แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (29) (20/12/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (29) (20/12/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (29)

(20/12/2554)





*เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดพลาด*



อย่าลืมว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่สกปรกและอันตราย ทุกครั้งที่เราหายใจ ดื่ม กิน สัมผัส เราจะได้รับจุลินทรีย์ซึ่งสร้างสิ่งที่เป็นพิษ และเคมีที่มีพลังในการทำลาย แต่การที่คนเรายังมีสุขภาพดีอยู่ได้ ก็เพราะระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นเสมือน “กองกำลังรักษาความปลอดภัยส่วนตัว” ของเราทำหน้าที่ปกป้องเราจากอันตรายเหล่านี้ ร่างกายของเราเป็นชุมชนยักษ์ใหญ่ชุมชนหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ของเราเอง จุลินทรีย์นับล้านล้านเซลล์ที่เราให้อาศัยพำนักอยู่ และโมเลกุลจากโลกภายนอกนับล้านล้านเซลล์ ซึ่งผ่านเข้า-ออกร่างกายของเรา ด้วยเหตุนี้ ระบบภูมิคุ้มกันจึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อดูแลกฎและระเบียบวินัยในชุมชนนี้ ซึ่งมีประชากรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา



ระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้รวมกันอยู่ที่จุดเดียว เหมือนกับระบบอื่นในร่างกายอย่างระบบหายใจหรือระบบย่อยอาหาร และมันก็ไม่ได้มีอวัยวะ เช่น ปอดหรือกระเพาะอาหาร แต่ระบบภูมิคุ้มกันกลับประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งไหลเวียนไปตลอดร่างกายคล้ายกองกำลังเคลื่อนที่ของตำรวจ เม็ดเลือดขาวนี้เคลื่อนที่ไปใน 2 เส้นทางคือ เส้นเลือด และเครือข่ายที่เหมือนกันของท่อน้ำเหลือง แต่เม็ดเลือดขาวก็สามารถออกจากเส้นทางหลักนี้ได้โดยการบีบตัวเล็ดลอดออกจากเส้นเลือด และท่อน้ำเหลืองและผ่านเนื้อเยื่อของเราเข้าไป



ทุกๆ ส่วนของเนื้อเยื่อ และอวัยวะในร่างกายของเรามีเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งคอยตรวจตราจุลินทรีย์ที่อยู่ภายในตัวเรา พวกมันเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณลำไส้ซึ่งมันให้ความสนใจเป็นพิเศษ ระบบภูมิคุ้มกันของเราประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ มากกว่า 2 โหล ทั้งหมดผลิตจากไขกระดูกของเรา เม็ดเลือดขาวที่มีบทบาทเด่น ได้แก่



(1) ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) (เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน) ลิมโฟไซต์เป็นสมองของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิดคือ

(ก) ทีเซลล์ผู้ช่วยเหลือ (Helper T Cells) เป็นกลุ่มของลิมโฟไซต์นักสืบที่คอยตรวจตราโมเลกุลที่เป็นอันตราย เมื่อตรวจพบมันจะสามารถผลิตซ้ำ ตัวมันเองขึ้นมาอย่างรวดเร็วกลายเป็นกองทัพเล็กของลิมโฟไซต์ผู้ช่วยเหลือที่จะเข้าโจมตีโมเลกุลนั้นอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

(ข) ทีเซลล์ผู้ควบคุม (Regulatory T Cells) เป็นกลุ่มลิมโฟไซต์ผู้รักษาความสงบสุข มันทำหน้าที่ให้สิ่งต่างๆ สงบลงและปกป้อง (ผู้บริสุทธิ์) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หน้าที่นี้จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของเรา เท่าๆ กับการต่อสู้กับเชื้อโรคร้าย โดยที่ โปรไบโอติกมีส่วนในการสร้างทีเซลล์ผู้ควบคุมนี้

(ค) บีเซลล์ เป็นลิมโฟไซต์ผู้ผลิตแอนติบอดี้หรือตัวต้านเชื้อ (Antibody-producing lymphocyte) ด้วย มันเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านสื่อ พวกมันสร้างแอนติบอดี้ซึ่งเป็นโมเลกุลอันเปรียบได้กับแผ่นโปสเตอร์ประกาศจับเพื่อช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวอื่นๆ สามารถแยกแยะความแตกต่างของ “คนร้าย” กับ “คนดี” ได้



(2) ฟาโกไซต์ (Phagocyte) (ทหารราบ)

ฟาโกไซต์ท่องไปทั่วร่างกายเพื่อมองหา “ผู้ร้าย” ที่จะเข้าโจมตี เมื่อฟาโกไซต์พบผู้ต้องสงสัย พวกมันจะเข้าไปล้อมกินและย่อยสลาย จากนั้นพวกฟาโกไซต์ก็จะตาย นอกจากฟาโกไซต์จะมีหน้าที่ล้อมกินแล้ว พวกมันยังมีอาวุธเคมีที่มีความเป็นพิษสูงด้วย พวกมันสามารถฆ่าจุลินทรีย์ด้วยการพ่นพิษเข้าถล่มเซลล์เป้าหมายได้



