สนทนากับ "ดอกหญ้าฤดูแล้ง" ผู้มากับวิญญาณแห่งสายลม

สนทนากับ "ดอกหญ้าฤดูแล้ง" ผู้มากับวิญญาณแห่งสายลม








สนทนากับ "ดอกหญ้าฤดูแล้ง" ผู้มากับวิญญาณแห่งสายลม

 

เกริ่นนำ

หลายปีก่อนเคยได้ยินนักศึกษาคนรุ่นใหม่พูดว่า "ถ้าอยากอ่านวรรณกรรมที่กะเทาะเปลือกศาสนาในบ้านเราแล้วให้อ่านงานของวิมล ไทรนิ่มนวล"

เห็นทีคำพูดนี้จะไม่เกินจริง แม้ต้องสารภาพว่ามิได้เชี่ยวชาญในวรรณกรรมที่วิมลเขียนออกมา แต่เท่าที่มีเสียงร่ำลือได้ยินมาถึงไม่ว่าจะเป็นงานอย่าง "งู (2527)" "คนทรงเจ้า (2531)" "ดวงเดือนในห้วงน้ำ (2534)" "จ้าวแผ่นดิน (2539)" และ "อมตะ (2543)" ล้วนสะท้อนความจริงหลากหลายแง่มุมในสังคมพุทธแห่งสยามประเทศ








หากความคิดมี "คม" "คมความคิด" ของวิมลนั้นเป็นดุจดั่งใบมีดที่กรีดลงไปผ่าผ่านบาดแผลแห่งสังคมพุทธ…..

นอกจากคมมีดของความคิดอย่าง "คนจน" (2530) หรือ "ผู้ไขว่คว้า" (2535) กรีดบาดเท้าเข้าไปถึงโศกนาฏกรรมแห่งชีวิตในมิติอื่น ๆ

เหมือนจะสะท้อน "ความจริง" ของมนุษย์ผู้แหวกว่าย วนเวียนอยู่ในห้วงแห่งทุกข์

"วิญญาณแห่งสายลมพัดพาฉันมา" (2545) อัตชีวประวัติของวิมลเองพูดถึงที่มาของความคิดเหล่านี้อย่างที่สำหรับผู้อ่านงานวรรณกรรมของวิมลมาโดยตลอดคงลำดับภาพของการพัฒนาการแห่งความคิดของผู้เขียนได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับกลุ่มผู้อ่านขาจรงานเล่มล่าสุดของวิมล คือ "การเผยชีวิต เผยตนเอง" ของเขาออกมาโดยแท้ นั่นอาจเป็นมิติทำให้งานเล่มนี้น่าสนใจไม่น้อยกว่านิยายเล่มอื่น ๆ และเป็นมูลเหตุให้การสนทนาครั้งนี้บังเกิดขึ้น

"สุวินัย ภรณวลัย" กล่าวว่าตอนที่ถูกสังคมย่ำเหยียบจากเรื่อง "เปรต" วิมลคือคนหนึ่งที่ส่งมอบกำลังใจมาช่วยพยุงจิตที่โรยล้า…….ตอนที่วิมลเผชิญ "ทุกขลาภ" จากรางวัลซีไรต์สุวินัยก็ไม่ลืมช่วยเหลือมิตรสหายท่านนี้ (ดูอาทิตย์ฉบับ 1135)

วิมลและสุวินัย พบเจอกันครั้งแรกในงานเสวนา "อมตะ" ที่ร้านนายอินทร์

และครั้งที่ 2 ในห้องรับรองเล็ก ๆ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เพื่อสนทนาประสามิตรสหายดังที่ปรากฏใน "อาทิตย์" ฉบับนี้. แน่นอนว่า "การสนทนา" ย่อมมิใช่ "บทสัมภาษณ์" บทสนทนากับ "ดอกหญ้าในฤดูแล้ง" (อันเป็นคำที่วิมลใช้นิยามตัวเอง) เป็นเรื่องของ "การแลกเปลี่ยน" มากกว่า "การถามตอบ"

"กฤษณมูรติ" ปราชญ์ที่เป็นแรงบันดาลใจในงานเขียนของวิมล เคยกล่าวกับนักฟิสิกส์ "เดวิด โบห์ม" ทำนองว่า "ความจริง" นั้นมิใช่ "ข้อเท็จจริง" บทบรรยายใด ๆ ให้เราได้แค่ข้อเท็จจริงที่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบความคิดแต่เพียง "การสนทนา" เท่านั้นที่จะเผยให้เห็นถึง "ความจริง" ที่แฝงเร้นอยู่

หวังว่าบทสนทนาต่อไปนี้อาจจะสั่นสะเทือนลงไปถึง "ความจริง" ใด ๆ ได้บ้าง


ตอนที่ 1 โลกที่ไร้สมดุล

สุวินัย ผมว่าเราสองคนเป็นคนจริงจังกับชีวิตเหมือนกัน เพียงแต่ผมจะไม่ค่อยป่วยกายเหมือนคุณวิมลเท่านั้น ในความหมายอีกอย่างหนึ่งที่ผมเหมือนกับคุณวิมล และผมเห็นด้วยกับคุณวิมลที่บอกว่าไม่อยากอ่านนิยายมาก เพราะตัวละครมันซ้ำเปลี่ยนแค่รสชาติแล้วก็อารมณ์มันซ้ำแล้วซ้ำเล่าในโลกทัศน์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมันไม่มีอะไรดึงดูดเลย ตัวละครก็วนเวียนอยู่แค่บทเป็นแค่นักเรียนนอก หรือเศรษฐี เป็นอะไรพวกนี้ คือเขาไม่มีอะไรดึงดูดเลย

แต่คนที่ทำให้เราสนใจได้มันต้องเป็นเหมือน "อาจารย์เสกสรรค์" คือเหมือนกับว่าด้านหนึ่งเขาเผยชีวิตเผยอารมณ์ของตัวเองออกมาแล้ว และเขากำลังจะบอกอะไรกับโลกนี้ ผมอ่าน "วิญญาณแห่งสายลม" เล่มนี้แล้ว คล้าย ๆ ว่าต่อไปคนอ่านจะเข้าใจงานเขียนของคุณวิมลมากขึ้น นี่เป็นครั้งแรกเลยใช่ไหมครับในหนังสือเล่มนี้ที่เขียนออกมาในเชิงอัตชีวประวัติ

