แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (27) (6/12/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (27) (6/12/2554)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (27)


(6/12/2554)







*โลกจุลินทรีย์ในตัวเรา*
       


       ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์เกือบ 10 ล้านล้านเซลล์ โดยที่ร่างกายของคนเราแต่ละคนยังเป็นเจ้าบ้านให้จุลินทรีย์จำนวน 100 ล้านล้านตัวพำนักอยู่ จุลินทรีย์ในตัวเราจึงมีจำนวนมากกว่าเซลล์ของเราเองถึง 10 เท่า แต่ขนาดของเซลล์จุลินทรีย์เล็กกว่าขนาดของเซลล์มนุษย์ราวๆ 20 เท่า ถ้าหากเราสกัดจุลินทรีย์จำนวนล้านล้านตัวที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราออกมา เราจะได้ก้อนเหนียวสีครีมกว่า 1 ควอร์ต พวกจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ส่วนประกอบที่ไม่สลักสำคัญในร่างกายเรา เพราะเมื่อรวมเข้าด้วยกันมันจะหนักเกือบ 3 ปอนด์ ซึ่งมากกว่าน้ำหนักของไต 2 ข้าง (หนักประมาณ 2/3 ปอนด์) ตับอ่อน (น้อยกว่า ¼ ปอนด์) และหัวใจ (ประมาณ ½ ปอนด์) รวมกันเสียอีก
       


       โดยรวมจุลินทรีย์ที่อยู่ในตัวเราเรียกกันว่า ไมโครฟลอร่า (Microflora) หรือ ไมโครไบโอต้า (Microbiota) เกือบร้อยละ 80 ของพวกมัน รวมถึงทั้งหมดของพวกที่มีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันอยู่ภายในลำไส้ ที่เหลืออาศัยอยู่ที่อื่นๆ ทั้งในระบบทางเดินอาหาร บนผิวหนัง ในปอด ตลอดจนในท่อรังไข่ (ของสตรี) ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก หัวใจ ไต รวมถึงอวัยวะภายในอื่นๆ ปกติจะไม่มีจุลินทรีย์ ยกเว้นในกรณีติดเชื้อ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ตระหนักแล้วว่า จุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ได้เป็น “ขาจร” ที่บังเอิญเข้ามาสู่ในตัวเรา แต่พวกมันร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็นต่อสุขภาพของเราเป็นอย่างยิ่ง
       


       โปรไบโอติกอาศัยอยู่ในตัวเราท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย และมีการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น มันจึงต้องการการสนับสนุนเกื้อกูลจากเรา โดยที่เราสามารถใส่โปรไบโอติกเพิ่มเติมเข้าไปในตัวเราได้ง่ายๆ เพียงแค่กลืนกินอาหาร หรืออาหารเสริมที่มีพวกมันเข้าไป นอกจากนี้ เรายังสามารถเลี้ยงดูโปรไบโอติกในตัวเราได้ด้วยการกิน “พรีไบโอติก” ซึ่งเป็นอาหารที่เลี้ยงดูจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ ในการปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และการมีสุขภาพดีด้วยความสมดุลของจุลินทรีย์ ซึ่งเหมาะสมสำหรับเรา
       


       กว่าร้อยละ 99 ของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในสำไล้ของเราคือ กลุ่มแบคทีเรียซึ่งมีความหลากหลายมากมีอยู่ 500-1,000 สายพันธุ์ ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มยีสต์และพยาธิ คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าแบคทีเรียทุกชนิดเป็นเชื้อโรคอันตราย แต่ความจริงแล้วมีแบคทีเรียเพียงไม่กี่ชนิดที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์
       


       ยกตัวอย่างเช่น แบคทีเรียที่ชื่อ เอสเซอริเจีย โคไล (Escherichia coli) ที่รู้จักกันดีในชื่อ อี. โคไล (E. coli) นั้น สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นเป็นเท่าตัวได้ภายในเวลาสั้นๆ ราว 20 นาทีเท่านั้น นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมต้องเอาเนื้อดิบซึ่งอาจมีอี.โคไลที่เป็นอันตรายแช่ไว้ในตู้เย็น เพราะถ้าปล่อยไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของพวกมันมากกว่า จุลินทรีย์เหล่านี้ก็จะสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงระดับที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้
       


