แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (30) (27/12/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (30) (27/12/2554)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (30)

(27/12/2554)





*โรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดพลาด และการบำบัดด้วยโปรไบโอติก*
       


        เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดพลาดในฐานข้อมูล โดยที่ความผิดพลาดนั้นเกี่ยวข้องกับการระบุโมเลกุลที่อันตรายว่าปลอดภัย หรือในทางกลับกัน ระบุโมเลกุลที่ปลอดภัยกว่า เป็นโมเลกุลอันตรายแล้วเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากระบบภูมิคุ้มกัน ผลที่ตามมาก็คือ ความเจ็บป่วยของผู้นั้น ในกรณีที่ความผิดพลาดนั้นเกี่ยวข้องกับการระบุโมเลกุลที่อันตรายว่าปลอดภัย ความเจ็บป่วยที่ตามมาได้แก่ โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนในกรณีที่ความผิดพลาดนั้นเกี่ยวข้องกับการระบุโมเลกุลที่ปลอดภัยว่าอันตราย ความเจ็บป่วยที่ตามมาได้แก่ โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเบาหวานประเภท 1 อาการกล้ามเนื้ออักเสบและอื่นๆ อีกมาก
       


        ปฏิกิริยาภูมิแพ้เป็นผลจากความผิดพลาดของระบบภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่ง มันเกิดขึ้นเมื่อฐานข้อมูลของระบบภูมิคุ้มกันระบุอนุภาค ซึ่งไม่มีพิษภัยใดๆ ในสิ่งแวดล้อมว่าเป็นสารก่ออาการแพ้และเป็นภัยคุกคาม เมื่อ ลิมโฟไซต์ผู้ผลิตแอนตีบอดี้ ส่งสัญญาณว่าสารก่ออาการแพ้พวกนี้ควรถือว่าเป็นอันตราย มาสต์เซลล์ จะทำการตอบสนองต่อแอนตีบอดี้ ที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ด้วยการปล่อยสารเคมีซึ่งเรียกว่า ฮิสตามีน ซึ่งทำให้น้ำมูกไหล น้ำตาไหลเพื่อชะล้างเอาตัวปัญหาออกไป เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เซลล์ผู้ควบคุม ซึ่งเป็นผู้คอยรักษาความสงบต้องเข้าไปควบคุมอาการเหล่านี้ด้วยการลดการผลิตแอนตีบอดี้ นี่คือเหตุผลที่เราจะอธิบายต่อไปว่า ทำไมโปรไบโอติกจึงสามารถช่วยยับยั้งอาการภูมิแพ้ได้ 
       


        ระบบภูมิคุ้มกันคือศูนย์กลางการทำงานของทุกส่วนในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันสื่อสารกับระบบอื่นๆ อาทิ ระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ และระบบประสาท โดยใช้สารเคมีส่งสัญญาณเพื่อออกคำสั่งไปให้แก่ระบบอื่น เมื่อเราล้มป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ แล้วมีอาการไม่สบายอย่างเช่น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการไม่สบายเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการกระทำของไวรัส แต่เป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันขณะที่มันกำลังต่อสู้กับไวรัสมากกว่า 


       
        เพราะฉะนั้น หากปฏิกิริยาตอบสนองของภูมิคุ้มกันผิดพลาดขึ้นมาอย่างเช่น แม้จะไม่มีเชื้อโรคแล้ว แต่ฟาโกไซต์ และทีเซลล์ผู้ช่วยเหลือก็ยังคงดำเนินการโจมตีบริเวณนั้นต่อไป เพราะเกิดความผิดพลาดในการระบุว่า โมเลกุลที่ปลอดภัย เป็นโมเลกุลที่อันตราย เมื่อนั้นจะเกิด การอักเสบยืดเยื้อ หรือปัญหาการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ยังคงทำงานต่อไป โดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงตามมา เพราะระบบภูมิคุ้มกันสามารถส่งสัญญาณหลายชนิด โดยสารเคมีต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการนอนหลับ และการรับประทาน ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด หรือมีผลกระทบต่ออารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหดหู่ วิตกกังวล ความกระวนกระวายได้
       