วิมล ใช่ครับ

สุวินัย ทำไมคุณวิมลถึงเรียกตัวเองว่าดอกหญ้า และดอกหญ้าในฤดูแล้งด้วยครับ

วิมล คือมันล่องไปลอยมาเหมือนกับชีวิตตนเอง คือไม่มีรากเหง้า ไม่มีถิ่นฐานที่อาศัยที่แน่นอน ชีวิตในช่วง 10 ปีแรกก็อยู่ที่บางเลน มันเหมือนกับรากเหง้าแต่เราก็ต้องหลุดลอยไปมาซัดเซพเนจรไปเรื่อย ก็เลยเปรียบกับเหมือนดอกหญ้า "มันเบาบาง พร้อมที่จะหลุดลอยไปไหนได้ง่าย ๆ แล้วแต่สายลมมันจะพัดพาไป" เหมือนอย่างที่เปรียบกับสายลมแล้วไงครับ คือมันแห้งแล้ง มันทุกข์ เป็นความหมายของความไม่สดชื่น ความไม่มีความสุข

สุวินัย แล้วที่บอกว่าเหมือนกับวสันตฤดูหยาดหยดลงมา ซึ่งถ้าเราตกลงไปที่ที่มันอุดมสมบูรณ์กว่านี้หน่อยก็สามารถเริ่มต้นได้

วิมล ใช่ ถ้าเราเป็นดอกหญ้ามันก็มีหลักของชีวิตอยู่พร้อมที่จะเติบโตได้หากว่ามีสายฝนหลั่งลงมาให้มันผลิดอกออกใบได้ ลึก ๆ ก็ยังรอสิ่งนี้อยู่ แต่ว่าตอนนี้ทุกข์กับเรื่องที่อยู่อาศัยมั้ย เราไม่ได้ทุกข์อะไรมากมายแม้ว่าจะเป็นหนี้ธนาคารอยู่ช่วงหนึ่งกำลังจะโดนยึดแล้ว ๆ พอได้รางวัลซีไรต์ก็มาช่วยไว้ได้เราก็อยู่มาได้ แต่ในใจที่มันโหยหาคือ โหยหารากเหง้าของตัวเอง โหยหาอดีต โหยหาภาพพจน์เก่า ๆ ที่เราเคยอยู่ที่ตรงนั้น พอเรากลับไป ที่นั่นมันไม่มีแล้วมันกลายเป็นโรงงานผลิตอ้อย แอลกอฮอล์ ยาวเป็นกิโลเมตร เหม็นคลุ้งมันปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ปล่อยกลิ่นออกมาแล้วไม่มีใครแก้ไขได้

 


ชีวิตนักเขียน : วรรณกรรมแบบวิมล

สุวินัย ผมอ่านแล้วก็รู้สึกเจ็บปวดแทนครับ ตอนอ่าน "วิญญาณแห่งสายลมพัดพาฉันมา" ก็เกิดความรู้สึกร่วมครับ ตอนที่อ่านตั้งแต่บรรทัดแรก ๆ เลยวิญญาณของสายลมที่พัดพาเธอมา แต่ลึก ๆ ผมเชื่อนะว่าที่คุณบอกว่า "ตกมาจากฟ้า" จริง ๆ ก็เหมือนกับที่พี่เสก (เสกสรร) บอกว่ามนุษย์เราเป็นเศษศพของดวงดาว

สิ่งที่คุณวิมลทำมาจนถึงขณะนี้ จนหนังสือที่ออกมานี้ 10 กว่าเล่ม มันก็เท่ากับประกาศว่านี่คือวรรณกรรมแบบวิมล ผมว่ามันชัดเจนมากกว่าตอนที่ใครอ่านของคุณวิมล แค่ "อมตะ" อย่างเดียวบางทีอาจจะไม่ได้ภาพตรงนี้ แต่พออ่าน "วิญญาณแห่งสายลมพัดพาฉันมา" นี้ ผมว่ามันมีภาพหนึ่งที่ชัดเจนมากเลยในความคิดของผม คือตอนที่บอกว่าศรีษะตกลงไป เออ…..คง "ตกมาจากฟ้า" จริง ๆ พออีกท่อนหนึ่งก็บอก "มาเนี่ย ฉันไม่ได้อยากเกิด" สำหรับผมในหน้านี้ดูมันนานเลย เพราะว่าพออ่านตรงนี้แล้วมันเหมือนกับต้องคิด คิดว่าผมก็ตกลงมาจากฟ้าเหมือนกันไม่ต่างจากคุณวิมล เพราะว่าสิ่งที่รู้สึกอย่างหนึ่งในงานเขียนของคุณวิมลคือ คล้าย ๆ ประเด็นความไม่สมดุลคือมันเป็น "หัวข้อ" ที่ซ่อนอยู่ในหลายเรื่องมากที่เป็นสัญลักษณ์ออกมา เราลงมาจากฟ้าเพื่อมาบอกว่า ปัจจุบัน หรือสิ่งที่มนุษย์เราทำอยู่นี้มันไม่สมดุลนะ แล้วผมก็อ่านว่างานเขียนของคุณวิมลนี้ มันเหมือนพยายามนำกับความสมดุลมันกลับคืนมา แล้วยังไงฮะ รู้สึกว่าทุกข์เรื่องนี้มาโดยตลอด

วิมล ใจเราอย่างที่บอก ใจเรารู้สึกยอมรับกับสิ่งแวดล้อมที่มันเป็นไปทุกวันนี้ไม่ได้ เราเข้ากับมันไม่ได้ มันแปลกแยกอยู่ตลอดเวลา แล้วเรารู้เรายังห่วง เรายังเข้าใจ เราศึกษามัน เราเฝ้าดูมัน จะเห็นว่าอันนี้ไม่ใช่วิถีชีวิตของมนุษย์ มิใช่วิถีที่มนุษย์ควรจะดำรงอยู่ มิใช่วิถีที่มนุษย์ควรจะอยู่กับมัน

สังคมโลกทุกวันนี้ที่เราอยู่ไม่ใช่ที่อาศัยที่พำนักของมนุษย์ มันเป็นถิ่นอาศัยของอะไรสักอย่างที่จะทำลายมนุษย์ลงไป ทำลายทั้งสุขภาพร่างกาย ทำลายทั้งจิตวิญญาณ และผมรู้สึกว่าผมต้องดิ้นรนหา ต้องไปหาถิ่นที่มันเหมาะสมกับชีวิตมนุษย์จริง ๆ โดยมีตัวผมเป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นตัวแทน

