ทำไมอภิสิทธิ์จึงเลือกเผชิญหน้ากับประชาชน? 24/11/53

ทำไมอภิสิทธิ์จึงเลือกเผชิญหน้ากับประชาชน? 24/11/53


ทำไมอภิสิทธิ์จึงเลือกเผชิญหน้ากับประชาชน?

 

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง
รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย


โอ ท่านกลับกลายเป็นวิญญูชนจอมปลอมไปตั้งแต่เมื่อไหร่กัน เสียทีที่ท่านเคยเป็น “ความหวัง” ของพวกเรามาโดยตลอด


ท่านเปลี่ยนไปแล้ว! ท่านเปลี่ยนไปอย่างมากมายจริงๆ หลังจากที่ท่านได้เถลิงตำแหน่ง “เจ้ายุทธจักร” นี้ เพราะท่านยอมทำ “ทุกอย่าง”เพื่อให้ได้มา


บทความต่อเนื่องขนาดยาว “ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย” ยังมีอยู่ แต่ต้องเขียนเรื่องนี้ก่อนเพื่อให้รู้ว่าอภิสิทธิ์ได้กลายร่างเป็น “มาร์ค” ปุ๊กคุ้ง ผู้คล้ายดั่งเป็น “วิญญูชนจอมปลอม” เหมือน งักปุ๊กคุ้ง จากเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร หรือไม่


ประเด็นที่เป็นเงื่อนไขของการเผชิญหน้ากับประชาชนของอภิสิทธิ์ก็คือ การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ใน 2 ประเด็นคือ (1) แก้ไขมาตรา 190 และ (2) วิธีการเลือกตั้ง เมื่อรวมกับร่างแก้ไขฯ ที่ได้เสนอมาก่อนหน้านี้แล้วคือ ร่างฯ ของหมอเหวง และร่างฯ ของพรรคภูมิใจไทย จึงทำให้วาระการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มี 4 ร่างฯ ที่จะนำมาพิจารณา


ร่างฯ ของหมอเหวงเป็นร่างฯ แรกๆ ที่ได้เสนอเข้ามา โดยมีสาระสำคัญคือนำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ทั้งฉบับมาเป็นร่างเพื่อใช้แทนฉบับปัจจุบัน โดยมีส่วนแตกต่างอยู่ที่การไม่รับรองความมีอยู่ขององคมนตรี ซึ่งเป็นการลิดรอนอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ไม่เคยมีมาก่อนเพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ทุกฉบับก็รับรองความมีอยู่ขององคมนตรีและถือเป็นพระราชอำนาจในการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย นี่จึงเป็นการนับหนึ่งในการล้มล้างสถาบัน เพราะหากไม่มีองคมนตรีเป็นผู้กลั่นกรองทำงานแทนแล้วจะให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้กระทำโดยตรงเลยหรืออย่างไร?


การเสนอร่างฯ ของหมอเหวงจึงเป็นไปอย่างมีวาระซ่อนเร้น แทนที่จะเสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชาชนในสมัยนั้น กลับไปล่ารายชื่อประชาชนมาเสนอแทนทั้งๆ ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับการเสนอกฎหมายโดยตรงจากประชาชน ด้วยเกรงว่าการกระทำของ ส.ส.อาจจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ที่ ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันของผลประโยชน์ เพราะการแก้ไขมิได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยเอาของใหม่มาทดแทนดังเช่นที่หมอเหวงได้เสนอร่างฯ นี้เข้ามา


