แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (25) (22/11/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (25) (22/11/2554)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (25)

(22/11/2554)




*มหัศจรรย์โปรไบโอติก*
       


       อาหาร “โปรไบโอติก” (Probiotics) หรือที่ถูกต้องเรียกเต็มๆ ว่า อาหารที่มีจุลินทรีย์กลุ่มโปรไบโอติกดำรงอยู่ มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนเรามากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากมายนัก สมควรที่จะรับประทานทุกๆ วันร่วมกับผักสด และผลไม้ นี่คือ หนึ่งในบทเสนอของผมในข้อเขียนชุดนี้เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิชีวิต หรือระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ได้ด้วย หากพวกเรามีความเห็นพ้องร่วมกันว่า “ยา” ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาสุขภาพ แต่ “อาหาร” ต่างหากคือ ปัจจัยพื้นฐานของการมีสุขภาพแข็งแรง
       


       คำว่า “โปรไบโอติก” นี้มาจากภาษากรีก โดยมีความหมายว่า “สิ่งมีชีวิตที่ส่งเสริมการมีชีวิต” คำว่า โปรไบโอติกนี้ ในความหมายกว้างหมายถึง จุลินทรีย์ทุกชนิดที่เป็นมิตรต่อสุขภาพที่มักพบอยู่ภายในร่างกายขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ พวกมันจะอยู่ในระบบย่อย และระบบทางเดินอาหาร และในอาหารหมักบ่ม อาทิ โยเกิร์ต เนยแข็ง และผักดองบางชนิด 
       


       กลุ่มประชากรโปรไบโอติกที่มาอาศัยสิงสู่อยู่ในระบบย่อย และระบบทางเดินอาหารของคนเรานั้น มีทั้งพวกที่อยู่แบบถาวร และพวกที่เข้าไปท่องเที่ยวเป็นครั้งคราวโดยอาศัยเดินทางมากับอาหารหรือการบริโภคโดยตั้งใจ ปัญหาก็คือ มนุษย์ปัจจุบันมีจำนวนประชากรของพวกโปรไบโอติกน้อยเกินไป หรือน้อยกว่าจำนวนที่ควรจะมีซึ่งจะเอื้อให้พวกมันมีความสามารถทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิผล สิ่งนี้เปิดโอกาสให้เจ้าแบคทีเรียอื่นๆ ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับเราสามารถขยายจำนวนประชากรขึ้นมาก จนทำลายความสมดุลของชุมชนแบคทีเรียในร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะในการทำงานของระบบย่อยอาหาร
       


       ในความเป็นจริง ผลกระทบจากการขาดแคลนโปรไบโอติก ในร่างกายของคนสมัยนี้กว้างไกลกว่าที่เคยคิดไว้มาก เพราะการแพทย์ยุคศตวรรษที่ 21 ได้ค้นพบแล้วว่า โปรไบโอติกมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของมนุษย์ อันที่จริงแล้ว พวกมันจะคอยส่งสัญญาณให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อให้ลดการตอบโต้ในเชิงทำลาย รวมถึงการก่อปฏิกิริยาที่จะนำไปสู่อาการอักเสบของเนื้อเยื่อ กล่าวโดยสรุปก็คือ การมีโปรไบโอติกในร่างกายน้อยเกินไป จะก่อผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง และนั่นย่อมหมายถึงการส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยในทุกๆ ด้าน
       


       อย่างไรก็ดี แม้ว่าร่างกายของคนสมัยนี้ มักจะมีจำนวนโปรไบโอติกไม่เพียงพอ แต่ปัญหานี้แก้ไขได้ไม่ยาก โดยแค่เพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารสุขภาพ หรืออาจรวมทั้งอาหารเสริม โดยพิจารณาคัดเลือกให้ถี่ถ้วนเท่านั้น ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจบทบาทของโปรไบโอติกให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นกันดีกว่า
       


