แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (22) (25/10/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (22) (25/10/2554)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ

เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (22) 

(25/10/2554)


*โลกาภิวัตน์ของโรคอ้วน*


       
       ทุกวันนี้ มีผู้คนกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลกที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานและเป็นโรคอ้วน นี่เป็นจำนวนที่สูงกว่าคนที่เป็นโรคเบาหวาน 230 ล้านคน และคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 1.5 พันล้านคน ทั้งๆ ที่เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ประชากรโลกที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และเป็นโรคอ้วนมีไม่ถึง 100 ล้านคน และมีเพียง 1 ใน 20 ของจำนวนนั้นที่เป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
       


       ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ใน “โลกที่อ้วน” (The World is Fat) ที่เกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เกี่ยวกับวิธีการกิน ดื่ม และการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันของพวกเรา พร้อมๆ กับการแพร่ระบาดของโรคอ้วน การเกิดขึ้นของโรคเรื้อรังอย่างโรคหัวใจ และโรคมะเร็งก็เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่ามันก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และในวิถีการกินและดื่มของพวกเราด้วยเช่นกัน
       


       ปัญหาโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคอ้วน จึงควรมองจากภาพกว้างอย่างเป็นองค์รวมในฐานะที่เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อการตายของผู้คนจำนวนมาก และมีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยที่มันแยกไม่ออกจากความเป็นโลกาภิวัตน์ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และตัวระบบทุนนิยมเองซึ่งได้เปลี่ยนแปลงวิธีการกินอาหารของผู้คนในยุคปัจจุบัน ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้เป็นโรคอ้วน 4 อย่างด้วยกันคือ
       


       (1) คนปัจจุบันมีแนวโน้มกินของว่างมากขึ้น ของว่างในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มน้ำอัดลม กาแฟ น้ำผลไม้ ขนมหวานบรรจุห่อ ขนมเค้ก แต่ละอย่างมีแคลอรีเกือบจะเท่ากับอาหารเช้าหรือกลางวันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น การกินของว่าง หรือการกินจุบกินจิบของผู้คนในยุคนี้ จึงทำให้พวกเขากินอาหารเทียบเท่า 4-5 มื้อต่อวันโดยไม่รู้ตัว 
       


       การบริโภคของว่างคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของแคลอรีที่ผู้คนกินเข้าไปทุกวัน หรือประมาณ 300 แคลอรี ขณะเดียวกัน ความหนาแน่นของพลังงานในอาหารว่างสมัยนี้ก็เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก รวมทั้งขนาดและจำนวนครั้งในการกินอาหารว่างต่อวันด้วย
       


       (2) คนปัจจุบันมีแนวโน้มกินอาหารช่วงสุดสัปดาห์มากขึ้น การกินและดื่มในปริมาณที่มากขึ้นระหว่างวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ซึ่งกลายเป็นช่วงสุดสัปดาห์ใหม่ที่มี 3 วัน ทำให้การควบคุมอาหารเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นมาก
       


       (3) คนปัจจุบันมีแนวโน้มกินอาหารฟาสต์ฟูดมากขึ้น นอกจากจะกินของว่างทุกวัน และกินมากขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์แล้ว ผู้คนในยุคนี้ยังกินอาหารฟาสต์ฟูดมากขึ้น โดยที่ร้านอาหารฟาสต์ฟูดมีแนวโน้มที่จะนำเสนออาหารขยะ และน้ำอัดลมในขนาดที่ใหญ่ขึ้นเพื่อส่งเสริมการขาย ทำให้ผู้คนในยุคนี้กินมากขึ้นตามไปด้วย เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะกินอาหารเท่าที่มีอยู่ในจานด้วยความเคยชินโดยไม่รู้ตัว
       


       (4) คนปัจจุบันมีแนวโน้มกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น ชีวิตที่รีบเร่งของผู้คนในยุคนี้ ทำให้ผู้คนกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา มากกว่าครึ่งของเงินที่ชาวอเมริกันจ่ายเป็นค่าอาหารทุกวันนี้ เป็นการจ่ายไปสำหรับอาหารที่กินนอกบ้าน มิหนำซ้ำอาหารฟาสต์ฟูดคือส่วนใหญ่ของอาหารที่ชาวอเมริกันกินนอกบ้าน
       


       จะเห็นได้ว่า แนวโน้มทั้ง 4 อย่างข้างต้น ไม่ว่าการกินของว่างมากขึ้น กินอาหารช่วงสุดสัปดาห์มากขึ้น กินอาหารฟาสต์ฟูดมากขึ้น และกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น ล้วนส่งผลไปในทิศทางเดียวกันคือทำให้ผู้คนในยุคนี้อ้วนขึ้น แต่นี่ก็ยังไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ผู้คนในยุคนี้อ้วนขึ้นเพราะ นิสัยการดื่ม ของพวกเขาด้วย มิใช่แค่ นิสัยการกิน เท่านั้น
       


       ปัจจุบัน ผู้คนมักดื่มเครื่องดื่มที่มีแคลอรีมากโดยที่ไม่ได้ลดปริมาณอาหารที่กินเข้าไปแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่นิสัยการดื่มเครื่องดื่มที่มีแคลอรีมากประกอบกับการรับประทานอาหารของพวกเรานั้น เพิ่งมีมาได้ไม่กี่สิบปีมานี้เอง บทบาทของเครื่องดื่มที่มีแคลอรีมากต่อการแพร่ระบาดของโรคอ้วน จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย
       