ในส่วนร่างฯ ของพรรคภูมิใจไทยนั้นก็เป็นการเสนอแก้ไขเพื่อที่จะให้มีการนิรโทษกรรมกับบุคคลอื่นๆ ในช่วงที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาที่ไม่รวมผู้ที่ต้องคดีอาญา เช่น ทักษิณ ชินวัตร โดยมีวาระซ่อนเร้นเพื่อทำให้ผู้ที่ถูกชี้มูลโดย ป.ป.ช.ในการเข่นฆ่าประชาชนเมื่อ 7 ต.ค. 51 ให้พ้นผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงการแก้ไขใน 2 ประเด็นที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เสนอในคราวนี้ก็มีรวมอยู่ด้วย ดังนั้นทั้ง 2 ร่างจึงมีส่วนซ้ำซ้อนกับร่างฯ ของหมอเหวง และร่างฯ ของพรรคภูมิใจไทย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็ใช้เขตเล็กเช่นเดียวกัน


ท่านกลับกลอกเพราะพรรคท่านมีมติไปครั้งหนึ่งแล้วว่าไม่รับร่างฯ พรรคภูมิใจไทยที่รวมถึงการแก้ไขใน 2 ประเด็นที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เสนอในคราวนี้ แต่ก็ยังดั้นด้นให้มีมติอีกครั้งในเรื่องเดิม คนที่เป็นวิญญูชนทั้งในและนอกพรรคท่านจะรับการกระทำของ“มาร์ค” ปุ๊กคุ้ง เยี่ยงนี้ได้อย่างไร?


ที่น่าสนใจก็คือมาตรา 190 ที่ขอเสนอแก้อันเนื่องมาจากข้ออ้างของความไม่สะดวกในการไปทำข้อตกลงน้อยใหญ่กับต่างประเทศของฝ่ายบริหารเพราะต้องมาขออนุมัติจากสภาฯ ทำให้เกิดความล่าช้าไม่ทันกาล


พลเมืองเข้มแข็งควรรับรู้ไว้ว่า ในวรรค 5 ได้กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าต้องมีกฎหมายลูกกำหนดว่าหนังสือสัญญากับต่างชาติประเภทใดบ้างที่ต้องนำเข้ามาขออนุญาตจากรัฐสภาฯ เพียงแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้ให้ความสนใจในกฎหมายดังกล่าวปล่อยให้ถูกตีตกไปแล้วย้อนกลับมาแก้ไขที่ตัวแม่คือที่รัฐธรรมนูญมาตรา 190 นี้แทนทั้งที่ควรทำเป็นกฎหมายลูกเสนอเข้ามาใหม่


ข้ออ้างของความล่าช้าจึงอยู่ที่ฝ่ายบริหารพยายามที่จะเสนอข้อตกลงทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่เข้ามาให้สภาฯ พิจารณารับรองเพื่อให้ดูว่ามาตราดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการทำงานโดยไม่สนใจเจตนารมณ์ของมาตรา 190 วรรค 2 ที่กำหนดเงื่อนไขว่าอะไรที่ต้องนำเข้าสภาฯ มารับรอง มิใช่ตีความแบบศรีธนญชัย หากไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 นี้ประชาชนไทยจะรู้ไหมว่ารัฐบาลของเขากำลังจะทำให้สุ่มเสี่ยงเสียดินแดนจากบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกัมพูชาฯ ปีพ.ศ. 2543


หากพิจารณาดูจากที่มาที่ไปที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า ร่างฯ หมอเหวงและร่างฯ ของพรรคภูมิใจไทยต่างก็มิได้รับการเหลียวแลนำเข้ามาพิจารณาแต่อย่างใดจากรัฐบาลชุดนี้ มิเช่นนั้นคงไม่ค้างเติ่งมาเป็นเวลานาน


