แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (13) (23/8/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (13) (23/8/2554)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ

เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (13)


(23/8/2554)





*ความสำคัญของอาหารแบบยุคหิน*



สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับกรณีศึกษาของผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้นร้ายแรง และสามารถบำบัดรักษาตนเองจนรอดตายมาได้อย่างน้อยห้าปีขึ้นไปราวกับปาฏิหาริย์ด้วย วิถีธรรมชาติบำบัด หรือ การแพทย์แบบผสมผสาน (บูรณาการ) นั้นก็คือ ผู้ป่วยทุกราย ล้วนใช้ “โภชนบำบัด” ที่เป็นโภชนาการของมนุษย์ในยุคก่อนทำการเกษตรเป็นหลักทั้งสิ้น



ที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของ ดร.ทอมอู๋ กับกรณีของคุณนวลพรรณ โอภาศเจริญสุข หรือ “นักสู้ 7 มะเร็ง” ที่ได้กล่าวไปแล้ว สิ่งนี้อธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร? นายแพทย์เฉลียว ปิยะชน ผู้เขียนหนังสือ “รู้สู้โรค” (สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2552) ได้อธิบายอย่างน่าฟังดังต่อไปนี้



ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ในมุมมองเชิงบูรณาการ อาหารคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิต ให้พลังงาน เป็นสิ่งจำเป็นในการบำรุงรักษาซ่อมแซมชีวิต และยังช่วยป้องกันโรคได้อีกด้วย นอกจากนี้ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานของการวิวัฒนาการจนทำให้เราเป็น “มนุษย์” ได้อย่างเช่นปัจจุบันนั้น อาหารเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะในทุกขั้นตอนของวิวัฒนาการ วิธีการหาอาหารหรือการได้มาซึ่งอาหารจะมีพัฒนาการตามไปด้วย ซึ่งทำให้คุณลักษณะของอาหารเปลี่ยนไป จนกล่าวได้ว่า คุณค่าของอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการกำหนดความเป็นไปแห่งสุขภาพของมนุษยชาติ ยกตัวอย่างเช่น คุณค่าที่ “แย่ลง” ของอาหารแปรรูปจากอุตสาหกรรมอาหาร ย่อมมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดวิกฤตสุขภาพของผู้คนจำนวนมากที่อยู่ในสังคมอุตสาหกรรม และหลังอุตสาหกรรม เป็นต้น



มุมมองของพันธุกรรมศาสตร์ ในการทำความเข้าใจเรื่องโภชนาการก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ข้อมูลพันธุกรรมที่บันทึกไว้ในดีเอ็นเอในเซลล์ แต่เซลล์ของร่างกายคนเรานั้น แม้อาจจะถูกปรับเปลี่ยนได้ตามปัจจัยต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม หรืออาหาร ฯลฯ แต่ต้องใช้เวลายาวนานมาก คาดว่าอย่างน้อยสองหมื่นปีขึ้นไป ซึ่งต่างจากการกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็ง ซึ่งเกิดได้เร็วกว่า แค่เป็นปีๆ หรือสิบกว่าปีเท่านั้น ข้อมูลที่มีในดีเอ็นเอนี้ ส่วนหนึ่งเป็นตัวกำหนดการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ หรือของเซลล์แต่ละเซลล์อันหลากหลายหน้าที่ ซึ่งเป็นการกำหนดกระบวนการทางสรีระ และชีวเคมีของร่างกายเป็นกรอบไว้เท่านั้น



เพราะฉะนั้น อาหารที่คนเรารับประทานเข้าไป จะได้รับการย่อยปรับแต่งตามกรอบของพันธุกรรมที่อยู่ในตัวเราตามยุคสมัยนั้นๆ โดยที่ข้อกำหนดทางพันธุกรรมของมนุษย์ในศตวรรษยังน่าจะเหมือนกันมากสุดกับข้อกำหนดทางพันธุกรรมของมนุษย์ในช่วงท้ายของยุคหิน (Late Paleolithic) หรือยุคก่อนเกษตรกรรม (Pre-agricultural) เมื่อหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว



ทั้งนี้ก็เพราะว่าในช่วงเวลาหนึ่งหมื่นปีที่ผ่านมา การคัดสรรตามธรรมชาติน่าจะมีผลในการปรับเปลี่ยนทางพันธุกรรมต่อมนุษย์น้อยมาก ทางพันธุกรรมของคนเราจึงยังคงเหมือนกับบรรพบุรุษของเราในช่วงท้ายของยุคหิน เมื่อหนึ่งหมื่นถึงสองหมื่นปีก่อน อันเป็นยุคก่อนที่มนุษย์จะหันมาทำเกษตรกรรม



สรุปสั้นๆ ก็คือ การปรับเปลี่ยนทางพันธุกรรมของคนเรา ไม่สามารถเปลี่ยนให้ทันรูปแบบทางโภชนาการที่เปลี่ยนไป นับตั้งแต่มีการทำเกษตรกรรมเมื่อหนึ่งหมื่นปีก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรูปแบบทางโภชนาการของคนเราได้เปลี่ยนไปอีกอย่างสุดขั้ว เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และเมื่อธุรกิจฟาสต์ฟูดได้เริ่มขยายตัวไปทั่วโลกตั้งแต่เมื่อสามสิบปีก่อน



ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาจากมุมมองของพันธุกรรม การบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบัน จึงน่าจะเป็นโภชนาการของมนุษย์ก่อนยุคทำการเกษตรเป็นหลักหรือ “อาหารแบบยุคหิน” นั่นเอง เพราะแม้จะเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะกลับไปมีวิถีชีวิตแบบยุคหินอีกก็จริง แต่ในแง่โภชนาการ คนเราควรยึดอาหารการกินแบบยุคหินเป็นหลัก เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ



เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องมาดูกันว่า มนุษย์ในยุคหินได้อาหาร และสารอาหารอะไรที่แตกต่างไปจากมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเราได้ทราบว่า



(1) มนุษย์ในยุคหินได้รับอาหารที่มีแคลอรีสูง และได้สารอาหารที่มีไฟเบอร์มากกว่าคนในยุคปัจจุบัน แต่มีไขมันน้อยกว่า คือเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และมีใยไฟเบอร์สูงนั่นเอง



(2) สารอาหารละเอียดจากพืช (micronutrients) ของมนุษย์ในยุคหิน ได้มาจากผลไม้ ราก (หัว) และอื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกข้าว
(cereals) โดยมีปริมาณประมาณ 65-70% ของปริมาณอาหารทั้งหมด มิหนำซ้ำส่วนใหญ่จะรับประทานภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากเก็บมา และส่วนใหญ่ไม่ได้หุงต้มอาหารจากพืชเหล่านี้มีปริมาณเฉลี่ยของวิตามิน และเกลือแร่สูง จะเห็นได้ว่า บรรพบุรุษของเราในยุคก่อนทำเกษตรกรรม ได้รับวิตามิน และเกลือแร่เกือบทุกชนิดมากกว่าที่แนะนำกันในปัจจุบันมาก



(3) วิตามินซีที่มนุษย์ในยุคหินได้รับเฉลี่ยอยู่ที่ 600 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่คนทั่วไปในยุคปัจจุบันได้รับหลายเท่ามาก สารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ก็เช่นกัน



(4) มนุษย์ในยุคหินบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตในปริมาณ 45-50% ของพลังงาน ซึ่งเป็นอัตราส่วนเท่าๆ กับคนในประเทศพัฒนาแล้วปัจจุบัน แต่ที่ต่างกันมากคือ ในยุคหิน คาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่ได้มาจากผักและผลไม้ มาจากข้าวน้อยมาก และไม่มีในรูปแบบของแป้งเลย ขณะที่มนุษย์ยุคปัจจุบันบริโภคคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง หรือในรูปแบบของน้ำตาลและของหวานเป็นหลัก ซึ่งให้แต่พลังงาน แต่ปราศจากสารอาหารที่สำคัญ เช่น กรดอะมิโนจำเป็น กรดไขมันจำเป็น รวมทั้งสารอาหารละเอียดและสารอาหารจากพืชชนิดต่างๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็ง



(5) กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน คือ โอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ซึ่งเป็นตัวกำหนดสุขภาพที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง มนุษย์ในยุคนั้นรับประทานกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน โอเมก้า-6 ต่อโอเมก้า-3 ในอัตราส่วนระหว่าง 4 ต่อ 1 หรือ 1 ต่อ 1 ซึ่งหมายความว่า มนุษย์ในยุคหินได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 สูงกว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันมาก เพราะคนสมัยนี้ได้รับหรือบริโภคกรดไขมันโอเมก้า-6 มากเกินไปจากน้ำมันพืชต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหาร จึงควรลดการบริโภคน้ำมันพืชลง และหันมารับประทานปลาให้มากขึ้น เพื่อได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลา



(6) ไฟเบอร์ที่มนุษย์ในยุคหินได้รับนั้นมาจากผลไม้ ใบ หัว (ราก) เมล็ดพืช และผักต่างๆ ที่ไม่ใช่พวกข้าว ปัจจุบันเราทราบกันแล้วว่า ไฟเบอร์หรือเส้นใยที่มีในพืชนั้น ไม่เป็นสารอาหาร ไม่ให้พลังงาน แต่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีสุขภาพ เพราะไฟเบอร์มีหน้าที่หลัก คือ ส่งเสริมให้มีการขับถ่ายอุจจาระอย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอ การรับประทานไฟเบอร์ต่ำ หากพบร่วมกับการเกิดท้องผูก อาจก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้



สรุปได้ว่า อาหารยุคหินแตกต่างจากอาหารยุคปัจจุบันดังนี้


(ก) อาหารยุคหินมีไขมันน้อยกว่าอาหารยุคปัจจุบันครึ่งหนึ่ง แต่มีโปรตีนมากกว่า


(ข) ไม่มีอาหารคาร์โบไฮเดรตแต่งละเอียดหรือน้ำตาล หรือมีน้อยมาก


(ค) ได้รับเกลือโซเดียมน้อยเพียง 1 ใน 4 ของปัจจุบันเท่านั้น


(ง) อาหารในยุคหินได้รับสารอาหารละเอียดที่สำคัญในปริมาณสูง โดยเฉพาะวิตามินซี กรดไขมันจำเป็นต่างๆ


(จ) ได้รับไฟเบอร์ห้าถึงสิบเท่ามากกว่าปัจจุบันจากผัก และผลไม้ไม่ใช่ข้าว


(ฉ) มีแอลกอฮอล์น้อยหรือไม่มีเลย



นี่คือรูปแบบของอาหารแบบยุคหิน ที่เราต้องนำมาประยุกต์ใช้เป็น “โภชนบำบัด” ในการป้องกัน และบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้