(3) เดนดริติกเซลล์ (Dendritic Cells) (สายลับ)

เดนดริติกเซลล์ซุ่มซ่อนตัวอยู่ในทุกๆ เนื้อเยื่อในร่างกายเรา พวกมันคอยดักจับโมเลกุลแล้วลากมันไปให้ทีเซลล์จัดการ พร้อมกับรายงานว่าเป็นโมเลกุลที่ถูกพบในบริเวณพื้นที่เสียหายหรือไม่ เดนดริติกเซลล์ทำงานในระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ มันยังช่วยฝึกทีเซลล์เพื่อให้กลายเป็นผู้ช่วยเหลือหรือผู้ควบคุมอีกด้วย นี่คือกุญแจสำคัญสำหรับความเชื่อมโยงกันระหว่างโปรไบโอติก และการพัฒนาลิมโฟไซต์ผู้ควบคุมที่จะคอยลดการอักเสบ



(4) มาสต์เซลล์ (Mast Cells) (หน่วยบรรเทาอัคคีภัย)

มาสต์เซลล์เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีอุปกรณ์ในทำนองเดียวกับหน่วยดับเพลิงที่มีประแจไขหัวจ่ายท่อน้ำดับเพลิง ส่วนใหญ่พวกมันอาศัยอยู่ภายในบริเวณของร่างกายที่สัมผัสกับโลกภายนอก ได้แก่ ผิวหนัง ทางเดินหายใจ และ “ท่อ” ที่พาดผ่านจากส่วนบนของร่างกาย ตลอดลงมาถึงทางเดินอาหาร ในขณะที่ฟาโกไซต์กินและพ่นสารพิษเพื่อฆ่าผู้บุกรุก แต่มาสต์เซลล์ชอบที่จะพ่นของเหลวหรือน้ำใส่ศัตรูเพื่อขับออกจากร่างกายมากกว่า



เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายของเราเผชิญหน้ากับจุลินทรีย์ที่เป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วย เช่น ไวรัสหวัด ระบบภูมิคุ้มกันจะกระโดดเข้าปฏิบัติการ โดยฟาโกไซต์ซึ่งลาดตระเวนร่างกายอยู่ตลอดเวลา เพื่อมองหาสิ่งที่ก่อปัญหาปรากฏตัวขึ้น ณ จุดเกิดเหตุ พวกมันจำไวรัสหวัดบางตัวได้ รวมถึงเชื้อโรคอื่นๆ จากประกาศจับที่บีเซลล์หรือลิมโฟไซต์ผู้ผลิตแอนติบอดี้ติดเอาไว้ ฟาโกไซต์เริ่มเข้าสวาปามพวกมันในทันทีทันใด และใช้สารพิษเป็นเครื่องปรุงรส หลังจากเซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้ย่อยสลายเสร็จแล้ว พวกมันก็ตาย



หากจุลินทรีย์ที่มีแนวโน้มเป็นอันตราย ทั้งหลายถูกกำจัดจนไม่เหลืออะไรให้ฟาโกไซต์ที่เหลืออยู่ตื่นเต้นอีกแล้ว พวกมันจะสงบลงแล้วกลับไปลาดตระเวนและคอยมองหาภัยคุกคามต่อไป เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาโดยที่ตัวเราไม่เคยสังเกตรู้เลยว่า ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งเพียงไร เพื่อทำให้ส่วนใหญ่เราไม่เป็นหวัด



หากนิ้วเราโดนตะปูขึ้นสนิมตำจนเลือดออก และต่อมานิ้วของเราก็เกิดอาการบวมแดงและปวด ที่เป็นเช่นนี้เพราะตะปูขึ้นสนิมนำเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากเข้ามาด้วยตอนมันทะลุผิวหนังของเรา ในตอนนั้นเอง ฟาโกไซต์ที่กำลังลาดตระเวนพร้อมอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว และถูกระดมพลมาเพิ่มด้วยผิวหนังที่เปิดออกเพราะเป็นแผลนั่นเอง เนื่องจากเนื้อเยื่อที่เสียหายจะผลิตสารเคมีคล้ายฮอร์โมนซึ่งสามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฟาโกไซต์จะระบุจุดเกิดความเสียหายที่ผิวหนังในทันที และเริ่มพยายามกินจุลินทรีย์ทั้งหมดที่มันพบในบริเวณที่เกิดแผล แต่เชื้อแบคทีเรียนั้นทรหดมาก



พวกมันจำนวนมากไม่เพียงรอดจากการโจมตีแรกเริ่มของระบบภูมิคุ้มกันได้เท่านั้น พวกมันยังเริ่มแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนด้วย เมื่อฟาโกไซต์เริ่มตระหนักว่า ตัวเองกำลังเพลี่ยงพล้ำในการสู้รบ มันจึงเรียกระดมกำลังพลเข้ามาเสริม ซึ่งที่จริงเป็นการระดมให้เลือดไหลเข้ามาในบริเวณดังกล่าว



