แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (28) (13/12/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (28) (13/12/2554)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (28)

(13/12/2554)




*ภาวะขาดแคลนโปรไบโอติกของคนทั่วไป*



เราได้กล่าวไปแล้วว่า “ท่อ” ที่อยู่ภายในตัวเราคับคั่งไปด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งล้วนกำลังแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด โดยที่สมดุลของจุลินทรีย์หมายถึงสุขภาพของเรา ขึ้นอยู่กับว่า จุลินทรีย์ชนิดใดที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน โดยปกติจุลินทรีย์จะแข่งขันกันเองในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้



(1) เรื่องการใช้ประโยชน์จากสารอาหาร ในการแข่งขันจุลินทรีย์ที่สามารถใช้ประโยชน์จากสารอาหารที่อยู่เป็นฝ่ายได้เปรียบ หากเราอยากมีสุขภาพดี เราก็ควรช่วยให้โปรไบโอติกได้เปรียบ ด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใย (หรือพรีไบโอติก) เพราะโปรไบโอติกสามารถย่อยเส้นใยอาหารได้ ในขณะที่แบคทีเรียที่เป็นโทษหลายชนิดไม่สามารถทำได้ ในอีกด้านหนึ่ง อาหารที่อุดมด้วยน้ำตาลจะช่วยจุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อร่างกายให้เจริญเติบโต



เมื่อพูดถึง โทษของน้ำตาล หรือ โทษของอาหารที่มีความหวาน จึงอยากจะแทรกไว้ว่า โรคและอาการผิดปกติที่เกิดจากการกินหวานนั้น มีมากเกินกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากนัก คนทั่วไปมักไม่ค่อยทราบกันว่า อาหารที่มีความหวานที่บริโภคเข้าไปเป็นประจำ มันจะไปกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำลายสมดุลของเกลือแร่ต่างๆ ในร่างกาย ทำให้สมาธิสั้น ทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ทำให้ความยืดหยุ่นและการทำงานของเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลง ทำลายสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายทำให้ระบบทางเดินอาหารเป็นกรด ทำให้เกิดข้อต่างๆ อักเสบ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งตัว ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นโดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคอลลาเจน ทำให้ไขมันในตับเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งชนิดต่างๆ ฯลฯ



(2) เรื่องการเข้าถึงเซลล์ลำไส้ จุลินทรีย์สามารถอยู่รอดนานขึ้นในทางเดินอาหาร หากมันยึดเกาะอยู่กับเซลล์ของลำไส้ได้ มิฉะนั้นแล้วมันจะถูกกวาดออกไปจากร่างกายด้วยการบีบรัดตัวของลำไส้ หนึ่งในวิธีการที่โปรไบโอติกแบคทีเรีย ช่วยปกป้องเราจากแบคทีเรียที่เป็นโทษก็คือ พวกมันจะต้องเอาชนะให้ได้ในการเข้าไปยึดเกาะเซลล์ลำไส้ ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ พวกมันจะต้องมีจำนวนมากพอซึ่งเราควรจะต้องช่วยเพิ่มจำนวนของมัน โดยเลือกรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่อุดมไปด้วยโปรไบโอติกทุกๆ วัน เช่น นมเปรี้ยว เป็นต้น



(3) เรื่องการผลิตเคมีต้านจุลินทรีย์ แบคทีเรียบางชนิดสามารถผลิตสารปฏิชีวนะได้เอง เคมีเหล่านี้ไม่มีผลต่อเรา แต่มันจะไปยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียอื่นๆ และในขณะที่จุลินทรีย์ย่อยสลายอาหาร ผลพลอยได้จากกระบวนการเผาผลาญอาหารอาจส่งผลในทางตรงกันข้ามต่อคู่แข่งของมันได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อโปรไบโอติกใช้เส้นใยเป็นแหล่งอาหาร ผลพลอยได้จากกระบวนการเผาผลาญอาหารของพวกมัน คือ กรดที่คล้ายกับน้ำส้มหมัก และยีสต์ไม่อาจเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีกรดเหล่านี้อยู่ด้วย



