(38) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (21/12/53)

(38) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (21/12/53)


วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

38. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)



ต่อให้โลกนี้ไม่มีประชากรมนุษย์ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายอยู่เลย ก็ยังเป็นไปไม่ได้อยู่ดีที่ประเทศพัฒนาแล้ว จะสามารถรักษาแนวโน้ม “การพัฒนา” แบบที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็น บริโภคนิยม ซึ่งล้างผลาญทรัพยากรทั้งภายในประเทศของตนเอง และทรัพยากรที่นำเข้ามาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างไม่บันยะบันยัง ให้คงอยู่ในระดับนี้ได้ตลอดไป


ในทางการเมือง มันยังเป็นเรื่องที่ยากมากเหลือเกินที่บรรดาผู้นำในประเทศพัฒนาแล้ว จะเสนอให้พลเมืองในประเทศของตน ลดมาตรฐานการดำรงชีพให้ต่ำลงกว่าเดิม อย่าว่าแต่ประเทศพัฒนาแล้วเลย แม้แต่ในประเทศกึ่งอุตสาหกรรมใหม่อย่างประเทศไทยเอง ก็ยังเป็นเรื่องยากมากเช่นกันในทางการเมืองที่ผู้นำประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นใครหรือว่ามาจากพรรคการเมืองไหน ที่จะนำเสนอเช่นนั้นได้ ตราบใดที่คนเรายัง “ไม่รู้จักพอ”


แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากในที่สุดแล้ว หายนะภัยจากภาวะโลกร้อนที่กำลังคืบคลานเข้ามา และรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไปทั่วโลกในอนาคตข้างหน้า ทำให้ประชากรทั้งหมดในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายพลัน “ตาสว่าง” ขึ้นมาได้ว่า มาตรฐานการดำรงชีวิตแบบประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น เป็นเป้าหมายที่คงไปไม่ถึง โดยที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเองก็ปฏิเสธที่จะลดมาตรฐานการดำรงชีวิตของตนเองลง?

ผมไม่ใช่คนมองโลกในแง่ร้าย ตรงกันข้าม ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอมา แต่แม้กระนั้นตัวผมเองก็จำต้องยอมรับตามตรงว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ในอนาคตข้างหน้าภายในศตวรรษนี้ก็คือ การรอวัน “ล่มสลาย” ของอารยธรรมแบบที่พวกเรารู้จัก และเคยชินกันอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ยกเว้นเสียแต่ว่า ผู้นำประเทศทั่วโลกจะตื่นตัว และหันมากระตุ้น ส่งเสริม ช่วยเหลือประชาชนทุกคนให้มีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สูงขึ้น โดยไม่ทำลายมาตรฐานนั้นด้วยการเร่งรัด ล้างผลาญใช้ทรัพยากรมากจนเกินไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในระบบเศรษฐกิจ-การเมืองปัจจุบันที่ถูกครอบงำโดยตรรกะของ “ทุนนิยม”


“บริบท” หรือชุดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในโลกปัจจุบัน 12 ประการในสายตาของ จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” ที่ผมได้กล่าวไปหมดแล้ว โดยแยกกล่าวถึงในแต่ละประเด็นแยกจากกันนั้น อันที่จริงแล้ว ปัญหาดังกล่าวล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ปัญหาอย่างหนึ่งก็จะทำให้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น หรือทำให้หนทางแก้ปัญหามีความยุ่งยากมากขึ้น


ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์จะส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทั้งหมด 11 ประการ เนื่องจากประชากรที่มีจำนวนมากขึ้น ย่อมหมายถึงจะมีการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น มีสารพิษมากขึ้น มีอุปสงค์ต้องการจับปลาตามธรรมชาติมากขึ้น ฯลฯ หรืออย่าง ปัญหาด้านพลังงานก็เกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ อย่างแยกกันไม่ออก เพราะการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แม้แต่การแก้ปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีก็ต้องใช้ “พลังงาน” ในการสังเคราะห์ปุ๋ยดังกล่าว”

