แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (18) (27/9/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (18) (27/9/2554)



แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (18)



(27/9/2554)




*ทำไม เราจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟูด*



การจะเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพและป้องกันโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ได้นั้น ก่อนอื่น เราจะต้องรู้และตระหนักให้ได้ก่อนว่า เราควรหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทานอาหารประเภทใด ผมอยากเสนอว่า อาหารฟาสต์ฟูดควรเป็นอาหารที่หลีกเลี่ยง ยิ่งทานน้อยเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้นต่อตัวเราเอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน การกินอาหารฟาสต์ฟูดเป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย และสุขภาพใจของเด็กและเยาวชนมากกว่าที่พ่อแม่ผู้ปกครองคาดคิดเอาไว้ บางทีพ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะนึกไม่ถึงว่า อาการความเฉื่อยชาเกียจคร้าน อาการไฮเปอร์ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดกับลูกของตนมาจากการที่ลูกของตนกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง



โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเด็กและเยาวชนกินแต่อาหารที่ทำด้วยความรีบเร่ง อาหารที่ใส่น้ำตาล ใส่แป้งขาวมากแต่ไม่มีผักผลไม้สดอย่างเพียงพอ อาหารขยะเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้สมองและจิตใจของเด็กและเยาวชนเหล่านั้นไม่แจ่มใส ขุ่นมัวได้ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม หากเด็กและเยาวชนได้ทานอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม พวกเขาก็จะมีสุขภาพแข็งแรง สติปัญญาจะได้รับการพัฒนา ปฏิกิริยาเคมีในสมองสามารถทำงานตามหน้าที่ของมันได้ดีขึ้น พวกเขาก็จะกลายเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาด และเติบโตอย่างมีชีวิตชีวาได้ เพราะฉะนั้น จงอย่าสร้าง “นรกส่วนตัว” ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยพาพวกเขาไปทานอาหารฟาสต์ฟูดเลย มันบั่นทอนร่างกายและจิตใจของลูกหลานเรามากกว่าที่เคยคาดคิดเป็นยิ่งนัก



เราจะตระหนักถึงมหันตภัยของฟาสต์ฟูดได้ก็ต่อเมื่อเราได้รับรู้ข้อเท็จจริงว่า อาหารฟาสต์ฟูดถูกผลิตขึ้นมาได้อย่างไรเท่านั้น เราได้เคยเล่าไปแล้วว่า เมืองกรีลีย์ รัฐโคโลราโดของสหรัฐอเมริกา เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อวัว เพื่อใช้ทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งเป็นอาหารฟาสต์ฟูดที่ชาวอเมริกันบริโภคกันปีละหลายพันล้านชิ้น เมืองกรีลีย์นี้ จะมี “กลิ่น” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมันเป็นส่วนผสมของกลิ่นสาบสัตว์ที่ยังมีชีวิต กลิ่นมูลสัตว์ และกลิ่นซากสัตว์ที่ดมแล้วน่าสะอิดสะเอียนเป็นที่สุด เนื่องจากกลิ่นของมันคล้ายๆ กับกลิ่นไข่เน่าผสมกับกลิ่นผมไหม้ แล้วก็กลิ่นส้วมแตกยังไงยังงั้น



นอกจากปัญหาเรื่องกลิ่นแล้ว เมืองกรีลีย์ยังเป็นที่ตั้งของคอกขุนสัตว์ขนาดมหึมา 2 แห่ง ที่ทำหน้าที่ป้อนสัตว์เข้าโรงฆ่าวัว คอกขุนสัตว์แต่ละแห่งของเมืองกรีลีย์ สามารถเลี้ยงวัวได้มากถึงหนึ่งแสนตัว ในช่วงเวลาที่วัวอยู่รวมกันอย่างเบียดเสียด ที่นั่นจะดูเหมือนเป็นผืนทะเลวัวสีน้ำตาลสลับขาว ซึ่งกินพื้นที่หลายไร่ ฝูงวัวเหล่านี้ ไม่ได้มีโอกาสเดินทอดน่องไปตามทุ่งหญ้าเพื่อแทะเล็มหญ้าสดเหมือนฝูงวัวในอดีตหรอก เพราะตลอดระยะเวลาสามเดือนก่อนเข้าโรงฆ่า พวกมันจะต้องกินเมล็ดธัญพืชชนิดพิเศษที่เทราดลงบนรางปูนที่ดูคล้ายกับเส้นแบ่งเลนบนถนนหลวง เมล็ดธัญพืชสูตรพิเศษนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อทำให้พวกมันอ้วนพีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผนึกกำลังกับฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตที่ถูกฝังไว้ใต้ผิวหนังของพวกมัน