       เครื่องดื่มที่มีแคลอรีมากนี้ได้แก่ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ นมไม่พร่องมันเนย เครื่องดื่มให้พลังงาน และชาที่เพิ่มน้ำตาลเข้าไปมาก วิธีการดื่มและสิ่งที่คนเราดื่มในทุกวันนี้ เป็นผลมาจากความก้าวหน้าในกระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย และแคมเปญการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลกในการทำการตลาด และการโฆษณาด้วยแนวคิดที่ว่า ผู้คนสมัยนี้ต้องดื่มตลอดเวลา คือ ดื่มเมื่อเราเคลื่อนไหว ดื่มเมื่อเราพักผ่อน และดื่มเมื่อต้องการจะสนุก
       


       จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มจะทุ่มเงินมหาศาลไปกับการตลาด และการโฆษณาอย่างไม่อั้นเพื่อ “ล้างสมอง” ผู้คนในยุคนี้ โดยเฉพาะพวกเด็กๆ และคนหนุ่มคนสาวให้หลงใหลไปกับการดื่มเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เพื่อที่จะดับกระหายให้พลังงาน ให้สารอาหาร เพื่อผ่อนคลาย รวมทั้งเพื่อสนุกกับทุกหยดของชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ปัจจุบันผู้ใหญ่ชาวอเมริกันดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลโดยเฉลี่ย 2.5 ครั้งต่อวัน โดยได้รับพลังงานจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 450 แคลอรีต่อวันเลยทีเดียว
       


       เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คนเราต้องใช้การออกกำลังกายมากขนาดไหน เพื่อกำจัดพลังงานที่ได้จากการกินของว่างเข้าไปสักชิ้น หรือดื่มน้ำอัดลมเข้าไปสักแก้ว บางทีคนเราอาจมีสติในการกิน และการดื่มมากกว่านี้ก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากินพิซซ่าเข้าไปหนึ่งชิ้นที่มีแคลอรีเฉลี่ยอยู่ที่ 500 แคลอรี นี่ก็หมายความว่า เราต้องใช้เวลามากกว่า 2.5 ชั่วโมงในการเดิน หรือ 1.5 ชั่วโมงในการวิ่ง หรือหลายชั่วโมงในการปั่นจักรยานอย่างเร็ว หรือ 1 ชั่วโมงในการเต้นแอโรบิกอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อกำจัดแคลอรีของพิซซ่าชิ้นนี้เลยทีเดียว ต่อให้เราเปลี่ยนการกินขนมขบเคี้ยว หรือขนมเค้กที่มีแคลอรีเพียง 300 แคลอรี เราก็ยังต้องการการกออกกำลังกาย เช่น การเดินถึง 1.5 ชั่วโมง ที่จะเผาแคลอรีเหล่านี้อยู่ดี
       


       ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น การเผาผลาญพลังงานในร่างกายของเราก็จะช้าลง ทำให้เราต้องใช้พลังงานมากขึ้นไปอีกที่จะกำจัดของหวานที่เราทานเข้าไป การดื่มก็เช่นกัน การดื่มเบียร์หนึ่งขวดที่มีแคลอรีอย่างน้อย 300 แคลอรี หรือการดื่มกาแฟลาเต้ของสตาร์บัคส์แก้วหนึ่งที่ให้พลังงาน 340 แคลอรี ทำให้เราต้องใช้การเดิน 1.5 ชั่วโมงในการกำจัดแคลอรีนี้ หรือถ้าเราไปกินวานิลลาเชคของสเวนเซ่นซ์ หรือบาสกิน ร้อบบินส์ ซึ่งให้พลังงานสูงถึง 800 แคลอรี เราก็ต้องออกกำลังกายด้วยการวิ่งหรือเดินถึง 3-4 ชั่วโมงเลยทีเดียว
       


       โรคอ้วนนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งทำให้สุขภาพของผู้นั้นเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดมาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่ได้มีการควบคุม เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระบบหมุนเวียนโลหิต เส้นประสาทในเท้าถูกทำลาย สายตาที่พร่ามัว อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม และความอ่อนเพลีย และจากโรคเบาหวานจะนำไปสู่โรคหัวใจ
       


       ภาวการณ์ล้มเหลวของไต ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะป่วยนานมากก่อนจะเสียชีวิต นอกจากนี้ นักวิชาการโรคมะเร็งยังได้ค้นพบอีกว่า โรคอ้วนหรือการมีไขมันสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุผนังมดลูก มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งไต มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งตับอ่อน 
       


       ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ดร.แบร์รี่ ป๊อปกิ้น ได้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “โรคกลม : เศรษฐศาสตร์ในความตุ้ยนุ้ย” (The World is Fat by Barry Popkin) (สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์, พ.ศ. 2552) ของเขา จะเห็นได้ว่า ถ้าหากเราต้องการหลีกเลี่ยงโรคอ้วน สิ่งที่เราต้องทำเป็นอย่างแรกคือ เปลี่ยนนิสัยการดื่มของเรา หันมาดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดเป็นหลักเท่านั้น จากนั้น ก็ต้องเปลี่ยนนิสัยการกินของเรา โดยเลิกการกินของว่างให้ได้ เพราะมีแต่การทำเช่นนี้เท่านั้น เราถึงจะอยู่รอดในโลกที่อ้วนมากขึ้นนี้ได้





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้