เมื่อเลือดไหลไปที่แผลเพิ่มมากขึ้น เนื้อเยื่อก็จะบวมแดง กระบวนการนี้เรียกว่า การอักเสบ จะเห็นได้ว่า ในการนำเซลล์เม็ดเลือดขาวไปสู่สนามรบนั้น อาการอักเสบมีบทบาทสำคัญยิ่งในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน จำนวนเซลล์ที่ล้มตายทั้งฝ่ายจุลินทรีย์ และเซลล์เม็ดเลือดขาวทับถมกองพะเนินทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำขุ่นๆ สีเหลือง ซึ่งเรียกว่า หนอง...ที่กล่าวมานี้ เป็นแค่การต่อสู้เล็กๆ เท่านั้น



แต่ถ้าหากบนตะปูขึ้นสนิมนั้นมีเชื้อบาดทะยักด้วย ลำพังแค่ฟาโกไซต์จะเอาไม่อยู่ ระบบภูมิคุ้มกันของเราจึงต้องยกระดับการต่อสู้จากการต่อสู้เล็กๆ ไปเป็น “สงคราม” โดยคราวนี้ระบบภูมิคุ้มกันจะใช้ผู้นำคนใหม่ที่มีไหวพริบ และอาวุธที่ทรงพลังมากขึ้นกว่าของฟาโกไซต์ ซึ่งก็คือ ทีเซลล์ผู้ช่วยเหลือซึ่งได้รับการฝึกฝนจากเดนดริติกเซลล์ ถ้าหากเราได้รับการฉีดวัคซีนกันบาดทะยักมาแล้ว ปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการอักเสบครั้งนี้ก็จะเร็วและมีประสิทธิผล



แต่ในขณะเดียวกัน สารเคมีที่ผลิตขึ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันในระหว่างการอักเสบจะเริ่มส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของร่างกายนอกเหนือบริเวณเกิดเหตุทำให้มีไข้ เพราะการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเมื่อเป็นไข้จะไม่เอื้ออำนวย และทำให้การเจริญเติบโตของเชื้อโรคชะลอลง



ทีเซลล์ผู้ควบคุมคอยคุมเชิงดูสถานการณ์อยู่ หากมันพบว่าพวกเชื้อแบคทีเรียกำลังสูญเสียพื้นที่ในที่สุด มันก็จะส่งสารเคมีที่จำเป็นในการให้สัญญาณสงบศึก ฟาโกไซต์และลิมโฟไซต์ผู้ช่วยจึงสลายกำลังพล สารเคมีส่งสัญญาณเรียกระดมการตอบสนองที่ทำให้เกิดการอักเสบถูกระงับการไหลของเลือดเข้ามาในพื้นที่ที่เสียหายช้าลง การอักเสบเริ่มบรรเทาไข้เริ่มลด...ที่กล่าวมาทั้งหมดคือกลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราในกรณีที่ทำงานตามปกติ โดยที่ หนึ่งในหน้าที่ของโปรไบโอติก ก็คือการช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว ทีเซลล์ผู้ควบคุมในการคอยดูแลให้การอักเสบที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้การควบคุม



แต่ระบบภูมิคุ้มกันก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป และบางครั้งยังอาจเกิดความผิดพลาดด้วย หากฐานข้อมูลระบบภูมิคุ้มกันของเราเก็บบันทึกผิดพลาด เช่น ไประบุโมเลกุลที่อันตรายว่าปลอดภัย ผลก็อาจเป็นการเจ็บป่วยซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งด้วย จะว่าไปแล้ว มะเร็งคือความล้มเหลวในการรับรู้ถึงอันตรายจากภายในระบบภูมิคุ้มกันของเรานั่นเอง อันที่จริงแล้ว มะเร็งคือโรคหลายๆ โรคที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดล้วนเริ่มต้นจากเซลล์ในร่างกายของเรามีดีเอ็นเอ หรือสารพันธุกรรมที่ได้รับความเสียหาย ผลของความเสียหายนี้ทำให้เซลล์กลายเป็นเซลล์ผิดปกติในกลุ่มเซลล์ชนิดเดียวกัน เช่น เซลล์หน้าอกผิดปกติในกรณีมะเร็งทรวงอก เซลล์ลำไส้ผิดปกติในกรณีมะเร็งลำไส้เซลล์ผิดปกติเหล่านี้ ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างที่เซลล์ปกติทำได้ และยังเจริญเติบโตลุกลามนอกเหนือการควบคุมด้วย



ในความเป็นจริง ระบบภูมิคุ้มกันที่เฝ้าระวังสามารถตรวจจับเซลล์มะเร็ง และทำลายพวกมันได้ แต่ต้องอาศัยกลเม็ดสูงกว่าในการตรวจจับอันตรายในเซลล์ที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับเซลล์ปกติ ด้วยเหตุนี้ บางครั้งระบบภูมิคุ้มกันจึงปล่อยให้เซลล์มะเร็งผ่านไปได้ และยินยอมให้มันเจริญเติบโต... นี่เป็น มุมมองและการค้นพบใหม่ที่สำคัญมาก ในหนังสือ “โปรไบโอติก มหัศจรรย์จุลินทรีย์ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพดี” ของแกรี่ ฮัฟฟ์นาเกิล ซึ่งผมจะอธิบายเพิ่มเติมต่อไป




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้