วัวตัวผู้ ซึ่งจะถูกนำไปแปรรูปเป็นเนื้อวัว จะถูกเรียกว่า วัวขุน วัวขุนโดยทั่วไปจะต้องกินเมล็ดธัญพืชประมาณ 1,350 กิโลกรัม ในช่วงสามเดือนระหว่างที่อยู่ในคอกขุนสัตว์เพียงเพื่อให้มันมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 180 กิโลกรัม กระบวนการดังกล่าวส่งผลให้เกิดสิ่งปฏิกูลจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน เพราะวัวขุนแต่ละตัวถ่ายปัสสาวะ และมูลมากถึงวันละ 23 กิโลกรัม สิ่งปฏิกูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งไปยังโรงบำบัดสิ่งปฏิกูลเหมือนของเสียของมนุษย์ แต่จะถูกทิ้งลงในบ่อของเสียขนาดมหึมาราวกับเป็นบึงซึ่งกินพื้นที่ถึง 50 ไร่ และลึกถึง 4.5 เมตร บึงปฏิกูลนี้เต็มไปด้วยของน่าขยะแขยงเป็นล้านๆ ลิตร ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นเกินคำบรรยาย ครั้งหนึ่งของเสียในบึงที่เป็นน้ำโสโครกรั่วไหลลงสู่แม่น้ำลำธารที่อยู่ใกล้ๆ ทำให้ปลาในแม่น้ำตายลงเป็นจำนวนมากจากเชื้อโรคที่ติดมากับน้ำโสโครกซึ่งรั่วไหลมาจากบึงของโรงฆ่าสัตว์



ไม่แต่เท่านั้น บึงปฏิกูลนี้ยังปล่อยแก๊สอันตรายสารพัดชนิดออกมา ซึ่งรวมไปถึงแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ ที่สามารถนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บ หรือปัญหาสุขภาพสารพัดรูปแบบของมนุษย์ได้ ถ้าสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า บึงปฏิกูลของโรงฆ่าสัตว์แห่งเมืองกรีลีย์นี้ได้ปล่อยแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกสู่ห้วงอวกาศเป็นจำนวนมหาศาลขนาดไหน

ไม่เพียงอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อวัวเท่านั้น ที่เป็นฐานหลักของธุรกิจฟาสต์ฟูด อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อไก่ก็เป็นฐานหลักที่สำคัญอีกฐานหนึ่งที่ค้ำจุนธุรกิจฟาสต์ฟูดขนาดมหึมาของแมคโดนัลด์นี้เอาไว้ เพราะ การประดิษฐ์ “แมคนักเก็ต” ออกมาของแมคโดนัลด์ได้เปลี่ยนไก่ที่เคยเป็นอาหารที่ทานยาก เพราะต้องวางบนโต๊ะและใช้มีดหั่น ให้เป็นอาหารที่ทานได้อย่างง่ายดาย แม้ขณะนั่งขับรถอยู่หลังพวงมาลัย ทำให้ไก่ซึ่งเคยเป็นผลิตผลในเชิงเกษตรกรรมกลายเป็นผลิตผลในเชิงอุตสาหกรรม รวมทั้งระบบการผลิตหลังจากนั้นที่เปลี่ยน เจ้าของฟาร์มไก่จำนวนมากให้ตกอยู่ในกำมือของบริษัทแปรรูปเนื้อไก่



แมคนักเก็ตคือเนื้อไก่บดที่นำมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดประมาณหัวแม่มือโดยใช้แป้งเปียก จากนั้นจึงนำคลุกด้วยผงขนมปังป่น นำไปทอดแช่แข็ง เวลาจะรับประทานก็แค่นำไปทอดในน้ำมันอีกครั้ง แม้แมคนักเก็ตจะมีรสชาติอร่อย เคี้ยวง่าย แต่สารเคมีในแมคนักเก็ตมีไขมันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่ต่างไปจากไขมันวัว พวกเด็กอเมริกันชอบทานแมคนักเก็ตมาก พวกเด็กๆ ทานแมคนักเก็ตโดยไม่รู้ว่า มันมีปริมาณไขมันต่อกรัมมากกว่าแฮมเบอร์เกอร์เสียอีก