ทีนี้มองไปข้างหน้าเราไม่เห็นอนาคตเรามีแต่ภาพอดีต แล้วเราก็อยากให้อดีตตรงนั้นมันอยู่แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ ตอนนี้สภาพเดิมที่เราคุ้นเคยมันไม่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ๆ ก็ตาม ที่ผมมีชีวิตอยู่ 10 ปีแรกเป็นที่ผมประทับใจกับมันมากเลย หรือถิ่นที่ใหม่ ๆ ที่ผมตระเวนไปเกือบทั่วประเทศ เพื่อไปหาที่สักที่หนึ่งที่ตัวเองคิดว่ามันใช่แต่ความจริงมันไม่ใช่ สังคมหรือชุมชนที่เรากำลังพูดถึง เรียกหาอยู่นี้มันแปลกประหลาดไปหมด ถ้ามันจะเป็นชุมชนก็ต้องเป็นชุมชนแบบใหม่ ถึงอย่างไรผมเองก็ยังไม่สิ้นหวัง และยังแสวงหาอยู่

สุวินัย เมื่อโลกข้างนอกมันไม่เป็นอย่างใจหวัง พออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คล้าย ๆ กับว่าพอถูกบีบคั้น บีบเค้นเอามาก ๆ คุณวิมลก็จะเข้ามาหาโลกแห่งจินตนาการของตัวเอง และอยู่ในโลกนั้น เพียงแต่ผมเองรู้สึกว่าแม้แต่โลกอันนั้นในโลกข้างในนั้นคุณวิมลก็ยังถูกบีบคั้นอยู่

วิมล ก็ยังถูกบีบคั้นอยู่พอเราเข้าไปสู่โลกภายในของเรา เราก็ถูกจองจำด้วยโลกภายในของเราคล้ายว่าเราได้ถูกกระทำมาเยอะ เรารับใช้ความทรงจำที่มันค่อนข้างจะโหดร้ายหน่อย ที่มันเข้ามาพอเราเข้าไปอยู่กับมันเราก็อยู่ในโลกที่ยังโหดร้ายอยู่แต่ก็ยังโชคดีที่ว่า มันยังมีภาพสวย ๆ งาม ๆ ภาพชนบท ภาพวิถีชีวิตในวัยเด็กที่เราหลุดพ้นจากความยากจน เราลืมนึกถึงมัน ตอนเด็กเราจะไม่นึกถึงความยากจน อดก็อด หิวก็หิว แต่เราก็ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มันสวยงามที่มันร่มรื่น ไอ้ตรงนี้มันมีมุมเล็ก ๆ ที่เราสามารถจะเข้าไปอยู่กับมันได้ แต่แน่นอนฮะ ในโลกในใจก็ยังมีเรื่องราวที่มันร้าย ๆ อีกเยอะ ก็ถ้ามีอยู่ แต่ผมรู้สึกว่ามันก็ยังดีกว่า ไอ้โลกที่เราเผชิญหน้าอยู่ มันมีแต่อันตรายรอบด้าน

สุวินัย ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าพอเจอแบบนี้คุณวิมลสะท้อนกลับมาข้างในและก็สร้างเรื่องราวออกมาซึ่งสะท้อน บาดแผลของโลกภายนอก เพราะฉะนั้นแล้วผมไม่แปลกใจว่าคนบางคนอ่านงานเขียนของคุณวิมลแล้วบอกว่ามันหนักใช่มั้ยฮะ เพราะว่าในแง่นั้นมันมีทัศนะความเห็นของคุณวิมลต่อโลก ตรงนี้ชัดเจนมาก แล้วโดยส่วนตัวคุณวิมลรู้สึกว่าตัวเองสมดุลมั้ยฮะ

วิมล ไม่สมดุล ถ้าจิตใจเราไม่สมดุล ร่างกายเราก็ไม่สมดุล บางทีโรคที่ผมเป็นอยู่ เช่น โรคไมเกรนที่ปวดหัวข้างเดียวเนี่ย ผมรู้สึกมันกำลังจะบอกว่าชีวิตผมไม่สมดุลแล้วผมก็กำลังอยู่ในโลกที่ไม่สมดุล อยู่ในสังคมที่มันไม่สมดุลแล้วจริง ๆ ไอ้สิ่งที่เราเป็น คือมันป่วยนี้มันก็ป่วยมาจากโลกที่ไม่สมดุลจริง ๆ มันจึงให้เราเจ็บป่วย

สุวินัย ในฐานะที่เป็นแฟนของคุณวิมลคนหนึ่งก็เป็นห่วงเหมือนกัน มันเหมือนกับว่าที่อ่านมาตอนจบของหนังสือทุกเล่มของคุณวิมลนี้ออกมามันจะไม่จบแบบ "แฮบปี้เอนดิ้ง (Happy ending) มันมีปมที่ยังไม่คลายอยู่หลายอย่าง "อมตะ" ก็เช่นกัน นี่เรียกว่าเป็นสไตล์ของคุณวิมลหรือเปล่าฮะ

วิมล ผมไม่เคยตั้งใจเลยว่าให้มันออกมาเป็นสไตล์นี้ แต่เวลาจบเรื่องมันเป็นอย่างนี้ทุกที เราก็ไม่รู้ว่าทำไมเราเขียนมันออกมาเป็นอย่างนี้ บางทีเราอยากให้มันมีอะไรที่สดใส แต่มันก็เป็นเหมือนประกายไฟที่แวบเข้ามาแล้วดับไป เหลือแต่ความมืดมัวมันออกมาโดยที่เราเองไม่ได้ตั้งใจ บางเรื่องนี่หนักอย่างเรื่อง "คนจน" ก็มี

คุณจรัล มโนเพ็ชร บอกนั่งรถไฟมาจากเชียงใหม่อ่านเข้าก็บอกเพื่อนบอกว่าอ่านแล้วอยากเอาหัวพุ่งออกจากรถไฟเพราะมันเครียด