นอกจากนี้ การขาดแคลนเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้สังคมต้องหันไปสนใจ พลังงานปรมาณูซึ่งมีศักยภาพก่อให้เกิดปัญหา “มลพิษ” ขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาพลังงานทั้งหมดหากเกิดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกัน ปัญหาขาดแคลนพลังงานฟอสซิล ยังทำให้การแก้ปัญหาน้ำจืดด้วยวิธีการกลั่นน้ำทะเล ซึ่งต้องอาศัยพลังงานดังกล่าว ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมากอีกด้วย


ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างเช่น ปัญหาแหล่งอาหารตามธรรมชาติ และการประมงที่ค่อยๆ ร่อยหรอลง ยิ่งทำให้แรงกดดันต่อการเลี้ยงปศุสัตว์ การปลูกพืชเกษตร และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่จะนำมาทดแทนสูงขึ้นมาก ซึ่งส่งผลให้ปัญหาการสูญเสียหน้าดิน ปัญหาสภาวะสารอาหารมากเกินจากภาคการเกษตร และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา ปัญหาการทำลายป่า การขาดแคลนน้ำ และดินเสื่อมสภาพยังส่งผลให้เกิดภาวะสงคราม และก่อให้เกิดปัญหาทั้งผู้ลี้ภัยที่ถูกกฎหมาย และผู้อพยพที่ผิดกฎหมายจากประเทศกำลังพัฒนาเข้ามายังประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นด้วย


จึงเป็นที่เห็นได้อย่างชัดแจ้ง อย่างไม่อาจโต้แย้งได้เลยว่า ขณะนี้สังคมโลกของเรา ที่สังคมไทยเป็นส่วนหนึ่งกำลังอยู่บนหนทางที่ไม่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาวเลยแม้แต่น้อย เพราะลำพังเพียงแค่ข้อใดข้อหนึ่งในบรรดาปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 12 ประการที่ได้กล่าวมา ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ พวกเราต้องคำนึงถึงการจำกัดวิถีการดำเนินชีวิตแบบบริโภคนิยมของพวกเราไว้ให้ได้ภายในช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าหลังจากนี้ไป เพราะปัญหาเหล่านี้เปรียบเสมือน “ระเบิดเวลา” ที่พร้อมจะระเบิดขึ้นในช่วงไม่ถึงปี ค.ศ. 2050 เป็นอย่างช้า


ยกตัวอย่างเช่น ป่าฝนเขตร้อนในเขตที่ราบลุ่มนอกเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมนุษย์เข้าถึงได้นั้นถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิงแล้วในบริเวณคาบสมุทรมาเลเซีย และด้วยอัตราการทำลายอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน พื้นที่ป่าฝนก็จะถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิงภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษในเขตหมู่เกาะโซโลมอน ฟิลิปปินส์ สุมาตรา และสุลาเวสี และอาจจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2030 (อาจยกเว้นเพียงพื้นที่ป่าบางส่วนในเขตลุ่มน้ำอะเมซอน และลุ่มแม่น้ำคองโก) นอกจากนี้ ด้วยอัตราการทำลายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การประมงทางทะเลที่ยังคงหลงเหลืออยู่ทั่วโลกในขณะนี้ก็คงจะค่อยๆ หมดไปหรือถูกทำลายลงเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นก็คงใช้ประโยชน์จากแหล่งสำรองน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่สะอาด หรือยังมีราคาถูกที่เข้าถึงได้ในปัจจุบันจนหมดไป รวมทั้งคงจะเข้าใกล้ขีดจำกัด การสังเคราะห์แสงของโลกภายในเวลาเพียงไม่กี่สิบปีข้างหน้าด้วย


