหนึ่งคนที่เขาทุกข์ร้อน เขาเกิดรู้สึกอย่างนี้บ้างว่าเขาก็ไม่แคร์เหมือนกัน กับคนที่มีฐานะดีกว่าเขา มันจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเรา ยิ่งตอนนี้เรามีกรณีความขัดแย้งระดับโลกเกิดขึ้น น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กลับมามองว่าสันติภาพต้องเกิดจากความเป็นธรรม และความเป็นธรรมจะนำไปสู่ความเคารพซึ่งกันและกัน และการใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนกัน

แต่ถ้าเรามีสังคมที่มีโครงสร้างสุดขั้วมันจะนำไปสู่สงครามในที่สุด ผมว่าเหตุการณ์โลกครั้งนี้จะจุดชนวนให้หลายๆ สังคมเช็กบิลกันเอง แล้วมันจะกลายเป็นโลกที่เป็นมิคสัญญียาวนานทีเดียว จนกว่าวันหนึ่งมนุษย์จะพบทางออกที่ทุกฝ่ายพอใจ นี่เป็นความห่วงใยของผมที่เขียนไว้ล่วงหน้าแล้วใน "วิหารที่ว่างเปล่า"

ถ้าพูดถึงตัวสถานการณ์ระหว่างอัฟกานิสถานและอเมริกัน มันเป็นรูปธรรมที่ผมไม่ได้คาดคิด แต่ตัวนามธรรมปรากฏการณ์ทำนองนี้ผมคาดไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น แล้วผมคิดว่าในสังคมไทยก็ควรระวัง อย่างล่าสุดเราพบการปะทะกันระหว่างชาวสวนส้มกับตำรวจแล้วถึงขั้นเลือดเนื้อ เราเห็นความขัดแย้งของนักวิชาการจากกรุงเทพฯ กับพี่น้องแถวหินกรูด เราเห็นชาวปากมูลกำลังเดินเข้าเมืองอีกแล้ว เหล่านี้ผมเกรงว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่สุดขั้วทั้งสิ้น เพราะมันเกิดจากโครงสร้างที่สุดขั้วทั้งสิ้นที่ฝ่ายหนึ่งได้ทุกอย่าง ฝ่ายหนึ่งถูกทอดทิ้งมันไม่ใช่เงื่อนไขสังคมที่สันติสุข ยังไม่ต้องพูดถึงการศึกษาค้นคว้าที่เป็นความสุขทางปัญญา ความสุขทางจิตวิญญาณ เอาแค่เงื่อนไขพื้นฐานเบื้องต้นก็ไม่สามารถจะสร้างความผาสุกขึ้นมาได้

สุวินัย : ใน "วิหารที่ว่างเปล่า" มีบทหนึ่งที่ผมชื่นชมมากคือ "บาดแผลตะวันออก" เพราะว่าเป็นการสรุปบทเรียนของจีน มีนัยที่เกี่ยวกับเมืองไทยมาก เป็นงานรัฐศาสตร์ชั้นครูในภาษาวรรณกรรม พี่คิดว่าเราต้องผ่านกระบวนการแบบจีนหรือเปล่าเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐาน ในเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม

เสกสรรค์
: ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องไปนั่งคิดถึงหนทางหรือวิธีของประเทศอื่นในการแก้ปัญหาประเทศไทย เราอาจจะมีความรับรู้หรือมีความเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างในมุมต่างๆ ของโลก แต่สำหรับประเทศไทยก็เริ่มจาก "ตรรกะ" ของเราเองดีกว่า ปัญหาอยู่ที่ไหนก็ไปแก้ตรงนั้น แต่ว่าจุดอ่อนที่มีอยู่ร่วมกันที่ผมบ่งชี้ไว้ในบทที่ชื่อว่า "บาดแผลตะวันออก" ก็คือสังคมตะวันออกเป็นสังคมที่ยึดถือตัวบุคคล ยึดถือในลักษณะที่ตัวบุคคลที่ค่อนข้างจะเหนือมนุษย์ เป็นรูปธรรมของคุณธรรมความสามารถที่คนทั่วไปไม่มี ซึ่งท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง เข้าใจสิ่งนี้ จึงอาศัยมันเป็นอุปกรณ์สำคัญมากในการสร้างกองทัพที่คุณเรียกว่า "อภิมนุษย์" อย่างทหารแดงในช่วงท่านประธานเหมาถูกอบรมคุณธรรมมากกว่าทฤษฎีการเมือง เพราะงั้นการปรากฏตัวของกองทัพของผู้มีคุณธรรม ก็ทำให้ประชาชนจีนที่สิ้นหวัง ยากไร้ และมืดมนกับชีวิตเกิดแสงสว่างขึ้นมาใหม่ มีความรู้สึกว่านี่คือทางออก แต่มันเป็นดาบ ๒ คม คือว่าอาจจะพาประชาชนจีนพ้นวิกฤติในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ ๒๐ แต่หลังจากนั้นการใช้ยุทธศาสตร์เช่นนี้ การใช้บุคคลพิเศษมานำพา มันทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เติบโตทางปัญญา สังคมจีนก็ยังมีเรื่องเบียดเบียนขัดแย้งกันเองมาอีกหลายครั้ง เพราะว่าไม่ได้เน้นเข้าใจสัจธรรมด้วยตัวมันเอง แต่จะเน้นเรื่องการเดินตามกัน ผมไม่ทราบ ผมไม่กล้าไปวิจารณ์ว่านั่นเป็นความจำเป็นของจีนหรือไม่? เพราะสังคมจีนมันใหญ่โต แต่มันได้เกิดขึ้นไปแล้ว มันไม่เพียงทำให้ประธานเหมาชนะก๊กมินตั๋งได้ แต่ยังนำไปสู่การปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งนักปฏิวัติก็ถูกทำร้ายไปมาก ประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็ถูกทำร้ายไปมาก เพราะลักษณะที่ไม่ได้ใช้สติปัญญาจริงๆ แต่ใช้กระแสศรัทธานิยม นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งในโลกตะวันออก

