แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (37) (14/2/2555)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (37) (14/2/2555)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (37)

(14/2/2555)



*สุขภาพสมองกับการทำงานของความทรงจำ*



สิ่งที่เราเรียกว่า ความทรงจำ นั้น เป็นกระบวนการซึ่งสมองเก็บประสบการณ์ที่เรียนรู้มาตลอดผ่านจุดเชื่อมต่อซินแนปส์ ก่อนอื่นเราควรรู้ก่อนว่า ประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ของสมอง ไม่ว่าจะมีอายุเท่าใด เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อใหม่ๆ ของซินแนปส์หรือจุดประสานประสาททั้งสิ้น



การมีประสบการณ์เรียนรู้ซ้ำ จะสร้างความแข็งแรงให้แก่การเชื่อมต่อนั้น และกระตุ้นสมองทำให้การเชื่อมต่อนั้นเป็นแบบกึ่งถาวรด้วยการเคลือบการเชื่อมต่อด้วยไมอีลินนั้น เปรียบได้กับการบัดกรีเชื่อมสายลำโพงในเครื่องเสียงกับการพันไว้หลวมๆ การเคลือบด้วยไมอีลินนี้ทำให้การเชื่อมต่อเกิดได้อย่างแน่นอน และรวดเร็วขึ้นเพื่อที่เราจะสามารถเรียกข้อมูลที่เรียนรู้แล้วออกมาได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วยิ่งขึ้นในอนาคต



นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งความทรงจำออกเป็นสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรกได้แก่ ความจำเชิงปฏิบัติ (procedural memory) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้งานหรือทักษะ อันเป็นกระบวนการหรือการกระทำที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนจนกว่าจะทำได้อย่างอัตโนมัติ ส่วนความทรงจำเบื้องต้นประเภทที่ 2 ได้แก่ ความจำเชิงข้อมูลความจริง (declarative memory) ซึ่งเป็นการเก็บข้อเท็จจริง เช่น ชื่อคน หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ เป็นต้น



ความจำเชิงข้อมูลความจริงนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกเรียกว่า ความจำเชิงอรรถศาสตร์ (semantic memory) ได้แก่ การเก็บข้อเท็จจริง และแนวคิดที่เรียนรู้มา ซึ่งส่วนใหญ่จะหมายถึงความจำที่เราใช้เรียนรู้ อันได้แก่ การอ่าน การเขียน และการคำนวณนั่นเอง ความจำประเภทนี้มีแนวโน้มว่าจะหลงลืมได้หากไม่ได้รับการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ



ประเภทที่ 2 เรียกว่า ความจำเชิงเหตุการณ์ (episodic memory) เป็นการหวนคิดถึงเหตุการณ์ และเวลา สถานที่ และอารมณ์ที่แวดล้อมเหตุการณ์นั้นๆ โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งเรามีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์หนึ่งๆ มากเท่าใด ความจำเชิงเหตุการณ์ที่มีต่อเหตุการณ์นั้น จะยิ่งหนักแน่นและชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น



เราต้องรู้ว่า ความจำเชิงข้อมูลความจริงทั้งหมด จะผ่านการเชื่อมต่อกับสมองในบริเวณที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส และนีโอ คอร์เท็กซ์ ขณะที่การเชื่อมต่อเซลล์ประสาทสำหรับความจำเชิงปฏิบัตินั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า เบซอลแกงเกลีย เซเรเบลลัม และไขสันหลัง การที่ความจำสองประเภทอยู่ในบริเวณที่แยกจากกันภายในสมองช่วยอธิบายว่า เหตุใดเมื่อคนเราอายุมากขึ้น จึงมักมีปัญหากับการสรรหาคำพูดที่ถูกต้อง หรือการจำใบหน้าคน ในขณะที่ยังจำวิธีขี่จักรยานได้ เนื่องจากบริเวณที่ใช้เก็บความจำเชิงข้อมูลความจริงซึ่งได้แก่ นีโอ คอร์เท็กซ์ และฮิปโปแคมปัสนั้น มีการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพสูง และจำเป็นต้องรักษาความยืดหยุ่นไว้เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อขึ้นใหม่ได้ตามความต้องการ บริเวณนี้จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเสื่อมสภาพเมื่อเวลาผ่านไป



เพราะฉะนั้น การดูแลสุขภาพสมองจึงหมายถึงการทำให้สมองส่วนนี้ (ส่วนที่ดูแลความจำเชิงข้อมูลความจริง) ทำงานอย่างเหมาะสมให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้เราถนอมรักษาความทรงจำไว้ได้นั่นเอง



