แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (4) (21/6/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (4) (21/6/2554)



แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (4)


(21/6/2554)



*โรคตะวันตก*



“อาหารตะวันตก” ที่กำลังจะกลายเป็นอาหารของคนทั้งโลก โดยเฉพาะอาหารขยะ และอาหารจานด่วนนั้น ล้วนมีส่วนทำให้คนกินป่วยและอ้วนง่ายทั้งสิ้น สาเหตุการตาย 10 อันดับแรกทุกวันนี้ มี โรคเรื้อรังที่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนว่า เกี่ยวข้องกับอาหารถึง 4 โรค คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคสมองขาดเลือด และโรคมะเร็ง



สิ่งที่พวกเราควรตระหนักได้แล้วก็คือ โรคเรื้อรังที่คร่าชีวิตผู้คนในยุคนี้ไปเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปีนั้น สามารถสืบสาวราวเรื่องไปยังจุดที่อาหารได้ถูกแปลงให้อยู่ในรูปอุตสาหกรรมได้หมด ไม่ว่าจะเป็น กำเนิดของอาหารแปรรูปและธัญพืชขัด การใช้สารเคมีในไร่ใหญ่ที่มีการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียว การเกษตรยุคใหม่ที่ผลิตอาหารให้แคลอรีจำพวกน้ำตาล และไขมันล้นเกิน รวมทั้งการลดความหลากหลายทางชีวภาพของอาหารลงเหลือเพียงพืชหลักไม่กี่อย่างคือ ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลืองเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ให้กำเนิด “อาหารตะวันตก” ที่สังคมอื่นๆ รวมทั้งสังคมไทยรับมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า อาหารที่แปรรูปอย่างหนักหน่วงด้วยการเติมไขมัน และน้ำตาลเยอะมาก แต่เติมผัก ผลไม้น้อยเหล่านี้ทำให้คนล้มป่วย และอ้วนฉุได้ง่าย



เป็นที่น่าสังเกตว่า สังคมใดก็ตามที่ผู้คนเลิกกินอาหารดั้งเดิมหรืออาหารท้องถิ่น แล้วหันมากินอาหารตะวันตกเป็นหลักแทน ที่นั่นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งมักทยอยกันดาหน้ามาเยือน โรคเหล่านี้ในช่วงแรกๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคตะวันตก” แต่ปัจจุบันโรคเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า โรคเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) อันเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุหลักมาจากอาหารตะวันตกเป็นส่วนใหญ่



ด้วยเหตุนี้ แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการของพวกเรา เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ จึงจะมองแค่มิติทางสรีรวิทยาไม่ได้ แต่จะต้องมีมุมมองทางประวัติศาสตร์ทางโครงสร้าง และทางระบบนิเวศควบคู่กันไปด้วย จึงจะสามารถนำเสนอแนวทางใหม่ หรือวิธีคิดใหม่ หรือมุมมองใหม่ที่จะนำพาพวกเราให้หลุดพ้นจากชะตากรรมของวิกฤตสุขภาพที่กำลังเผชิญอยู่ได้



ในปี ค.ศ. 1982 ได้มีการทดลองเกี่ยวกับสมมติฐาน “โรคตะวันตก” ที่น่าสนใจมาก การทดลองนี้ผู้วิจัยคือ เคริน โอเดีย โดยโอเดียได้พาอาสาสมัครชาวอะบอริจินวัยกลางคน 10 คน ที่มีน้ำหนักตัวเกินเป็นโรคเบาหวาน และมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเดอร์บี มลรัฐออสเตรเลียตะวันตก เข้าไปลองใช้ชีวิตที่สอนแนวตะวันตกเป็นการชั่วคราว เพื่อดูว่าจะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพของพวกเขาได้หรือไม่



หลังจากที่ออกจากป่ามาหากินในเมืองได้ไม่กี่ปี อาสาสมัครทั้ง 10 คน ต่างก็เป็นเบาหวานชนิด 2 จากภาวะดื้ออินซูลิน (เซลล์หมดความไวในการตอบสนองต่ออินซูลิน) อีกทั้งยังมีภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ) ภาวะทั้งสองนี้รวมอยู่ในกลุ่มอาการที่มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “โรคเมตาบอลิกซินโดรม”



การที่พวกเขาบริโภคคาร์โบไฮเดรตแปรรูปเข้าไปในปริมาณสูง ผนวกกับการดำรงชีวิตแบบนั่งกินนอนกินมากขึ้น ได้มีส่วนทำให้ระบบการทำงานอันซับซ้อนของฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต และไขมันต้องแปรปรวน โรคเมตาบอลิกซินโดรมนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานชนิด 2 อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิดด้วย โรคเมตาบอลิกซินโดรมนี้ จึงน่าจะเป็นต้นตอที่แท้จริงของ “โรคตะวันตก” ที่เกิดกับคนพื้นเมืองที่รับเอาวิถีชีวิตตะวันตกไปใช้



ชาวอะบอริจินทั้ง 10 คนได้กลับสู่ภูมิลำเนาเดิม ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวนอกเส้นทางเดินรถห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย และใช้เวลากว่าหนึ่งวันในการขับรถจากเมืองที่อยู่ใกล้สุด วินาทีที่อาสาสมัครชาย-หญิงทั้ง 10 คนนี้ผละแดนศิวิไลซ์ พวกเขาก็ไม่ได้แตะอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีขายตามร้านเลย เพราะการทดลองครั้งนี้ มีกฎว่า พวกเขาจะต้องออกล่าหาอาหารมากินเองเท่านั้น (ก่อนเข้ามาอยู่ในเมือง พวกเขามีทักษะในการออกล่าหาอาหารเดิมกินอยู่แล้ว) โดยมีโอเดียนักวิจัยผู้ออกแบบการทดลองติดตามไปด้วย เพื่อคอยจดบันทึกอาหารที่พวกเขากิน และประเมินสุขภาพของอาสาสมัครแต่ละคน