สังคมไทยของเรา ความคิดเรื่องต้องการ "พระเอกขี่ม้าขาว" ในด้านหนึ่งก็เป็นความคิดที่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในโลกตะวันออก แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นปมเงื่อนสำคัญที่ทำให้เราพัฒนาการเมืองไม่สำเร็จเท่าไร ก็เพราะว่าทำให้ประชาชนไม่ค่อยเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตนเอง ไม่ค่อยเข้ามารับผิดชอบในชะตากรรมของตนเอง จะเอาไปฝากไว้กับคนโน้น คนนั้น คนนี้ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกฝากไว้ในขอบเขตที่จำกัดลงมา ในระยะยาวไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง ถ้าจะให้ยุทธศาสตร์นี้ก็คงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ตอนนี้หลายคนเวลาเข้าไปสู่เวทีอำนาจ ก็เล่นบทเป็นบุคคลพิเศษ เป็นพระเอกขี่ม้าขาวให้ประชาชนมาคาดหวังและเดินตาม ซึ่งผมเกรงว่ามันจะเป็นแค่การเล่นบท มันไม่ใช่การทำอย่างมีสติสำนึกว่า นี่เป็นแค่วิธีการชั่วคราว ระยะยาวต้องให้ประชาชนเติบใหญ่ทางปัญญาขึ้นมาเพื่อดูแลตัวเอง

ถ้าผมจะมีสโลแกนให้สังคมไทย ผมอยากจะยืนตรงข้ามกับวิธีคิดเหล่านี้คือให้ "คิดเองทำเอง" ให้ประชาชนกล้าคิดกล้าทำเอง เพราะตราบใดที่ยังอาศัย "บุรุษขี่ม้าขาว" หรือบุคคลที่ไม่ใช่ตนเอง ความคิดหวังพึ่งมันจะมีอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่ได้ดังใจ ผิดหวังก็จะออกมาในอาการต่างๆ ซึ่งในเชิงทำลาย บรรยากาศสังคมไทยในเวลานี้จริงๆ ก็มีประชาชนบางกลุ่มเริ่มคิดเองทำเอง ในแง่ของการดูแลชีวิตของเขา ในแง่ของการแก้ปัญหา พวกเขาจะอยู่กันกระจัดกระจายตามชนบทที่มีปัญหาต่างๆ เนื่องจากเขาค้นพบว่าไม่มีใครดูแลเขาจริงๆ


สุวินัย
: พี่ครับ สโลแกนคิดเองทำเอง ถ้ามันจะเวิร์คมันต้องรู้ทางตะวันตกด้วย

เสกสรรค
์ : แน่นอน คือในที่อื่นๆ ผมก็พูดไว้หมดแล้ว เราปฏิเสธโลกภายนอกไม่ได้ เราปฏิเสธโลกาภิวัตน์ไม่ได้ เราต้องรู้ทันมัน ไปรับความเจริญส่วนที่มีคุณค่าต่อมนุษย์และมีค่าคุณต่อเราเข้ามาใช้ แต่อย่าตกเป็นเหยื่อ อย่ากลายเป็นแค่ตลาดที่เขามุ่งมากอบโกย เราต้องเป็นผู้เอาเทคโนโลยี ข่าวสารสมัยใหม่มาสร้างสังคมที่มีความงอกงามทางปัญญาและเอาปัญญาเหล่านี้มาสร้างสิ่งที่จำเป็นต้องกินใช้ เป็นเงื่อนไขความมีชีวิตที่ดี คือสังคมไทยความโน้มเอียงมันมุ่ง "เสพ" มากกว่า "สร้าง" ผมคิดว่าสังคมใดที่ "เสพ" มากกว่า "สร้าง" สังคมนั้นก็จะเสื่อมทรุด สังคมนั้นก็จะไม่มีอนาคต เพราะมนุษย์ต้องมีความสามารถในการ "สร้าง" ก่อน ของเราพอโตขึ้นมาก็สอนให้ "เสพ" ทุกอย่างแล้วก็เสพกันอย่างขาดสติ ส่วนทักษะในการสร้างสรรค์โลกเกือบจะไม่ได้ถ่ายทอดกัน รวมทั้งไม่มีแรงบันดาลใจที่จะไปทำ