การนำเสนอร่างฯ ของตนเองเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในห้วงเวลานี้จึงห้ามไม่ได้ที่จะถูกกล่าวหาว่ามีวาระซ่อนเร้น เพราะกฎหมายใดที่ฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ยากที่จะผ่านสภาฯ ไปได้ แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นผู้เสนอและบอกว่าเป็นเรื่องของส.ส.ในสภาฯ หรือเป็นเรื่องของรัฐสภาฯ รัฐบาลไม่เกี่ยว แต่หากรัฐบาลไม่ออกเสียงแล้วจะเอามือใครมายกให้ผ่าน การไม่ตีตกตั้งแต่ต้นมือและรวบรวมนำมาเสนอในคราวเดียวกันก็เพื่อหวังผลทางการเมืองมิใช่หรือ ที่สำคัญร่างฯ ทั้ง 2 ของอภิสิทธิ์หากผ่านสภาฯ ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ยกเว้นแต่เพียงทำตามสัญญาที่ “มาร์ค” ปุ๊กคุ้ง ขายวิญญาณให้ไว้กับพรรคร่วมจนทำให้ตนเองได้เป็นนายกฯ สมใจหวัง หากทำได้แค่นี้ท่านก็คล้ายดั่งเป็น “วิญญูชนจอมปลอม” อย่างแท้จริง


อภิสิทธิ์ได้อาศัยอำนาจนายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะฯ ของหมอประเวศและคณะฯ ของคุณอานันท์เพื่อทำข้อเสนอการปฏิรูปประเทศอันเป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่าเมื่อเปรียบเทียบกับงานของคณะฯ คุณสมบัติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกรอบที่นายกฯ กำหนดเพียง 6 ประเด็น เปรียบเสมือนยังไม่ได้แบบบ้านเลยแต่กลับอุตริให้กำหนดแล้วว่าจะใช้กระเบื้องห้องน้ำห้องส้วมชนิดใดเป็นการล่วงหน้า จะรู้ได้อย่างไรว่าประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ประเด็นจะสอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศที่จะเสนอ


หากอภิสิทธิ์จะอ้างว่า หากไม่นำข้อเสนอของคุณสมบัติมาใช้จะไม่เป็นการเคารพเพราะได้ไหว้วานเขาไปทำงานมาให้แล้ว อภิสิทธิ์ควรจะมีข้ออ้างที่ดีกว่านี้ อย่าอ้างข้างๆคูๆ เพราะท่านมาทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งมวลเป็นสำคัญมิใช่เพื่อการเคารพหรือตอบแทนบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ


เหตุผลที่แท้จริงจึงน่าจะอยู่ที่ความสุ่มเสี่ยงในการเสียดินแดนด้วยบันทึกความเข้าใจฯ ปีพ.ศ. 2543 มากกว่าอย่างอื่น เพราะเป็นระเบิดเวลาที่ท่านไม่ยอมถอดชนวนหากแต่ตั้งใจปล่อยให้ระเบิดตามบุญตามกรรมในอนาคต ยอมเลือกที่จะเผชิญหน้ากับประชาชนอันเนื่องมาจากการถือเอาอัตตาของตนเองเป็นใหญ่ และอย่าลืมว่าเป็นข้อตกลงฯ ต้องตามมาตรา 190 ที่เสนอแก้ด้วยเช่นกันจะผ่าทางตันด้วยวิธีนี้หรือ


หากลิ่วล้ออภิสิทธิ์ทั้งหลายจะออกมาแก้ต่างว่าเป็นจินตนาการ ก็ขอบอกว่าระหว่างเรื่องนี้กับการหาว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบางคนออกบัตรเชิญให้ทหารมาปฏิวัติ เรื่องใดจินตนาการได้ห่วยกว่ากัน ชิมิ!


รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 พิเศษกว่าฉบับอื่นๆ ก็เพราะได้รับการรับรองจากประชาชนโดยตรง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่มีคนยอมตายเพื่อปกป้อง มิใช่เฉพาะเรียกร้องเพื่อให้ได้มาเหมือนดังเช่นฉบับ 14 ต.ค. ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีประการใดก็ควรได้รับการเคารพด้วยการขอประชามติเพื่อดำเนินการแก้ไข อย่าหาว่าลำเลิกบุญคุณเลย หากไม่ปกป้องเอาไว้ป่านนี้ท่านและพรรคของท่านจะมีที่ยืนมากน้อยเท่าใดในสภาฯ เรื่องพวกนี้พวกท่านไม่มีน้ำยาหรอก