ชะตากรรมหรือฟ้าลิขิต

สุวินัย เรื่อง "คนจน" เนี่ยเป็นเรื่องจริงหมดเลยใช่ไหม "คนขาเป๋" ก็ตัว "คุณวิมล" เพียงแต่เปลี่ยนสถานการณ์นิดหน่อย เผอิญผมเคยไปอินเดียมาก่อน ผมเคยเห็นภาพที่มันสิ้นหวังยิ่งกว่านี้ ผมก็เลยไม่ถึงกับคิดเอาหัวชนรถไฟอย่างคุณจรัล เพียงแต่ว่ามันอึดอัด พอมาอ่านงาน คุณวิมลแล้วผมก็ลุ้นอยากให้เขียนทางออก ผมว่าคนอ่านส่วนหนึ่งเป็นแบบนี้ ลุ้นมาสิบกว่าปีแล้ว

วิมล ใช่ มีส่วนตัวของผมนิดหน่อยเท่านั้นเอง แล้วผูกเรื่องให้เป็นนวนิยายเท่านั้นพอ ผมเองก็เฝ้าดูความเป็นไปของการหาทางออก แต่เราเห็นทางออก เราทำกันไม่ได้ เราไม่สามารถทำอะไรให้ตัวเราเองได้เพราะว่าตัวเราแวดล้อมด้วยคนอื่น ๆ

ถึงเราอยากอยู่ในโลกที่มันสงบหน่อย แต่คนที่อยู่รอบตัวเรามันไม่ยอมสงบด้วย ผมว่าที่ผมพยายามอยู่ทุกวันนี้ ผมว่าผมจะหาที่สักแปลงหนึ่งแล้วก็จะอยู่ คือสัมพันธ์กับชาวบ้านอยู่พอสมควร แต่ชาวบ้านนี้ อย่าได้เผลอ คือจะรุกที่เรา ในแง่นี้คือจะนำความลำบากใจมาให้เราอยู่เสมอ ถึงมันจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตแต่มันก็ทำให้เราหงุดหงิด คือโลกภายในเราเนี่ย ขนาดว่าโลกที่เราจำลองนี่มันก็ไม่นิ่ง เพราะเราก็ต้องติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่น ที่นี้คนอื่นนี่คนดีก็มี คนไม่ดีก็มี แต่โชคร้ายขึ้นมาเอง มาเจอกับคนไม่ค่อยดีเลย ซึ่งผมก็รู้ว่าทำไมที่มันไม่ดีเพราะคนคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง คิดถึงแต่ตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงคนอื่นว่าเขาก็อยากได้เหมือนกัน อยากมีอยากได้เหมือนกัน อยากปกป้องสิทธิของเขาเหมือนกัน แต่ทุกคนก็พยายามจะร่วมรับผิด วิธีที่จะแก้ปัญหาแบบนี้ แม้กระทั่งที่เราทำธุรกิจ ธุรกิจแบบที่เราไม่ได้เต็มใจจะเป็น ธุรกิจพิมพ์หนังสือแบบนี้นะครับ เราก็เจอประเภทสายส่งที่ไม่วางหนังสือให้เราบ้าง หรือขายได้ แล้วก็ไม่ยอมจ่ายเงินมาให้เรานี่เอาไปอมเอาไปหมุนก่อน รอเป็นปีสองปี มันมีทุกอย่าง

สุวินัย เป็นความแตกต่าง ระหว่าง "ฟ้าลิขิต (Destiny)" กับ "ชะตากรรม (Fate)" ใช่ไหม คือ Destiny เขาบอกว่าเป็นชะตาลิขิตที่ลิขิตให้เราเป็นนักเขียน แต่ Fate นี่ก็คือที่เขาเรียกว่าวิบากกรรมหรือเป็นเคราะห์กรรม เราอยากจะเป็นนักเขียน แต่ก็มีสิ่งที่ขวางเราไม่ให้เป็นอย่างเต็มที่ เพียงแต่ในบรรดางานเขียนของคุณวิมลนี่ผมชอบ "ดวงเดือนในห้วงน้ำ" มากที่สุด คงเป็นเพราะสองประเด็น

ประเด็นหนึ่ง คือในแง่ตัวบุคคลที่อยู่ในนี้ ประเด็นที่สอง คือประเด็นเชิงปรัชญา เอาประเด็นแรกก่อนในตัวละครเหล่านี้ ผมคิดว่าคุณวิมลเป็นทั้งแก้ว และเป็นทั้งเกศ

วิมล ผมเองผมก็เป็นทั้งสองตัวอย่างที่คือทั้ง "แก้วและเกศ" ช่วงในวัยที่เราหนุ่มแน่น เราก็จะมีเรื่องของความรักความใคร่อย่างนี้ หาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวอยู่บ่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันช่วงที่เรามีสติเราก็จะมานั่งคิดโดยเฉพาะช่วงหลัง ๆ ของเราศึกษาศาสนาพุทธมากขึ้น เราก็ย้อนกลับไปดูอดีตของเรา เราก็วิพากษ์วิจารณ์มัน แต่ขณะเดียวกันไอ้โลกสองโลกนี่มันก็ยังตีกันอยู่ในใจของผม


ตอนที่ 2
แก่นสารในมายา

สุวินัย เรื่อง "ดาวเดือนในห้วงน้ำ" นี้ผมสงสารพิกุลมากเพราะอย่าง "แผลเก่า" นี่เราจะสงสารขวัญใช่ไหม แต่ "ไอ้แก้ว" ในฉากหนึ่งของหนังสือ ผมไม่รู้ว่าคุณวิมลต้องการพูดเรื่อง "ขุนช้าง ขุนแผน" หรือเปล่า เพราะตั้งชื่อว่าแก้วคล้ายพลายแก้ว แล้วมีฉากหนึ่งเป็นพระแล้วเข้าไปหาพิกุลซึ่งเป็นจุดจุดหนึ่งที่เปลี่ยนเหตุการณ์อย่างสิ้นเชิง ใช่ไหม

