แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ

*ศาสตร์ชะลอวัยกับความสำคัญของอาหารเสริม* ความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตที่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มร้อยอยู่เสมอ เป็นพลังกระตุ้นที่สำคัญมากสำหรับการชะลอวัย เพราะไม่มีชีวเคมีใดในร่างกายที่อยู่เหนืออิทธิพลของจิตใจ ตรงกันข้าม จิตใจที่หดหู่ ห่อเหี่ยวต่างหากที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบต่อร่างกายซึ่งก่อให้เกิดโรค จนอาจกล่าวได้ว่า ร่างกายของคนเราถูกควบคุมได้ด้วยจิตใจ หรือไม่มีสิ่งใดมีพลังเหนือร่างกายยิ่งกว่าจิตใจ

*ศาสตร์ชะลอวัยกับการป้องกัน ‘เซลล์แก่’* ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจิตร บุณยะโหตระ ผู้เขียนหนังสือ “ศาสตร์ชะลอวัย” (สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์, พ.ศ. 2553) กล่าวว่า ในปัจจุบันถึงแม้ผู้คนจะมีอายุยืนขึ้น จำนวนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่าโรคที่เกิดกับผู้สูงวัยไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาที่คนเรา “แก่เร็ว” “ตายเร็ว” นั้นเกิดจากการที่ผู้นั้นดูแลสุขภาพอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เซลล์ของผู้นั้นกลายเป็น “เซลล์แก่” (Senescent cells) ที่เสื่อมเร็วและเป็นเซลล์ที่ไม่สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนได้เมื่อตายไป

*เมื่อบุพการีเปลี่ยนไปกับความสำคัญของศาสตร์ชะลอวัย* แม้แต่สังคมไทยของเราเองก็กำลังมุ่งหน้าไปสู่ “สังคมผู้สูงวัย” ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลก เนื่องจากในยุคนี้ มนุษย์มีอายุยืนยาวกว่าเดิม และประชากรผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก กลุ่มโรคสมองเสื่อมจึงพบได้บ่อยมากขึ้นทุกที และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทยทุกระดับมากขึ้นเรื่อยๆ ใครจะคาดคิดว่า สักวันหนึ่งเราอาจจะเห็นคนที่เรารักและรักเรา กลายเป็นคนแปลกหน้าไป พูดจากันไม่รู้เรื่องเพราะสมองของเราเลอะเลือน ใครจะคาดคิดว่า สักวันหนึ่ง ญาติผู้ใหญ่แสนดีของเรา จู่ๆ ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นคนไม่มีเหตุผล เจ้าอารมณ์ขึ้นมาเฉยๆ บางทีก็หาว่าลูกหลาน คนดูแลขโมยข้าวของ ไม่ให้ข้าวให้น้ำ จำอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ อาจเกิดกับใครก็ได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ก่อให้เกิดทุกข์แสนสาหัสกับตัวผู้นั้นเองและคนรอบข้าง

*การดูแลสุขภาพสมองอย่างบูรณาการ* แม้ว่าสมองเป็นสินทรัพย์ของเราที่เสื่อมสลายไปเรื่อยๆ ในแต่ละวันที่ผ่านไป คนเราจะสูญเสียเซลล์สมองนับล้านๆ เซลล์ โดยไม่อาจหามาทดแทนได้ แต่โชคยังดีสำหรับพวกเราทุกคนที่ในปัจจุบันเราเข้าใจแล้วว่า เราสามารถทำอะไรได้มากมายเพื่อถนอม ปกป้องและแม้แต่ปรับปรุงการทำงานของสมองได้ตั้งแต่เกิดจนวัยชรา

*ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพสมอง* โดยทั่วไป คนเราจะเริ่มเผชิญกับปัญหาเรื่อง ความเสื่อมถอยในกระบวนการคิด เมื่อย่างเข้าสู่วัยห้าสิบปีขึ้นไป ความเสื่อมนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสูญเสียเซลล์สมอง และการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองทำให้พลังสมองของคนเราเสื่อมถอยลง จะเห็นได้ว่า ความหนาแน่นของเซลล์ประสาท และปริมาณการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทในสมอง เป็นตัวกำหนดความสามารถในการรับรู้ของคนเรา หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ยิ่งสมองของเรามีขนาดใหญ่ และเชื่อมต่อกันมากเท่าใดในวัยเยาว์ ตัวเราก็จะสามารถต้านทานการสูญเสียเซลล์สมอง และสามารถรักษาการทำงานของสมอง เมื่อแก่ชราได้มากเท่านั้น จะเห็นได้ว่า สุขภาพสมองเป็นเรื่องที่คนผู้นั้นควรเอาใจใส่ในทุกช่วงวัยของชีวิต