       นอกจากแบคทีเรียแล้ว จุลินทรีย์ที่เหลือในลำไส้เราเกือบทั้งหมดคือ ยีสต์ (yeast) ยีสต์คือ เชื้อราชนิดหนึ่ง แต่ละตัวประกอบด้วยเซลล์รูปไข่เซลล์เดียวซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเซลล์แบคทีเรียอื่นๆ แต่เล็กกว่าเซลล์ร่างกายมนุษย์ ยีสต์ตัวสำคัญในกลุ่มไมโครฟลอร่าของมนุษย์คือ แคนดิด้า อัลบิคันส์ ถ้าจำนวนของมันถูกควบคุมให้ต่ำโดยการแข่งขันกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ มันก็ไม่มีพิษภัย แต่ถ้ามันเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็อาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยหลายชนิด รวมถึงท้องร่วง การติดเชื้อยีสต์ในช่องคลอด และโรคปากนกกระจอก หรือการติดเชื้อในปาก ซึ่งมักพบในทารกและผู้รับประทานยาปฏิชีวนะ
       


       ท้ายสุด แม้แต่คนสุขภาพดีที่สุดก็ยังเป็นเจ้าบ้านให้แก่ พยาธิ (Parasites) 2-3 ชนิด พยาธิเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาเราสำหรับอาหาร และที่อยู่แต่ไม่ได้ให้อะไรตอบแทนกลับมา อย่างดีที่สุดก็คือ ไม่ทำอันตราย แต่พยาธิอาจเป็นสาเหตุสำคัญของโรค โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร ยกตัวอย่างเช่น พวกพยาธิตัวแบน หรือกิอาร์เดีย (Giardia) ซึ่งเป็นพยาธิที่พบตามทะเลสาบและห้วยน้ำลำธาร ซึ่งพวกนักเดินป่าหวาดผวา หรือคริปโตสโพริเดียม (Cryptosporidium) ซึ่งเป็นพยาธิที่ทำให้ท้องร่วง ขาดน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจทำให้ตายได้
       


       สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือ ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างเรากับจุลินทรีย์ (หรือไมโครฟลอร่า) ภายในร่างกายของเราโดยทั่วไป ไมโครฟลอร่าให้บริการที่สำคัญต่อสุขภาพแก่เรา เป็นการแลกเปลี่ยนที่เราเอื้อเฟื้อที่อยู่ที่กินให้ บางชนิดให้คุณประโยชน์ล้วนๆ ไม่มีโทษใดๆ เลย บางชนิดปราศจากประโยชน์ใดๆ และยังอาจทำให้เกิดโรคได้ด้วย ถ้าจำนวนของมันเพิ่มขึ้นสูงเกินไป แต่การมีจุลินทรีย์จำนวนมากๆ บางครั้งก็ดีต่อสุขภาพ และบางครั้งก็เลวต่อสุขภาพของเรา ขึ้นอยู่กับขนาดของประชากรจุลินทรีย์และบริเวณที่มันอาศัยอยู่
       


       คนที่มีสุขภาพดีจะมีจำนวนจุลินทรีย์โปรไบโอติกในระดับสูง และยิ่งมีมากยิ่งดี เพราะจุลินทรีย์โปรไบโอติกจะปกป้องเราด้วยการแข่งขันกับจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย และช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในบรรดาจุลินทรีย์โปรไบโอติกในไมโครฟลอร่ามีอยู่ 2 ชนิดที่มีจำนวนมากที่สุด และเรารู้จักมากที่สุดคือ (ก) กลุ่มแล็กโตบาซิลลัส เป็นแบคทีเรียที่พบในผลิตภัณฑ์หมักบ่มจากนมเช่น โยเกิร์ต (ข) กลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ซึ่งพบในโยเกิร์ตด้วยเช่นกัน ร่างกายของเราเป็นเจ้าบ้านให้แก่แล็กโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียมหลายสายพันธุ์ โปรไบโอติกบางชนิดไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของไมโครฟลอร่า เพราะปกติไม่ได้อาศัยถาวรในร่างกายของเรา แต่ถ้ามันเกิดผ่านเข้าไปในระบบทางเดินอาหารก็สามารถส่งผลที่เป็นคุณต่อสุขภาพได้
       


       สำหรับจุลินทรีย์อื่นๆ ที่เป็น “ผู้ร้าย” นับเป็นชนส่วนน้อยของไมโครฟลอร่า แต่เราก็ไม่อาจหลีกหนีพวกมันได้พ้น หากประชากรของพวกมันถูกควบคุมไว้ด้วยจุลินทรีย์อื่นๆ ก็จะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าจำนวนของพวกมันเพิ่มขึ้นมากเกินไป ก็อาจเป็นต้นเหตุของโรคได้ และอาจกระทบกระเทือนต่อการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกันได้ ตัวอย่างจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายที่เรารู้จักกันดีได้แก่
       


       (ก) แคนดิด้า อัลบิคันส์ เป็นยีสต์ที่ก่อให้เกิดอาการติดเชื้อยีสต์ในช่องคลอด
       
       (ข) คลอสตริเดียม ดิฟฟีไซล์ เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง
       