การทำประชามติจึงเป็นการให้ประชาชนตัดสินใจในเรื่องสำคัญเช่นนี้โดยตรง มีประโยชน์มากกว่าเงินหรือเวลาที่ได้ใช้จ่ายเพื่อทำประชามติและไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน เพราะการจะให้ประชาชนออกเสียงรับหรือไม่รับในเรื่องใดก็ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่จะมาออกเสียงเสียก่อน ทำไมเมื่อท่านอ้างว่าฝักใฝ่ในระบอบประชาธิปไตยเป็นแม่นมั่น ทำไมจึงไม่ริเริ่มทำเรื่องที่มีประโยชน์เช่นนี้ในเมื่อมีโอกาส จะมีประชาชนสักกี่คนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญในรายละเอียดเช่นนี้บ้าง การทำประชามติจึงเป็นทางออกและเป็นการสร้างความปรองดองในสังคมอย่างแท้จริง


ข้ออ้างของการลงประชามติว่าต้องใช้เวลานานก็ดี มีประชามติแล้วไม่ผูกพันกับฝ่ายนิติบัญญัติก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นแต่เพียงข้ออ้างที่ไร้ซึ่งน้ำหนัก ขาดเหตุผลอย่างสิ้นเชิง และเอาอัตตาตนเองเป็นใหญ่ เพราะประชามติก็เป็นสัญญาประชาคม หากท่านยังพยายามหาข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยง ตัวท่านเองจะแตกต่างไปจากนักการเมืองเช่น เสนาะ บรรหาร ชวลิต สมชาย หรือทักษิณ ได้อย่างไร? แม่ยกทั้งหลายควรพิจารณา!


การที่ท่านออกมาแถลงต่อสาธารณชนว่าการมีไว้ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ ปีพ.ศ. 2543 ทำให้ไทยสามารถรักษาดินแดนเอาไว้ได้ ฝ่ายกัมพูชาไม่สามารถให้ใครเข้ามาจัดการพื้นที่ข้ามเขตสันปันน้ำได้ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าที่ท่านกล่าวไว้นั้นจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด แต่ท่านฉลาดพอที่จะหลบเลี่ยงไม่ยอมอยู่รอพิสูจน์ ท่านได้สร้างเงื่อนไขเพื่อหลีกหนีโดยการยุบสภาไว้เรียบร้อยแล้วจากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเสียดินแดนมิได้เกิดขึ้นในทันทีหากแต่จะเป็นกระบวนการที่เกิดสืบเนื่องต่อมาเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากบันทึกความเข้าใจฯ ปีพ.ศ. 2543 ดังกล่าว


การอาศัยปฏิกิริยาของแต่ละฝ่ายที่มีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นข้ออ้างในการยุบสภา ก็เป็นดังเช่นที่ได้เคยพยายามสร้างภาพของนักนิยมประชาธิปไตยที่ไม่ใช้กำลังความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนทำให้ทหารที่ปราศจากอาวุธ ต้องมาตายเพื่อสังเวยการสร้างภาพ เพราะจุดประสงค์ก็เป็นเพียงเกมการเมืองเพื่อสร้างภาพเท่านั้น เมื่อได้เสนอร่างแก้ไขฯ ไปในสภาฯ แล้วจะผ่านหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น ท่านสามารถหาเหตุปัดความรับผิดชอบไปได้เรียบร้อย


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังพาตัวเองไปเป็นดังเช่น “วิญญูชนจอมปลอม” อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ราคาที่ประเทศต้องจ่ายเพื่อให้คุณอยู่ในตำแหน่งและรอพิสูจน์เรื่องการเสียดินแดนไทยรอบปราสาทพระวิหารมันสูงเกินกว่าใครจะรับได้แล้ว เมื่อถึงวันนั้นที่เชื่อว่าอภิสิทธิ์ยังคงมีชีวิตอยู่ไม่ตายไปเสียก่อน ท่านจะถูกประณามไปตลอดชีวิตที่ยังเหลืออยู่ แม้นอนตายไปตาก็ไม่หลับ







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้