       โปรไบโอติกทำหน้าที่ปกป้องเราอยู่สองด้าน ด้านหนึ่งมันจะต่อสู้กับจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายในระบบทางเดินอาหารของเรา หรือที่ “ลำไส้” เป็นส่วนใหญ่ แต่มันไม่ได้ “ฆ่า” จุลินทรีย์พวกนั้นทั้งหมด อันที่จริงแล้วโปรไบโอติกแค่ไปทำให้จำนวนประชากรของจุลินทรีย์โดยรวมมีน้อยลงมาก จนกระทั่งไม่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ หรือเกิดโรคภัยต่างๆ ได้
       


       ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทของโปรไบโอติก คือ การช่วยระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานอย่างเหมาะสม ระบบภูมิคุ้มกันของคนเรานั้น ทำงานคล้ายกับกองกำลังตำรวจที่คอยปกป้องเราจากเชื้อโรคร้าย แต่ทว่าบางทีมันก็ทำเกินกว่าเหตุ และก่อให้เกิดโรคแทนที่จะรักษา กล่าวคือ ระบบภูมิคุ้มกันที่ไวต่อการกระตุ้นเกินไป ก็จะปลดปล่อยสารที่เป็นเสมือนอาวุธต่อต้านออกไป ยังสิ่งที่ไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกาย เช่น ฝุ่น ขนแมว ไข่ ถั่วลิสง ผลก็คือมันก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา ปฏิกิริยาเหล่านี้ มักจะไม่ค่อยน่ารื่นรมย์สำหรับผู้ที่เกิดอาการ และในหลายๆ ครั้งก็อาจมีระดับรุนแรงถึงขั้นคุกคามชีวิตได้ทีเดียว ในบางกรณี ระบบภูมิคุ้มกันที่ไร้ขอบเขตนี้ ก็อาจหันมาเล่นงานเซลล์ในร่างกายของเราเองด้วยซ้ำ ก่อให้เกิดโรคที่เป็นขึ้นเองจากการมีภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติ อาทิ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคข้อรูมาตอยด์ เหล่านี้เป็นต้น
       


       เพราะฉะนั้น เราจึงควรเพิ่มจำนวนประชากรโปรไบโอติกภายในลำไส้ของเรา โดยการบริโภคอาหารและอาหารเสริมที่มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ผสมอยู่ แต่เราก็จะต้องจัดที่อยู่ที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตให้แก่พวกมันด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ คำกล่าวที่เป็นที่รู้จักกันดีที่บอกว่า “เราเป็นอย่างที่เรากิน” นั้น ควรจะต้องกล่าวเสริมเพิ่มเติมไปอีกด้วยว่า “สภาพแวดล้อมภายในลำไส้ของเรา ก็เป็นไปตามสิ่งที่เรารับประทานเข้าไปด้วยเช่นกัน”
       


       พวกเราจะต้องตระหนักให้มากกว่านี้ว่า อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ฝ่ายร้ายในลำไส้ที่ทำอันตรายต่อสุขภาพของเรา ในขณะที่อาหารบางประเภทที่เรียกว่า “พรีไบโอติก” จะส่งเสริมความเข้มแข็งของโปรไบโอติกในลำไส้ของเรา พรีไบโอติกหมายถึงอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีเส้นใยอาหารประเภทต่างๆ รวมทั้งยังมีโปรตีนและไขมันซึ่งมีบทบาทช่วยจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพให้ขยายพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้นในร่างกายของเรา มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่บัญชีรายชื่ออาหารพรีไบโอติกนั้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อันเปี่ยมไปด้วยใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระอยู่แล้ว เช่น ผักสด ผลไม้สด และเมล็ดธัญพืชไม่ขัดขาว เพียงแต่เมื่อมองอาหารเพื่อสุขภาพเหล่านี้ จากมุมมองของโปรไบโอติก เราจะเรียกอาหารเพื่อสุขภาพเหล่านี้ว่า อาหารพรีไบโอติก เท่านั้นเอง
       