*สุขภาพสมองกับการทำงานของความทรงจำ* สิ่งที่เราเรียกว่า ความทรงจำ นั้น เป็นกระบวนการซึ่งสมองเก็บประสบการณ์ที่เรียนรู้มาตลอดผ่านจุดเชื่อมต่อซินแนปส์ ก่อนอื่นเราควรรู้ก่อนว่า ประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ของสมอง ไม่ว่าจะมีอายุเท่าใด เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อใหม่ๆ ของซินแนปส์หรือจุดประสานประสาททั้งสิ้น

*สูตรสมองใสเพื่อสุขภาพสมอง และการป้องกันโรคอัลไซเมอร์* ปัจจุบันมีคนอเมริกันกว่า 2 ล้านคน เป็นโรคอัลไซเมอร์ สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับโรคนี้ก็คือ นอกจากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะไม่รู้วันในแต่ละวันแล้ว พวกเขายังไม่สามารถจำสมาชิกของครอบครัวตัวเองได้ และเริ่มสูญเสียความสามารถในการคิด แต่ถึงจะยังไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ตาม แต่การที่คนเราเมื่อสูงวัยขึ้นแล้ว เริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ ไม่มีสมาธิ หรือนึกคำพูดไม่ออกก็เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้นั้นรู้ว่า สมองของผู้นั้นกำลังมีความแปรปรวนเกิดขึ้น และผู้นั้นควรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขความแปรปรวนนั้น

*โรคแห่งความเสื่อมของประสาทกับการแพทย์เชิงโภชนาการ* เราได้กล่าวไปแล้วว่า Oxidative Stress เป็นสาเหตุสำคัญของกระบวนการในการเกิดความเสื่อมในร่างกายของเรา โดยที่แม้แต่สมองซึ่งเป็นระบบประสาทส่วนกลาง และเส้นประสาทต่างๆ ของเราที่ประกอบอยู่ในร่างกายก็ไม่สามารถหนีพ้น Oxidative Stress นี้ไปได้ ศัตรูขาประจำเจ้านี้แหละที่เป็นต้นเหตุของโรคหลายโรค ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับสมองและเส้นประสาทอย่างที่เรารู้จักกันดีในนามว่า โรคความเสื่อมของประสาท โรคเหล่านี้รวมไปถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคเนื้อเยื่อแข็งซ้ำซ้อน เป็นต้น

ในมุมมองของการแพทย์เชิงโภชนาการ (Nutrional Medicine) นั้น เชื่อว่าร่างกายของคนเราสามารถรักษาตัวเองได้ หากสารอาหารทุกอย่างที่จำเป็นต่อร่างกายมีความพร้อมบริบูรณ์พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคของความเสื่อมเรื้อรังจะมีทางป้องกันได้ดีขึ้นมาก หากผู้นั้นหาทางป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ โดยใช้โภชนาการ (โภชนบำบัด) เป็นหลักในการบำรุงรักษาในระดับหน่วยเซลล์ของร่างกาย เพื่อรับมือกับ Oxidative Stress (หรือการที่เซลล์ในร่างกายถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นที่ดวงตา ก็อาจทำให้เป็นต้อกระจก

สิ่งที่ทำให้นายแพทย์เรย์ แสตรนด์ ก้าวเข้าสู่ วิถีแห่งการแพทย์เชิงโภชนาการ (nutritional medicine) อย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เป็นต้นมา ก็คือ การได้รับรู้เรื่อง สมมติฐาน Oxidative Stress จากหนังสือของ ดร.เคนเน็ธ คูเปอร์ เรื่อง “The Antioxidant Revolution” โดยที่สมมติฐานนี้นำเสนอว่า “Oxidative Stress” หรือการที่เซลล์ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระเป็นพื้นฐานสาเหตุของโรคเสื่อมเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักการตายของมนุษย์ในปัจจุบัน