        จะเห็นได้ว่า โรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดพลาดในฐานข้อมูล ไม่ว่าโรคภูมิแพ้ หรือการอักเสบที่ควบคุมไม่ได้นั้น ล้วนมาจากสาเหตุเดียวกันคือ การที่ทีเซลล์ผู้ควบคุมไม่ทำงานตามหน้าที่ของมัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะพวกมันไม่ได้พัฒนามาอย่างเหมาะสม หรือเพราะมันไม่ได้พัฒนาขึ้นมาในจำนวนที่เพียงพอถ่วงดุลกับกิจกรรมของทีเซลล์ผู้ช่วยเหลือได้ก็ตาม
       


        จริงๆ แล้วจำนวนของลิมโฟไซต์ผู้ควบคุมก็มีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนของลิมโฟไซต์ผู้ช่วยเหลืออยู่แล้ว การค้นพบทางการแพทย์ในช่วงหลังๆ เกี่ยวกับบทบาทของลิมโฟไซต์ผู้ควบคุมในด้านการบำบัดโรคถือเป็นข่าวดีในวงการแพทย์ เพราะบัดนี้ เราได้รู้แล้วว่า ร่างกายของเราต้องการจำนวนที่สมดุลระหว่างลิมโฟไซต์ผู้ควบคุมกับลิมโฟไซต์ผู้ช่วยเหลือ เพื่อให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันดำเนินไปได้อย่างเหมาะสม และในการเข้าใจกลไกอันซับซ้อนที่ทำให้เกิดสมดุลนี้ วงการแพทย์จึงได้เข้าใจบทบาทอันสำคัญของโปรไบโอติกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 
       


        ทีเซลล์เกิดขึ้นที่ไขกระดูกก่อน หลังจากที่ได้รับการศึกษาเบื้องต้นในต่อมไทมัสแล้ว พอออกจากต่อมไทมัส บางตัวของพวกมันจะถูกกำหนดให้เป็นทีเซลล์ผู้ช่วยเหลือ ตัวอื่นๆ จะกลายเป็นทีเซลล์ผู้ควบคุม โดยปกติการเปลี่ยนรูปขั้นสุดท้ายนี้ สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในร่างกาย แต่มักเกิดขึ้นมากที่สุดในระบบทางเดินอาหาร หลังจากการเผชิญหน้ากับเดนดริติกเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์ที่ฝึกฝนลิมโฟไซต์ให้กลายเป็นเซลล์ผู้ช่วยเหลือ หรือเซลล์ผู้ควบคุม
       


        ถ้าเซลล์เดนดริติกเซลล์พบโมเลกุลในบริเวณใด พร้อมสัญญาณความเสียหายมันจะสันนิษฐานเอาว่า โมเลกุลนี้เป็นอันตราย และสร้างทีเซลล์ผู้ช่วยเหลือ แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะแตกต่างไปเมื่อมี โปรไบโอติก เข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ
       


        ประการที่หนึ่ง โปรไบโอติกช่วยส่งเสริมระบบทางเดินอาหารให้มีสุขภาพดี หรือไม่ถูกทำลาย มันทำสิ่งนี้ด้วยการผลิตสารต้านจุลินทรีย์ออกไปทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย รวมถึงการแย่งอาหารทำให้จุลินทรีย์ที่ไม่เป็นที่ต้องการถูกจำกัดการเจริญเติบโต
       


        ประการที่สอง โปรไบโอติกสามารถส่งสารเคมีเพื่อสื่อสารกับเดนดริติกเซลล์ว่า “ทุกอย่างเรียบร้อย ไม่มีความเสียหาย”
       


        เมื่อรวมผลการทำงานของโปรไบโอติกทั้งสองอย่างนี้เข้าด้วยกันหมายความว่า เดนดริติกเซลล์ในระบบทางเดินอาหารมีแนวโน้มที่จะลงความเห็นว่าโมเลกุลที่มันพบนั้น ไม่เป็นอันตราย คือ ทำให้โอกาสที่ระบบภูมิคุ้มกันจะระบุผิดพลาดมีน้อยลง โดยผลลัพธ์ที่ได้คือการที่ลิมโฟไซต์ถูกเปลี่ยนเป็นทีเซลล์ผู้ควบคุมมากขึ้น...นี่ย่อมแสดงว่า โปรไบโอติกได้ทำมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพของระบบทางเดินอาหารเสียแล้ว เพราะมันยังมีส่วนสนับสนุนอย่างลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ของเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายของเรา ซึ่งหมายถึงการช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันปกป้องเรามากกว่าทำร้ายเรา 