       เพียงแต่ ในมุมมองของการแพทย์เชิงโภชนบำบัดแห่งศตวรรษ 21 ทั้งโปรไบโอติก และพรีไบโอติก ไม่ควรเป็นแค่เมนูเสริมสำหรับทางเลือกเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่ควรยกฐานะของมันให้เป็นกลุ่มอาหารที่จำเป็นต่อชีวิตเรากลุ่มหนึ่งที่ควรจะรับประทานทุกวันมิให้ขาดเลยทีเดียว 
       


       เพราะทั้งโปรไบโอติก และพรีไบโอติกไม่เพียงแต่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของเราเท่านั้น แต่มันยังมีความจำเป็นต่อการมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์เป็นปกติด้วย นายแพทย์แกรี่ ฮัฟฟ์นาเกิล (Gary Huffnagle) ผู้เขียนหนังสือ “โปรไบโอติก มหัศจรรย์จุลินทรีย์ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพดี” (The Probiotics Revolution) (สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2553) กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีหลักฐานใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่า โปรไบโอติกสามารถป้องกัน และรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรังได้ 
       


       ผลการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ พบข้อยืนยันว่า โปรไบโอติกช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อหรืออย่างน้อยก็ช่วยเร่งระยะเวลาในการฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วย โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ อีกด้วย ศักยภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่งของโปรไบโอติก คือ คุณประโยชน์ในด้านการช่วยผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการป่วยเป็นโรคเรื้อรัง การวิจัยเรื่องโปรไบโอติกทำให้นักวิชาการได้ค้นพบความเกี่ยวข้องระหว่างวิชาการสาขาจุลชีววิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา โภชนาการ และสรีรศาสตร์อย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ตัวอย่างการค้นพบข้างต้นนี้ได้แก่
       


       (1) การย่อยอาหารผิดปกติ (ท้องร่วง, โรคลำไส้อักเสบ, การขับถ่ายผิดปกติเรื้อรัง และอื่นๆ) ปัจจุบันโปรไบโอติกถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีระบบขับถ่ายไม่ปกติ รวมถึงปัญหาการย่อยอาหารอื่นๆ โดยทั่วไป การทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน คือ สาเหตุของการมีปัญหาอาหารไม่ย่อยเรื้อรัง ซึ่งก่อให้เกิดอาการบวมอักเสบของลำไส้ เพราะระบบภูมิคุ้มกันดันไปสร้างปฏิกิริยาต่อต้านจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในลำไส้ตามปกติ โดยสำคัญผิดคิดว่าเป็นศัตรูผู้รุกราน ปฏิกิริยาตอบสนองแบบนี้ทำให้เกิดการอักเสบ และมีแผลเกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อในบริเวณนั้น แต่โปรไบโอติกมีศักยภาพที่จะบำบัดอาการเหล่านี้ได้
       


       (2) อาการแพ้ผื่นตามผิวหนัง หอบหืด และอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เราสามารถใช้โปรไบโอติกควบคุมปัญหาเหล่านี้ได้
       


       (3) โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคมะเร็งและอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบัน วิธีแก้ปัญหาโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือดได้เปลี่ยนจุดสนใจจากคอเลสเตอรอลไปยังการเกิดอาการบวมอักเสบในเนื้อเยื่อของหลอดเลือด ทำให้บทบาทของโปรไบโอติกเป็นที่จับตา ขณะเดียวกัน การขาดโปรไบโอติกก็น่าจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ้วน หรือเป็นโรคอ้วนด้วย
       


       นอกจากนี้ บทบาทของโปรไบโอติกน่าจะมีความสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย ไม่เพียงแค่นั้น อาหารเสริมที่มีโปรไบโอติก ยังช่วยให้ผู้ป่วยเด็กที่เป็น โรคออทิสติก อันเป็นสภาวะที่เกี่ยวกับการขาดความสามารถในการสื่อสาร และการเข้าสังคม รวมถึงการมีพฤติกรรมไม่ปกติต่างๆ ให้มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด...เรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของโปรไบโอติกที่ควรกล่าวถึงยังมีอีกมาก



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้