วิมล ก็ได้รับอิทธิพลมาด้วย

สุวินัย เราก็ลุ้นอยู่แล้วสุดท้ายก็คือแก้วเป็นคนทำลายความรักนี่เอง ตอนที่จะไประแวงว่าพิกุลจะไปท้องกับคนอื่นคือเราเจ็บปวด โอ้โห หลายต่อ เรื่องนี้ผ่านยากนะ ถ้ารักแล้วต้องเป็นเจ้าของ ผมอ่านแล้วผมซึมนะ ในที่สุด "กาเหว่า" ก็ตาย แล้ว "แก้ว" ก็ติดคุก จากนั้นแล้ว "เกศ" ก็มาบวชแล้วก็มาบอกว่ารักนี้ไม่ใช่เป็นเจ้าของ แต่ผมรู้สึกว่าความรักที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของ คือความรักแบบเมตตากรุณาเนี่ยมันต้องผ่านด่านอีกตั้งหลายชั้น เหมือนความรักสิบมิติ ซึ่งคนธรรมดายากจะผ่านได้ ผมรู้สึกว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่คนคนหนึ่งจะผ่านการปล่อยวาง ยึดมั่นถือมั่นในคนรักของตัวเอง มารักในชุมชน รักในสังคม รักในประเทศชาติ มนุษยชาติจึงเข้าสู่โลกของความรักแบบเมตตากรุณา แบบรักโดยที่ไม่หวังครอบครองใด ๆ เพราะทุกคนพอเกิดมาในวัยหนุ่มสาวมีความรัก ก็ต้องเป็นแบบนั้น แล้วคุณวิมลพูดเองว่าความรัก คนไม่เคยรักไม่รู้หรอกรสชาติเป็นยังไง ฟังแล้วโดนใจ คราวนี้ส่วนที่สองนี่คือดวงเดือนในห้วงน้ำนี่คุณวิมลบอกว่ามีประสบการณ์โดยตรงในการเห็นใช่ไหม ปรากฏทั้งในตุ่มทั้งในบังในนา สวยมาก พอไปดูหนังเรื่อง "Passage To India" ก็มีฉากนี้ใน "ดวงเดือนในห้วงน้ำ" ก็อ้างคำสอนของพระไตรปิฏก จุดสนใจอยู่ที่พระจันทร์ใช่ไหมครับ

วิมล ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าในพระไตรปิฏกก็มีอยู่ ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ก่อน พอดี "อาจารย์ปรีชา ช่อปทุมมา" แกอ่านหนังสือของผมแล้วเอาหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง แถมขีดเส้นใต้ตัวอักษรให้ด้วยบอกกับผมว่า "นี่คุณวิมล ผมว่าความหมายนี่มันเหมือนความหมายในพระไตรปิฏกฉบับที่เขาย่อออกมาแล้ว ตอนหลังมาพิมพ์ครั้งที่สอง"

สุวินัย แต่ของผมนี่ อยู่ที่ห้วงน้ำ เพราะถ้าในเชิงสัญลักษณ์นี่มันต่างกัน อย่างดวงเดือนในห้วงน้ำเนี่ย พอดูปรากฏการณ์นะ ถ้าไปมองที่ดวงจันทร์ มันเป็นคำสอนอีกแบบหนึ่ง มันจะเข้าใจชีวิตอีกแบบหนึ่ง แต่พอมองที่ดวงจันทร์ในห้วงน้ำนี่แล้วดูที่ห้วงน้ำแล้วเราจะเข้าใจโลกอีกแบบหนึ่ง เพราะว่าถ้าหากว่าเรามองดวงเดือนในห้วงน้ำ แล้วดูที่ดวงจันทร์มันก็จะเห็นว่าโลกนี้คือมายา โลกนี้มันเป็นทุกข์เพราะมันไม่มีอะไรจริงเลย แต่พอมองดูที่ห้วงน้ำ ห้วงน้ำมันสมบูรณ์อยู่แล้ว สมบูรณ์จนกระทั่งมันสะท้อนดวงจันทร์ได้มากมาย สะท้อนให้เห็นในทุก ๆ ที่ แม้แต่ในกะลาที่มันมีน้ำก็จะเห็นว่าอยู่ โลกนี้สมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเองนะ ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าหากว่าใจเรามันใสเหมือนในห้วงน้ำที่ดุจดั่งกระจกที่มันสะท้อนได้ทุกสิ่ง

วิมล แต่ตัวละครมันมองไม่เห็น


จาก "ธรรมะ" แรงบันดาลใจถึง "อมตะ"

วิมล พอเราคิดต่อว่าทำไม แม้แต่พุทธเรา พุทธแบบเถรวาทเขาจะมองแบบนี้นะ แต่แบบมหายานเขาจะมองแบบนี้ คือแม้แต่เหตุการณ์เดียวกันมันจะมีมิติของความเข้าใจที่ต่างกันแล้วทำให้ผมมองโลกนี้ว่า ถ้าบอกว่า ผมไม่สิ้นหวังนะ เพราะว่าเราะเป็นแค่ห้วงน้ำ แล้วก็สะท้อนออกมาเท่านั้น

สุวินัย รู้สึกว่าครึ่งหลังของ "วิญญาณแห่งสายลมพัดพาฉันมา" นี่จะบอกถึงเทคนิคการเขียนเหมือนกับเปิดก้นหีบถ่ายทอดในแง่ว่า จริง ๆ แล้วคุณวิมลเขียนหนังสือเมื่อสายลมเหงาพัดฉันมา ผมคิดว่านี่คือความเมตตาที่คุณวิมลให้แก่คนรุ่นหลังที่อยากจะเป็นนักเขียน

ด้านหนึ่งมันเกี่ยวกับเรื่องวิจารณ์วงการการศึกษาไทย ผมว่าวิจารณ์ได้อย่างถึงแก่น วิจารณ์ให้เห็นด้านใน ผมเองเนื่องจากเรายังเป็นอาชีพครู คือผมไม่อยากประณามในเชิงปัจเจก คือ ทุกคนก็เป็นแค่ดอกหญ้า หัวใจก็แห้งแล้งใช่ไหมครับ พอแห้งแล้งมันก็ออกมาอย่างนี้ ผมรู้สึกว่าคนเป็นเหยื่อหมดเลย แต่ผมไม่เป็นซ้ายแล้วผมก็เลยไม่มีความเกลียดชังแม้แต่ระบบ อยากให้คุณวิมลมีความสุขกับชีวิตแล้วเขียนหนังสือที่ดี ๆ ออกมาอีกเยอะ ๆ

วิมล ผมมักจะถูกถามว่าเขียนหนังสือยังไง ได้รับแรงบันดาลใจอะไร ผมก็เลยตัดสินใจเขียนเล่มนี้ออกมา จากนี้ต่อไปผมก็คงวางแปลนไว้ก็คงจะเขียนหนังสืออีกประมาณ 10 เรื่อง ผมรอให้มีประสบการณ์มันมากกว่านี้หน่อย อย่างที่ผมเขียนอยู่นี้ คือถ้าใจเรายังมีโทสะอยู่เรื่อย ๆ ยังหงุดหงิดยังวิตกกังวล อยากจะเขียนเรื่องให้มันนิ่ง ๆ เขียนยากมาก

สุวินัย เคยปฏิบัติธรรมไหม ?