การจะทำให้สมองมีสุขภาพแข็งแรงในเชิงกระบวนการทางชีววิทยาอยู่เสมอนั้น กระทำได้โดยการพยายามรักษากระบวนการทำงานนี้ให้อยู่ในระดับที่ “เหมาะสม” มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ คือต้องไม่ทำงานช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป ไม่ร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไป ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปนั่นเอง การจะเป็นเช่นนั้นได้ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทางการเผาผลาญพลังงาน ทางเคมี และทางสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง สมองจะต้องว่องไวพอจะปรับตัวให้ได้ภายในเศษเสี้ยวของวินาที โดยที่เรื่องสำคัญซึ่งสมองจะต้องควบคุมหรือจัดการอย่างใกล้ชิดให้กลับมามีสมดุลที่เหมาะสมมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน ซึ่งเรียกได้ว่า หลักแห่งความพอดีของสมอง 4 ประการ ดังต่อไปนี้



(1) หลักแห่งความพอดีของสมอง ประการที่ 1 “การควบคุมการไหลเวียนของแคลเซียม” การควบคุมปริมาณแคลเซียมที่เข้ามาในเซลล์สมองเป็นเรื่องจำเป็น เพราะปริมาณแคลเซียมในเซลล์ไม่อาจมีน้อยเกินไปหรือมากเกินไป แต่จะต้องมีในปริมาณพอดีๆ ตามหลักแห่งความพอดี เนื่องจากแคลเซียมที่ไหลอย่างสอดคล้องลงตัวในปริมาณที่ได้รับการควบคุมอย่างแม่นยำเข้ามาในเซลล์จะกระตุ้นการสร้างท่อขนาดจิ๋วไมโครทูบูล (microtubule) ในการเกิดซินแนปส์ใหม่ และยังช่วยการเชื่อมท่อขนาดจิ๋วเหล่านี้ด้วย โปรตีนเทา (tau protein) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสูญเสียความจำ



นี่จึงหมายความว่า การเรียนรู้ความทรงจำ ความตั้งใจ และอารมณ์นั้นจะขึ้นอยู่กับการที่สมองสามารถควบคุมปริมาณแคลเซียมที่เข้ามาในเซลล์สมองได้อย่างไม่มีข้อบกพร่องใดๆ หากมีแคลเซียมเข้ามาสะสมในเซลล์มากๆ จะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้ามีแคลเซียมน้อยเกินไปซินแนปส์จะถูกกระตุ้นไม่มากพอจะส่งสัญญาณออกไป ในทางกลับกัน ถ้ามีมากเกินไป เซลล์ประสาทอาจกระตุ้นตัวเองมากจนตายได้ ระดับความเข้มข้นของแคลเซียมที่ผิดปกติไปจากปริมาณที่เหมาะสมนั้น สามารถทำลายสมดุลระหว่างการสร้างและสลายซินแนปส์ เมื่อซินแนปส์ถูกสลายมากเกินไป เซลล์ประสาทก็จะขาดการเชื่อมต่อกัน ส่งผลให้สมองทำงานด้อยลง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในการสูญเสียความทรงจำเมื่ออายุมากขึ้น หากเกิดขึ้นอย่างสุดขั้ว นั่นก็คือสิ่งที่เกิดในโรคอัลไซเมอร์



(2) หลักแห่งความพอดีของสมอง ประการที่ 2 “การควบคุมสมดุลของอินซูลินและกลูโคส”



แม้ว่าสมองของคนเราจะชอบของหวาน เพราะสมองต้องการกลูโคส (น้ำตาลในเลือด) อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญโดยใช้ประมาณ 100 กรัม (ครึ่งถ้วย) จากเลือดทุกวัน เพื่อให้ซินแนปส์สามารถทำงานได้ก็จริง แต่กลไกทางชีวเคมีของสมองเราไม่ได้เกิดมาในยุคที่มีน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตมากมายเหมือนในยุคปัจจุบัน หากแต่วิวัฒนาการขึ้นมาจากการกินโปรตีน และไขมันแล้วเสริมด้วยคาร์โบไฮเดรตเพียงเล็กน้อย (อาหารในยุคหิน) ซึ่งไม่ใช่แบบแผนหลักของอาหารในยุคนี้ คนยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ ทานอาหารผิดประเภทมานานจนเป็นนิสัย ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินหรือเบาหวาน



ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ในวงการแพทย์ พบแล้วว่า ภาวะดื้ออินซูลินเรื้อรังจะส่งผลเสียหายร้ายแรงในสถานการณ์ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์มากเกินไป เนื่องจากอาการของโรคสมองเสื่อมนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่สมองไม่สามารถรักษาระดับกลูโคส และอินซูลินให้อยู่ในสมดุลได้อีกต่อไป จึงเห็นได้ว่า การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้น เกี่ยวโยงไปถึงสุขภาพสมองด้วย และอาหารแบบตะวันตกที่มีแป้งและน้ำตาลมาก น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นมาก



(3) หลักแห่งความพอดีของสมอง ประการที่ 3 “การควบคุมการเจริญเติบโต การสร้างใหม่ และการซ่อมแซม” ปัจจุบัน นักวิจัยได้ค้นพบว่า มีความเป็นไปได้ที่สมองของผู้ใหญ่ซึ่งเติบโตเต็มที่แล้ว จะสร้างเซลล์สมองขึ้นใหม่โดยเซลล์ใหม่นี้สามารถเชื่อมต่อ และผสานรวมกับเครือข่ายประสาทที่มีอยู่เดิม ตราบเท่าที่สมองของเรายังสามารถรักษาระดับ “โกรทแฟกเตอร์” (สารกระตุ้นการเจริญเติบโต) ที่จำเป็นบางชนิดไว้ในปริมาณที่เพียงพอ มิหนำซ้ำ คนเรายังสามารถเพิ่มหรือลดโกรทแฟกเตอร์นี้ได้ด้วยวิถีชีวิตที่ผู้นั้นเลือกใช้ โกรทแฟกเตอร์หรือสารกระตุ้นการเจริญเติบโตที่สำคัญได้แก่ NGF (nerve growth factor-ปัจจัยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท)



และ BDNF (brain derived neurotrophic factor-ปัจจัยส่งเสริมการเจริญเติบโต และการอยู่รอดของเซลล์สมองใหม่ๆ) BDNF นี้สำคัญมาก เพราะมันช่วยเพิ่มความต้านทานต่อการบาดเจ็บ เร่งการสร้างปรับรูปแบบ และเชื่อมต่อซินแนปส์ใหม่ๆ หรือช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองตั้งแต่ก่อนเกิดไปจนตาย จะเห็นได้ว่า สมองต้องอาศัยโกรทแฟกเตอร์ เช่น BDNF เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการสร้างการเชื่อมต่อใหม่ๆ ของเซลล์สมองกับการจำกัดการเชื่อมต่อเดิมออกไป การขาดการสนับสนุนจาก BDNF จะทำให้สมดุลโน้มเอียงไปทางการตัดการเชื่อมต่อออกไป และการสูญเสียเซลล์สมอง เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องใช้วิถีชีวิตที่ช่วยเราเพิ่มการสร้าง BDNF เพื่อรักษาสมดุลของกระบวนการนี้เพื่อไม่ให้การทำงานของสมองเกิดปัญหา



(4) หลักแห่งความพอดีของสมอง ประการที่ 4 “การควบคุมการอักเสบ”



ไมโครเกลีย (microglia) คือทีมงานทำความสะอาดของสมองที่ทำหน้าที่คล้ายกับเซลล์เม็ดเลือดขาว สมองของเราใช้ไมโครเกลียสำรวจตรวจตรา และต่อสู้กับจุลินทรีย์และผู้บุกรุกต่างๆ โดยการปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบออกมา สารที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ไม่โครเกลียปล่อยออกมานี้ จะไปรบกวนการทำงานของ BDNF โดยทั่วไป ปัจจัยที่ทำให้ระดับของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบสูงขึ้น คือ ภาวะดื้ออินซูลิน และ/หรือโรคเบาหวาน



จะเห็นได้ว่า มี วงจรอุบาทว์ ดำรงอยู่ โดยเริ่มจากน้ำตาลในเลือดส่วนเกินทำให้ระดับอินซูลินสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งทำให้มีสารที่ทำให้เกิดการอักเสบมากเกินไป ซึ่งนำไปสู่การต้านทานสัญญาณจาก BDNF ซึ่งส่งผลให้สูญเสียการเชื่อมต่อของเซลล์สมอง ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่ความจำเสื่อมถอย ปฏิกิริยาโต้ตอบช้าลง และอารมณ์ซึมเศร้า เพื่อให้เป็นไปตามหลักแห่งความพอดีของสมอง ทีมตอบสนองการอักเสบภายในสมองจะต้องมีการทำงานในระดับที่เหมาะสม



...แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อรักษาสมดุลที่เหมาะสมตามหลักแห่งความพอดีของสมอง 4 ประการข้างต้นได้?




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้