ต่อไปเรามาดูถิ่นที่อยู่ของจุลินทรีย์ในร่างกายของเรากัน ประชากรแบคทีเรียในทางเดินอาหารของเราแตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณตลอดความยาวของ “ท่อ” โดยที่แต่ละบริเวณจุลินทรีย์ต่างชนิดกัน จะเข้ายึดครองและทำหน้าที่แตกต่างกัน ในบริเวณตอนบนและตอนล่างของระบบทางเดินอาหาร จะเป็นที่ซึ่งโปรไบโอติกส่วนมากจะชนะจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ (หากคนผู้นั้นมีสุขภาพดี) นี่ย่อมหมายความว่า โปรไบโอติกในลำไส้ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้จริงๆ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งต่อสุขภาวะโดยรวมของร่างกายของเราอย่างไม่อาจมองข้ามได้



นอกจากจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ในไมโครฟลอร่าของเราจะอาศัยอยู่ตามลำไส้แล้ว ลำไส้ยังเป็นสถานที่ซึ่งการติดต่อสื่อสารสำคัญที่สุดระหว่างจุลินทรีย์ และระบบภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากลำไส้เป็นที่ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเติบโต และสร้างอาณาจักรของจุลินทรีย์ เนื่องจากพื้นผิวตลอดความยาว 30 ฟุตของลำไส้นั้น มีรอยย่นเล็กๆ จำนวนมหาศาลซึ่งจุลินทรีย์สามารถอาศัยอยู่ได้ ว่ากันว่าถ้าหากสามารถคลี่รอยย่นและขดทั้งหมดในลำไส้ออกมากางแผ่ได้ จะพบว่าพื้นผิวของเนื้อเยื่อนี้กว้างกว่าสนามเทนนิสเสียอีก



จำนวนประชากรจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ มีจำนวนมากกว่าที่มีอยู่ในลำไส้เล็กประมาณหนึ่งแสนต่อหนึ่ง นั่นเป็นเพราะในลำไส้เล็กเอื้อต่อการอยู่อาศัยของจุลินทรีย์น้อยกว่าลำไส้ใหญ่ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรดสูงกว่า แถมยังมีความเข้มข้นของเอนไซม์และสารเคมีต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสูงกว่า นอกจากนี้ การบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อลำไส้เล็กยังเร็วกว่าของลำไส้ใหญ่มาก เป็นเรื่องดีที่โปรไบโอติกนั้น สามารถพบได้ในลำไส้ทั้งสอง การที่มีพวกมันอยู่จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการรักษาความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ทั้งหมดให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ



อย่างไรก็ดี กระบวนการรักษาสมดุลของไมโครฟลอร่ามีความซับซ้อนคล้ายๆ กับการรักษาน้ำหนักตัวของคนเรา เพราะจะมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะมีวินัยในการใช้ชีวิต ที่สามารถปฏิบัติตัวเคร่งครัดในเรื่องการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันได้ หลักการข้างต้นเรื่องการรักษาน้ำหนักตัวก็เป็นจริง เช่นเดียวกับการรักษาสมดุลประชากร ไมโครฟลอร่าในร่างกายของเรา



ด้วยเหตุนี้เอง คนทั่วไปได้ทำลายสมดุลของประชากรไมโครฟลอร่าในร่างกายของตนโดยไม่รู้ตัว จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่มองไม่เห็นของภาวะขาคแคลนโปรไบโอติกในคนทั่วไป ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบที่เลวร้ายต่อระบบภูมิชีวิตหรือระบบภูมิคุ้มกันของผล และตามมาซึ่งปัญหาสุขภาพของประชาชนในที่สุด



ในยุคปัจจุบัน ผู้คนในสังคมทุนนิยมได้ทำลายสมดุลของประชากรไมโครฟลอร่าในร่างกายตนเองโดยไม่รู้ตัว ผ่านช่องทางหลักๆ 2 ช่องทางคือ (1) การใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น กับ (2) การเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการ



(1) การใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ที่มีการใช้ยาเพนนิซิลินอย่างแพร่หลาย ได้ทำให้ยาปฏิชีวนะถูกใช้ทางการแพทย์ และทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ถึงแม้ว่ายาปฏิชีวนะจะมีความสำคัญมากในฐานะเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการต่อต้านจุลินทรีย์อันตราย แต่ผลกระทบข้างเคียงของยาปฏิชีวนะก็คือมันก็ฆ่าจุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นประโยชน์ไปพร้อมกันด้วย การบำบัดความเจ็บป่วยด้วยยาปฏิชีวนะในปริมาณสูงต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับอาการติดเชื้อในหู สามารถกวาดล้างจุลินทรีย์ซึ่งปกติจะอยู่ในลำไส้ไปจนเกือบหมดสิ้น



จึงเห็นได้ว่า ยาปฏิชีวนะส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อไมโครฟลอร่าในร่างกายของผู้คนสมัยนี้ จริงอยู่หลังการบำบัดไมโครฟลอร่าจะกลับมาเจริญเติบโตอีก แต่โปรไบโอติกแบคทีเรียจะฟื้นตัวช้ากว่าจุลินทรีย์อื่นๆ ยิ่งถ้าผู้นั้นกินอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวและมีพรีไบโอติกต่ำ สมดุลของแบคทีเรียหลังการบำบัดด้วยยาปฏิชีวนะของบุคคลผู้นั้น ก็จะแตกต่างไปจากสภาวะที่เคยเป็นอยู่ ก่อนรับยาปฏิชีวนะ สภาวะสมดุลใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้นั้น



นอกเหนือไปจากการรับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคเป็นครั้งคราวแล้ว ผู้คนในปัจจุบันจะได้รับมันในปริมาณต่ำมาก แต่บ่อยครั้งกว่าโดยผ่านการบริโภคเนื้อสัตว์ การได้รับยาปฏิชีวนะทางอ้อมแบบนี้ ย่อมส่งผลในระยะยาวต่อไมโครฟลอร่าของผู้คนอยู่ดี



(2) การเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการ การที่ผู้คนสมัยนี้รับประทานอาหารนอกบ้านบ่อยขึ้น หรือแม้จะรับประทานอาหารที่บ้าน แต่อาหารเหล่านั้นก็มักถูกตระเตรียมมาจากที่อื่น ผลก็คือ พวกเขามักทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปมีผลไม้ และผักสดน้อยลง มีธัญพืชเต็มเมล็ดน้อยลง และมีเส้นใยอาหารน้อยลง แต่พวกเขากลับบริโภคน้ำตาลและไขมันมากขึ้น คนทั่วไปมักจะเคยได้ยินมาว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านอาหารนี้เป็นที่มาของการระบาดของ “โรคอ้วน” แต่คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้กันว่า การเปลี่ยนแปลงด้านอาหารนี้ ยังส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายมากกว่าโปรไบโอติกด้วย



ทั้งนี้ก็เพราะว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา ต้องกินสิ่งเดียวกับที่เรากินเข้าไป แต่จุลินทรีย์แต่ละกลุ่มชอบอาหารแตกต่างกัน จุลินทรีย์บางชนิดอาจเจริญงอกงามดี ในขณะที่บางตัวหิวโซขึ้นอยู่กับอาหารที่เรา “เลือก” ทานเข้าไป ด้วยเหตุนี้ โภชนาการของคนเรา จึงเป็นปัจจัยหลักในการควบคุมความสมดุลท่ามกลางกลุ่มจุลินทรีย์ต่างๆ ในไมโครฟลอร่าของเรา โดยที่มีข้อเท็จจริงจากงานวิจัยออกมาแล้วว่า จุลินทรีย์ที่ได้รับสารอาหารสุขภาพ จะมีความสามารถในการทำลายสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนมากับอาหารได้ดีกว่า



เพราะฉะนั้น การเสริมโปรไบโอติก และพรีไบโอติกเข้าไปในโภชนาการของเรา จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญมาก และขาดเสียไม่ได้ในการทำให้ระบบภูมิชีวิต หรือระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรง ต่อไปเราจึงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันกับบทบาทของการอักเสบ และหน้าที่ของโปรไบโอติกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้