บนเส้นทางของการศึกษาและปฏิบัติ วิถีแห่งสุขภาพเชิงบูรณาการ ของผมนั้น ตัวผมมักให้ความสนใจงานเขียนเกี่ยวกับสุขภาพโดยแพทย์ที่เป็นทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเป็นพิเศษ เพราะแพทย์เหล่านี้คือ “นักรบ” แห่ง “สงครามสุขภาพ” โดยตรง ประสบการณ์โดยตรงในการรักษาคนป่วย และต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่างๆ ของแพทย์เหล่านี้ จึงเป็นบทเรียนอันมีค่า เมื่อถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือสำหรับผู้ที่สนใจปัญหาสุขภาพทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น

ดร.แกรี่ ฮัฟฟ์นาเกิล ผู้เขียนหนังสือ “โปรไบโอติก มหัศจรรย์จุลินทรีย์ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพดี” (สำนักพิมพ์มติชน, 2553) กล่าวว่า คนเราสามารถได้รับประโยชน์จากโปรไบโอติกไปจนตลอดชีวิต แต่ความต้องการของคนเราเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในขณะที่เราเคลื่อนจากวัยหนึ่งไปสู่อีกวัย และเมื่อเราเผชิญกับปัญหาบางอย่างที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ โปรไบโอติกก็อาจเป็นทางออกให้แก่เราได้ เริ่มจากสตรีมีครรภ์ สตรีที่ตั้งครรภ์พึงตระหนักว่า สิ่งใดที่ดีต่อไมโครฟลอร่า ก็ย่อมดีต่อสตรีผู้ตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ด้วย 

เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดพลาดในฐานข้อมูล โดยที่ความผิดพลาดนั้นเกี่ยวข้องกับการระบุโมเลกุลที่อันตรายว่าปลอดภัย หรือในทางกลับกัน ระบุโมเลกุลที่ปลอดภัยกว่า เป็นโมเลกุลอันตรายแล้วเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากระบบภูมิคุ้มกัน ผลที่ตามมาก็คือ ความเจ็บป่วยของผู้นั้น ในกรณีที่ความผิดพลาดนั้นเกี่ยวข้องกับการระบุโมเลกุลที่อันตรายว่าปลอดภัย ความเจ็บป่วยที่ตามมาได้แก่ โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนในกรณีที่ความผิดพลาดนั้นเกี่ยวข้องกับการระบุโมเลกุลที่ปลอดภัยว่าอันตราย ความเจ็บป่วยที่ตามมาได้แก่ โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเบาหวานประเภท 1 อาการกล้ามเนื้ออักเสบและอื่นๆ อีกมาก

อย่าลืมว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่สกปรกและอันตราย ทุกครั้งที่เราหายใจ ดื่ม กิน สัมผัส เราจะได้รับจุลินทรีย์ซึ่งสร้างสิ่งที่เป็นพิษ และเคมีที่มีพลังในการทำลาย แต่การที่คนเรายังมีสุขภาพดีอยู่ได้ ก็เพราะระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นเสมือน “กองกำลังรักษาความปลอดภัยส่วนตัว” ของเราทำหน้าที่ปกป้องเราจากอันตรายเหล่านี้ ร่างกายของเราเป็นชุมชนยักษ์ใหญ่ชุมชนหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ของเราเอง จุลินทรีย์นับล้านล้านเซลล์ที่เราให้อาศัยพำนักอยู่ และโมเลกุลจากโลกภายนอกนับล้านล้านเซลล์ ซึ่งผ่านเข้า-ออกร่างกายของเรา ด้วยเหตุนี้ ระบบภูมิคุ้มกันจึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อดูแลกฎและระเบียบวินัยในชุมชนนี้ ซึ่งมีประชากรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เราได้กล่าวไปแล้วว่า “ท่อ” ที่อยู่ภายในตัวเราคับคั่งไปด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งล้วนกำลังแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด โดยที่สมดุลของจุลินทรีย์หมายถึงสุขภาพของเรา ขึ้นอยู่กับว่า จุลินทรีย์ชนิดใดที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน โดยปกติจุลินทรีย์จะแข่งขันกันเองในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ (1) เรื่องการใช้ประโยชน์จากสารอาหาร ในการแข่งขันจุลินทรีย์ที่สามารถใช้ประโยชน์จากสารอาหารที่อยู่เป็นฝ่ายได้เปรียบ หากเราอยากมีสุขภาพดี เราก็ควรช่วยให้โปรไบโอติกได้เปรียบ ด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใย (หรือพรีไบโอติก) เพราะโปรไบโอติกสามารถย่อยเส้นใยอาหารได้ ในขณะที่แบคทีเรียที่เป็นโทษหลายชนิดไม่สามารถทำได้ ในอีกด้านหนึ่ง อาหารที่อุดมด้วยน้ำตาลจะช่วยจุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อร่างกายให้เจริญเติบโต

ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์เกือบ 10 ล้านล้านเซลล์ โดยที่ร่างกายของคนเราแต่ละคนยังเป็นเจ้าบ้านให้จุลินทรีย์จำนวน 100 ล้านล้านตัวพำนักอยู่ จุลินทรีย์ในตัวเราจึงมีจำนวนมากกว่าเซลล์ของเราเองถึง 10 เท่า แต่ขนาดของเซลล์จุลินทรีย์เล็กกว่าขนาดของเซลล์มนุษย์ราวๆ 20 เท่า ถ้าหากเราสกัดจุลินทรีย์จำนวนล้านล้านตัวที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราออกมา เราจะได้ก้อนเหนียวสีครีมกว่า 1 ควอร์ต พวกจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ส่วนประกอบที่ไม่สลักสำคัญในร่างกายเรา เพราะเมื่อรวมเข้าด้วยกันมันจะหนักเกือบ 3 ปอนด์ ซึ่งมากกว่าน้ำหนักของไต 2 ข้าง (หนักประมาณ 2/3 ปอนด์) ตับอ่อน (น้อยกว่า ¼ ปอนด์) และหัวใจ (ประมาณ ½ ปอนด์) รวมกันเสียอีก

หากการค้นพบ ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อโรค เป็นการปฏิวัติทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 20 บางที การค้นพบบทบาทของจุลินทรีย์หรือโปรไบโอติกที่อยู่ในตัวเราว่า สามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิชีวิต หรือระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันและควบคุมอาการป่วย และโรคเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค อาจเป็นการปฏิวัติทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่านับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา ผู้คนเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากเชื้อโรคน้อยลง มีการค้นพบโรคใหม่ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค เช่น โรคหอบหืดอันเป็นโรคยอดนิยมมาตลอด 4 ทศวรรษ ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใดๆ

อาหาร “โปรไบโอติก” (Probiotics) หรือที่ถูกต้องเรียกเต็มๆ ว่า อาหารที่มีจุลินทรีย์กลุ่มโปรไบโอติกดำรงอยู่ มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนเรามากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากมายนัก สมควรที่จะรับประทานทุกๆ วันร่วมกับผักสด และผลไม้ นี่คือ หนึ่งในบทเสนอของผมในข้อเขียนชุดนี้เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิชีวิต หรือระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ได้ด้วย หากพวกเรามีความเห็นพ้องร่วมกันว่า “ยา” ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาสุขภาพ แต่ “อาหาร” ต่างหากคือ ปัจจัยพื้นฐานของการมีสุขภาพแข็งแรง

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โรคท้องผูกเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากมายนัก เพราะมันจะนำไปสู่ความเสื่อมของระบบภายในร่างกายได้ วิธีแก้ไขโรคท้องผูกที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารให้มากขึ้น ก่อนอื่น เราต้องรู้เสียก่อนว่า เส้นใยอาหารมี 2 ชนิดด้วยกันคือ (1) เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ เส้นใยอาหารชนิดนี้มีในผักผลไม้ถั่วต่างๆ และข้าวโอต และเส้นใยอาหารเหล่านี้จะทำให้การดูดซึมคาร์โบไฮเดรตเป็นไปอย่างช้าๆ มีผลให้น้ำตาลกลูโคสอยู่ในเลือดได้นาน แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่สูงขึ้นทันที เหมือนกับดื่มพวกน้ำอัดลมหรือของหวานที่มีน้ำตาลเดี่ยวๆ ที่ร่างกายสามารถดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้โดยตรง