สิ่งที่พวกเราต้องตระหนักให้มากที่สุดในการคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกในขณะนี้ก็คือ ไม่มีปัญหาข้อใดข้อหนึ่งที่สำคัญที่สุดในปัญหาสิ่งแวดล้อม 12 ประการที่ได้กล่าวไปแล้ว เพราะปัญหาทุกข้อไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่งล้วนนำไปสู่ “การล่มสลาย” ได้ทั้งสิ้น ถ้าหากไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ และเป็นเพราะปัญหาทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ต่อให้เราแก้ปัญหาได้ 11 ข้อ แต่ไม่อาจแก้ปัญหาข้อที่ 12 ได้ เราก็ยังจะต้องประสบความยุ่งยากอยู่นั่นเอง และไม่ว่าจะเหลือปัญหาข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม เราก็จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาทั้งหมดให้ลุล่วงไปให้ได้

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เนื่องจากชาวโลกกำลังก้าวไปอย่างรวดเร็ว บนหนทางที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว และอาจนำไปสู่ “การล่มสลาย” ของอารยธรรมปัจจุบันภายในศตวรรษที่ 21 นี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก 12 ประการ จะต้องได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ภายในชั่วชีวิตคนรุ่นลูกๆ ของเราหรือไม่ก็ในรุ่นของคนที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในปัจจุบัน มิฉะนั้นแล้วทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้ก็เป็นได้ เพราะถ้าหากปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วย การตัดสินใจเลือกทางเดินของเราเอง มันก็จะถูกทำให้ยุติลงในลักษณะที่ไม่น่าพึงปรารถนา และไม่ใช่สิ่งที่เราเลือก เป็นต้นว่า มันคงจะเกิดสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความอดอยากขาดแคลนอาหาร โรคระบาด และการล่มสลายในทุกด้านของสังคมต่างๆ ทั่วโลก อันเป็นผลโดยตรงจากการล่มสลายของสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอย่างรอบด้าน


ในขณะที่ปรากฏการณ์อันมืดมนและน่าหดหู่ใจเหล่านี้ ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับสังคมในอดีตที่ได้ล่มสลายไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้มันจะไม่ใช่การล่มสลายแค่เฉพาะบางพื้นที่ บางสังคมเหมือนอย่างในอดีตอีกต่อไปแล้ว เพราะมันจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่จะเกิดการล่มสลายของสังคมทั่วโลกพร้อมๆ กัน แม้จะมีอัตราความเร็วในการล่มสลายต่างกัน อันเป็นผลโดยตรงจากการล่มสลายของสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอย่างรอบด้าน


เพราะฉะนั้น มันจึงเหลือ “ทางรอด” เพียงทางเดียวเท่านั้น นั่นคือ สังคมของเราต้องตัดสินใจ “เลือก” ที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกทั้ง 12 ประการให้ลุล่วงไปได้ แต่สังคมเราจะ “เลือก” เช่นนี้ไม่ได้เลย ถ้าผู้นำประเทศ ถ้านักการเมือง ถ้าพรรคการเมือง ถ้าผู้มีบทบาทในวงการต่างๆ ถ้านักวิชาการ ถ้าปัญญาชน และประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นพ้อง หรือมีวิชันเกี่ยวกับเรื่องนี้ตรงกัน


อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่กีดขวาง ขัดขวาง การเลือกเช่นนี้ในสายตาของผมก็คือ ชุดข้อโต้แย้งหรือชุดวาทกรรมต่างๆ ที่ถูกพวกนักการเมือง พวกข้าราชการ พวกนักธุรกิจ และพวกนักวิชาการยกขึ้นมาย้อนแย้ง ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาเพื่อที่จะละเลยความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อที่จะชะลอปัญหาสิ่งแวดล้อมออกไปเรื่อยๆ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้อง “ถอดรื้อ” หักล้างชุดข้อโต้แย้ง หรือชุดวาทกรรมเหล่านี้เสียก่อน จึงจะสามารถพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยอย่างเป็นองค์รวม และบูรณาการได้







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้