อาสาสมัครอะบอริจินกลุ่มนี้แบ่งการอยู่ป่านาน 7 สัปดาห์ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงหนึ่งอยู่ชายฝั่ง อีกช่วงหนึ่งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ อาหารที่พวกเขากินเป็นหลักช่วงอยู่ชายฝั่งคือ อาหารทะเล นก จิงโจ้ และตัวอ่อนของแมลงท้องถิ่นชนิดหนึ่ง พออยู่ชายฝั่งได้ 2 สัปดาห์ พวกเขาก็อยากกินอาหารที่เป็นพืชมากขึ้น จึงเขยิบเข้ามาตั้งค่ายแถวแม่น้ำ ยังชีพด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา เต่า จระเข้ นก จิงโจ้ มันเสา มะเดื่อ และน้ำผึ้งป่า อาหารที่พวกเขาออกล่าหากินทั้ง 2 ช่วงนี้ต่างกันลิบลับกับอาหารที่เคยกินในเมือง ก่อนเข้าร่วมการทดลองซึ่งส่วนใหญ่เป็นแป้ง น้ำตาลทราย ข้าวเจ้า น้ำอัดลม เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ นมผง เนื้อติดมันถูกๆ มันเทศ หัวหอม อันเป็น “อาหารตะวันตกฉบับท้องถิ่น” นั่นเอง



พออยู่ป่าครบ 7 สัปดาห์ โอเดียก็เจาะเลือดอาสาสมัครทั้ง 10 คนมาตรวจ เธอพบว่า ดัชนี้ชี้วัดสุขพลานามัยทุกตัวดีขึ้นมาก อาสาสมัครทุกคนมีน้ำหนักลดลง (โดยเฉลี่ยลดลง 17.9 ปอนด์) ความดันเลือดลดลง ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ขณะที่เปอร์เซ็นต์กรดไขมันโอเมก้า 3 ในเนื้อเยื่อกลับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด



กล่าวโดยสรุป การกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมของชาวอะบอริจินที่มีการยิงนกตกปลา เก็บเกี่ยวพืชผลกินเองในระยะอันสั้น เพียง 7 สัปดาห์นี้ ได้มีส่วนทำให้ความผิดปกติทางเมตาบอลิซึมที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิด 2 อันหมายถึง ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง แต่ยังไม่สูงถึงเกณฑ์วินิจฉัยของโรคเบาหวาน กับการตอบสนองผิดปกติของอินซูลินต่อกลูโคสดีขึ้นอย่างมาก ขณะที่ความผิดปกติบางอย่างเช่น ไขมันในเลือด ก็กลับมาเป็นปกติด้วย



ไมเคิล พอลแลน ผู้เขียนหนังสือ “แถลงการณ์นักกิน” (In Defense of Food) (สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2553) ผู้ถ่ายทอดกรณีศึกษาอาสาสมัครชาวอะบอริจิน 10 คนข้างต้น บอกว่าโอเดียไม่ได้รายงานว่าเกิดอะไรต่อจากนั้น เธอไม่ได้ให้ข้อมูลว่าชาวอะบอริจินเหล่านี้ เลือกอยู่ป่าอย่างเก่าหรือกลับมาแดนศิวิไลซ์ต่อ แต่คงพอจะสันนิษฐานได้ไม่ยากว่า หากพวกเขากลับมาใช้วิถีชีวิตตะวันตกดังเดิม ปัญหาสุขภาพต่างๆ ต้องหวนคืนมาแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่นักวิชาการรู้กันมานานร่วมศตวรรษแล้วว่า โรคตะวันตกทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งที่มีสาเหตุจากอาหารตะวันตกนี้ มักเริ่มปรากฏภายหลังจากคนคนนั้นได้ผละจากอาหารการกิน และวิถีชีวิตดั้งเดิม



อย่างไรก็ตาม “ข่าวดี” ที่เราได้จากการทดลองครั้งนี้ก็คือ ความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากอาหารตะวันตกสามารถหายคืนเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว ถ้าหากคนผู้นั้นสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนได้ ข้อมูลที่ได้จากการทดลองนี้ จึงมีนัยสำคัญต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก



คนที่มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเป็นโรคตะวันตกหรือโรคเมตาบอลิกซินโดรม คือ คนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีน้ำหนักตัวเกิน ออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน รับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ต่ำ มีอัตราส่วนไขมันไม่อิ่มตัวหลายจุดต่อไขมันอิ่มตัวสูง รับประทานปลาสม่ำเสมอ และดื่มแอลกอฮอล์น้อยมากหรือไม่ดื่มเลย



คนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ สามารถเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ 80% เลี่ยงการเป็นโรคเบาหวานชนิด 2 ได้ 90% และเลี่ยงการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้กว่า 70% จะเห็นได้ว่า ผลเสียร้ายแรงจากอาหารตะวันตก สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้กลับได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องหลีกหนีความศิวิไลซ์เลย แต่เราต้องมีวินัยในการใช้ชีวิตเท่านั้น และต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิถีการกินมาเป็นแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับหลักการแพทย์แบบองค์รวมของศตวรรษที่ 21 ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้มหาศาล แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราจะต้องตระหนักถึง ภัยของการตลาด และการโฆษณาที่มีต่อสุขภาพของเราด้วย








Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้