โรคท้องผูกเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากมายนัก หากผู้คนรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อหรือมากกว่า มิหนำซ้ำในแต่ละมื้อก็รับประทานจนแน่นท้อง แต่พอถึงเวลาที่ร่างกายจะเอากากอาหารออก กลับถ่ายยากคือเป็นโรคท้องผูก ต้องเบ่งกันหน้าดำหน้าแดง จงรู้ไว้ด้วยเถิดว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมภายในร่างกายได้ การมีนิสัยกินอาหารที่ไม่ทำให้ท้องผูก จึงมีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพดี อวัยวะภายในแข็งแรง 

ทุกวันนี้ มีผู้คนกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลกที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานและเป็นโรคอ้วน นี่เป็นจำนวนที่สูงกว่าคนที่เป็นโรคเบาหวาน 230 ล้านคน และคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 1.5 พันล้านคน ทั้งๆ ที่เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ประชากรโลกที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และเป็นโรคอ้วนมีไม่ถึง 100 ล้านคน และมีเพียง 1 ใน 20 ของจำนวนนั้นที่เป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง

เชื่อหรือไม่ว่า แค่ลดการกินช็อกโกแลตแท่งขนาด 300 แคลอรีให้น้อยลงวันละหนึ่งชิ้น จะลดน้ำหนักได้ 15 กิโลกรัมต่อปี (คำนวณคร่าวๆ จากการใช้ตัวเลข 20 หารปริมาณแคลอรีก็จะได้น้ำหนักคร่าวๆ ในหน่วยเป็นกิโลกรัมต่อปี) หรือแค่ลดการดื่มน้ำอัดลมขนาด 200 แคลอรี ให้น้อยลงในแต่ละวันจะลดน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัมต่อปี หรือแค่ลดการกินโดนัทขนาด 400 แคลอรี ให้น้อยลงวันละหนึ่งชิ้น จะลดน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัมต่อปี

ทำไมคนเราจึงปล่อยตัวเองให้อ้วน ทั้งๆ ที่ความอ้วนนั้นไม่เพียงไม่ดีต่อสุขภาพของผู้นั้นเท่านั้น แต่ยังทำให้คนผู้นั้นเสียความมั่นใจตัวเองลงไปไม่น้อย ไม่ว่าเจ้าตัวจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ลึกๆ แล้วในใจของคนเราคงไม่มีใครอยากอ้วนทั้งนั้น ถ้าเป็นไปได้ คนเราไม่ได้อ้วนขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ละวันที่ผู้นั้นเผลอกินอย่างลืมตัว กินเพลินปากหน่อยกลับทำให้เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น พอรู้ตัว ความอ้วนก็มาเยือนผู้นั้นเสียแล้ว

พวกเราต้องมองให้ทะลุว่า “โรคอ้วน” เป็นแค่อาการอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากปัญหาที่ใหญ่ และสำคัญกว่านั้นมาก นั่นคือ การผลิตและขายอาหารฟาสต์ฟูดของบริษัทเอกชนที่มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวคือ ทำกำไรเท่านั้น เราต้องไม่ลืมว่า การผลิตอาหารเป็นอุตสาหกรรมนั้น แท้ที่จริงแล้วคือการไปกวาดเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาเปลี่ยนให้เป็นของที่ทำกำไรได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือ บริษัทอาหารจะนำข้าวโพดทั้งฝักไปกำจัดสารอาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเกือบทั้งหมดทิ้งไป จากนั้นก็เติมน้ำตาล เกลือ และสารเคมีปรุงแต่งต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติให้คนกินติดใจ รวมทั้งทำให้เกิดการคงสภาพของสินค้า และการยืดอายุสินค้า จากนั้นก็นำของทั้งหมดไปผ่านกระบวนการผลิตที่สลับซับซ้อนจนเป็นข้าวโพดคั่ว และผลิตภัณฑ์ทำจากแป้งที่วางขายในซูเปอร์มาร์เกต

การจะเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพและป้องกันโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ได้นั้น ก่อนอื่น เราจะต้องรู้และตระหนักให้ได้ก่อนว่า เราควรหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทานอาหารประเภทใด ผมอยากเสนอว่า อาหารฟาสต์ฟูดควรเป็นอาหารที่หลีกเลี่ยง ยิ่งทานน้อยเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้นต่อตัวเราเอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน การกินอาหารฟาสต์ฟูดเป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย และสุขภาพใจของเด็กและเยาวชนมากกว่าที่พ่อแม่ผู้ปกครองคาดคิดเอาไว้ บางทีพ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะนึกไม่ถึงว่า อาการความเฉื่อยชาเกียจคร้าน อาการไฮเปอร์ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดกับลูกของตนมาจากการที่ลูกของตนกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง

แม้แต่สังคมไทยเอง ประสบการณ์ในร้านอาหารฟาสต์ฟูดกำลังกลายเป็นเรื่องที่ชนชั้นกลางไทย ที่พำนักอยู่ในเมืองรู้สึกคุ้นเคยจนกระทั่งเป็นความเคยชินโดยแทบไม่รู้ตัวเลยว่า ลูกค้าที่เข้าร้านฟาสต์ฟูดตามห้างสรรพสินค้านั้น ส่วนมากเกิดจากการถูกกระตุ้นโดยโฆษณาที่กรอกหู กรอกตาชนชั้นกลางไทยตั้งแต่วัยเด็กซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งชนชั้นกลางไทยรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกับอาหารฟาสต์ฟูดเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

แนวคิดโภชนาการนิยมได้กลายมาเป็นแนวคิดหลักที่ทางการส่วนใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรม และกึ่งอุตสาหกรรมใช้มากำหนดทิศทางนโยบายสาธารณสุขของประเทศตน เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวคิดโภชนาการนิยมนี้ ค่อนข้างประนีประนอมและให้การปกป้องธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมากกว่าการเอาใจใส่ดูแลปกป้องสุขภาพของประชาชนจากด้านลบของอาหารแปรรูปอย่างจริงจัง เรื่องนี้เป็นความจริงแม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดโภชนาการนิยมตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา เมื่อเกิดทฤษฎีหรือ “สมมติฐานไขมัน” ขึ้นมา

บัดนี้เราได้ตระหนักแล้วว่า อาหารมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังร้ายแรงอื่นๆ มากกว่าที่เคยคาดคิดมากมายนัก คำว่า “อาหาร” ในที่นี้ ผมต้องการบ่งชี้ถึง “อาหารตะวันตก” เป็นสำคัญ เพราะโรคเรื้อรังที่กำลังระบาดหนักไปทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทยด้วยอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่า โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิดล้วนสามารถสืบสาวต้นตอไปยัง “อาหารตะวันตก” หรือ “อาหารยุคใหม่” ที่เป็น อาหารแปรรูป ซึ่งเป็นผลผลิตของสังคมอุตสาหกรรมได้ทั้งสิ้น

มะเร็งเป็นหนึ่งในบรรดาโรคร้ายไม่กี่ชนิดในปัจจุบัน ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง มะเร็งร้ายที่พบบ่อยสำหรับเพศหญิงคือมะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งไข่ปลาอุก ส่วนมะเร็งร้ายที่พบบ่อยสำหรับเพศชาย คือ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งต่อมลูกหมาก หากพิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งโดยแพทย์แผนปัจจุบัน แม้จะเข้าโรงพยาบาลของรัฐก็ตาม ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะหายด้วย

สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับกรณีศึกษาของผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้นร้ายแรง และสามารถบำบัดรักษาตนเองจนรอดตายมาได้อย่างน้อยห้าปีขึ้นไปราวกับปาฏิหาริย์ด้วย วิถีธรรมชาติบำบัด หรือ การแพทย์แบบผสมผสาน (บูรณาการ) นั้นก็คือ ผู้ป่วยทุกราย ล้วนใช้ “โภชนบำบัด” ที่เป็นโภชนาการของมนุษย์ในยุคก่อนทำการเกษตรเป็นหลักทั้งสิ้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้