       
        จะเห็นได้ว่า การรวมเอาโปรไบโอติกไว้ในโภชนาการของเราในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับการอยู่อย่างมีสุขภาพดี ซึ่งต้องอาศัยระบบภูมิชีวิตหรือระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง มีความสมดุล และฟื้นตัวได้เร็วจากความเจ็บไข้เป็นครั้งคราวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
       


        โดยส่วนตัวของผมเอง ผมก็ใช้โปรไบโอติกเพื่อดูแลสุขภาพประจำวันของผมเช่นกัน การรวมเอาโปรไบโอติกไว้ในโภชนาการในแต่ละวันของผม เปรียบได้กับการฝากเงินในธนาคารให้เต็มบัญชี เผื่อไว้ถอนออกมาใช้ในยามจำเป็นเมื่อเกิดปัญหา เพราะโปรไบโอติกไม่เพียงมีบทบาทในการคุ้มครอง และป้องกันเท่านั้น แต่ยังเป็นหน่วยซ่อมบำรุงที่คอยดูแลร่างกายของเราให้มีสุขภาพดีได้อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่าความไม่สมดุลของจำนวนประชากรจุลินทรีย์อาจเกิดขึ้นได้จากความเครียดในร่างกาย การติดเชื้อในกระเพาะลำไส้ การควบคุมน้ำหนักผิดวิธี ร่างกายขาดสารอาหาร รวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะ โปรไบโอติกสามารถเพิ่มสมรรถนะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยทำให้การอักเสบเกิดน้อยที่สุด ทั้งนี้ อาการเจ็บป่วยหลายอย่างของคนเรามิได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เกิดจากกระบวนการอักเสบต่างหาก
       


        ปัจจุบันผู้คนเริ่มตระหนักกันมากขึ้นแล้วว่า ถ้าเกิดความเครียดขึ้นเรื้อรัง แม้ว่าความเครียดนั้นจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการทางกายอันเนื่องมาจากการแพร่กระจายของฮอร์โมนความเครียดอย่างต่อเนื่องได้ ตัวอย่างของอาการเหล่านี้ได้แก่ การปวดหัวเนื่องจากความเครียด ความดันโลหิตสูง อาหารไม่ย่อย นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่อาการเครียดเรื้อรังจะโยงไปสู่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคระบบหัวใจกับหลอดเลือด และโรคมะเร็ง
       


        ความเครียดเรื้อรังอาจมีอีกสาเหตุหนึ่งจากผลกระทบด้านลบของสารเคมีที่นำส่งสัญญาณเกี่ยวกับความเครียดในระบบประสาทที่มีต่อไมโครฟลอร่าที่ระบบทางเดินอาหาร กล่าวคือเมื่อคนเราเครียด และร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา ระบบประสาทของเราจะเริ่ม “การพูดคุย” กับจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารอย่างไม่ตั้งใจ สัญญาณเหล่านี้อาจบอกให้แบคทีเรียบางตัวแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และกำกับให้ตัวอื่นๆ จำกัดการเจริญเติบโตของมัน
       


        อย่าลืมว่า ลำไส้ของเราเป็นส่วนของร่างกายที่มีจำนวนเส้นประสาทมากที่สุด รองจากสมองเท่านั้น ยิ่งคนเราเครียดมากเท่าไร โอกาสที่จะเกิดผลกระทบด้านลบต่อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของเรา ก็ยิ่งมีมากตามไปด้วยเช่นกัน เพราะความเครียดมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนสัดส่วนที่สมดุลของโปรไบโอติกออกจากไมโครฟลอร่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสมดุลระหว่างทีเซลล์ 2 ชนิดคือ ผู้ควบคุมกับผู้ช่วยเหลือ ผลที่ตามมาคือ ระบบภูมิคุ้มกันจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมการทำงานของตนเองลดลง อันนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการอักเสบทั่วร่างกาย ถ้าเช่นนั้น เราจะใช้โปรไบโอติกตลอดวัฏจักรชีวิตของคนเราได้อย่างไร






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้