ในบทที่ผมเขียนเรื่อง "บาดแผลตะวันออก" ก็เป็นการพยายามจะสรุปหนทางที่เคยพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศไทย แต่ว่าในเวลานี้อาจจะไม่เกี่ยวกัน หรือเอามาใช้ไม่ได้ แต่จุดอ่อนข้อด้อยของเราก็ยังอยู่ แม้ว่าเรายังมีการเมืองที่สันติ แม้ว่าเราจะใช้การเมืองที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ถ้าเราไม่สามารถจับจุดอ่อนตรงนี้ได้ บางทีการแก้ปัญหาก็อาจจะเป็นแค่ชั่วครู่ชั่วยาม อย่างตัวผมเองถูกประชาชนหลายกลุ่มที่ยากไร้เรียกร้องมาก จะให้ไปพูดที่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ก็มองผมเป็นผู้ขี่ม้าขาวอีกคนหนึ่ง ผมก็มักจะปฏิเสธว่าผมไม่ใช่ดาราไปเปิดคอนเสิร์ต ถ้ามาคุยกับผมเงียบๆ ๕ - ๑๐ คน ผมจะยินดีมากกว่า และผมพร้อมจะเดินทางไปพบ ผมอยากจะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่เป็นระบบแก่เขา เห็นพวกเขามีความกล้าหาญและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะทำอะไรต่างๆ ด้วยตนเอง โดยผมเป็นแค่เงื่อนไขหนุนช่วย ส่วนการประสานงานในระดับที่กว้างไกลขึ้นไปอาจจะอาศัยผมได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าคุณเอาผมไปเปิดทอล์คโชว์ และมีความสุขกับมัน แล้วก็คิดว่าต่อไปนี้โลกจะดีขึ้นเพียงเพราะผมไปพูดที่โน้น ที่นี่ มันไม่ง่ายขนาดนั้น

สุวินัย : คิดว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้พวกเขาไม่เข้าถึง "อารมณ์ตะวันตก"

เสกสรรค์ :
มันมีหลายปัญหา หนึ่งคือปัญหารากฐานวัฒนธรรมเดิมของเรานั่นแหละ มันเป็นไพร่ ซึ่งวัฒนธรรมไพร่มักถูกกดกั้นไว้ในระดับหนึ่งไม่ให้กล้าเป็นตัวของตัวเอง ไม่กล้าที่จะเชื่อมั่นตนเองในทุกๆ เรื่อง ซึ่งมันตรงข้ามกับวัฒนธรรมเสรีนิยม แต่อีกด้านหนึ่งผมก็คิดว่าเราก็เลิกไพร่มานานแล้วตั้งแต่ปี ๒๔๔๘ มันน่าจะเจือจางลงไปพอสมควร แต่เราก็ไม่ได้รับระบบการศึกษาที่ถูกต้องมาใช้อบรมคนรุ่นหลัง ในโรงเรียนเราก็ยังมีสภาพของความเจ้ายศเจ้าอย่าง ปิดกั้นความคิดเห็น เยาวชนไม่ถูกกระตุ้นเร้าให้กล้าคิดกล้าทำ แต่กลับไปเน้นเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เป็นเปลือกนอก มันก็ทำให้การผลิตคนรุ่นหลังในทางปัญญาไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการนำพาประเทศชาติค้นหาทางออก

ผมคิดว่าคนเราถ้าภายนอกเรียบร้อยเกินไป ภายในยิ่งเป็นจลาจล ผมคิดว่าถ้าได้แสดงออกตั้งแต่วัยเยาว์ คิดอย่างนี้แสดงออกอย่างนี้โดยครูไม่เอาโทษเอาผิด สักวันหนึ่งเด็กจะสร้างวินัยโดยตัวเขาเองได้ แล้วไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกกดดันมาจากภายนอก ทีนี้สังคมการศึกษาของเราเป็นสังคมที่มีแต่เปลือก อยากจะให้เด็กเรียบร้อยต้องมาแต่งตัวแบบคุณลุงคุณป้า มันไม่เกี่ยวกัน จริงๆ แล้วความเรียบร้อยเป็นเรื่องของ "จิตวิญญาณ" เลยทีเดียว ความเรียบร้อยไม่ใช่เรื่องของการใส่เสื้อขาวกระโปรงดำ

สุวินัย : ใช่พี่...พี่มีคำแนะนำกับคนรุ่นหลังอย่างไรกับการจะอยู่กับสังคมที่มีแต่เปลือกนอกอย่างนี้

เสกสรรค์ : ผมไม่มีคำแนะนำอะไร พูดไปหมดแล้วคุณก็เอาไปวิเคราะห์ต่อเองได้








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้