วิมล ผมเองก็ยังไม่เคยปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แต่เวลาผมไม่สบาย เวลาผมปวดจมูก หรือปวดศรีษะนี่ เป็นไมเกรน ผมจะดึงหลักธรรม นั่งสมาธิ ดูสติ ออกมาใช้สักทีหนึ่ง มันก็ช่วยได้เหมือนกันคือว่าช่วงเวลาที่ผมหายใจไม่ออก มันแน่นจมูกมากนี่ ผมก็จะนั่งสูดลมหายใจ มันก็จะช่วยได้

สุวินัย ในวิญญาณแห่งสายลมฯ นี่ ผมเข้าใจว่าประกายของความคิดส่วนหนึ่งที่ผมว่ามันเป็นแสงสว่าง ที่คุณวิมลพยายามจะใส่ลงไปในหนังสือเกือบจะแทบทุกเล่ม คือประกายของพระพุทธศาสนา แต่เมื่อมาดูในวิญญาณแห่งสายลม คุณวิมลไม่ได้พูดถึงแนวความคิดนี้ว่าเป็นมายังไง อยากให้ขยายความตรงนี้นิดหนึ่ง เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังเมื่อไหร่

วิมล เมื่อ 7 - 8 ปีที่ผ่านมา หลังจาก "ดวงเดือนในห้วงน้ำ" ก่อนหน้านั้นก็อ่านนิด ๆ หน่อย ๆ มีด้านวิจารณ์พระสงฆ์ แล้วก็มาศึกษาในช่วงหลังก่อนหน้านี้อ่านของกฤษมูรติมาบ้างเท่าที่มีแปลมาแล้วก็แนว "ท่านพุทธทาส" แล้วก็มา 4-5 ปีหลังนี่สายพระอภิธรรม ก็เลยได้แรงบันดาลใจ ได้ประเด็นมาเขียนเรื่อง "อมตะ" ก็เลยทำให้เราเข้าใจในส่วนที่ท่านพุทธทาสอธิบาย ของอาจารย์บุญมีนี่มันเป็นส่วนของพระอภิธรรม เอาสองส่วนนี้มาตรวจสอบกันเราก็เข้าใจมันมากขึ้น แต่ว่าไม่ได้ซีเรียสเอาไว้ในนี้



ตอนที่ 3
"ผู้ถูกทำร้าย ในนามของความรัก"

สุวินัย ตอนที่ผมอ่านดู "ผู้ไขว่คว้า" ของคุณวิมลแล้วประเด็นทางธรรมะไม่ชัดครับ น่าจะเป็นเรื่องของความกลัวมากกว่าใช่ไหมครับ

วิมล ส่วนในหนังสือ "ผู้ไขว่คว้า" ประเด็นทางธรรมะไม่ชัดเพราะประเด็นที่อยากจะพูดคือเรื่องการศึกษา การศึกษาที่แท้จริง พยายามเอาตัวละครที่เป็นทหารมานำเสนอ คือพื้นฐานในหลักสูตรนี่เขาจะสอนให้เป็นอย่างนี้หมด เหมือนกันหมดสอนแล้วยึดมั่นในอำนาจเป็นเผด็จการไป พวกทหารเขาจะเป็นอย่างนั้น หลักสูตรเขาสอนมาอย่างนั้น

สุวินัย ผมเคยเจอตัวจริงไม่ใช่ทหารนะ เขาอยู่กระทรวงมหาดไทย ระดับสูงมาก เขาเป็นญาติผู้ใหญ่ของผมเอง ผมเห็นชีวิตเขาแบบนี้ แล้ววิบัติแบบเดียวกัน แต่ผมกลับรู้สึกว่าทหารไม่ใช่ เพราะทหารกลัวเมีย พอกลัวเมียปั๊บมันจะไม่ได้เกิดในแบบ "ผู้ไขว่คว้า" แต่ในมหาดไทยนี่อย่างนี้เลย ตอนที่ผมอ่านดู "ผู้ไขว่คว้า" ผมเลยไม่ได้ตีความว่าเป็นเรื่องการศึกษา ผมแต่ว่าเป็นเรื่องบาดแผลที่พ่อทำไว้กับครอบครัวมากกว่า

วิมล ไอ้เรื่องนี้ผมพยายามจะพูดเรื่องการศึกษาเหมือนกัน พ่อแม่พยายามบีบคั้นเด็ก


ปัญหาคาราซังของการ "ปฏิรูปการศึกษา"

สุวินัย เมื่อหันมามองเรื่องการศึกษาของไทย ผมเองก็มีลูกแล้วก็ส่งเรียนอยู่นอกระบบเหมือนกันตัวผมก็เป็นครู ผมก็สอนมา ผมก็เห็นปัญหาของระบบการศึกษาในไทย ในความคิดเห็นของคุณวิมลมองยังไงเกี่ยวกับการศึกษาของบ้านเราในอนาคต

วิมล สภาพของสังคมเราโดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ทีนี้ที่ผมมองอยู่นี้ถึงแม้ว่ารัฐบาลของทักษิณจะบอกว่ากำลังปฏิรูปการศึกษา ผมมองว่าเป็นการปฏิรูปแค่เรื่องการบริหาร การจัดการ การแบ่งสรรอำนาจ เท่านั้นเอง มันไม่ได้ลงลึกไปถึงสาระที่มันเป็นหัวใจของการศึกษาจริง ๆ

สุวินัย ทักษิณเขาไม่ใช่นักคิด เขาอาจจะเป็นนักบริหารที่กระตือรือร้น แต่เขาไม่ใช่นักคิด นักปรัชญา