       (ค) ซูโดโมแนส แอรุกิโนสา เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม
       


       ภายในร่างกายของเราประกอบด้วยพื้นที่ซึ่งมีเส้นเลือด และอวัยวะภายในต่างๆ ได้แก่ ตับ ไต สมอง หัวใจ และอื่นๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปลอดจากจุลินทรีย์ อย่างน้อยก็ในยามที่เรามีสุขภาพแข็งแรง ส่วนภายนอกร่างกายนั้นรวมเอาผิวหนังเข้าไปด้วย แต่ในทางการแพทย์จะรวมเอาปอดทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึง “ท่อ” (tube) ซึ่งทอดยาวตลอดจนถึงส่วนกลางลำตัวเข้าเป็น “ภายนอก” ด้วยเพราะต้องสัมผัสกับโลกรอบตัวอยู่ตลอดเวลา
       


       “ท่อ” เหล่านี้ประกอบด้วยจมูก โพรงจมูก ทางเดินหายใจส่วนบน ปอด ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กและใหญ่ ทวารหนัก และรูทวารหนัก การที่ “ท่อ” เหล่านี้ต้องสัมผัสกับโลกรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ผ่านเข้าไปในร่างกายทางอาหารที่เรารับประทานของเหลวที่เราดื่ม และอากาศที่เราหายใจเข้าไป จุลินทรีย์บางชนิดก็เข้าไปอยู่อาศัยแบบถาวรใน “ท่อ” เหล่านี้ ส่วนมากจะอยู่ในระบบทางเดินอาหาร และกลายเป็นส่วนหนึ่งของไมโครฟลอร่าของเรา
       


       การสัมผัสกับโลกภายนอก สร้างความเปราะบางแก่ “ท่อ” แต่ผิวหน้าของ “ท่อ” มีกลไกปกป้องที่สำคัญ คือ เมือก เยื่อบุผิวหน้าของ “ท่อ” ทำจากเยื่อบุเมือก เมื่อจุลินทรีย์จากโลกภายนอกร่อนตกลงบน “ท่อ” ระบบภูมิคุ้มกันของเราก็จะทำการตีตราลงทะเบียนพวกมันก่อนว่าเป็นมิตรหรือศัตรู
       


       ถ้าเป็นมิตรระบบภูมิคุ้มกันก็พัฒนาให้เกิดความทนทานที่จะยอมรับจุลินทรีย์นั้นๆ ให้อยู่ร่วมกับเราได้ แต่ในทางกลับกัน หากถือว่าเป็นศัตรูแล้ว จุลินทรีย์จะถูกดักจับไว้ด้วยเมือกเหนียวๆ นี้ และจะถูกขับออกมาจากร่างกาย ถ้าเมือกนี้อยู่ในระบบทางเดินหายใจ มันก็อาจออกมาทางจมูกและปาก แต่ส่วนมากจะถูกพาลงไปถึงระบบทางเดินอาหาร และถูกขับออกจากร่างกายทางทวารหนัก เพราะฉะนั้น ทุกๆ สิ่งที่เราหายใจเข้าไป เรากลืนมันลงไปด้วย สิ่งนี้จึงอธิบายได้ว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ และอนุภาคอื่นๆ ที่ติดมากับอากาศที่เราหายใจเข้าไปนั้น มันไปเกี่ยวโยงกับระบบทางเดินอาหารได้อย่างไร เนื่องจาก ทางเดินอาหารของเราต้องสัมผัสกับทุกๆ สิ่งที่เราหายใจเข้าไป นั่นเอง
       


       เมื่อจุลินทรีย์ถูกพาลงไปถึงระบบทางเดินอาหาร ซิเลีย (cilia) ซึ่งเป็นกลไกปกป้องคล้ายบนเส้นเล็กๆ จากเซลล์ในทางเดินหายใจ จะทำหน้าที่คล้ายไม้กวาด โดยกวาดพาเมือกที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์เข้าไปในปากโดยไม่รู้ตัว เราจะกลืนพวกมันลงไปโดยอัตโนมัติหลายๆ ครั้งในหนึ่งชั่วโมง เมือกและจุลินทรีย์เหล่านี้จะถูกดันตกลงไปตาม “ท่อ” ถูกการบีบรัดตัวของลำไส้มารับช่วงต่อจนขับออกทางรูทวารหนักในที่สุด
       


       จะเห็นได้ว่า “ท่อ” ที่อยู่ภายในตัวเรา คือ สมรภูมิสำหรับพวกจุลินทรีย์ทั้งหลายที่ต้องแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด และสุขภาพของเราก็ขึ้นอยู่กับว่า จุลินทรีย์กลุ่มไหนจะเป็นฝ่ายชนะ หรือฝ่ายที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้