แมคนักเก็ต จึงไม่เพียงเปลี่ยนวิถีการกินของชาวอเมริกันเท่านั้น ทว่ามันยังทำให้วิถีการเลี้ยงไก่ของชาวอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อ 30 ปีก่อน บริษัทแปรรูปเนื้อไก่จะซื้อขายไก่กันทั้งตัว แต่ในปัจจุบัน ยอดขายร้อยละ 90 จะมาจากไก่ที่หั่นเป็นชิ้น ส่วนเนื้อที่แล่เป็นแผ่นและนักเก็ต ที่น่าตระหนกคือ การเปลี่ยนโฉมหน้าที่ต่างไปจากอดีตโดยสิ้นเชิงของฟาร์มไก่สมัยใหม่ ซึ่งมีความยาวประมาณหนึ่งสนามฟุตบอล ภายในเล้าไก่ขนาดยักษ์นี้ จะมีไก่ 30,000 ตัวยืนเบียดเสียดกันอยู่ เสียงร้องของไก่จำนวนขนาดนี้ทำให้เกิดเสียงอื้ออึงไปหมด อากาศภายในเล้าตลบอบอวลไปด้วยฝุ่น ขนไก่สีขาว และกลิ่นที่เหม็นจนต้องเอามืออุดจมูก



ไก่พวกนี้จะถูกขุนเลี้ยงในเล้านี้เพียง 37 วันเท่านั้น นอกจากวันแรกและวันสุดท้ายของชีวิต พวกมันไม่เคยได้ออกไปนอกเล้าเลย พวกมันถูกเลี้ยงด้วยอาหารสีเทาอ่อนที่เป็นส่วนผสมของเศษขนมปัง และคุกกี้ที่ทิ้งแล้ว แล้วโปะหน้าด้วยไขมันอีกชั้นหนึ่ง อาหารไก่มักทำจากอะไรก็ได้ที่มีราคาไม่แพง บางครั้งก็ผสมด้วยเศษเนื้อ ไขมัน เลือด และกระดูกที่เหลือจากโรงฆ่าไก่ ซึ่งทำให้พวกมันกลายเป็นสัตว์ที่กินเนื้อพวกเดียวกันโดยไม่รู้ตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้อาหารที่ช่วยให้ไก่อ้วนเร็วที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้



ไก่ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มไก่สมัยใหม่ เป็นไก่ที่มีหน้าอกใหญ่ เจ้าเนื้อ และบินไม่ได้ ไก่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 2.5 กิโลกรัม โดยใช้เวลาอยู่ในฟาร์มเพียง 37 วันเท่านั้น ขณะที่ในอดีตไก่จะมีน้ำหนักเพียง 1.5 กิโลกรัม และต้องใช้เวลาเลี้ยงในฟาร์มถึงสองเดือน ไก่ในฟาร์มไก่สมัยใหม่จึงมีลักษณะประหลาดเหมือนเด็กอายุ 6 ขวบที่มีน้ำหนักมากถึง 129 กิโลกรัม ขาของไก่พวกนี้โก่งเพราะรับน้ำหนักมากเกินไป ไก่จำนวนไม่น้อยป่วยเป็นโรคหัวใจเพราะอ้วน และไม่มีโอกาสได้ออกกำลังกายเลย นี่คือเนื้อไก่ที่คนอเมริกันบริโภคถึงปีละ 9 พันล้านตัว หรือชาวอเมริกันหนึ่งคนต่อไก่สามสิบตัว ในแต่ละปี



จึงไม่น่าแปลกใจที่ ระบบแปรรูปอาหารของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน กลับนำมาซึ่งโรคระบาดจากอาหารที่เป็นพิษ โดยเฉพาะจากแฮมเบอร์เกอร์ที่มีการปนเปื้อน เพราะมีแบคทีเรียที่ชื่อ อีโคไล 0157 เอช 7 ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้อาหารเป็นพิษ เพราะการสร้างคอกขุนสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ และเครื่องบดเนื้อขนาดใหญ่ ทำให้เชื้อโรคอีโคไล 0157 เอช 7 และเชื้อโรคอื่นๆ แพร่ระบาดไปตามระบบการผลิต และขนส่งอาหารของประเทศได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่เพียง 13 แห่งเท่านั้น ที่ทำหน้าที่ผลิตเนื้อวัวป้อนให้แก่คนอเมริกันเกือบทั้งประเทศจำนวน 300 ล้านคน



ระบบแปรรูปเนื้อสัตว์สมัยใหม่นี้ ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อผลิตเนื้อสัตว์ป้อนให้แก่เครือข่ายฟาสต์ฟูดขนาดยักษ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบแปรรูปแบบนี้สามารถทำให้สัตว์เพียงตัวเดียวที่ติดเชื้ออีโคไล 0157 เอช 7 กลายเป็นเนื้อบดจำนวน 14,400 กิโลกรัม ที่ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ในวันเดียว



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้