วิมล เพราะฉะนั้นต่อให้เขาจัดการยังไง จะแบ่งภาคการศึกษายังไง ผมว่าสาระมันก็ยังเหมือนเดิม เนื้อหาสาระที่เราสอนอยู่มันก็ยังเป็นแบบนี้ คือรวม ๆ แล้วคือคนที่จบออกไปหรือคนที่เรียนหนังสือ จุดมุ่งหมายของเขาคือเพื่อจะมีงานทำมีหน้ามีตา แล้วก็มีเงินมีทอง คือการศึกษาเพื่อความร่ำรวย ตลอดระยะเวลาช่วงที่เขาเรียนตั้งแต่อนุบาล 1 จนกระทั่งเขาจบปริญญาตรี ปริญญาโท เอกขึ้นไปผมว่าเขาได้สังเวยชีวิตไว้กับระบบการศึกษามากมายมหาศาล ถึงเขาจะจบไปแล้ว โชคดีมีงานทำมีฐานะ แต่ว่าผมว่าเขาต้องป่วยไข้แน่ ๆ เขาจะเป็นคนที่ป่วยโดยไม่รู้ตัว

สุวินัย ป่วยอยู่แล้ว ประเด็นนี้ผมว่าชัดเจนมาก เหมือนกับว่าการที่จะอยู่ในโลกแบบนี้คืออยู่ด้วยความกลัว คือมันมีแส้ที่มองไม่เห็นคอยเฆี่ยนตีเด็ก โดยผ่านพ่อแม่ พ่อแม่กลัวว่าลูกจะไม่มีอนาคต คือประเด็นใน "ผู้ไขว่คว้า" นี่ผมว่าชัดเจนมาก คือสองเรื่องนี่มันขัดแย้งกัน คือดวงเดือนในห้วงน้ำนี่พูดถึงเรื่องอดีต อดีตนี่คือความฝังใจ ความรักใช่ไหมเรื่องอะไรแบบนี้มันฝังใจ 20 ปีของแก้ว อันนี้เป็นเรื่องอนาคต ไม่มีใครอยู่กับปัจจุบันเลย ก็เลยทำให้เด็กป่วยไข้ แล้วเด็กเหล่านี้พอโตขึ้นมาก็มากระทำกับลูกตัวเอง

วิมล ตามจริงครั้งแรกนี่ผมเขียนไว้ก่อนบทที่ 1 ว่า "แด่ลูกทุกคนที่ตกเป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในนามของความรัก" แต่โดนพรรคพวกถล่มเอา ผมก็เลยเอาข้อความดังกล่าวออก เพราะพวกเขาที่เป็นผู้ใหญ่ยอมรับไม่ได้นะ แต่มันเรื่องจริงเขาไม่รู้ตัวเอง

สุวินัย ในพุทธศาสนาเองก็บอกว่าคนเราถูกทำร้ายด้วย "อดีตกับอนาคต" อดีตนี่ทำร้ายเราด้วยความฝังใจ หรือความทรงจำในจิตใจ ส่วนอนาคตทำร้ายเราด้วยความกลัวหรือการคาดหวัง แต่ความคาดหวังนี่เป็นรูปแบบหนึ่งของความกลัว ผมบอกได้เลย มีแต่คนอยู่กับปัจจุบันถึงจะสามารถอยู่กับความรักได้อย่างแท้จริง

การอยู่กับปัจจุบันขณะ เราอยู่กับความรู้สึกล้วน ๆ และเราไม่หลอกตัวเอง แต่สำหรับพ่อแม่ใน "ผู้ไขว่คว้า" พูดถึงแต่เรื่องอนาคต พ่อแม่ส่วนใหญ่พูดภาษานี้หมด พ่อแม่ไม่ได้ถามเราจริง ๆ ว่าเราปรารถนาอะไร ถ้าขจัดเงื่อนไขของความกลัวจากผู้ปกครองไม่ได้ ผมว่าการศึกษาไทยเราเปลี่ยนไม่ได้นี่ผมพูดอย่างนี้เลย

มันเป็นเหมือนงูกินหาง มันเป็นแบบนี้เพราะไม่มีครูที่แท้ ใน "วิญญาณแห่งสายลม" นี่ชัดเจนมาก เพราะเจอครูที่แท้ในบรรยากาศแบบหนึ่ง ในเงื่อนไขแค่หนังสือบางเล่ม การศึกษาที่แท้ก็เกิดแล้ว คุณวิมลนี่เป็นความอัศจรรย์ของสังคมไทย อ่านประวัติมานี่เป็นดอกหญ้าที่โผล่ขึ้นมาในเงื่อนไขที่ไม่เอื้ออำนวยเลย แล้วยืนหยัดมาได้ด้วยตัวเองแล้วรักษาความเป็นตัวของตัวเองได้ มันเป็นความอัศจรรย์ ใช่ไหม เหมือนกับดายฮาร์ด คุณวิมลเคยแปลกใจตัวเองไหมว่ารอดมาได้ยังไงหมายถึง รอดมาเป็นวิมลที่กลายเป็นนักเขียน ได้รางวัลซีไรต์



ไฟแห่งการจุดประกาย

วิมล ผมก็คิด คิดว่าตัวเองรอดมาได้ยังไง ส่วนเรื่องในชีวิตจะได้ซีไรต์นี่ไม่ได้คิดถึงมัน ส่วนในเรื่องความเป็นครูถ้าผมไม่มาเรียนที่ประสานมิตร นี่ผมก็คงเป็นครูประเภทเล่นไพ่ดรัมมี่ไปเรื่อย ๆ

มองจากประเด็นการศึกษานี้ ผมคิดว่าสังคมไทยอาจจะเข้าใจผิดกันบางอย่างทั้งครูทั้งลูกศิษย์ เข้าใจผิดว่าการที่มานั่งฟังอาจารย์บรรยาย หรือครูสอนหรือการไปนั่งทำรายงาน อ่านตำรับตำรา นั่นคือวิธีการศึกษา ที่จริงมันไม่ใช่มันเป็นแค่วิธีการอย่างหนึ่ง

ขอให้เราได้เจอครูที่ดี ๆ สักคน หรือมีเพื่อน หรือมีสิ่งสักอย่างจุดประกายนิดเดียว เกิดแรงบันดาลใจและถ้าหากว่าเราคือผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจเขาพยายามจะศึกษาความรู้เอง เขาขวนขวายเอง ไม่ต้องไปยัดเยียดไม่ต้องไปพร่ำสอนทุกวัน ๆ มันไม่ได้ประโยชน์ ถ้าเขาไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำ ไม่มีแรงดึงดูดใจที่จะทำด้วยตัวของเขาเอง ผมก็หวังอยู่ว่าหนังสือ "วิญญาณแห่งสายลมฯ" เล่มนี้จะไปจุดประกายต่อไปอีก บางทีมันอาจจะมีคุณค่าพอจะผูกคนกับอีกหนังสือเล่มหนึ่ง

สุวินัย ถ้าอยากจะอ่านวรรณกรรมของวิมลบางทีอ่านจากเล่มนี้ "เมื่อสายลมเหงาพัดพาฉันมา" ก่อน คือรู้จักตัวตนที่แท้ก่อน แล้วค่อยไปตามเก็บทีละเล่มมา แล้วมันจะเห็นทั้งภาพปรัชญา ชีวิตโลกทัศน์และชีวทัศน์ ของนักเขียนที่ชื่อ วิมล ไทรนิ่มนวล ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก เพราะจริง ๆ แล้ว นักเขียนที่มีสไตล์แบบจริงจังอย่างคุณวิมลนี่มันยากที่จะมีอยู่ในสังคมไทย เพราะสังคมไทยนี่ต้องเขียนเรื่องเบา ๆ หรืออะไรแบบนั้น

วิมล ในยุคที่ผมเริ่มอ่านหนังสือในเมืองหลวงนี่ ตอนนั้นหนังสือมันน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีหนังสือบันเทิงซึ่งมันมีสาระอยู่ เช่น ชาวกรุงอย่างเนี้ย มันมี แต่ว่ามันอาจจะมีตัวเลือกน้อย คนก็เลยอ่านหนังสือได้เฉพาะแค่ตรงนั้น

พอมายุคหลังนี่มันเป็นเรื่องธุรกิจการค้าไปแล้ว อะไรที่ขายได้นี่เขาก็พยายามเสกสรรปั้นแต่งเข้ามา เพราะฉะนั้นบุคลิกของคนไทยอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ชอบอ่านหนังสือ ถ้าอ่านอย่างหนังสือของผมนี่ หลาย ๆ คนบอกไม่อยากอ่าน เพราะมันเครียดหนังสือแนวนี้ ไม่ใช่เฉพาะหนังสือของผมคนเดียวนะ ไม่ว่าจะเป็นของคนรุ่นเดียวกันหรือของใครก็ตาม แม้กระทั่งของพี่เสกสรรค์เองเขายังบอกว่ามันเครียด ซึ่งจริง ๆ นี่มันเครียดเพราะมันมีความคิด เขาบอกชีวิตประจำวันเขาก็หนักหนาอยู่แล้ว ทำไมกลับมาบ้านต้องมานั่งอ่านหนังสือไอ้แบบนี้อีก เขาไม่เข้าใจว่านี่มันคือการศึกษา

สุวินัย หนังสือบางเล่มบูมมาก ซึ่งก็มีเงื่อนไขหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากแรงโฆษณา แต่บางเล่มก็จับกระแสความรู้สึกรวมของคนส่วนใหญ่ได้ อย่างหนังสือของ "ครูเคท" ผมว่ายังโอเคนะ จริง ๆ แล้วเด็กไทยนี่มีปมด้อยในภาษาอังกฤษ แต่ไม่เคยมีใครมาพูดมาก่อน เหมือนกับเด็กญี่ปุ่นไง แล้ว "ครูเคท" เหมือนกับไปจี้ใจดำ เท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นงานของ "โน้ต" อุดม แต้พานิช นี่บางทีผมยังว่ามากกว่า เพราะว่าครูเคทนี่มันชัดเจนไง แต่ว่าเก่งภาษาอังกฤษแล้ว………พูดภาษาอังกฤษเป็นต่อยหอยแล้วมีอะไรถ้าคุณไม่มีเนื้อ หรือแก่นทางความคิด

ถ้าจะเขียนหนังสือต้องมีแง่มุมอะไรให้คิดหน่อยก็ต้องเขียนแบบนี้ อย่าง "อมตะ" เองก็ได้รับเสียงตอบรับจากคนรุ่นใหม่เยอะเหมือนกัน

วิมล อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นหนังสือที่อาจารย์วิทยากร เชียงกูล เป็นคนจัดทำว่ามันเป็นหนังสือที่หนึ่งในร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่านหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ก็เลยมีเสียงตอบรับ

สุวินัย ผมว่า หนึ่งมันทันสมัยนะ จังหวะพอดี เพราะมองในแง่วรรณกรรมนี่ "อมตะ" มันคม คมทั้งความคิด แล้วกล้าคิดนะ แล้วมันเป็นงานแบบแนววิทยาศาสตร์ด้วย ถ้ามองในแง่ความแปลกใหม่กเรื่องนี้เป็นเรื่องมันเป็นแนววิทยาศาสตร์เรื่องแรกของวิมล เพียงแต่ในข้อจำกัดคือมันต้องให้จบในเล่มเดียวเพื่อคนอ่านจะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป จริง ๆ คุณอยากเขียนยากกว่านี้ใช่ไหม แต่เขียนไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดด้วย คือถ้าคุณวิมลสามารถเขียนได้เต็มที่ ผมว่ามันจะเป็นการอ่านที่มันมากกว่านี้ เพราะว่ามันควรจะเป็นงานแบบยาว ดูแล้วสงสารนักเขียนไทยนะ

วิมล อยู่ลำบาก ถ้าไม่ได้รางวัลผมจะแย่เลยอยู่ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นคนที่ได้รางวัลมาอย่างคุณมาลา คำจันทร์ นี่ก็ได้ซีไรต์มา แต่งานของเขาก็ไม่ป๊อปปูล่าอย่างงานเขียนทั่ว ๆ ไป งานนักเขียนส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ เขาจะเขียนลงในนิตยสารคือทยอย ๆ เขียนไป คนหนึ่งอาจจะเขียนหลาย ๆ แห่งหน่อย แล้วก็มารวมเป็นเล่ม

สุวินัย สุดท้ายนี้ผมก็อยากบอกคุณวิมลว่า หนังสือ "วิญญาณแห่งสายลมพัดพาฉันมา" เล่มนี้ของคุณวิมลให้กำลังใจแก่เยาวชนที่ด้อยโอกาสเยอะมากเลยครับ


(จากนิตยสารข่าวอาทิตย์ รายสัปดาห์ ฉบับที่ 1227 ประจำวันที่ 27 มิ.ย. 2545- 3 ก.ค. 2545)




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้